วันอาทิตย์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ เปิดปากเปิดใจ ღ


เปิดปากเปิดใจ
โดย.. พระไพศาล วิสาโล




ปุถุชนนั้นยากที่จะมีสติตลอดเวลา ได้ยินได้เห็นอะไรไม่ถูกใจ ย่อมปล่อยวางไม่ทัน เก็บเอามาทิ่มแทงตัวเอง ซ้ำยังอดไม่ได้ที่จะคิดปรุงแต่งไปทางร้าย เห็นเขากระซิบกระซาบกัน ก็คิดว่าเขากำลังนินทาตนเอง ถ้าปักใจเชื่อเช่นนั้น ก็จะรู้สึกไปในทางร้ายกับเขาทันที คำถามก็คือเรามั่นใจในข้อสรุปของตัวเองแล้วหรือ จะดีกว่าไหมหากเปิดปากซักถามเขาว่ากำลังกระซิบกระซาบกันเรื่องอะไร


เรามักด่วนสรุปไปตามความคิดชั่วแล่น โดยไม่สาวหาความจริง การเปิดปากซักถาม เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราด่วนสรุปอย่างผิด ๆ จนเกิดอารมณ์อกุศลขึ้น ใช่หรือไม่ว่าเมื่อความจริงปรากฏ บ่อยครั้งมันกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรานึก

ความกินแหนงแคลงใจและความร้าวฉานมักเกิดจากความเข้าใจผิด และความเข้าใจผิดมีจุดเริ่มต้นจากการด่วนสรุปและไม่สืบสาวหาความจริง ทั้ง ๆ ที่เพียงแค่เปิดปากซักถาม ความจริงก็ปรากฏ


ไม่ว่าในครอบครัว หรือที่ทำงาน การรู้จักเปิดปากซักถามเป็นวิธีป้องกันความเข้าใจผิด และสกัดกั้นมิให้เกิดอารมณ์อกุศลได้เป็นอย่างดี แต่เท่านั้นคงไม่พอ นอกจากการเปิดปากซักถามแล้ว บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องมีการเปิดปากเล่าความในใจด้วย


สาเหตุที่ความไม่พอใจสะสมมากขึ้นเพราะเราไม่กล้าเล่าความในใจให้อีกฝ่ายรับรู้ ว่ารู้สึกข้องขัดอย่างไรบ้าง การปิดปากเงียบ ทำให้อารมณ์คุกรุ่นจนอาจระเบิดออกมา และก่อความเสียหายอย่างคาดไม่ถึง


ในการอยู่ร่วมกัน เราควรส่งเสริมซึ่งกันและกันให้พร้อมที่จะเปิดปากซักถามเมื่อมีความสงสัยไม่แน่ใจ หรือเปิดปากเล่าความในใจเมื่อมีความขุ่นข้องหมองใจกันขึ้นมา แต่จะทำเช่นนั้นได้ทุกฝ่ายต้องพร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งที่อาจไม่ถูกใจ หรือไม่ตรงกับความคิดของตน การเปิดใจรับฟังอย่างมีสติ และความเห็นอกเห็นใจ จะช่วยให้ผู้คนพร้อมเปิดปากซักถามและเล่าความในใจได้อย่างเต็มที่ แล้วเราอาจพบว่าปัญหานั้นแก้ได้ไม่ยากเลย ใช่หรือไม่ว่าปัญหาเล็ก ๆ ลุกลามจนเป็นเรื่องใหญ่ได้ก็เพราะการไม่เปิดปากเปิดใจให้แก่กันและกัน

การเปิดปากเปิดใจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใส่อารมณ์เข้าหากัน หากทุกฝ่ายมีสติรักษาใจ หรือแม้นว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีสติ แต่ถ้าคนหนึ่งมีสติ ตั้งอยู่ในความนิ่งสงบ ก็สามารถช่วยลดทอนอารมณ์ของผู้อื่นได้ ขอให้คน ๆ นั้นเริ่มต้นที่ตัวเรา ที่เหลือก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นแสนเข็ญอีกต่อไป


คัดย่อ : รักษาใจให้ปลอดพิษ

ที่มา : http://www.kmutt.ac.th
เครดิตภาพ : Google

วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ ความสวยความงาม ღ




หน้าตาดีคนจะจำว่าสะสวยครึ่งชีวิต

แต่จิตใจดีคนจะจำว่างดงามไปทั้งชาติ!

พวกเราถูกธรรมชาติเสี้ยมสอนให้มองสั้น
รับรู้ไวเฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตา


... แต่จะรับรู้ช้าต่อสิ่งที่ปรากฏเป็นภาพรวมในระยะยาว
โดยเฉพาะเพศหญิงที่โตมากับเรื่องรูปลักษณ์
ทั้งติดใจรูปลักษณ์ของตนเอง
และแข่งกันประกวดรูปลักษณ์กับคนอื่น

แท้จริงแล้วคนเราเมื่อนึกถึงใครที่รู้จัก
ใจอาจนึกถึงใบหน้าที่ "จำง่าย" ก่อนก็จริง
แต่สิ่งที่ทำให้ "รู้สึกชัด" คือนิสัยใจคอ
ซึ่งเป็นแก่นของตัวตนบุคคลคนนั้นจริงๆ
ลองนึกถึงคนสวยหรือคนหล่อที่คุณ "รู้จักดี"
คือคบหา พูดคุย รู้เห็นพฤติกรรมกันมานานพอควร
ความรู้สึกชื่นชมหรือความรู้สึกแย่ๆที่เกิดขึ้นในใจ
จะไม่ขึ้นอยู่กับใบหน้าในความทรงจำ
ปฏิกิริยาทางความรู้สึกของคุณ
จะมาจากเรื่องราวที่เขาหรือเธอก่อขึ้นมากกว่า

สรุปคือความสวยความหล่อนั้น
เอาไว้ล่อคนรู้จักห่างๆหรือไม่รู้จักเลยให้ลุ่มหลง
เป็นความทรงจำที่เอาไว้ร่ำลือให้พากันตื่นเต้นเล่น
ส่วนความดีงามนั้น
เอาไว้ผูกใจคนรู้จักใกล้ชิดให้สนิทใจ
เป็นความทรงจำอันน่าสบายใจในชีวิต
เป็นความทรงจำที่อยากจำ ไม่ใช่ฝืนจำ

ถ้าคุณเป็นความทรงจำอันงดงามสำหรับคนอื่น
ช่วยให้คนอื่นเชื่อในระยะยาวว่ามีคนปากตรงกับใจ
การกระทำตรงกับความคิด
ผลไม่ใช่แค่ทำให้คนอื่นรู้สึกดีขณะอยู่ในโลกนี้
แต่จะทำให้ตัวคุณเองรู้สึกดีทั้งเมื่อยังอยู่ในโลกนี้
และเมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกหน้าแล้ว


ดังตฤณ
เมษายน ๕๕





วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ ดีที่มีภัย ღ



พระธรรมคำสอนหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ถือดี อวดดี แข่งดี เป็นดีที่มีภัย


กุศลธรรมซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งความดีทั้งหลาย เมื่อทำได้ครบทั้ง ๓ ทางแล้ว จะต้องระมัดระวังด้วย เพราะในความดีนั้นบางทีก็มีอันตรายแฝงอยู่ ทำไมในความดีจึงมีอันตรายนั่นเป็นเพราะบางคน

ทำดีแล้ว เอาดีไปถือ กลายเป็นถือดี


ทำดีแล้ว เอาดีไปอวด กลายเป็นอวดดี


ทำดีแล้ว เอาดีไปแข่ง กลายเป็นแข่งดี

หนักเข้าก็เกิดความเสียหาย กลายเป็นความไม่ดีขึ้นมาแทน อันความดีนี้ ใครทำ ใครได้


เป็นปัจจัยตังเฉพาะตัว เหมือนทานข้าว ไม่สามารถอิ่มแทนกันได้ใครทานผู้นั้นก็อิ่ม เราควรเสกสร้างความดีให้เกิดมีขึ้น ไม่ควรจะเอาไปวัด ไปอวด แข่งโชว์หรือยกดีของตนเพื่อเหยียบย่ำเหยียดหยามผู้อื่น ทำดีกันอย่างนี้จึงจะเป็นดีที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ต่อตน สังคมประเทศชาติ และพระศาสนา



ที่มา : facebook Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย
เครดิตภาพ : facebook Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย

ღ การเพ่งโทษตนเอง ღ


การเพ่งโทษตนเอง เป็นการฝึกตนที่ได้ผลจริง
โดย...สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น
บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง
การเพ่งโทษตนเองนั้น
เป็นการฝึกตนเองอย่างหนึ่ง
ที่จักเกิดผลจริง

การเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต
ผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง
ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น
ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไร ในแง่ใด
ไม่มีโอกาสจะแก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น
ซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด

ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ว่าจะยอมให้แก้
เพราะถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต
ก็ย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ฝึกตนเองอยู่แล้ว
ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเองฝึกตนเองอยู่แล้ว
ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก

ทุกคนจะดีหรือชั่ว...สำคัญที่ตนเอง
ตนเองมีความดีพอจะยอมรับความไม่ถูกต้องไม่ดีงามของตน
ย่อมยินดีฝึกตน ย่อมยินดีแก้ไขตน ย่อมมีโอกาสเป็นคนดียิ่งขึ้น

ที่มา :   http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=17602
เครดิตภาพ : Google

ღ การตำหนิติเตียนผู้อื่น ღ


การตำหนิติเตียนผู้อื่น
ธรรมคำสอน...หลวงปู่มั่น


การตำหนิติเตียนผู้อื่น
ถึงเขาจะผิดจริงก็เป็นการก่อกวนจิตใจตนเองให้ขุ่นมัวไปด้วย
ความเดือดร้อนวุ่นวายใจที่คิดตำหนิผู้อื่นจนอยู่ไม่เป็นสุขนั้น
นักปราชญ์ถือเป็นความผิดและบาปกรรม ไม่มีดีเลย
จะเป็นโทษให้ท่านได้สิ่งไม่พึงปรารถนามาทรมานอย่างไม่คาดฝัน
การกล่าวโทษผู้อื่นโดยขาดการไตร่ตรอง
เป็นการสั่งสมโทษและบาปใส่ตนให้ได้รับความทุกข์
จึงควรสลดสังเวชต่อความผิดของตน
งดความเห็นที่เป็นบาปภัยแก่ตนเสีย
ความทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว
แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ทำไมพอใจสร้างขึ้นเอง


อย่าสำคัญว่าตนเอง
เก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย
ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเอง
จนไม่มีวันสร่างซา
เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์
ยังไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้
ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร


เมื่อมีผู้เตือนสติ ควรยึดมาเป็นธรรมคำสอน
จะเป็นคนมีขอบเขตมีเหตุผล ไม่ทำตามความอยาก
เมื่อพยายามฝ่าฝืนให้เป็นไปตามทางของนักปราชญ์ได้
จะประสบผลคือความสุขในปัจจุบันทันตา
แม้จะมิได้เป็นเจ้าของเงินล้าน
แต่มีทางได้รับความสุขจากสมบัติและความประพฤติดีของตน


ใจนี้ คือ สมบัติอันล้ำค่า
จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจ คือ คนไม่สนใจปฏิบัติต่อดวงใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดพลาดอยู่นั่นเอง
ไม่ว่าธรรมส่วนใด ถ้าสำคัญ “ตน” ว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น

 
ที่มา : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=40619
เครดิตภาพ : Google 






ღ ข้อคิดเตือนใจ ღ


ข้อคิดเตือนใจ







“หากปราศจากความกระตือรือร้น
ย่อมไม่อาจทำสิ่งใดใด้สำเร็จ"


...ความภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ของเรา... ไม่ได้อยู่ที่เราไม่เคยล้ม แต่อยู่ที่สามารถลุกขึ้นได้ทุกคร้งที่เราล้ม...


...ก่อนที่สวรรค์จะมอบภาระหนักอึ้งมาให้... เราทุกคนต่างก็ถูกทดสอบความวิริยะอุตสาหะเป็นอันดับแรก... บางครั้งต้องทนหิว ร่างกายก็อ่อนแอ... สับสนภายในใจ... สิ่งเหล่านี้ล้วนหล่อหลอมจนเราแข็งแกร่ง... พร้อมเผชิญอุปสรรค... เพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต...


...จงเลือกเดินทางที่ถูกต้องที่สุด... ไม่ว่าทางนั้นจะขรุขระยากลำบากสักเพียงไร... เมื่อคุ้นเคยแล้วก็จะรู้สึกว่ามันราบเรียบเดินสบาย...



ที่มา : http://www.96rangjai.com/warn/

เครดิตภาพ : Google

ღ ธรรมะเตือนจิต ღ


ธรรมะเตือนจิต







“ปุถุชนจะแสวงแต่ความมั่งคั่ง...
ส่วนผู้ประเสริฐจะใฝ่หาสัจจธรรม"...”

...เมื่อได้ยินคำพูดที่ทำให้ขุ่นเคืองใจ... จงถือเป็นการบำเพ็ญตนอย่างหนึ่ง...


...เป็นการง่ายที่จะทบทวนความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของตนเอง... แต่เป็นการยากที่จะแก้นิสัยเสียเล็กๆน้อยๆของตนเอง...


...โชคชะตาเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและเข้าใจยาก... แต่เราสามารถกำหนดโชคชะตาด้วยปณิธานของเราเอง...


...การชื่นชมผู้อื่น คือ... การเพิ่มความสง่างามให้แก่ตนเอง...


...คุณธรรม คือ... แสงประทีปอันเจิดจ้าที่ยกระดับจิตใจของเราเอง... มิใช่มีไว้ตำหนิติเตียนผู้อื่น...


 
 
ที่มา : http://www.96rangjai.com/warn/

เครดิตภาพ : Google





วันจันทร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ พลังความคิด ღ


"มนุษย์เราคิดอย่างไร เราก็เป็นเช่นนั้น"...เราควรจะมีความคิดที่ดีงามอยู่ตลอดเวลา เพื่อความเจริญก้าวหน้าของเรา ประโยคต่อไปนี้ ควรอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกจนฝังลงไปในจิตสำนึก ซึ่งจะกลายเป็นพลังที่จะช่วยให้เราเป็นไปตามที่เราคิด...



