วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ตัวรู้



นิวรณ์แท้จริงมันก็มีอยู่กับตัวเราเสมอ ถึงจะเรียนก็มี ไม่เรียนก็มี นิวรณ์นี้มันมีอำนาจ อิทธิพลมาก เพราะเป็นเครื่องกลบเกลื่อนดวงจิตของเราไม่ให้ก้าวขึ้นสู่ความดีได้ เส้นทางของนิวรณ์ที่จะไหลมาสู่เรา ก็คือ
 

สัญญาอดีตอันได้แก่เรื่องราวต่างๆ ทั้งดีทั้งชั่ว ทั้งของเราของเขาซึ่งเป็นอดีตทั้งหมดเส้นหนึ่ง อีกเส้นหนึ่งคือ สัญญาอนาคต นับแต่เรื่องที่คิดไปตั้งแต่วันพรุ่งนี้จนถึงวันตาย ซึ่งเราอาจเดาอาจคิดไปด้วยความผิดพลาดทั้งหมดทั้ง ๒ ทาง นี้เป็นเส้นทางที่ไหลมาจากนิวรณ์ทั้งสิ้น

ฉะนั้น เรื่องอดีต อนาคต ก็ต้องวางไว้ก่อน ยกจิตของเราขึ้นสู่องค์ภาวนา คือ นึกถึงลมหายใจของลมอันเป็นส่วนปัจจุบันของรูป ปัจจุบันของนาม ได้แก่ ตัวรู้เมื่อเราทำได้เช่นนี้ จิตของเราก็จะเหมือนกับลูกโป่งที่ลอยอยู่ในอากาศ เพียงตัดเชือกเส้นเดียวเท่านั้นเราก็จะหลุดได้ คือ เมื่อตัดสัญญาขาด จิตของเราก็จะเข้าไปสู่องค์ภาวนาได้ทันที
ใจก็ไม่มีอาการอึดอัด มีแต่ความโปร่งสบาย ใจก็สูงเหมือนลูกโป่งที่ถูกตัดเชือกออกจากก้อนหินที่ผูกไว้ สิ่งที่จะตามขึ้นไปทำลายรบกวนก็ยาก เพราะธรรมดาขี้ฝุ่นนั้นก็จะกลบได้แต่เพียงแค่ศีรษะคนเท่านั้น ที่มันจะปลิวขึ้นไปกลบถึงยอดภูเขา หรือยอดไม้สูงๆ นั้นย่อมไม่ได้

ฉะนั้น เมื่อจิตของเราสูงขึ้นแล้ว นิวรณ์ทั้งหลายก็ไม่สามารถจะกลบจิตของเราให้เศร้าหมองได้

-  ท่านพ่อลี ธํมมธโร -


เมื่อใจเรามีทุกข์

 
เมื่อใจเรามีทุกข์

๑. เมื่อมีทุกข์ เราจะคิดปรุงแต่ง กังวลอดีต และอนาคต เสมือนว่าปัจจุบันกำลังเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นจริง เปรียบเหมือนคนที่สร้างภาพจรเข้กระโดดเข้าหาอยู่ตลอดเวลา หากสติระลึกรู้ว่าจิตหลงคิดฟุ้ง ความคิดนั้นจะดับลง

๒. ส่วนใหญ่ที่เรารู้ว่าคิด เรามักคิดต่ออีกเพราะเราพยายามดิ้นรนหนีความทุกข์ หากเราผ่อนคลายและใช้จิตที่เบาสบาย เฝ้าดูความไม่พอใจในทุกข์ จะพบว่าสภาวะทั้งหลายเป็นเพียงสิ่งที่จิตระลึกรู้ เหมือนเมฆฝนที่บดบังจิตใจ

๓. การเจริญสติคือการเฝ้ารู้สภาวะที่เกิดขึ้นในแต่ละขณะ สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เฉยบ้าง ไม่รู้ชัดบ้าง ไม่จำเป็นต้องแยกแยะว่าคืออะไร เปรียบเหมือนปรากณการณ์ธรรมชาติคือแสงแดดและสายฝนที่หมุนวนเปลี่ยนแปลง เกิดดับอยู่ตลอดเวลา

๔. ชีวิตเราอาจมีภัยหรือปลอดภัย เราก็หลีกเลี่ยงภัยตามหน้าที่ โดยไม่เก็บเรื่องต่างๆ มาคิดให้วุ่นวาย เปรียบเหมือนเสือและงูที่ผ่านเข้ามาในเส้นทางการเดินเรือ แต่อยู่คนละระดับ ไม่เกี่ยวข้องกับคนพายเรือ

