วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2558

บ่วงของมาร


บ่วงของมารได้แก่อะไร

อาการของจิตที่เที่ยวไปตามอารมณ์นั้น ย่อมมีทั้งอารมณ์ดีและอารมณ์ร้าย จึงต้องมีความสุขบ้าง ทุกข์บ้างเป็นธรรมดา ตามวิสัยของปุถุชน จิตที่เที่ยวไปนั้นจะต้องประสบของ ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ซึ่งเรียกว่า กามคุณ ๕ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นบ่วงของมาร

จิตของปุถุชนทั้งหลายเมื่อเที่ยวไปประสบอารมณ์ทั้ง ๕ นั้นหรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้เกิดความยินดีพอใจก็ดี หรือเกิดความเสียใจเป็นทุกข์ดี เรียกว่าเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว คำว่า "ติด" ในที่นี้ หมายความว่า สลัดไม่ออก ปล่อยวางไม่ได้ บ่วงของ มารผูกหลวมๆ แต่แก้ไม่ได้ ถ้าดิ้นก็ยิ่งแต่จะรัดแน่นเข้า

จิตที่สำรวมได้แล้วจะพ้นจากบ่วงของมารได้อย่างไร ปุถุชน เบื้องต้นเมื่อเห็นโทษภัยในการเข้าไปติดบ่วงของมารแล้ว จึงต้องพึงสำรวมในอายตนะทั้งหลาย มีตา หู เป็นต้น พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ใครสำรวมจิตได้แล้ว จักพ้นจากเครื่องผูกของ มารดังนี้

ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นโคจรที่เที่ยวแสวงหาอารมณ์ของจิต เมื่อเราปิดคือ สำรวมมีสติระวังอย่าให้จิตหลงไปในอารมณ์ทั้ง ๖ นั้นได้แล้ว เป็นอันว่ามารผูกมัดเราด้วยบ่วงไม่ได้

 - หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี -

ปัญญาวิปัสสนา



ปัญญาวิปัสสนา คือเห็นสิ่งทั้งปวงหมด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สิ่งเหล่านั้นเป็นของไร้สาระ เป็นโทษ เป็นทุกข์ เป็นภัย อันตรายแก่จิตใจ จึงปล่อยวางทอดธุระในสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อันนี้เป็นปัญญาอันวิเศษสูงสุด เพราะคนจะพ้นจากโลกได้ก็เพราะ เห็นที่สุดของโลก คือ เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

 -
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี -

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ใจรู้ทันอารมณ์


ใจ... นี้แหละเป็นผู้สร้างปัญหา
ไปหลงอารมณ์ว่าเป็นตัวเป็นตน เลยถูกอารมณ์ผูกรัดเอาไว้
ใจ...จึงว้าวุ่นหาความสงบในชีวิตไม่ได้
ผู้มีปัญญาท่านจึงศึกษาอารมณ์ เพื่อแก้จิตแก้ใจไม่ติดข้องกับมัน
เห็นอารมณ์ก็ตั้งอยู่ตามสภาพของมัน
เป็นเพียงสภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเท่านั้น
สุขเกิดขึ้นก็รู้ ทุกข์เกิดขึ้นก็รู้
จิตตามรู้อารมณ์ทุกขณะ
ถ้าจิตโน้มไปหาสุข เราก็ดึงมันไว้
ถ้าจิตเอียงไปทางทุกข์ เราก็ดึงมันไว้
จะดึงมันด้วยวิธีใด? 
ที่จริงไม่ใช่การดึงอะไรหรอก 
เพียงรู้ทันอารมณ์ทั้งสุขและทุกข์ว่ามันเป็นตัว..."วัฏฏะ"
หมุนวนแปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย
เมื่อรู้เท่าธรรมดาของโลกอยู่อย่างนี้ โดยไม่ติดข้องในอารมณ์ทั้งปวง
จะเป็นผู้ทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
 
- หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี -

รู้จิต


การเห็นจิตของเรานี่แหละดี
มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบ คิดละเอียด ก็รู้
ดูจนกระทั่งมันวางลง
ถ้าเห็นอยู่เสมอๆ แล้วก็วางหมด
รู้สิ่งอื่นไม่สามารถจะชำระจิตของตนได้ 
รู้จิตของเรานี่แหละ จึงจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์...

- หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี -

ที่มา : http://owatdhamma.blogspot.com


วันศุกร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2558

ดูจิต ดูกาย


จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ
แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร
อย่ายึดมั่นถือมั่น
แม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง

- หลวงปู่ชา สุภัทโท -

ที่มา : http://owatdhamma.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2558

รู้แล้วละ ธรรมะเกิด


 
สิ่งใดมากระทบ เราก็รู้ รู้แล้วละ ธรรมะเกิด
รู้แล้วปล่อย รู้แล้ววาง คือนักปฏิบัติอันแท้จริง

- หลวงพ่อวิชัย เขมิโย -

ที่มา : http://owatdhamma.blogspot.com

วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

วิธีหยุดความคิด


การจะนั่งลงแล้วคิดโน่นคิดนี่ตลอดเวลานั้น มันง่ายกว่านั่งลงแล้วไม่คิด เพราะเราติดนิสัยอย่างนั้นมานานแล้ว แม้ความคิดที่ว่า “จะไม่คิด” มันก็ยังเป็นความคิดอย่างหนึ่งอยู่ดี ถ้าจะไม่คิด เราต้องมีสติ แล้วเพียงเฝ้าสังเกตและฟังการเคลื่อนของจิต แทนที่จะคิดเรื่องจิต เราจะเฝ้าดูมัน และแทนที่จะไปติดอยู่กับความคิดความฝัน เราจะรู้ทันมัน ความคิดเป็นการเคลื่อนไหว เป็นพลังผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เที่ยง เราเพียงแต่รู้ไว้ว่าความคิดก็เป็นเพียงความคิด โดยไม่ต้องไปประเมินคุณค่าหรือแยกแยะแต่ประการใด แล้วมันจะเบาบางลงไปและจะระงับไปในที่สุด นี้ไม่ได้หมายความว่าจงใจไปประหัตประหารมัน แต่ยอมให้ระงับไปเอง เป็นลักษณะของความเมตตา นิสัยที่ชอบคิดจะเหือดหายไป ความว่างอันไพศาลชนิดที่ไม่เคยประสบมาก่อนก็จะปรากฏแก่ท่าน

- พระอาจารย์สุเมโธ -

การเจริญวิปัสสนา


การเจริญวิปัสสนา
เป็นเรื่องของการฝึกจิตใจ
ให้มีความเป็นปกติ
ให้จิตมีสติ...รู้ตื่นอยู่ภายใน
ปล่อยวางอยู่ในตัว...
รู้...ดู...เท่าทันอยู่
แต่ว่าไม่บังคับ ไม่กดข่ม
มีความเป็นปกติ เป็นธรรมดา
นั่นแหละคือ ภาวนา
เป็นความเจริญของสติ

- เขมรังสี ภิกขุ -

วันจันทร์ที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558

ชีวิตเบาสบาย


รู้จักให้  -  รู้จักรับ
รู้จักปรับ  -  รู้จักให้อภัย
รู้จักแบ่ง  -  รู้จักได้
รู้จักแข็ง  -  รู้จักคลาย
ชีวิต  -  จะได้เบาสบาย
และ  -  มีความสุข 

วันนี้วันพระ  สุข สงบ สว่าง  สาธุ  _/\_  

ธรรมชาติมีความเกิดดับเป็นธรรมดา


ธรรมชาติมีความเกิดดับเป็นธรรมดา

นี่คือธรรมชาติ ถ้าไม่สังเกต ไม่พิจารณาดู
จิตก็ถูกอุปาทานยึดเหมาเอาเป็นตัวตน
เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล
เป็นเรา เป็นของเราขึ้นมา
ก็เรียกว่า เป็นการหลงผิด เห็นผิด
หลงตลอดไปทุกชาติๆ เรื่อยๆ ไป ก็ไม่พ้นทุกข์