" เราจะตั้งใจตั้งแต่วันนี้ที่จะก้าวเดินไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จในชีวิต เพื่อแสวงหาความสุขในตัวเรา และแผ่เมตตาให้แก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อความสงบสุขของทุกๆคน "


คัดลอกบางส่วนจากหนังสือ "แนวทางสู่ความสุข" โดย..ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา 

วันอาทิตย์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ รักษาใจ คือ รักษาชีวิต ღ


รักษาใจ คือ รักษาชีวิต
โดย...พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก




เมื่อใจเป็นศีล
ศีลหนักแน่นในจิตใจแล้ว
ใจก็สงบระงับความกลัวได้
ศีลจึงจะรักษาเรา

เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์ในใจแล้ว
ก็จะรักษาชีวิตเราให้ปลอดภัย
จึงเท่ากับว่า รักษาใจ รักษาชีวิต

หากเรามีสติปัญญารู้จักคิดดี คิดถูกแล้ว
ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรในชีวิต เราก็รักษาใจดีมีเมตตาได้

รักษาใจได้ คือ ไม่มีทุกข์
ที่สุดของรักษาใจ
คือไม่มีใจที่จะรักษา

เพราะว่างเปล่า
จากความรู้สึกเห็นแก่ตัว
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน



ที่มา : หนังสือ “ใจดีสู้เสือ” มูลนิธิมายาโคตมี
เครดิตภาพ : Google


ღ เยียวยาใจด้วยการให้อภัย ღ

เยียวยาใจด้วยการให้อภัย
โดย..พระไพศาล วิสาโล

ถ้าหากอารมณ์ที่หมักหมมนั้นเป็นความโกรธ เกลียด พยาบาท วิธีหนึ่งที่ช่วยเปลื้องอารมณ์เหล่านี้ไปจากใจอย่างได้ผลมากคือ การให้อภัย หรือดียิ่งกว่านั้นคือการแผ่เมตตาให้ ให้อภัยคือไม่ถือโทษโกรธเคืองในเรื่องที่ผ่านมา ส่วนแผ่เมตตาหมายถึงการตั้งจิตปรารถนาดีให้มีความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป

การให้อภัยคนที่ทำร้ายเรานั้นเป็นเรื่องยาก แต่การที่จะมีชีวิตอย่างผาสุกตราบใดที่ยังมีความโกรธเกลียดสั่งสมในจิตใจ กลับเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ในใจของทุกคน ย่อมมีบาดแผลจากความโกรธเกลียด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมี ‘ยาสามัญประจำใจ’ ขนานนี้ไว้เยียวยาอยู่เสมอ

คัดย่อ : รักษาใจให้ปลอดพิษ
ที่มา : http://www.kmutt.ac.th
เครดิตภาพ : Google

วันเสาร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ ศิลปะในการลดความทุกข์ ღ


ศิลปะในการลดความทุกข์
โดย...อาจารย์วศิน อินทสระ





"ความจริง ความสุข นั้น เราไม่ต้องแสวงหาก็ได้ หน้าที่ของเราเพียงแต่ลดความทุกข์ให้น้อยลง ความสุขก็เพิ่มพูนขึ้น เหมือนความร้อนลดลงมากเพียงใด ความเย็นก็มีมากขึ้นเท่านั้น"

"พระพุทธศาสนา,กล่าวโดยปริยายหนึ่ง ก็คือ "ศิลปะในการลดความทุกข์"

"ความทุกข์มีมูลเหตุมาจาก "ความอยาก" ความอยากทำใจให้เร่าร้อน

"เมื่อลดความอยากลงได้มากเท่าใด ใจก็เย็นมากขึ้นเท่านั้น ความสุขก็เอ่อตามขึ้นมา"

"ความอยาก และ ความไม่อยาก อยู่ที่ "ใจ" "

"เมื่อใดใจอยาก เมื่อนั้นมีความดิ้นรน ยิ่งดิ้นรนมาก ก็ยิ่งแปดเปื้อนมาก"

"ตรงกันข้าม สงบมาก,เยือกเย็นมาก,ก็ผ่องใสมาก สุขมาก.....นั้นเอง



คัดจากหนังสือ "ทางแห่งความดี"

ที่มา : http://taniyo.blogspot.com/2010/06/0091.html
เครดิตภาพ : Google


วันอาทิตย์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ มิตรในเรือนใจ ღ


มิตรในเรือนใจ
โดย...พระไพศาล วิสาโล


มิตรที่ดีที่สุดของเรานั้นมิได้อยู่ที่ไหนเลย แต่อยู่กลางใจเรานี้เอง มิตรในเรือนใจช่วยให้เรามีความสุขในทุกหนแห่ง แม้ในยามที่ถูกกระทบกระแทก ก็สามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้ หรือช่วยให้เราอยู่ท่ามกลางความทุกข์ได้โดยใจไม่ทุกข์ แต่หากไม่สามารถทำใจให้เป็นมิตร แม้มั่งมีด้วยทรัพย์สมบัติ มียศศักดิ์อัครฐาน ก็ยากที่จะหาความสุขพบ ยิ่งกว่านั้นยังอาจถึงกับทำร้ายตัวเองด้วยซ้ำ

เกิดมาทั้งทีควรรู้จักมิตรในเรือนใจ จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีเวลาให้แก่จิตใจของตนและหมั่นรักษาใจไม่ให้กิเลสหรืออารมณ์อกุศลครอบงำ โดยหมั่นทำความดีและปลูกสติสร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือมีธรรมะรักษาใจ

http://www.visalo.org
เครดิตภาพ : Google


วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ ดับไฟกิเลสในใจ ღ



ดับไฟกิเลสในใจ
โดย...หลวงปู่สีทน สีลธโน 




หากเราต้องการความสุข ความสบาย ความเจริญแล้ว
ควรที่พยายามดับ แก้ไขความโลภของตัว ความโกรธของตัว

ความหลงของตัว ราคะตัณหาของตัว ให้มันเบาบางลงไป
หากว่าเราดับไม่ได้จริงจัง ก็ให้มันเบาบางลงไป

ถ้าหากเราปล่อยไว้อย่างนี้ มันจะทำพิษเรา ให้เราเกิดความทุกข์
ถ้าปล่อยไว้นานๆ จะทำให้เราตกนรกก็เป็นได้

อย่างคนที่ตกนรก ได้รับความทุกข์ความยากลำบากตรากตรำต่างๆ นานา

เราอย่าไปโทษของอื่น

“กิเลสของเราเองนี่แหละทำลายจิตใจของตัวเรา”


กิเลสกินใจ ความโลภมันกินใจ ความโกรธความหลงมันกินใจ
ราคะตัณหากินใจของมนุษย์ สัตว์ก็เหมือนกัน
คือหากว่าเราปล่อยให้มันกินมากๆ เข้าแล้ว
มันจะทำลายคุณสมบัติของจิตใจของเรา
ให้เสื่อมจากคุณงามความดี เสื่อมจากบุญจากกุศล