๕. เมื่อสติระลึกรู้สภาวะความไม่เที่ยงซ้ำแล้วซ้ำอีก จิตจะเป็นกลาง เห็นทุกข์สุขเสมอกัน ไม่ดิ้นรนหนีทุกข์ และเกิดปัญญาที่แท้จริงว่าทุกสิ่งล้วนไม่เที่ยง ปัญญานี้จะคลายความหลงยึดมั่นว่ากายนี้ จิตนี้เป็นตัวตนของเรา

๖. การปฏิบัติธรรมเหมือนการออกเรือเดินทาง จะถึงฝั่งหรือไม่นั้น อยู่เหนือการควบคุมของเรา แต่เมื่อเราแจวเรืออย่างไม่ย่อท้อ เราก็อิ่มใจได้เพราะเราอยู่ในเส้นทางของการพ้นทุกข์ เมื่อธรรมะคือเรือที่ช่วยให้เราพ้นทุกข์ เรือนั้นก็สืบทอดสู่คนรุ่นหลังต่อไป

๗. จากผู้ที่จมอยู่กับทุกข์ กลายเป็นผู้รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง พระพุทธองค์ก็เกิดมาบนกองทุกข์และกิเลศ เมื่อได้ลงมือเพียรปฏิบัติธรรม ย่อมอยู่ในเส้นทางของมรรคผล


ที่มา : http://swhappinessss.blogspot.com

รู้กายก็รู้ธรรม ‌รู้ใจก็รู้ธรรม



 
ชาติปิ ทุกขา ชะราปิ ทุกขา มะระณัมปิ ทุกขัง ชาติปิ ทุกขา...

หมู่โลกเขาว่าความเกิดเป็นสุข แต่เรามันไม่ได้ว่าอย่างนั้น เราว่าความเกิดมันเป็นทุกข์
ธรรมะของพระพุทธเจ้า”…เกิดมากายเป็นทุกข์ ใจเป็นทุกข์   นี่ล่ะ เขาว่าผู้มีวาสนา มันก็คือนักบวชเรานี่ล่ะ หาหลีกเร้นอยู่ป่า หาภาวนา  ธรรมะมันไม่มีผู้หญิงผู้ชาย ใครทำได้ก็ไปถึงได้ เหมือนคนค้าขายนั่นล่ะ ไม่มีผู้หญิงผู้ชาย ค้าขายได้เหมือนกัน นิพพานไม่มีเครื่องกั้น  ให้พากันทำเอง ดูกายดูใจตัวเองให้มันรู้ ถ้ารู้กายก็รู้ธรรม รู้ใจก็รู้ธรรม ดูให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจึงไม่ทุกข์เหมือนเขา  ดูให้เห็นธรรมมันก็จะเบื่อ ไม่อยากได้อยากมีอยากเป็นอยากเอา เบื่อหน่ายคลายกำหนัด มันจึงจะค่อยๆ ละ ค่อยๆ วางไปเอง

- หลวงปู่เพียร วิริโย -

สติมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน


เมื่อเรามีสติมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น
ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง
ความรู้สึกจะเกิดขึ้นที่ใจของเรา
คือความพอใจ ความไม่พอใจ หรือความเฉยๆ
เราจะมีสติมีปัญญาเห็นอาการของจิตซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ
จิตของเราจะแยกจากอารมณ์โดยธรรมชาติ
จะเห็นอาการของจิต เห็นอาการของอารมณ์
มีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความดับไปเป็นธรรมดา


- พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตโต -

วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กิเลสราคะ โทสะ โมหะ


คนไม่ละกิเลส ความโกรธ ความโลภ ความหลง
ก็เหมือนอมถ่ายไฟแดงอยู่ อมไฟอยู่ อมไฟก็ร้อน
นั่นแหละกิเลสราคะ โทสะ โมหะ
ไม่ใช่คำพูดมันเป็นความร้อน
ความร้อนความไหม้ มันไหม้หัวใจ
ไหม้อยู่ทั้งกลางวัน กลางคืน
ยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถ
ภาวนาบทใดข้อใดก็เอาให้มันจริง
ทุกสิ่งถ้าเอาจริงๆ ภาวนาจริงๆ
มันให้สงบระงับได้ทั้งนั้นแหละ

- หลวงปู่สิม พุทธาจาโร -

ดูธรรมะของพระพุทธเจ้า


อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีอยู่ในตัวทุกคน
ดูไม่เห็นมัน ว่ามันมีของอะไรจีรังยั่งยืน
ดูมันซิ ให้มันเห็นเป็น อสุภะ อสุภัง
พิจารณาเข้ามาที่กาย
ให้มันเห็นในตัวเรามันจึงจะดี
หลงตัวเองก็ต้องแก้ตัวเองเสียก่อนนั่นล่ะ
แก้เรื่องอันนี้ล่ะ เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อสุภะ อสุภังนี่ล่ะ กรรมใครกรรมมัน
ดูว่าพวกเราเกิดมากับกรรม
ดูธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ล่ะ
ดูสังขาร ดูกาย ดูใจตัวเอง ‌ไม่ต้องดูอย่างอื่น