การจะพ้นทุกข์นี่ จะต้องมีปัญญารู้จริง
คือ รู้จักชีวิตตนเองอย่างแท้จริงว่า
มันเป็นเพียงธรรมชาติ
ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา
รู้อย่างแจ่มชัด จึงจะทำลายกิเลสต่างๆ
จะได้พ้นทุกข์ คือ ชีวิตจะได้ไม่ก่อตัวขึ้นมาอีก
ธรรมชาติอันนี้มันจะไม่ก่อตัวขึ้นมาอีก
ถ้ายังมีความไม่รู้ คือ ความหลง ความยึดผิด
เห็นผิดอยู่ มันก็เท่ากับมีเหตุมีปัจจัย
ที่จะทำให้มันก่อตัวขึ้นมา เมื่อก่อตัวขึ้นมาแล้ว
ก็จะทุกข์ คือมันก่อเอาสิ่งที่เป็นทุกข์เกิดขึ้น

ร่างกายทุกส่วนนี้เป็นที่ตั้งของทุกข์
มีกายส่วนไหนก็จะมีความทุกข์ส่วนนั้น
ต้องมีปวด มีเจ็บ มีเมื่อย มีร้อน มีหนาว มีไม่สบาย
ทุกส่วนมันจะสลายตัวอยู่ตลอดเวลา
มีจิตใจก็ต้องเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา
เห็น ได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส ถ้าพิจารณาจริงๆ
จะเห็นว่ามันเป็นทุกข์
เป็นทุกข์เพราะมันทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้

ฉะนั้น การที่จะเกิดปัญญา
รู้แจ้งเห็นจริง ถอนความยึดถือเป็นสัตว์ บุคคล
ตัวตน เราเขานั้น ก็ต้องมีสติคอยระลึก
คอยพิจารณาสังเกตดูธรรมชาติในตนเองนี้
จนเห็นว่ามันเกิดดับ #ธรรมชาติแต่ละชนิดนี้
จะมีการเกิดแล้วดับไป #เกิดแล้วดับไป
หมดไปๆ #มากมาย
ทุกอย่างมีแต่หมดไปสิ้นไป
ดูไปตรงไหนก็หมดไปสิ้นไป

จึงเกิดปัญญาว่า
ไม่เที่ยง #เป็นทุกข์ #บังคับไม่ได้
มันก็จะทำลายความเป็นตัวตน
ทำลายความยึดถือเป็นเป็นตน
ก็จะเป็นผู้ที่มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ขึ้น
เพราะไม่มีสิ่งอันเป็นที่อาศัยของกิเลสต่างๆ
คือ อวิชชา หรือความไม่รู้
เพราะเมื่อมี อวิชชา ตัณหาก็ตามมา
อุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น
กิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด
กิเลสต่างๆ มากมาย มันจะตามมาเป็นขบวน
เพราะความไม่รู้จริงนี่เอง

ถ้าทำลายความไม่รู้ออกไป ก็ไม่มีกิเลสต่างๆ
ที่จะตามเกิดขึ้นมาในจิตใจได้
การที่จะกำจัด อวิชชาความหลงให้หมดสิ้นได้
จำเป็นที่จะต้องฝึกฝน ประพฤติปฏิบัติ


- หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี -

เหนือโลก


สละโลก จึงได้ธรรม สละธรรม จึงเหนือโลก
จิตของผู้ปฎิบัติธรรม ที่เข้าถึงธรรม
จึงเปรียบเหมือนเรือลอยลำเหนืออารมณ์ทั้งปวง

สมถะ วิปัสสนา


สมถะ วิปัสสนา
มีศีล เจริญสมาธิ (สมถะ)
ตามความถนัดของแต่ละคน
เช่น รู้ลมหายใจ รู้กายเคลื่อนไหว
เดินจงกลม นั่งสมาธิ
ทิ้งความหลงเพลิดเพลิน
ละอกุศล เจริญกุศลในจิตใจ
จนจิตสงบ มีความสุข มีปีติ ตั้งมั่น
ไม่มี อกุศล นิวรณ์ห้า
เมื่อจิตเป็นอุเบกขาแล้ว
จึงเจริญปัญญา (วิปัสสนา)
สักว่ารู้ "แค่รู้" กายใจ (ขันธ์ห้า)
ตามที่เป็นจริง ไม่แทรกแซง ไม่จัดการอะไร
ทำมากๆ ทำซ้ำๆ ย่อมรู้ว่า สิ่งทั้งปวง เกิดแล้วดับ
เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มีความแปรปรวน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
ไม่ใช่ตัวใช่ตนที่แท้จริง
จิตจะเบื่อหน่าย คลายอุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่น ไปตามลำดับ...