หากว่าใจของเราเสื่อมจากคุณงามความดีแล้ว
มันจะไปเกิดในภพที่ต่ำ เกิดในที่ลำบากตรากตรำ
หากว่าไม่ได้เกิดเป็นมนุษย์จะเกิดเป็นเดรัจฉาน
ถ้าหากเกิดเป็นผู้ดีมีลาภยศมีสมบัติก็ดี
หากว่าเราไม่ระมัดระวังความโลภความโกรธความหลง มันจะกินจิตใจของตนแล้ว
มันอาจสามารถทำลายตัวของเราให้ไปเกิดในภพที่ต่ำได้ มันรุนแรงขนาดนั้น

กิเลสของเราทำให้เราตกนรกได้

สิ่งที่น่ากลัวมาก คือความโลภ ความโกรธ ความหลง ของเรา
ราคะตัณหาของเรานี่เป็นสิ่งที่น่ากลัวมาก
อย่างพวกเราเกิดมาเป็นทุกข์
เป็นคนยากจนอับเฉาเบาปัญญาอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวัน
คนจนๆ นะ อันนี้ก็ไม่ใช่อะไร เขาปล่อยให้กิเลสกินใจของเขา
ปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง กินจิตกินใจของเขา
จนกระทั่งจิตใจของเขาหมดคุณภาพ หมดคุณงามความดี
เลยมีบุญเพียงแค่มาเกิดเป็นมนุษย์กับเขา เกิดมาแล้วก็เร่าร้อน

กิเลสทำลายจิตใจของคนเรา

หากว่าจิตใจของคนเราไม่ดี ใจไม่มีบุญมีกุศลแล้ว
เราไปเกิดที่ใดแห่งไหนก็ดี เราจะได้ความทุกข์ความร้อน
ไม่ได้รับความอยู่เย็นเป็นสุข เนื่องจากว่าจิตใจของเราไม่ดี

หากว่าจิตใจดีแล้ว ก็ไปเกิดในฐานะที่ดีในสกุลที่ดี
ได้อะไรมาทุกอย่างก็เป็นสิ่งที่น่าพึงพอใจ อย่างนั้นก็เพราะใจดี
ที่พระพุทธเจ้าสอนให้พวกเราทำคุณงามความดี
เพื่อประดับจิตใจของเราทุกวันนี้ ก็เพราะอย่างนี้นี่เอง


คัดย่อ : นิตยสารธรรมะออนไลน์ > สารส่องใจ > ดับไฟกิเลสในใจ
ที่มา : http://www.dlitemag.com
เครดิตภาพ : Google



ღ ธรรมดาของโลก ღ


ธรรมดาของโลก
โดย..หลวงปู่จันทร์ กุสโล


ธรรมดาของโลกย่อมมีของคู่กัน
คือมีเจริญ มีเสื่อม มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีได้ มีเสีย


คนที่ไม่ศึกษา ไม่รู้จักธรรมดาของโลก
ย่อมปรารถนาแต่ส่วนที่ดี คือความเจริญ ความมีลาภ ความมียศ


เมื่อธรรมดาของโลกกับความปรารถนาของคนไม่ตรงกัน
จึงเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ นั้นคือความทุกข์


การศึกษาธรรม คือการศึกษาให้รู้จักความจริงของโลก
ไม่หลงไปแก้โลก และไม่ปล่อยให้โลกดึงจนไม่มีการยับยั้ง


โลกจะหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ตามปล่อยให้เป็นเรื่องธรรมดาของโลก


สิ่งที่ควรคิด คือ " ทำอย่างไรชีวิตจึงจะเป็นประโยชน์อยู่ในโลกนี้ "




คัดย่อ :  นิตยสารธรรมะออนไลน์ > สารส่องใจ > ธรรมดาของโลก
ที่มา : http://www.dlitemag.com
เครดิตภาพ : Google

ღ เหนือเป็นเหนือตาย ღ

เหนือเป็นเหนือตาย
โดย..พระไพศาล วิสาโล



ความมีความเป็นทำให้เราทุกข์ได้ มีก็ทุกข์ เพราะอยากจะรักษาเอาไว้ไม่ให้มันหายไป พอหายไปก็ทุกข์อีก มีอะไรก็ตาม ถ้าไปยึดมั่นกับมัน ก็ทำให้ทุกข์ แม้จะเป็นสุขแต่ก็มีทุกข์เจือปน

เตรียมทุกข์ไว้ได้เลยเพราะว่าสักวันหนึ่งก็จะต้องพลัดพรากจากสิ่งนั้น ถ้าเราไม่พลัดพรากจากสิ่งนั้น สิ่งนั้นก็พลัดพรากจากเรา มันก็มีสองอย่างเท่านั้นแหละทันทีรู้สึกเป็นเจ้าของสิ่งนั้น






เพราะฉะนั้นจะมีหรือจะเป็นอะไรก็ตามต้องมีหรือเป็นให้ถูกต้อง มีให้เป็น เป็นให้เป็น คือมีโดยไม่ยึดมั่นว่าเป็นของฉัน และเป็นโดยไม่ไปยึดมั่นว่าเป็นตัวฉัน เดี๋ยวนี้เรามีกันไม่เป็น และก็เป็นกันอย่างไม่ถูกต้อง คือเป็นด้วยความยึดมั่นถือมั่น มีด้วยความหลงก็เลยทุกข์ ดีที่สุดก็คือไม่มีไม่เป็นอะไรเลย






ดังนั้นเราจึงควรระลึกอยู่เสมอว่า ไม่ว่าเราเป็นอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งสมมุติทั้งนั้น จึงไม่ควรไปยึดมั่นถือมั่น เพราะถ้ายึดมั่นถือมั่นเราก็จะเป็นทุกข์ เพราะตัณหามานะจะแฝงซ่อนอยู่กับความเป็นนั่นเป็นนี่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม เป็นผู้แพ้ก็ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์ เป็นคนชั่วก็ทุกข์ เป็นคนดีก็ทุกข์ เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ทุกข์ทันทีที่ไปยึดมั่นว่าฉันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ ใครที่สำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็น นักปฏิบัติธรรม พอมีคนมาพูดว่า “ เธอไม่มีสติเลย ” จะโกรธและเป็นทุกข์มาก ว่าอย่างอื่นไม่ว่ามาว่าฉันไม่มีสติ นี้แหละเป็นเพราะเราไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม เลยถูกตัณหาที่แฝงอยู่ในความเป็นนักปฏิบัติธรรมเล่นงานเอา






มองให้เห็นว่าความเป็นนั่นเป็นนี่เป็นสิ่งสมมุติที่ถูกปรุงขึ้นมา ไม่ใช่ของจริง แต่ถึงแม้จะยังมองไม่เห็นว่าเป็นสิ่งสมมุติ อย่างน้อยก็ให้เราตระหนักว่าความเป็นนั่นเป็นนี่มันไม่เที่ยง ถ้าไปยึดมั่นให้มันเที่ยงเราเองนั่นแหละจะเป็นทุกข์ ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรก็ตาม มันไม่เที่ยง ต้องแปรเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ย่อมหนีไม่พ้นที่จะถูกคุกคามด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ต้องแปรเปลี่ยนหรือสูญสลายไป