- หลวงปู่เพียร วิริโย –

วันเสาร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ดวงตาเห็นธรรม

ธรรมะคือธรรมชาติ

พวกเราบางองค์ที่มาอาศัยการปฏิบัตินั้น อยู่ไปตั้งปีสองปีก็ยังไม่รู้เรื่องกันเลยก็มี ไม่รู้เรื่องว่าเขาทำอะไรกัน เพราะความเข้าใจตั้งใจจดจ่อไม่มี ความจริงการเป็นผู้ปฏิบัติใจเรานั้น เมื่อเราดูใจเราเมื่อใด ก็ให้มีสติจ้องอยู่อย่างนั้น เมื่อมีสติมันก็มีปัญญา มองเห็นว่า ไม่ว่าที่ใดก็ตาม ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามและไม่ว่าจะเป็นใครพูดอะไรก็ตาม มันล้วนแล้วแต่เป็นธรรมะทั้งนั้น ถ้าเรารู้จักนำมาคิด

ธรรมะทั้งหลายคือธรรมชาติที่มันเป็นอยู่ของมัน มันล้วนแต่เป็นธรรมะทั้งหมด ทีนี้เมื่อเราไม่รู้ข้อปฏิบัติ ไม่รู้ว่าสิ่งทั้งหลายคือธรรมะ เราจึงอาศัยแต่การอบรมจากครูบาอาจารย์แต่ความจริงแล้ว เราควรพิจารณาสภาวะธรรมชาติรอบตัวทุกอย่างอย่างต้นไม้อย่างนี้ ธรรมชาติ ของมันก็เกิดขึ้นมาจากเมล็ดของมัน แล้วมันก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ

ถ้าเราพิจารณา เราก็จะได้ธรรมะจากต้นไม้ แต่เราไม่สามารถเข้าใจว่าต้นไม้ก็ให้ธรรมะได้ เมื่อมันใหญ่ขึ้นมาใหญ่ขึ้นมาจนเป็นดอก จนมันออกผล เราก็รู้เพียงว่าต้นไม้มันเป็นดอก มันออกผลมา แต่ไม่รู้จักน้อมเข้ามาเป็นโอปนยิโก คือน้อมเข้ามาในใจของเรา เลยไม่รู้ว่าต้นไม้ก็เทศน์ให้เราฟังได้
พวกเราไม่พากันรู้จักต้นไม้นั้น มันเกิดเป็นผลขึ้นมาให้เราได้เคี้ยว ได้ฉัน ได้กินตามธรรมชาติมัน เราก็กินไปเฉยๆกินด้วยการไม่พิจารณารสเปรี้ยว รสหวาน รสมัน รสเค็มเรียกว่าไม่รู้จักพิจารณาธรรมะ จากต้นไม้ จากธรรมชาติ เราไม่พากันเข้าใจถึงธรรมชาติของมัน เมื่อต้นไม้มันแก่ขึ้นใบของมันก็ร่วงลง เราก็เห็นเพียงว่าใบไม้นั้นมันร่วงลง แล้วเราก็เหยียบไป กวาดไปเท่านั้น การจะพิจารณาให้คืบคลานไปอีกก็ไม่มี อันนี้ก็คือไม่รู้จักว่าธรรมชาตินั้นคือธรรมะ

พอใบร่วงแล้ว ทีนี้ก็จะมียอดเล็กๆโผล่ขึ้นมา เราก็เห็นเพียงแค่ว่า มันโผล่ขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาอย่างอื่นอีกนี่ก็ไม่เป็นโอปนยิโก คือไม่น้อมเข้ามาหาในตน นี่เป็นเช่นนั้น ถ้าน้อมเข้ามาหา เราจะเห็นว่าความเกิดของเรากับต้นไม้ก็ไม่แปลกอะไรกันเลย สกลร่างกายของเราเกิดขึ้นมาด้วยเหตุด้วยปัจจัยของมัน อาศัย ดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดขึ้นมาตามธรรมชาติของมัน
มันก็เหมือนกันกับเรามันก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะเราก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆทุกสิ่งทุกส่วนของมันก็เจริญขึ้นเรื่อยๆมัน เปลี่ยนสภาวะของมันไปเรื่อยๆเหมือนกันกับต้นไม้ ถ้าเราน้อมเข้ามาดูแล้วจะเห็นว่าต้นไม้เป็นอย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน

- หลวงพ่อชา สุภัทโท -

ที่มา : http://www.palungjit.org

เราหาพระพุทธเจ้าที่ใจเรา

ไม่ติดอดีต ไม่ติดอนาคต 
พยายามอยู่กับปัจจุบันให้มาก
เมื่อสำรวมกาย วาจา ใจ
เป็นหนึ่งเดียวได้
ก็เป็นศีล สมาธิ ปัญญา 
และนี่ก็เป็นความสุขของเรา 
ไม่ต้องไปหาพระพุทธเจ้าที่ไหนเลย 
เราหาพระพุทธเจ้าที่ใจเรา

- หลวงพ่อสนอง กตฺปุญโญ -

วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ภาวนาอย่างมีสติ


ถ้าเราต้องการลดความเร่งรีบใน ชีวิตของเราลง เราไม่จำเป็นที่จะต้องรีบร้อนเข้าไปภาวนาในห้องภาวนาหรอก แต่เราสามารถภาวนาอย่างมีสติได้ในทุก ๆ อิริยาบถ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนและเมื่อใดก็ตาม เวลาที่ท่านอยู่บนโต๊ะทำงาน ท่านสามารถที่จะดึงลมหายใจเข้าอย่างมีสติ แล้วผ่อนลมหายใจออกช้า ๆ อย่างอ่อนโยนสัก ๒ ๓ ครั้ง ก่อนที่ท่านจะลงมือทำงานต่อไป แล้วผลของการทำงานนั้นจะดีขึ้น

เราควรที่จะกลับมาดูแลชีวิตของเรา อย่างต่อเนื่อง เวลาที่เราพบว่าขณะใดก็ตาม เวลาที่เราต้องการที่จะหยุดและพิจารณาดูชีวิตของเราใหม่ในขณะที่เราเริ่มต้น ทำงานอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการพูด การคิด การกระทำ หรือการแสดงความคิดเห็นใด ๆ ก็ตาม ที่เราพบว่าเราจะกลับมามีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับลมหายใจที่อ่อนโยน ที่ผ่อนคลาย ที่มีสติปัญญาในขณะที่หายใจเข้าออกนั้น ท่านจะเห็นตัวท่านเอง ว่าการมีกายที่ควรแก่การงาน แล้วมีชีวิตที่ควรแก่การงานตรงนั้น จะทำให้การงานของท่านมีศักยภาพมากขึ้น

เราไม่ต้องรีบร้อนที่จะเข้า ห้องภาวนาเพื่อการภาวนา แต่เราสามารถภาวนาได้ในทุก ๆ การกระทำของเรา แม้แต่เวลาที่เรารับโทรศัพท์ เรานั่งติดไฟแดงอยู่ที่รถ หรือแม้แต่กำลังขึ้นลิฟต์ก็ตาม ท่านสามารถที่จะมีชีวิตอย่างคนที่รู้ตัวทั่วพร้อมและทันสมัยได้ในทุก ๆ ปัจจุบันขณะ เมื่อท่านกลับมาอยู่กับลมหายใจที่มีสติปัญญา ขอให้ท่านมีความสุขอย่างแท้จริง

แม่ชีศันสนีย์ แห่ง เสถียรธรรมสถาน -

อุปมาเปรียบชีวิตมนุษย์ ๗ ประการ


ชีวิตของมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ย่อมต้องตาย เหมือนสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก เมื่อมีการเกิดแล้ว ก็ย่อมมีการตายติดตามมาเป็นของคู่กัน ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป การตายจึงเป็นสภาพที่ใครๆ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

ในปฏิจจสมุปบาท พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า สาเหตุหรือปัจจัยแห่งการเกิด คือ อวิชชา และปัจจัยให้เกิดการตายก็คือ การเกิดนั่นเอง เพราะการเกิดเป็นบทเริ่มต้นแห่งชีวิต และในเวลาเดียวกัน การเกิดก็นำไปสู่ความตาย โดยผ่านความแก่ ความเจ็บ ซึ่งเป็นปัจจยาการปรากฏต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดตอนของชีวิต

ในอัง คุตรนิกาย ท่านได้อุปมาเปรียบชีวิตมนุษย์ไว้ ๗ ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นความจริงของชีวิต ที่จะต้องเกิด-ดับ เกิดมาแล้วย่อมต้องตาย ช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่นั้นสั้นนัก และเป็นของเล็กน้อย นิดหน่อยในปัจจยาการที่ชีวิตจะต้องผ่านวัฏวนต่อไป

๑. เปรียบด้วยน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาแล้ว น้ำค้างย่อมแห้งหายไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน ชีวิตมนุษย์ก็เปรียบเช่นเดียวกับหยาดน้ำค้าง เป็นชีวิตที่แสนสั้น มีประมาณนิดหน่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความทุกข์มาก คับแค้นมาก