การภาวนา


การภาวนาที่ไม่ยาก โดยย่อของอริยมรรค คือสมถะ วิปัสสนา
สมถะคือการทำสมาธิ ทำได้ทั้งวัน
ทุกท่าทาง มีกายหรือลมหายใจ
เป็นเสาหลักของจิต คอยรู้
มีสตินึกถึงลมหายใจ
หรืออิริยาบถการเคลื่อนไหวของร่างกาย
อยู่เสมอ ทำให้จิตสงบ ตั้งมั่น
มีความสุข แล้วทำวิปัสสนา
เจริญปัญญาต่อไป
สังเกตการทำงานจิต เห็นการเกิดดับ
ของ ความคิด อารมณ์ นามธรรมต่างๆ
โดยไม่แทรกแซง ด้วยจิตที่เป็นอุเบกขา
ไม่ยินดียินร้าย นานวันเข้า อนุสัย
หรือนิสัย สันดานเดิม จะค่อยๆดีขึ้น
อุปาทานความยึดมั่น ความทุกข์ทางใจ
จะลดลงไป เรื่อยๆ ...

จิตที่ฝึกแล้วนำความสุขมาให้


พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า  จิตที่ฝึกแล้วนำความสุขมาให้

การฝึกจิตจึงเป็นการดี   ปกตินั้นจิตเป็นสิ่งที่ข่มยาก แต่ก็ข่มได้
เบา ไว อ่อนไหวไปตามอารมณ์ต่างๆ ง่าย   แต่ด้วยการข่มการฝึกก็สามารถทำให้หนักแน่นมั่นคงสม่ำเสมอได้   และแม้มีปกติตกไปตามใคร่ คือยินดีพอใจในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจ  แต่ด้วยการข่มการฝึกก็สามารถทำให้ละความยินดีพอใจนั้นได้    เมื่อจิตได้รับการข่มการฝึกแล้วให้ไม่อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ต่างๆ โดยง่าย  และให้ละความยินดีพอใจในสิ่งที่น่าใคร่น่าปรารถนาพอใจได้ จิตก็จะเป็นจิตที่เป็นสุข...

นี้แลที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า  "จิตที่ฝึกแล้วนำความสุขมาให้"

สภาวะแห่งไตรลักษณ์


ไม่มีใครเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ได้ทุกวัน วันนี้สุข พรุ่งนี้ทุกข์ นาทีนี้สุข วินาทีต่อไปอาจจะเป็นทุกข์ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนวนมาให้เราได้พิจารณาสภาวะแห่งไตรลักษณ์ ผู้มีปัญญาญาณล้วนเก็บเกี่ยวสภาวะต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวให้เป็นประโยชน์ต่อ การต่อยอดแห่งวิปัสสนาญาณในชีวิตประจำวันให้เกี่ยวเนื่องกับการดำรงชีวิต ประจำวัน ให้เป็นไปในการแผ้วถางทางพ้นทุกข์ในที่สุด . . .

สติ ปัญญา



ในทางพุทธศาสนารวมลงแล้วถือเอา สติเป็นใหญ่ สติกับปัญญามันมาด้วยกัน
เพราะฉะนั้นทุกคนเมื่อฝึกฝนอบรม สมาธิ - ภาวนา อย่าลืม สตินั้นต้องตั้งให้มั่น
สตินั้นให้พร้อมอยู่เสมอทุกขณะ เมื่อสติตั้งมั่นพร้อมอยู่เสมอแล้ว ตัวปัญญาเกิดจากสตินั่นแหละ

ปัญญา คืออะไร คือรู้ตัวเอง เห็นตัวเองอยู่ทุกขณะ คิดดีคิดชั่ว คิดหยาบละเอียดก็รู้ตัวทุกเมื่อ อันนั้นเป็นปัญญา ปัญญาที่กว้างขวางไปสักเท่าไรก็ตาม ก็มารวมอยู่ที่สติตัวนั้น ถ้าสติไม่มีเสียแล้วปัญญาก็จะไม่เกิด