อย่าให้เกิดการปรุงแต่งจนไปสู่ความทุกข์ ควรเริ่มต้นด้วยการมีสติตั้งแต่ตอนเกิดผัสสะ แต่ถึงแม้สติตามไม่ทันในผัสสะ ก็ขอให้มีสติรู้ทันในเวทนา และในอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เห็นความโกรธเกิดขึ้น ความอยากเกิดขึ้น แต่ไม่เข้าไปเป็นผู้โกรธผู้อยาก


แม้กระทั่งความทุกข์เมื่อเกิดขึ้นก็เห็นความทุกข์ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ทุกข์ เมื่อตากระทบรูป การเห็นเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้เห็น เมื่อหูได้ยินเสียง การได้ยินเกิดขึ้น แต่อย่าให้มีฉันเป็นผู้ได้ยิน เพราะถ้ามีตัวฉันเป็นผู้ได้ยิน เดี๋ยวก็มีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์เพราะได้ยินเสียงดัง หรือคำตำหนิ อย่าปล่อยให้มีตัวฉันหรือตัวกู เพราะถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว ก็จะมีตัวฉันเป็นผู้ทุกข์ในที่สุด หรือมีตัวฉันเป็นผู้รับแรงกระทบกระแทกต่าง ๆ ถ้าไม่มีตัวฉันเกิดข้นแล้ว เราจะมีชีวิตที่โปร่งเบา เป็นอิสระ ความทุกข์ไม่มีที่ตั้ง เพราะไม่มีตัวฉันมาเป็นเจ้าของความทุกข์ ใหม่ ๆ เรายังไม่สามารถที่จะมองเห็นตรงนี้ได้ แต่ว่าเมื่อเราดูและเห็นอยู่เรื่อย ๆ ปัญญาหรือความประจักษ์ในความจริงเหล่านี้ก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้น ชัดเจนขึ้น แล้วเราก็จะรู้ว่า เราทุกข์เพราะปล่อยให้ตัวกูของกูเกิดขึ้นโดยแท้ นี่แหละคือต้นแห่งความทุกข์ทั้งปวง






คัดย่อ : บทความ > ต้อนรับความตาย > เหนือเป็นเหนือตาย


ที่มา : http://www.visalo.org/article/D_NerPenNerTay.htm


เครดิตภาพ : Google









วันศุกร์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ เดินด้วยใจ ღ


เดินด้วยใจ
โดย..พระไพศาล วิสาโล




เวลาเดินไปไหนมาไหนคนส่วนใหญ่มักคิดแต่เพียงเดินให้ถึงจุดหมาย แต่การเดินมีประโยชน์มากกว่านั้น หลายคนรู้ดีว่าการเดินช่วยให้ร่างกายแข็งแรง แต่น้อยคนที่จะตระหนักว่าการเดินนั้นมีผลดีต่อจิตใจด้วย ไม่ใช่แค่ฝึกความอดทนเท่านั้น หากยังช่วยให้ใจสงบ ผ่อนคลาย และตื่นรู้อยู่เสมอ การเดินโดยมุ่งเพียงแค่ไปไห้ถึง ทำให้เราเป็นทุกข์ได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อจุดหมายปลายทางยังอยู่อีกไกล ยิ่งคิดว่าเมื่อไรจะถึงๆ ก็ยิ่งเครียดและหงุดหงิด ทั้งๆ ที่กายยังไหว แต่ใจกลับเพลียเสียแล้ว อันที่จริงเราไม่จำเป็นต้องทุกข์ขนาดนั้นเลยก็ได้ หากวางใจให้เป็น เช่นน้อมจิตมาอยู่กับทุกย่างก้าว ให้มีความรู้สึกตัวกับการเดินแต่ละก้าว บางครั้งใจเผลอไปที่อื่น ระลึกได้เมื่อไร ก็พาใจกลับมาอยู่กับการเดิน ให้กายกับใจร่วมเดินไปด้วยกัน อย่าปล่อยให้กายอยู่ตรงนี้ แต่ใจไปรออยู่ข้างหน้าแล้ว ใจที่เฝ้าแต่จะถึงจุดหมายไวๆ มีแต่จะนำความทุกข์มาให้โดยไม่จำเป็น


เมื่อใจอยู่กับกายทุกย่างก้าวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ตัวจะยังไม่ถึงจุดหมาย แต่ใจกลับ “ถึง”ทุกขณะ นั่นคือเข้าถึงความสงบเย็นและผ่อนคลาย เพราะเมื่อจิตไม่วอกแวก หรือชะเง้อมองจุดหมาย ก็ย่อมไม่ถูกเผาลนด้วยความอยากจะไปให้ถึงไวๆ ขณะเดียวกันการหมั่นรู้ทันความนึกคิดปรุงแต่ง (รวมทั้งความอยากจะถึงที่หมายไวๆ) ก็ช่วยฝึกสติหรือความระลึกได้ให้ทำงานได้รวดเร็วฉับไว ทำให้จิตมีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง


ทุกวันนี้เราเดินด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อมน้อยมาก เพราะใจลอยเกือบตลอดเวลา หากไม่พะวงถึงจุดหมายปลายทาง ก็มักนึกถึงเรื่องต่างๆ มากมาย รวมทั้งวางแผนร้อยแปด บางครั้งอากัปกิริยาจึงไม่ต่างจากคนเดินละเมอ ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมเกิดขึ้นได้เมื่อเรามีสติอยู่กับการเดิน คือใจรับรู้ความเคลื่อนไหวทุกย่างก้าว เมื่อใดที่จิตเผลอออกไปนอกตัว พลัดไปอยู่กับเรื่องราวในอดีตหรืออนาคต รู้ตัวเมื่อไรก็พาจิตกลับมาอยู่กับปัจจุบันคือการเดิน โดยไม่จำเป็นต้องเพ่งที่เท้า หรือบังคับจิตให้อยู่กับเท้า ทำเช่นนี้บ่อยๆ ความรู้สึกตัวจะเพิ่มขึ้น สติจะปราดเปรียวขึ้น ทำให้เราไม่เผลอง่าย จะคิดหรือทำอะไร ก็ทำด้วยใจที่เต็มร้อยและมีสมาธิมั่นคง


ไม่ว่าจะเดินไปปากซอย ขึ้นบันไดหรือไปทำงาน เป็นโอกาสดีสำหรับการบ่มเพาะสติ สร้างความรู้สึกตัว อันเป็นประตูสู่สมาธิและความสุข ซึ่งเราสามารถเข้าถึงได้แม้ในชีวิตประจำวัน




ที่มา : http://www.visalo.org
เครดิตภาพ : Google










ღ ฝึกใจ ღ


“ใจ” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พึงให้ความสนใจดูแลรักษาใจของตนอย่างยิ่ง



“ใจ” เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด มีฤทธิ์มีอำนาจที่สุด ความสุขความทุกข์ ความดีความชั่ว ความเย็นความร้อน ความสงบความวุ่นวาย เกิดจากใจทั้งสิ้น