๒. เปรียบด้วยฟองน้ำเมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ด ฟองน้ำที่เกิดขึ้นจากหยาดฝน ย่อมตั้งขึ้น แต่ก็แตกกระจายไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตก็เปรียบเป็นเช่นฟองน้ำ ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน เป็นชีวิตที่สั้น แตกดับง่าย มีประมาณนิดหน่อย มีความทุกข์มาก คับแค้นมาก

๓. เปรียบด้วยรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ เมื่อเราขีดไม้ลงไปในน้ำ รอยนั้นย่อมกลับเข้ามาหากันอย่างรวดเร็วในพริบตา ไม่ตั้งอยู่นาน เฉกเช่นชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย อุปมาเปรียบได้เหมือนกับรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำฉะนั้น

๔. เปรียบด้วยน้ำที่ไหลลงภูเขา น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ย่อมมีกระแสเชี่ยวกราก พัดสรรพสิ่งที่พอจะพัดพาไปได้ ไม่มีเวลาแม้แต่ขณะจิตเดียวที่กระแสน้ำจากภูเขาจะหยุดชะงัก มีแต่จะไหลเรื่อยลงไปแต่ถ่ายเดียวไม่เคยหยุดยั้ง เหมือนชีวิตมนุษย์ที่จะล่วงไปทุกนาที เช่นเดียวกับน้ำที่ไหลลงจากภูเขาฉะนั้น

๕. เปรียบเหมือนน้ำลายที่ถูกถ่มไป เมื่อบุรุษผู้มีกำลังอมก้อนน้ำลายไว้ที่ปลายลิ้น ความที่มีแรงกำลัง ทำให้เขาสามารถถ่มน้ำลายไปได้โดยง่าย ชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย ก็มีอุปมาเหมือนก้อนน้ำลายที่จะพึงถ่มไปได้โดยง่าย เพราะตายง่ายดับง่าย

๖. เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอด ชิ้นเนื้อที่ใส่ลงนาบในกระทะเหล็ก ถูกไฟเผาลนอยู่ตลอดวัน ย่อมจะถึงความย่อยยับแตกทำลายไปโดยเร็ว ไม่อาจจะตั้งอยู่ได้นาน ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย จึงมีอุปมาเปรียบเหมือนกับเนื้อที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดวันตลอดคืนเช่นกัน

๗. เปรียบด้วยแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่า แม่โคที่จะถูกเชือด ย่อมถูกปฏักนายโคบาลไล่ต้อนให้ก้าวเท้าเดินเข้าไปสู่ที่ฆ่า ใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย ก็มีอุปมาเหมือนแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่าฉันนั้น

- หลวงปู่ชอบ ฐานสโม -

วันอังคารที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เหตุผลที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงผลแห่งการปฏิบัติภาวนา


เหตุผลที่ทำให้ชาวพุทธหลายๆ คน
ไม่สามารถเข้าถึงผลแห่งการปฏิบัติภาวนา คือ

ถ้า ไม่หายสงสัยจะไม่ทำ เป็นคนที่ต้องเห็นถึงจะยอมทำ ต้องรู้ให้ได้ว่านรกสวรรค์มีจริง ชาตินี้ชาติหน้ามีจริง ถ้าไม่เห็นด้วยตาตนเองจะไม่ยอมทำอะไรเลย ซึ่งถ้าคิดเช่นนี้ก็คงไม่ได้ทำอะไรจริงๆ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่พิสูจน์ไม่ได้ พิสูจน์ได้แน่นอนแต่ต้องใช้เวลา ต้องพัฒนาจิตไปได้ระดับหนึ่งจึงสามารถรู้เห็นสิ่งเหล่านี้ได้ เป็นไปไม่ได้ที่จะขอเห็นก่อนโดยไม่ลงมือปฏิบัติ คนพวกนี้จึงได้แต่โต้แย้งในสิ่งที่ตนเองสงสัย ทำให้สูญเสียเวลาชีวิตไปเปล่าๆ


เห็นประโยชน์และมีความศรัทธา แต่มีข้ออ้างมากมายเพราะความเกียจคร้าน คนเหล่านี้จะชอบทำบุญมากกว่าการภาวนา เพราะทำได้ง่ายกว่าซึ่งก็ไม่ผิด แต่การทำบุญ ทำทาน ก็ไม่ใช่ตัวที่จะทำให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งได้ ถือว่าเป็นกลุ่มที่เข้ากระแสความดีแล้ว แต่ยังไปไม่ถึงตัวแก่นของพระพุทธศาสนา

