เห็นทุกข์ เห็นธรรม
โดย...พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
มีคำกล่าวว่า ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม คำกล่าวนี้หมายความว่าอย่างไร
โดยปกติแล้วคนเราเมื่อมีความสุข ก็หลงอยู่ในความสุขที่ตนมีอยู่ มีความประมาทว่าสถานภาพเช่นนี้คงจะดำรงอยู่ไป
เรื่อยๆ ไม่เสื่อมทราม จึงไม่สนใจที่จะศึกษาธรรมะ เพราะไม่เข้าใจว่าธรรมะคืออะไร
ความไม่เข้าใจดังกล่าว ประกอบกับมีความเห็นผิด จึงดูหมิ่นดูแคลนธรรมะหรือดูหมิ่นดูแคลนพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ ตลอดจนผู้ปฏิบัติธรรม
ครั้นเมื่อตนมีทุกข์ เป็นต้นว่า ต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักหรือของรัก เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ถูกเขาโกง ถูกเขากลั่นแกล้งให้ร้าย กดขี่ข่มเหง ธุรกิจตกต่ำ มีหนี้สินมากฯลฯ ก็หาทางดับทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เข้าหาอบายมุข หาหมอดูเจ้าเข้าทรง บนบานศาลกล่าว สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม เปลี่ยนชื่อ ตั้งศาลพระภูมิ เปลี่ยนฮวงจุ้ย สารพัดอย่าง จนในที่สุดเมื่อวิธีการต่างๆดังกล่าวไม่อาจแก้ทุกข์หรือปัญหาที่มีอยู่ได้ ที่สุดก็หันมาพึ่งธรรมะ บางคนบวช บางคนปฏิบัติธรรม
เมื่อเข้ามาสู่กระแสธรรม ทุกข์นั้นก็บรรเทาเบาบางลงได้หรือดับลงได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
การเรียนรู้ธรรมะก็คือการเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิต
การปฏิบัติธรรม ก็คือการฝึกใจให้ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต
ความเป็นจริงของชีวิตคืออะไร
ชีวิตของเรามีร่างกายกับจิตใจ ร่างกายของทุกคนมีทุกข์ติดมาด้วย เป็นต้นว่า ต้องหิว ต้องขับถ่าย ต้องปวดเมื่อยเมื่อยอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต้องเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ต้องง่วงเป็นต้น
ทุกข์ดังกล่าวมีอยู่ทุกวัน เราบำบัดได้ง่าย หรือป้องกันก่อนที่ทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นก็ได้ เช่น กินก่อนหิว ขับถ่ายก่อนปวด เปลี่ยนอิริยาบถก่อนปวดเมื่อย พักผ่อนก่อนเหนื่อยล้า นอนก่อนง่วง เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความทุกข์ ทั้งๆ ที่อาการเหล่านี้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของร่างกาย
สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความทุกข์ทางกายก็คือ ความแก่ ทำให้อวัยวะบางอย่างเสื่อม ไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ ทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้ ความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ทำให้เจ็บปวด ได้รับความทุกข์ทรมานและความตาย ซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่อยากตาย เพราะไม่อยากพลัดพรากจากของรักของหวง
แต่ทุกคนก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายด้วยกันทั้งนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อมีร่างกาย จึงมีความทุกข์ติดมากับร่างกายด้วยจะปฏิเสธไม่เอาทุกข์ไม่ได้เลย
หันมาดูจิตใจของเรา ธรรมชาติของจิตมีหน้าที่อยู่ 4 อย่าง คือ รับรู้ สิ่งต่างๆ ที่มากระทบโดยอาศัยประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อรับสิ่งใดก็จำ ในสิ่งนั้น รู้สึก ต่อสิ่งนั้น และคิด ต่อสิ่งนั้น
ร่างกายไม่มีความคิด จึงแสดงออกในสิ่งที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีมารยา เช่นหิวก็แสดงอาการว่าหิว ง่วง เหนื่อยล้าเจ็บป่วย ก็แสดงอาการนั้นๆ ออกมาให้เห็น เป็นต้น