ผู้มุ่งบริหารจิตควรคำนึงความจริงนี้ให้อย่างยิ่ง ควรให้ความสนใจดูแลรักษาใจของตนให้อย่างยิ่ง เพื่อจะได้สามารถพาตนให้พ้นความทุกข์ได้มีความสุข พ้นความชั่วได้มีความดี พ้นความร้อนได้มีความเย็น พ้นความวุ่นได้มีความสงบ


สิ่งอื่นทั้งหลาย เหตุการณ์ทั้งหลาย ที่จะทำให้เกิดสุขเกิดทุกข์ เป็นต้น ไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น จะเกิดก็เกิด จะเป็นไปก็เป็นไป ความจริงนี้ทุกคนประสบพบผ่านอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่าเสมอมา แต่หาได้พยายามทำให้เป็น ความรู้ความเข้าใจจริง คือไม่ทำให้เกิดเป็นปัญญารู้จริง เมื่อไม่เกิดปัญญารู้จริงก็ไม่เกิดผล ไม่เป็นคุณ ไม่เป็นประโยชน์แก่จิตใจ ไม่อาจช่วยให้พ้นทุกข์ได้


 ความสุขอย่างยิ่งของเราทุกคน อยู่ที่ใจดวงนี้


ใจเป็นสิ่งที่บังคับได้ด้วยการฝึก สามารถฝึกให้อยู่ในอำนาจได้


ใจนั้นฝึกอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น


ฝึกให้เป็นใจที่ดี...ก็จะเป็นใจที่ดี


ฝึกให้เป็นที่ร้าย..ก็จะเป็นใจที่ร้าย


ฝึกให้เป็นใจที่สงบเย็น..ก็จะเป็นใจที่สงบ


ฝึกให้เป็นใจที่วุ่น..ก็จะเป็นใจที่วุ่น


ฝึกให้เป็นใจที่สว่างด้วยปัญญา...ก็จะเป็นใจที่สว่างด้วยปัญญา


ฝึกให้เป็นใจที่มืดด้วยไม่มีปัญญา...ก็จะเป็นใจที่มืดด้วยไม่มีปัญญา


“ใจฝึกได้ บังคับได้ ถ้าตั้งใจฝึกให้จริง”


ความสุขอย่างยิ่งของเราทุกคน ไม่ได้อยู่ที่อะไรอื่นทั้งสิ้น แต่อยู่ที่ใจดวงนี้เท่านั้น พึงทำความเข้าใจให้ถูก หนทางดำเนินไปสู่การทำใจให้เป็นสุขนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ชัดแจ้งหลายอย่าง สามารถเลือกให้เหมาะกับจริตนิสัยของตนได้

คัดย่อ : การวางตนให้งดงามตามฐานะ
             โดย...สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก


ที่มา :  http://www.dhammajak.net/
เครดิตภาพ : Google




วันพุธที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ เหตุแห่งความกลัวตาย ღ


เหตุแห่งความกลัวตาย

โดย...พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก



แม้เราทุกคนจะรู้ดีว่าความตายเป็นของธรรมดาที่จะหลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่ถึงกระนั้นก็ไม่วายที่จะหวาดกลัวความตาย พระพุทธเจ้าตรัสถึงเหตุที่ทำให้คนหวาดกลัวความตายไว้ดังนี้


“ ...บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความกำหนัดยินดี ชอบใจ มีตัณหาในกามทั้งหลายยังไม่หมดสิ้น เมื่อประสบกับความเจ็บไข้ป่วยหนัก บุคคลผู้นั้นก็มีความทุกข์วิตกอย่างนี้ว่า เราจะต้องละจากกามทั้งหลายอันเป็นของรักของเราไป จึงเศร้าโศกสะดุ้งกลัวต่อความตาย

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความกำหนัดยินดี พอใจรักใคร่ในกาย เมื่อประสบกับความเจ็บไข้ป่วยหนัก บุคคลผู้นั้นก็มีความทุกข์วิตกอย่างนี้ว่า เราจะต้องละทิ้งกายอันเป็นของรักของเราไป จึงเศร้าโศกสะดุ้งกลัวต่อความตาย

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ที่ไม่ได้ทำกรรมดีไว้ ไม่ได้สร้างกรรมอันเป็นกุศล อันจะเป็นที่พึ่งได้ไว้ แต่เป็นผู้ทำกรรมชั่ว สร้างบาปอกุศลไว้ เมื่อประสบกับความเจ็บไข้ป่วยหนัก บุคคลผู้นั้นก็มีความทุกข์วิตกอย่างนี้ว่า กรรมดีเราไม่ได้ทำไว้ คติที่ไปของสัตว์ทั้งหลายที่ไม่ได้ทำกุศลกรรมไว้ กรรมอันเป็นบาปได้กระทำไว้แล้วมากเพียงใด ตัวเราจะละโลกนี้ไปสู่ทุคติตามบาปกรรมที่ทำไว้ จึงเศร้าโศกสะดุ้งกลัวต่อความตาย

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเคลือบแคลงสงสัยในพระสัทธรรม เมื่อประสบกับความเจ็บไข้ป่วยหนัก บุคคลผู้นั้นก็มีความทุกข์วิตกอย่างนี้ว่า เราเป็นผู้มีความเคลือบแคลงสงสัย ไม่แน่ใจในพระสัทธรรม จึงเศร้าโศกสะดุ้งกลัวต่อความตาย”

กล่าวโดยย่อ เหตุที่คนเราหวาดกลัวต่อความตายมี 4 ประการ คือ

1.เหตุเพราะตัณหาในกามคุณ 5 (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส)

2.เหตุเพราะพอใจรักใคร่ในกาย ยึดมั่นถือมั่นในกายว่าเป็นเรา เป็นของเรา

3.เหตุเพราะไม่ได้สร้างกรรมดีไว้ จึงกลัวว่าตายแล้วจะไม่ได้ไปสู่ภพภูมิที่ดี หรือเหตุเพราะทำกรรมชั่วไว้ จึงกลัวว่าตายแล้วจะตกนรก

4.เหตุเพราะไม่มีศรัทธาในศาสนาจึงขาดที่พึ่งทางจิตใจ

ด้วยเหตุ 4 ประการนี้ ทำให้บุคคลเกิดความกลัวเมื่อจะละจากโลกนี้ไป

ที่มา  :  หนังสือ “ใจดีสู้เสือ” มูลนิธิมายาโคตมี
เครดิตภาพ : Google

ღ ความอ่อนโยน ღ


โอบกอดความโกรธ ความทุกข์ ด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล





“หายใจเข้า ฉันรู้ว่าความโกรธกำลังเกิดขึ้น
หายใจออก ฉันดูแลความโกรธของฉัน
หายใจเข้า ฉันรู้ว่าความโกรธนั้นยังอยู่ในตัวฉัน
หายใจออก ฉันโอบรับความโกรธด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล”