พูดมากเกินไป คือ เมื่อหาความรู้ได้แล้ว แทนที่จะลงมือปฏิบัติกลับนำความรู้มาโต้เถียง วิเคราะห์ เที่ยวจับผิดสำนักนั้น สำนักนี้ โดยที่ไม่ได้ลงมือพัฒนาจิตใจของตน ผลที่ตามมาก็คือจิตใจจะยิ่งตกต่ำลงเรื่อยๆ เพราะอัตตาตัวตนพอกพูน คิดว่าตนเองดีกว่าผู้อื่นเพราะรู้หลักธรรมมาก ติดความดีมากเกินไป หมายความว่า มุ่งมั่นในการทำสาธารณะประโยชน์มากเกินไป ช่วยเหลือผู้อื่นจนไม่มีเวลาช่วยเหลือตนเอง เมื่อช่วยเหลือผู้อื่นไปนานๆ มักจะมีความทุกข์ตามมาในภายหลัง เพราะเก็บเรื่องความทุกข์ของผู้อื่นมาคิดจนวุ่นวายปวดหัวไปหมด สุดท้ายก็เกิดความท้อแท้ เพราะไม่เข้าใจว่าโลกคือสิ่งที่เราไปควบคุมไม่ได้


 มุ่งอยู่กับความผิดของผู้อื่น ใช้เวลาจับผิดคนทั้งโลก จนไม่มีเวลาจับผิดตนเอง วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นมากเกินไป คิดจะเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม แต่ไม่เคยเปลี่ยนตนเอง เพ่งโทษความผิดพลาดของผู้อื่น จนจิตใจตนเองขุ่นมัว ไม่มีความเบิกบานพอที่จะปฏิบัติธรรมได้เลย

ยึด ติดกับรูปแบบ มีความเข้าใจผิด ชอบคิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องทำในวัด นุ่งขาวห่มขาว ต้องมีกฏระเบียบที่แตกต่างไปจากการใช้ชีวิตธรรมดา คนกลุ่มนี้จะติดวัดเป็นพิเศษ ชอบหาเวลาเข้าวัดไปปฏิบัติธรรม ถ้าไม่ได้ไปวัด จะรู้สึกว่าปฏิบัติธรรมไม่ได้ สุดท้ายจึงกลายเป็นว่า ไปติดสังคมในวัด ไปหาเพื่อนคุยในวัด ซึ่งกลายเป็นกับดักอีกรูปแบบหนึ่ง

ทำๆ เลิกๆ เมื่อฟังธรรมก็เกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่าและลงมือปฏิบัติ หากแต่เป็นพวกขี้เบื่อ มีความเพียรน้อย ทำหนึ่งเดือนหยุดสองเดือน ในการปฏิบัตินั้น ถ้าปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ผู้ปฏิบัติก็จะได้รับผลแห่งการปฏิบัติเองอย่างไม่ต้องสงสัย หลายคนปฏิบัติไปไม่ถึงจุดแห่งมรรคผล แต่กลับล้มเลิกกลางคัน ทำให้ขาดประสบการณ์ทางจิต เมื่อเลิกไปแล้วกลับมาทำใหม่ ก็เท่ากับเริ่มต้นกันใหม่ไม่จบสิ้น ที่สุดแล้วก็เกิดความท้อแท้ คิดว่าตนเองเป็นผู้ไร้วาสนาไม่อาจบรรลุธรรมได้ คนพวกนี้ก็มีไม่น้อยเลย


ปฏิบัติผิดวิธี เป็นกลุ่มที่โชคร้าย เพราะคิดดีและต้องการทำดี แต่ไปเจออาจารย์ไม่ดี เจออรหันต์ปลอม เจอสิบแปดมงกุฏ จึงทำให้การปฏิบัติผิดทิศผิดทางไปหมด คล้ายๆ กับองคุลีมาลที่ถูกอาจารย์หลอก ในข้อนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการคบหากัลยาณมิตร หาความรู้ที่ถูกต้อง ต้องหัดใช้หลักกาลามสูตร เช่นนี้ก็จะแก้ไขได้

ให้เวลากับทางโลกมาก เกินไป ไม่รู้จักการแบ่งเวลา ไม่รู้จักสร้างสมดุลย์ให้ชีวิต คนพวกนี้จะใช้ชีวิตอย่างวุ่นวายไปเรื่อยๆ ต้องสุขต้องทุกข์ไปเรื่อยๆ อาจอยู่ห่างไกลการพัฒนาจิตใจไปเรื่อยๆ จนมีจุดเปลี่ยนของชีวิต เกิดความทุกข์ครั้งใหญ่ จึงทำให้เขาต้องกลับมาสร้างสมดุลย์ชีวิตอีกครั้ง เป็นผลให้เสียเวลาปฏิบัติทางจิตไปมาก บางคนมาปฏิบัติในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ดี เนื่องจากสังขารไม่อำนวย นั่งไปปวดไป ทำได้ไม่เท่าไหร่ ก็ลมจับล้มพับไปก็มี เป็นการเสียโอกาส เพราะความชราภาพโดยแท้