สิ่งสารพัดทั้งปวงหมดที่มากระ ทบจิต เกิดความรู้สึกตัวเห็นตัวเองขึ้น นั่นตัวปัญญา ถ้าไม่มีสติเสียแล้ว ถึงรู้สึกขึ้นก็ไม่รู้ไม่เห็นตัวเอง ไม่ทราบว่าอะไรต่ออะไรจะไม่รู้สึกตัว สติจึงเป็นหลักสำคัญ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเทศน์ให้สาวกทั้งหลายฟัง ทรงเทศน์ถึงที่สุดหมายถึงมรรค ผล นิพพานเป็นที่สุด  ก็คือสติตัวนี้เอง แต่หากว่าผู้ทำนั้นจะถึงหรือไม่ถึง นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จึงตรัส ว่าเทศน์ถึงที่สุดแล้ว หมดเรื่องเท่านี้เรื่องศาสนา มีสติสมบูรณ์แล้วก็หมดเพียงเท่านั้น  ที่จะปฏิบัติเป็นไปได้หยาบละเอียดสักเท่าใด มันอยู่ที่ตัวเรา

- หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี -

เสียดาย


เรื่องน่าเสียดายที่สุดในชีวิตของชาวพุทธมีอยู่ 4 เรื่อง
1. น่าเสียดายถ้าก่อนตาย...ไม่ได้ศึกษาพุทธพจน์
2. น่าเสียดายถ้าศึกษาพุทธพจน์แล้ว...ไม่เลื่อมใส
3. น่าเสียดายถ้าเลื่อมใสพุทธพจน์แล้ว...ไม่ปฏิบัติตาม
4. น่าเสียดายถ้าปฏิบัติตามพุทธพจน์...แต่ไม่ต่อเนื่องจนตลอดรอดฝั่ง

อ่านด้วยสติ


อ่านหนังสือ "เล่มนอก" มากมาย
อาจทำให้รู้จักใครทั่วทั้งโลก
แต่ไม่รู้วิธีดับทุกข์ในใจตัวเอง
ส่วนการอ่านหนังสือ "เล่มใน" นั้น
แม้ไม่ได้ทำให้รู้จักใครอย่างกว้างขวาง
แต่นำไปสู่การรู้จักตนอย่างลึกซึ้ง
ดับทุกข์ได้อย่างเด็ดขาด...

วันอาทิตย์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2558

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน


การปฏิบัติต้องอาศัยศรัทธาในพระธรรมคำสอน
ไม่ต้องรู้ธรรมให้มากมาย รู้จักศีลก็รู้บาปบุญ ชำระจิตให้ผ่องใสบริสุทธิ์
แล้วหยุดมองตนพิจารณาตน แยกร่างกายแยกจิตใจ
ความรู้สึกชำแหละตน จนเห็นสัจธรรม แต่ละส่วนแต่ละกอง
แล้วตัดขาดจากชิ้นส่วนนั้นกองนั้น แล้วยกขึ้นพิจารณา

"ไม่ต้องเชื่อหากยังไม่ปฏิบัติ "

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน   กิเลสก็อยู่ในตน   ธรรมะก็อยู่ที่ตน.

อาหารใจ


"การบำเพ็ญจิตตภาวนา เพื่อให้ใจมีที่อยู่อาศัย"

การบำเพ็ญจิตตภาวนา ก็เพื่อ ใจจะมีที่อาศัย ใจจะมีที่ยึด ใจจะมีเรือนของใจเป็นที่อาศัย ใจย่อมมีความร่มเย็น เพราะมีที่พึ่งที่ยึดที่เกาะ ฉะนั้นการสร้างที่พึ่งสำหรับใจจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก

ใจเมื่อได้รับ การอบรมโดยสม่ำเสมอ ย่อมจะมีความเจริญ มีความผาสุกร่มเย็น มีความผ่องใส มีความสงบเย็น เป็นที่แน่ใจแก่ตนเองขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งแน่ใจจริง ๆ สิ่งภายนอกอะไรจะได้จะเสียไป ไม่สำคัญ เมื่อจิตมีที่ยึดมีหลักเกณฑ์ภายในตัวแล้ว

เพราะที่ยึดของใจกับที่ยึด ของกายนั้นต่างกัน อาหารของกายกับอาหารของใจต่างกัน กายเป็นรูปอาหารก็ต้องอาศัยสิ่งที่เป็นรูปด้วยกัน เช่น ข้าว น้ำ อาหารประเภทต่าง ๆ เหล่านี้เป็นอาหารของกาย