นักฝึกปฏิบัติที่ดีจะไม่กดดัน เก็บกดความโกรธ หรือพยายามต่อสู้กับความโกรธ ที่กำลังปรากฏขึ้นมาในใจ เพราะนักปฏิบัติผู้นั้นรู้ดีว่าความโกรธก็คือตัวเขาเช่นเดียวกัน เราควรตระหนักรู้ถึงคงวามโกรธและโอบรับความโกรธนั้นด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล



เหมือนคุณแม่ผู้เต็มไปด้วยความรักต่อลูก เริ่มที่จะอุ้มและกล่อมลูกในขณะที่ลูกร้องไห้(อารมณ์โกรธ/ทุกข์) เด็กนั้นก็เริ่มหยุดร้องไห้และสงบลง เพราะพลังของคุณแม่ที่ได้แผ่ซ่านเข้าไปในตัวลูกในกายของลูก คุณแม่อาจจะไม่ทราบว่ากำลังเกิดอะไรที่ผิดไป แต่การได้โอบอุ้มลูกเช่นนั้น ทำให้พลังที่ดีงามของคุณแม่ช่วยบรรเทาความทุกข์ให้กับลูกได้


เช่นเดียวกันกับนักปฏิบัติธรรม เมื่อรู้วิธีโอบอุ้มความโกรธ ความสิ้นหวัง ด้วยความอ่อนโยนนุ่มนวล เราก็จะผ่อนคลายเปลี่ยนแปรสภาพตรงนั้นได้ ถึงแม้ว่าขณะนั้นเรายังไม่สามารถเข้าใจอย่างเต็มที่ถึงรากแห่งความโกรธ รากแห่งความสิ้นหวัง รากแห่งความทุกข์ แต่เมื่อไรที่เรารู้สึกโกรธ เป็นการดีกว่าที่เราจะไม่พูดหรือไม่ควรทำอะไรเลยทั้งสิ้น เราควรจะกลับไปสู่บ้านที่แท้จริงในตัวเองและดูแลรักษาตัวเราเองให้ดี
เช่นเดียวกันเมื่อบ้านของเราถูกไฟไหม้ เราจะไม่พยายามวิ่งไปหาว่าใครเป็นคนวางเพลิงบ้านของเรา แต่ช่วงขณะนั้นเราจะหาวิธีทำอย่างไรที่จะดับไฟที่กำลังไหม้บ้านของเราอยู่



**ขอให้เราปล่อยความโกรธ ความกลัวเหล่านั้นได้รดน้ำอยู่ในพลังแห่งสติ เป็นสิ่งที่ประเสริฐมากที่เราสามารถโอบรับโอบอุ้มความโกรธ ความกลัวของเราด้วยพลังแห่งสติ แล้วเราจะรู้สึกดีขึ้นอย่างทันทีทันใด เราอาจใช้เวลาในการโอบรับความเจ็บปวด ความเศร้าโศกนั้น นั้นเท่านาน เท่าที่ความรู้สึกเรานั้นต้องการ แล้วเราจะรู้สึกดีขึ้นเอง


ดังนั้นเราจะไม่มีความกลัว ต่ออารมณ์โกรธ ความเจ็บปวดต่างๆ เมื่ออารมณ์เหล่านั้นปรากฏขึ้นมา เราจะดูแลด้วยพลังแห่งสติ ด้วยความรัก ความเมตตา
 
***ศัตรูของเรามาในชื่อของความเกลียดชัง ศัตรูของเรามาในชื่อของอุดมการณ์ ศัตรูของเรามาในชื่อของความทะยานอยาก ศัตรูของเราไม่ใช่มนุษย์ด้วยกันเอง เพราะถ้าเราฆ่ามนุษย์ด้วยกันเองแล้วเราจะอยู่กับใคร



ถาม ตามที่ท่านกล่าวว่า เราควรปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นมาโดยเอาพลังแห่งสตินั้นไปตระหนักรู้พร้อมกับโอบกอดเหมือนกับคุณแม่กำลังโอบอุ้มเด็กน้อย ถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่ทำให้พลังความโกรธนั้นมีมากเกินไป เกินกว่าที่เราจะรับได้หรือเราควรปฏิเสธที่จะอุ้มมันไว้ ไม่ควรเป็นเช่นนั้นหรือ


ตอบ เพราะเราสะสมพลังแห่งความโกรธ เมล็ดพันธุ์แห่งความโกรธนั้นจึงมีมากเหลือพรรณนา แต่เรายังไม่เริ่มปฏิบัติเจริญสติเลยเมล็ดพันธุ์แห่งสติของเรายังเล็กและพลังน้อยมาก แน่นอนที่เมื่อพลังแห่งความโกรธผุดขึ้นมาเราจะรับมันไม่ได้ เราจะโอบอุ้มมันไม่ได้ สิ่งเดียวที่ต้องทำคือ ควรเร่งฝึกปฏิบัติเจริญสติเท่านั้นเอง



----------------------- จากหนังสือ กลับบ้านที่แท้จริงกับ ติช นัท ฮันห์------------------------


ที่มา : http://board.palungjit.com
เครดพภาพ : Google

ღ ติดดี ღ


ติดดี

โดย...พระไพศาล วิสาโล



ความคิดความสามารถในทางจิตใจนั้น
มักเป็นหลุมพรางให้เราหลงติดกับดักของกิเลสอีกชนิดหนึ่ง
ที่ละเอียด และแนบเนียนยิ่งกว่า ความโลภ และความโกรธ
นั่นคือความถือตัวหลงตน ความสำคัญตนว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม

เมื่อใดที่เราสำคัญตนว่าเราเป็นคนดี คนอื่นก็ดูด้อยกว่าเราไปหมด
(ยกเว้นคนที่ทำตัวได้ดีกว่าเรา) ถ้าไม่เหม็นเบื่อคนอื่น
ก็มักจะมีอาการสงสาร อยากจะสอนอยากชี้แนะอยู่ร่ำไป

ขณะเดียวกันจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ก็มักจะหาโอกาสแสดงตน
ให้ผู้อื่นเห็นความดีความสามารถของเราอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ครั้นผู้คนยอมรับนับถือความดีของเรา เราก็มีภาพพจน์ที่จะต้องรักษา
แต่ขึ้นชื่อว่าภาพพจน์แล้ว ก็ล้วนเป็นภาระที่ต้องแบกต้องหามทั้งนั้น
เราทนไม่ได้หากคนอื่นจะเห็นความอ่อนแอ หรือความเห็นแก่ตัวของเรา

ดังนั้นจึงต้องปกป้องตนเองอยู่เสมอ บ่อยครั้งต้องทุ่มเถียงเป็นวรรคเป็นเวรว่า
ฉันไม่ได้โกรธ ไม่ได้พูดโกหก ไม่ได้เห็นแก่ตัว ฯลฯ
ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องธรรมดามิใช่หรือหากคนเราจะโกรธ จะพลั้งเผลอ
หรือมีความเห็นแก่ตัวอยู่บ้างตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่

เมื่อมีภาพพจน์ว่าเป็นคนดีแล้ว เราก็มีภาระที่จะต้องทำตัวให้เป็นคนน่ารัก
ยิ้มแย้มแจ่มใส ยิ่งเป็นที่นับถือรักใคร่ของคนทั่วไปมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพลิดเพลิน
จนทำตัวให้เกินเลยจากที่ตัวเองเป็นมากเท่านั้น