คนจมทุกข์ เป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของตนเอง วันๆ เอาแต่ทุกข์ซ้ำไปซ้ำมา เหมือนพายเรือวนอยู่ในอ่าง จนเป็นคนเสพติดความเศร้า ความเหงาโดยไม่รู้ตัว นานวันเข้าก็เริ่มเป็นความเคยชินของชีวิต คนเหล่านี้จะชอบฟังธรรมะที่ปลอบประโลม ชอบให้คนอื่นปลอบแต่ไม่ชอบช่วยตนเอง นิยมการใช้ธรรมะชั้นต้นเพื่อบำบัดทุกข์ แต่ในขั้นตอนของการปฏิบัติภาวนาจะไม่ชอบ ไม่มีกำลังใจพอที่จะเปลี่ยนตนเองได้เลย


 คนที่มีความสุข โลกสวยงาม คิดบวกตลอดเวลา เป็นพวกที่ทำอะไรก็สำเร็จไปเสียหมด มีวิธีมองโลกให้สดใสไปทุกอย่าง ถ้าความจริงไม่ดี ก็มองให้มันดีเสีย จึงไม่ค่อยได้เจอความทุกข์ เมื่อไม่ค่อยได้พบความทุกข์ จึงไม่รู้จะปฏิบัติธรรมไปทำไม เชื่อว่าตนเองจัดการทุกอย่างได้ บุคคลพวกนี้จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นไปได้ว่า ชั่วชีวิตเขาอาจไม่ได้ลงมือปฏิบัติธรรมเพื่อลดทอนภพชาติได้เลย เป็นกลุ่มที่น่าสงสาร เพราะต้องเวียนว่ายตายเกิดไปอีกนาน

ฉลาดเกินไป เป็นคนที่ตกเป็นทาสของความคิด ยึดติดอยู่กับการค้นหมายชีวิตเชิงปรัชญา คิดเอาเองว่า ความคิดจะทำให้เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างในโลกได้ คนพวกนี้จะถือความคิดเป็นใหญ่ ยึดติดอยู่กับการวิเคราะห์โดยไม่รู้ว่า มีภาวะบางอย่างที่เกินขีดความสามารถของสมองไปแล้ว คนกลุ่มนี้จะฉลาดทางโลก แต่กลายเป็นคนโง่ในทางธรรม

การเวียนว่ายตายเกิดไม่ใช่ของสนุก พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า ความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่คือทุกข์แห่งการเวี่ยนว่ายตายเกิด เพราะการเวี่ยนว่ายตายเกิดนั้น เป็นที่มาแห่งทุกข์ทั้งมวล เป็นการยากที่ใครสักคนจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และยิ่งยากเข้าไปอีกที่จะได้พบกับศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า


เมื่อเรามีคุณสมบัติครบบริบูรณ์เช่นนี้ ขอจงทำลายความโง่เขลาเหล่านี้เสีย และเร่งความเพียรของตนเอง พัฒนาจิตตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อนำสันติสุขมาสู่ตน เข้าสู่นิพพานตลอดอนันตกาล

ที่มา : ธรรมะดั่งลมหายใจ

รู้เท่าทันความโกธร



การจัดการความโกรธ คือรู้ทันมัน ปกติเวลาโกรธใคร ใจเราจะพุ่งไปที่คนนั้น คิดหาทางเล่นงานหรือจ้องตอบโต้เขา ไม่ด้วยคำพูดก็การกระทำ แต่ทันทีที่เราหันมามองใจของตน จนเห็นความโกรธที่เผาลนจิตใจ ความโกรธจะวูบลงทันที เหมือนกองไฟที่ถูกชักฟืนออกมา

ความโกรธลุกลามได้ก็เพราะเราหมกมุ่นครุ่นคิดถึงคนหรือเหตุการณ์ที่เราไม่ชอบ การหมกมุ่นครุ่นคิดเช่นนั้นไม่ต่างจากการเติมฟืนให้กับกองไฟ ยิ่งเติมก็ยิ่งร้อน แต่ทำไมถึงยังเติมไม่หยุด นั่นก็เพราะเราเผลอปล่อยใจไปตามความโกรธ แต่เมื่อใดที่เรากลับมารู้ทันความโกรธ หรือเห็นความโกรธกลางใจ ความโกรธก็อ่อนแรงเพราะขาดเชื้อ ไม่นานก็ดับไป

จะรู้ทันความโกรธได้ต้องมีสติที่รวดเร็ว ถ้าสติเชื่องช้า กว่าจะรู้ตัวว่าโกรธก็ด่าหรือทำร้ายเขาไปเรียบร้อยแล้ว แล้วก็มานั่งเสียใจที่ทำสิ่งนั้นลงไป