อาหารของใจได้แก่อารมณ์ อารมณ์ที่เป็นพิษนั้นเป็นสิ่งที่เป็นภัยต่อจิตใจ เราต้องระมัดระวังอย่าให้ จิตคิดไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งจะเกิดความทุกข์ร้อนแก่ตนเอง พยายามเสาะแสวงหาอาหาร คืออารมณ์ท่ีดีแก่จิตใจ ได้แก่ศีลธรรม มีคำว่า "พุทโธ ๆ" เป็นต้น ให้เป็นที่ยึดที่เหนี่ยวของใจ

ใจเมื่อมีธรรมเป็นหลักยึด แล้วย่อมมีความร่มเย็น นี่ชื่อว่าใจมีอาหาร ใจมีอาหารใจก็มีความอิ่มพอ กับอาหารคือธรรมนั้น ๆ ย่อมไม่ส่ายแส่เร่ร่อนวุ่นวายก่อกวนตัวเอง ให้เกิดความทุกข์ความลำบาก เหมือนดังที่เคยเป็นมา...


- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -

สมบัติของมนุษย์เรา


วันหนึ่งๆ อย่าได้ลืม การให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี การภาวนาก็ดี
นี่! เป็น สมบัติของมนุษย์เรา
ที่จะสั่งสมคุณงาม ความดีทั้งหลาย
จากการกระทำเหล่านี้ เข้าสู่ใจของตน
อย่าให้ได้ ขาดวัน ขาดคืน

เราต้องเสาะแสวงหา ความดี
มาประดับประดาจิตใจของเรา
เสียตั้งแต่ บัดนี้! จะไม่เสียที ที่ได้เกิดมา
เป็นมนุษย์ และ พบพระพุทธศาสนาด้วย 

- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน-

การเจริญสติ


การเจริญสติอยู่เสมอ
จะช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้ 
โดยไม่ยึดติดกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับปัจจุบัน 
คือปล่อยวางได้แม้กระทั่งทุกขเวทนาที่กำลังบีบคั้นอยู่
การเจริญสติเป็นกิจวัตร จะทำให้เราไม่ลืมกาย ไม่ลืมใจ
ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่เผลอไปในอดีต ไม่เผลอไปในอนาคต...

เห็นธรรม


เห็นธรรม คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา
ทำอย่างไรเราจะพ้นจากกองทุกข์
เห็นว่าของทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา
แม้ร่างกายที่อยู่ร่วมกันก็ไม่ใช่เราเลย
มันอยากเจ็บ มันก็เจ็บ มันอยากแก่ มันก็แก่
มันอยากตาย มันก็ตาย ห้ามมันไม่ฟัง
ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นไม่กลัวตาย

- หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ -

แก่นของธรรม


สติเป็นแก่นของธรรม
แก่นของธรรมแท้อยู่ที่สติ
ให้พากัน หัดทำให้ดี
ครั้นมีสติแก่กล้าดีแล้ว
ทำก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด
กุศลธรรมทั้งหลายจะเกิดขึ้น
เมื่อบุคคลอยู่กับสติแล้ว
สติเป็นใหญ่ สติมีกำลังดีแล้ว
จิตมันรวม เพราะสติคุ้มครองจิต

- หลวงปู่ขาว อนาลโย -

ประมาทมัวเมา


คนใดประมาทมัวเมา
ไม่ได้นึกถึง ความเกิดเป็นทุกข์
ความแก่เป็นทุกข์ ความเจ็บไข้เป็นทุกข์
ความตายเป็นทุกข์
จิตใจจะเศร้าหมอง ขุ่นมัว ว้าวุ่นไปหมด
ฉะนั้น จงนึก จงเจริญอยู่เสมอว่า

ชีวิตเรานั้นน้อยนิดเดียว
ไม่ใช่มากมายประการใด
ชีวิตจริงๆ ก็อยู่แค่ลมหายใจเข้า-ออก
แค่นี้เอง...

