วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ღ ธรรมะ : การปล่อยวาง ღ


ธรรมะ : ปล่อยวาง

การปล่อยวางมี ๒ ประเภท
๑. การปล่อยวางด้วยความรู้
๒. การปล่อยวางความเขลา

การปล่อยวางด้วยความรู้เกิดขึ้น เพราะผู้ปล่อยวางนั้น ตระหนักรู้เท่าทันความจริงของโลกและชีวิตว่า ไม่อาจยึดเอาสิ่งใดมาเป็นของตนได้อย่างถาวร เพราะสรรพสิ่งล้วนตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์ (กฎธรรมชาติที่เป็นสากลสำหรับทุกสิ่ง) ที่ว่า

"ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา"
หรือ
"ไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้"
หรือแปลอีกนัยหนึ่งว่า
"ไม่แน่ ไม่ได้ดั่งใจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์"

สรรพสิ่งในโลกนี้ ล้วนมีความไม่เที่ยง คือ เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ คือ ไม่สามารถทนอยู่ในลักษณะเดิมตลอดไป ทนอยู่ได้ก็ชั่วครู่ชั่วคราว

และสรรพสิ่งล้วนเกิดจากองค์ประกอบที่แตกต่างหลากหลาย มารวมตัวกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นองค์รวม แต่ก็รวมกันได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว ในที่สุดแล้วก็มีอันจะต้องแตกดับ สลายไป เหมือนกันทั้งหมด

ในเมื่อความจริงของสิ่งต่างๆ เป็นอย่างนี้ เราจึงไม่อาจ "ยึด" เอาอะไรมาเป็น "ของเรา" ได้อย่างแท้จริง เรา "ยึด" สิ่งต่างๆ ว่าเป็นของเราได้เพียงชั่วคราวในลักษณะของที่ขอ "ยืม" เขามาเท่านั้น ในเมื่อสรรพสิ่งที่เรามีอยู่ล้วนเป็นเหมือนของที่ยืมเขามา เมื่อถึงเวลาก็ต้องส่งคืนด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เช่น

เรายืมอากาศมาหายใจ ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ธาตุลม
เรายืมดินมาเป็นร่างกาย ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ธาตุดิน
เรายืมไฟมาเป็นความอบอุ่น ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ความเป็นธาตุไฟ
เรายืมน้ำมาหล่อเลี้ยงร่างกาย ในที่สุดก็ต้องคืนสู่ธาตุน้ำ

ขยายความให้กว้างออกไปจนครอบคลุมสิ่งของ เช่น เสื้อผ้า บ้านเรือน รถ เงินทอง ไร่นา ฯลฯ ตลอดจนถึงโลกธรรมอันเป็นที่ชื่นชม เช่น ได้ลาภ (จะมีเสื่อมลาภรอเตือนให้คืนลาภอยู่ในตัว (ได้ยศ จะมีอัปยศรอทวงอยู่) สรรเสริญ (จะมีนินทารออยู่) สุข (จะมีทุกข์รออยู่) เห็นไหมว่า สรรพสิ่งล้วนตกอยู่ในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาหรือไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้ แม้แต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น เราจึงไม่อาจยึดเอาอะไรมาเป็น "ของเรา" ได้อย่างแท้จริง เราทำได้แค่เพียงใช้ มี ครอบครอง สิ่งต่างๆ ได้เพียงชั่วคราว ด้วยความตระหนักรู้ว่า "ไม่มีสิ่งใดเป็นของเราอย่างแท้จริง" หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ

"สรรพสิ่ง คือ ของใช้ อย่าเข้าใจว่าเป็น ของฉัน"

ส่วนการปล่อยวางอย่างที่คุณยกตัวอย่างมานั้น เป็นเพียง "ปฏิกิริยา" ต่อบางสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจเท่านั้น ยังไม่ใช่การปล่อยวางที่แท้จริงแต่อย่างใด วิธีปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ที่เราเบื่อ แล้วหันหลังให้นั้น หากจะถือว่าเป็นการปล่อยวาง ก็เป็นเพียงการปล่อยวางใน "ภาษาคน" ยังไม่ใช่การปล่อยวางใน "ภาษาธรรม" แท้ๆ

ในเมื่อไม่ใช่การปล่อยวางแท้ เดี๋ยวคุณก็จะมีโอกาสกลับมาทุกข์กับสิ่งที่คุณ "ทำท่าเหมือนจะปล่อยวาง" นั้นอีกครั้งหนึ่งไม่เร็วก็ช้า ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

แต่อย่างไรก็ตาม หากทำแล้ว ทำให้สุขภาพจิตดีขึ้น การถอยออกมาจากบางสิ่งที่กัดกินใจให้หมองหม่นก็เป็นสิ่งที่ควรทำบ้างเหมือนกัน


ธรรมะดีๆโดย ท่าน ว.วชิรเมธี



ที่มา : http://www.inwza.com/2013/03/blog-post_26.html
เครดิตภาพ : https://www.facebook.com/wanasawat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น