ถ้าไม่อยากให้โจรร้ายครองใจ ก็ขอให้หมั่นดูใจของเราอยู่เสมอ

- พระไพศาล วิสาโล -

วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ทาสกิเลส


เราตกเป็นทาสของกิเลสตัณหานี้ มานับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว
เมื่อไหร่เล่าจะตื่นตัวกันสักที ไม่ควรจะอ้างโน่นอ้างนี่
บางคนก็อ้างว่าตนเจ็บป่วย ทำความเพียรไม่ไหว
อ้าว เจ็บป่วยก็...มันเดินไม่ได้ ก็นอนภาวนาสิ
มันนั่งไม่ได้ ก็นอนภาวนา
กำหนดพิจารณารู้ทุกข์ รู้เท่าทุกข์นะ
ทำความรู้เท่า..เท่านั้นแหละ

- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ -

ปล่อยวางสมมุติ


ทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล
ถ้าเอาจิตไปยึดไปเกาะ
ถือเป็นสมมุติทั้งสิ้น
ด้วยเหตุที่เกาะสมมุติเหล่านี้
จึงพากันเวียนว่ายตายเกิด
ในแดนสมมุติกันนับชาติไม่ถ้วน
เพราะจิตยังมีความอยากของสมมุติเหล่านี้อยู่
หากปล่อยวางสมมุติเหล่านี้ได้เมื่อไหร่
ก็จะรู้จักกับแดนวิมุติสุข
เป็นความสุขที่เที่ยงแท้และยั่งยืนโดยแท้จริง

- หลวงปู่ทา จารุธมฺโม -

สติเป็นธรรมวินัย


สติเป็นธรรมวินัยอย่างยิ่ง
สติเป็นความอดทนก็ได้
เป็นความละอาย เป็นเมตตากรุณา
เป็นคุณธรรมได้ทุกๆอย่าง
การใช้ชีวิตขอให้มีสติเป็นหลัก
คุณธรรมอันอื่นก็เกิดขึ้นตามลำดับ

- หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ -

พระนิพพาน


พระนิพพานเป็นธรรมอันสุขุมยิ่งนัก เป็นธรรมที่ต้องเห็นด้วยอริยจักษุ เป็นธรรมอันบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยมรรคเท่านั้น จะพึงถึงได้ นิพพานจึงมิใช่เรื่องของการเข้าใจ แต่อยู่ที่การเข้าถึง อันเป็นผลจากการปฏิบัติธรรมของตนเองเท่านั้น...

ที่มา : ธรรมะดั่งลมหายใจ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

พ้นจากกระแสโลกเข้าสู่กระแสธรรม


ขอนไม้เล็กๆ ที่หล่นลงท่ามกลางธานนํ้าเชี่ยวกราก ย่อมถูกพัดไปอย่างไร้จุดหมาย สุดแต่กระแสนํ้านั้นจะมีกำลังพาไป

ชีวิตมนุษย์ที่เกิดมาด้วยอำนาจแห่งความหลง ก็ล้วนตกอยู่ในกระแสโลก อันจะต้องถูกพัดพาไปสุดแต่ใครสร้างกรรมใดไว้

หนทางเดียวที่จะยกจิตของเราให้พ้นจากกระแสโลก เข้าสู่กระแสธรรมได้ ก็คือ การปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเท่านั้น..

ที่มา : ธรรมะดั่งลมหายใจ

คุณค่าของการภาวนา


คุณค่าของการภาวนา คือ ยิ่งเจริญภาวนาเท่าใด จิตมันก็ยิ่งมีกำลัง เมื่อใจมีพลัง มีความอาจหาญแล้ว สิ่งที่เรียกว่ายากก็ไม่มีอะไรยาก สิ่งที่เราคิดว่าเหลือวิสัยก็ไม่เหลือวิสัยอีกต่อไป อยู่ในวิสัยที่ทุกคนจะทำได้ทั้งนั้น..

ที่มา : ธรรมะดั่งลมหายใจ

ยกจิตให้เหนือกาย


เมื่อกายไม่สบาย จงเจริญสติด้วยการยกจิตให้เหนือกาย ให้พิจารณาถึงความไม่เที่ยง สังขารมันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่เรา มันเจ็บมันป่วยเป็นเรื่องธรรมดาของธาตุขันธ์ เมื่อถึงคราป่วยนั้นแหละ เป็นโมงยามแห่งการเจริญสติ เป็นเวลาที่ใจควรอยู่กับตนเองมากที่สุด ให้รู้ว่ากายมันทุกข์ พึงวางใจให้เป็นสุขเถิด..

ที่มา : ธรรมะดั่งลมหายใจ