- หลวงปู่สิม พุทธาจาโร -

อุปัฏฐากใจตนเอง


พระพุทธเจ้าแท้ ธรรมแท้ อยู่ที่ใจ
การอุปัฏฐากใจตัวเอง
คือการอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า
การเฝ้าดูใจตัวเองด้วยสติปัญญา
คือการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง

- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -

ดูจิต


ดูจิต คืออะไร ?
หลวงปู่ดูลย์กล่าวไว้ว่า
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ

การเรียนรู้อริยสัจแห่งจิตนี้ เปรียบได้กับรอยเท้าเล็กๆ รอยหนึ่งในรอยเท้าช้าง
รอยเท้าช้างที่ว่าก็คือ การปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน 4 นั่นเอง
การดูจิตนี้ หลายคนที่ทำกัน ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยในการทำที่ไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายก็จะมาลงตรงอริยสัจแห่งจิตเหมือนกันทั้งหมด

ดูจิต เริ่มต้นอย่างไร ?
การเริ่มต้นดูจิต คงต้องเริ่มหลังจากที่เรามีความเข้าใจหลักแห่งพระพุทธศาสนาแล้วว่า พระพุทธศาสนามุ่งหมายประโยชน์ไปที่ ความพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่น และเราเองก็มีความปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ ไม่ได้ปรารถนาอย่างอื่นจากการปฏิบัติตามแนวทางของพุทธศาสนา  อีกทั้งมีความศรัทธาและเชื่อมั่นว่า การดูจิตอย่างต่อเนื่องนี่แหละที่จะพาไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

เมื่อจะลงมือดูจิตกันอย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ต้องฝึกกันก็คือ  เราต้องฝึกให้เราเองสามารถที่จะมีความรู้สึกตัว (มีสติ+สัมปชัญญะ) ได้บ่อยๆ  โดยยังไม่ต้องสนใจว่าเราต้องดูอะไร (สนใจเพียงว่า เรารู้สึกตัวได้บ่อยๆหรือยัง) ครูบาอาจารย์บางท่านก็จะสอนให้รู้จักว่า การรู้สึกตัวเป็นอย่างไร การไม่รู้สึกตัว (เผลอไป) เป็นอย่างไร จนกระทั่งเรามีความรู้สึกตัวได้บ่อยๆ ในขณะใช้ชีวิตประจำวันตามปรกติ หรือบางท่านก็สอนให้มีความรู้สึกตัวบ่อยๆ ด้วยการฝึกเดินจงกรม ฯลฯ

การที่เรามีความรู้สึกตัวนี้ จะทำให้เรามีจิตที่ตั้งมั่น  ไม่เอนเอียงไปตามสิ่งต่างๆที่ปรากฏขึ้นในการรับรู้ของเรา ซึ่งจะทำให้ เมื่ออะไรปรากฏขึ้นในการรับรู้ของเรา
เราก็จะรับรู้สิ่งเหล่านั้นในลักษณะที่เหมือนเราคอยรับรู้อยู่ห่างๆ เปรียบเหมือนเรารับรู้ว่ามีน้ำไหลเชี่ยวกรากด้วยการนั่งดูน้ำอยู่บนฝั่ง  ที่เห็นการไหลที่เชี่ยวกรากของสายน้ำโดยที่เราไม่ถูกสายน้ำพัดพาไปจนจมน้ำตาย


ดูจิต ดูอย่างไรจึงจะถูกต้อง ?
การดูจิตที่ถูกต้องนั้น จะเป็นการดูสิ่งต่างๆที่ปรากฏขึ้นในการรับรู้ทางใจด้วยความรู้สึกตัว ซึ่งจะทำให้เราคอยรับรู้สิ่งที่ปรากฏขึ้นนั้นแบบรู้อยู่ห่างๆ โดยไม่ไปแทรกแซงใดๆ กับปรากฏการณ์นั้น อย่างเช่น พอเรารู้สึกได้ว่ามีความโกรธปรากฏขึ้น ด้วยการที่เราผ่านการฝึกจนรู้สึกตัวได้บ่อยๆ เราก็จะรับรู้ความโกรธนั้นได้แบบรู้อยู่ห่างๆ โดยไม่ต้องไปทำสิ่งใดเลยที่จะทำให้ความโกรธนั้นดับไป
และรับรู้จนสามารถเห็นความจริงของสิ่งต่างๆ ได้ว่า ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

ดูจิต ปฏิบัติแล้วได้อะไรบ้าง ?
ได้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  ได้มรรคผลพระนิพพานเป็นที่สุด แม้ยังไม่ถึงที่สุด ก็จะเป็นผู้ที่มีทุกข์น้อยลงไปตามลำดับ…


- อ.สุรวัฒน์ -

ที่มา : http://www.dhammajak.net