ตรงข้ามกับจิตใจ ซึ่งมากด้วยมารยา เพราะถูกกิเลสตัณหาชักนำไป ให้ลุ่มหลงในสิ่งต่างๆ มากด้วยอคติ ไม่มีความเที่ยงธรรม อยากได้อยากมีอยากเป็น ในสิ่งที่ชาวโลกเขาชื่นชมนิยมกัน ครั้นได้ มีเป็นในสิ่งที่ปรารถนา ก็หลงยึดติดในสิ่งนั้น ไม่อยากให้สิ่งดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ครั้นเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนไปในทางที่ตนเสียประโยชน์ก็มีความทุกข์ นอกจากนี้เมื่อปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
โดยที่ความต้องการของคนไม่มีที่สิ้นสุด และสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการก็ไม่มีจริงในโลกเช่น ต้องการให้สิ่งที่ตนรักพอใจดำรงอยู่เช่นนั้นตลอดไป ไม่ต้องการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักพอใจ ความต้องการเช่นนี้ไม่มีอยู่จริง เพราะทุกๆสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะร่างกายของเรา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแก่ ความเจ็บ และความตาย จิตใจของคนอันสะท้อนออกมาเป็นนิสัยใจคอและพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงไปตามกิเลสตัณหาที่คอยบงการ จะยึดถือว่าต้องเหมือนเดิมไม่ได้เลย ส่วนวัตถุสิ่งของที่ตนครอบครองอยู่ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเก่า ความชำรุดทรุดโทรม ที่สุดก็ต้องพังลงไปเป็นธรรมดา
ชีวิตของปุถุชนจึงมาด้วยความทุกข์ บางคนอยู่กับทุกข์โดยไม่รู้ว่ามีความทุกข์ บางคนเมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นอย่างรุนแรงแล้ว ก็ไม่สามารถดับทุกข์ของตนได้ ตรงข้าม กลับทำร้ายตนให้ทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก
ทุกข์ของชาวโลกเพราะมีใจเห็นผิด มีมิจฉาทิฐิ หรือมีความเห็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางธรรม
ความเป็นจริงทางธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นสากล เป็นจริงทุกกาลสมัยและเป็นจริงต่อมวลมนุษยชาติทุกศาสนา ทุกเผ่าพันธุ์ ความเป็นจริงที่ว่านี้ คือ
1. ทุกชีวิตเกิดมามีทุกข์เป็นพื้นฐาน ไม่มีใครหนีทุกข์ไปได้ แต่หากมีปัญญาก็จะดับทุกข์ลงได้ ทุกข์กายนั้นเป็นเรื่องของสังขารที่ต้องแก่ เจ็บ ตาย ส่วนทุกข์ใจเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา ธรรมะช่วยพัฒนาจิตให้มีปัญญาสู้กับกิเลสตัณหาได้ เมื่อจิตมีปัญญาที่เข้มแข็ง ก็จะไม่ทุกข์ใจ แม้ร่างกายเป็นทุกข์ ใจก็จะไม่ทุกข์
2. ทุกชีวิตสร้างกรรมดีและกรรมชั่ว ซึ่งตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ทั้งกรรมเก่าในอดีตชาติที่ยังให้ผลอยู่ และกรรมในชาติปัจจุบันที่ได้ทำไว้ ไม่มีใครสามารถแบ่งเบาหรือรับกรรมแทนกันได้
3. สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่สามารถบังคับได้อย่างใจปรารถนา ว่าขอให้สิ่งทั้งหลายจงเป็นไปอย่างที่ตนพอใจ และอยู่อย่างนั้นนานๆเถิด อย่าได้เป็นไปในสิ่งที่ตนไม่ต้องการเลย
การรู้ความเป็นจริง ฝึกใจยอมรับความเป็นจริง ใจจะปล่อยวางความยึดมั่นสำคัญผิดเป็นเหตุแห่งทุกข์ นอกจากนี้ใจจะยกระดับขึ้นสู่การพัฒนา มีความเกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อบาป ขจัดอารมณ์โกรธให้เบาลง มีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น ลดความเห็นแก่ตัวจ ะทำประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นมากขึ้น
ธรรมะเป็นเสมือนแสงสว่าง ที่ให้คนได้เห็นทางเดิน นำไปสู่สันติสุขของชีวิต
ที่มา : www.kanlayanatam.com
เครดิตภาพ : Google
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น