นานเข้าก็หลงเชื่อว่าตนเป็นอย่างที่คนอื่นนึกว่าเป็นจริง ๆ
เราจึงมิได้เป็น "พระเอก" หรือ "นางเอก" ในสายตาของคนรอบข้างเท่านั้น
หากยังเป็นพระเอกนางเอกในความรู้สึกของตนเองอีกด้วย

แต่พระเอกนางเอกนั้นมีอยู่แต่ในหนัง ในชีวิตจริงทุกคน
ก็มีความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ ความดี ความไม่ดี คละเคล้ากันไป

ถ้าหลงตนว่าเป็นพระเอกนางเอกเสียแล้ว เราไม่เพียงแต่จะหลอกตนเองเท่านั้น
หากยังหลอกผู้อื่น ตอนแรกก็ปกป้องตนเองด้วยการปกปิดจุดอ่อนจุดเสีย
แต่ตอนหลังก็ถึงกับบิดพลิ้วความจริง จนกลายเป็นคนฉ้อฉลไปโดยไม่รู้ตัว

คุณธรรมความดีนั้น หากเราไม่เท่าทัน เกิดไปหลงติดเข้า
ก็อาจพาชีวิตหลงทิศหลงทาง จนถึงขั้นทำสิ่งเลวร้ายยิ่งกว่าการพูดปด
เพื่อรักษาภาพพจน์เสียอีก คนที่คิดว่าตนเป็นคนเมตตา รังเกียจการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต

ถ้าไม่ระวังตัว ก็อาจเป็นฆาตกรเสียเองเพราะจงเกลียดจงชังคนที่ไม่มีเมตตาเหมือนตน
สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราพึงทำความดี ยิ่งกว่าที่จะทำตนเป็นคนดี
ความดีนั้นมีไว้สำหรับกระทำ มิใช่มีไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบตนกับผู้อื่น
หรือเพื่อแบกหามล่ามโซ่ตนเอง

ความดีนั้นเอื้อให้เกิดสุข และความสุขก็ช่วยให้เรามั่นใจในการทำความดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
แต่เมื่อใดที่ยึดติดกับความดี เพราะหลงใหลในเกียรติยศชื่อเสียง
และความนับหน้าถือตาของผู้อื่นแล้ว
ความดีนั้นเองจะทิ่มแทงขบกัด และอาจถึงขั้นทำลายเราในที่สุด

คนเป็นอันมากทุกข์ใจ เพราะดีได้ไม่ถึงขนาด
พ่อแม่กินไม่ได้นอนไม่หลับ เพราะลูกดีไม่ได้ดังใจ
ทั่วทุกหนแห่งมีแต่คนท้อแท้ผิดหวัง เพราะไม่มีใครเห็นความดีของตน
ไม่ใช่ความน้อยเนื้อต่ำใจในความดีที่ถูกเมินเฉยดอกหรือ
ที่ผลักไสให้คนแล้วคนเล่าฆ่าตัวตาย

อันตรายของความดีนั้น อยู่ตรงที่ทำให้เราหลงตนลำพองใจได้ง่าย

ดังนั้นการมีสติเท่าทันในการทำความดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น

แม้จะแน่ใจว่าทำดีด้วยใจบริสุทธิ์ แต่ก็ยังต้องระวังผลจากการทำความดีนั้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นผลโดยตรงหรือผลพลอยได้ โดยเฉพาะความสำเร็จ
ภาพพจน์ชื่อเสียง และการยอมรับนับถือจากคนรอบข้าง
หากเพลิดเพลินยินดีในสิ่งนั้นเมื่อไร เราก็ไม่ต่างจากปลาที่หลงฮุบเหยื่อ

บ่อยครั้งไม่มีอะไรดีกว่าการกำราบ หรือทรมานอัตตาตนเอง ยิ่งติดในภาพพจน์ตนเองมากเท่าไรก็ยิ่งสมควรทำอะไรเชย ๆ เปิ่น ๆ เสียบ้าง จะได้ดัดนิสัยชอบวางมาดวางฟอร์มให้เข็ดหลาบ
การทำตนเป็นคนขลาดกลัวช้างป่าให้ใครต่อใครเห็น
บางทีก็ฝึกฝนจิตใจได้ดีกว่าการทำตัวเป็นคนสงบไม่หวั่นไหวต่อแผ่นดินไหว

ถ้าหลงใหลในตนเองมากไปแล้ว ก็หัดหัวเราะเยาะตัวเองบ้าง
เวลาพลั้งเผลอปล่อยไก่ต่อหน้าธารกำนัล จะได้ไม่ถือว่าเป็นเรื่องเสียหน้าเสียศักดิ์ศรี
แต่กลับถือเป็นเรื่องน่าหัวไปเสีย

ถ้าทำเช่นนี้ได้ ชีวิตจะไม่เครียด เพราะมีมุขมีเกร็ดให้แอบหัวเราะคนเดียวได้เรื่อยไป
และเมื่อถึงเวลาเป็นงานเป็นการ ใจเราจะเปิดกว้างมากขึ้นต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์
คนเราถ้าไม่คิดเป็นพระเอกนางเอกอยู่ร่ำไป ก็พร้อมจะยอมรับข้อผิดพลาด
และมองหาจุดอ่อนของตน แทนที่จะเอาแต่โทษคนอื่น
หรือคอยจับผิดเพื่อนร่วมงานอยู่ท่าเดียว

ในนิยายกำลังภายในหลายเรื่อง พรรคเทพมักเป็นตัวร้าย
ขณะที่พรรคมารกลับกลายเป็นผู้ทรงคุณธรรม

ในชีวิตจริง ก็มักเป็นเช่นนั้น ทั้งนี้เพราะความเป็นเทพชวนให้เกิดความลำพอง
และฉ้อแลได้ง่ายด้วย ถือว่าถ้าเจตนาดีแล้ว จะใช้วิธีเลวร้ายอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น


ถึงอย่างไรก็ไม่มีใครยอมเชื่อดอกว่าเราจะทำตัวเลวร้ายอย่างนั้นได้

ถ้าเลิกความเป็นเทพเสียได้ แต่ไม่ต้องถึงกับไปเป็นมารดอก
เพียงแต่คืนสู่ความเป็นคนธรรมดาสามัญ รู้เท่าทันตนเองเท่านั้น
ชีวิตก็จะน่าอภิรมย์ และเป็นสุขอย่างยิ่ง

ที่มา : http://board.palungjit.com
เครดิตภาพ : Google

วันอังคารที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ มหัศจรรย์ความทุกข์ ღ

มหัศจรรย์ความทุกข์
 



















ใครหลายคนชอบคิดไปไกล
ในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง...

สิ่งที่ยังไม่เกิด ความคิดนี่แหละ
ที่บั่นทอนพละกำลังส่วนหนึ่งของความสุขที่ควรจะเกิด ควรจะมี ให้ลดน้อยลงไป
บางขณะ เราน่าจะทำชีวิตให้ดีกว่านั้นได้ง่ายๆ
แต่เพราะความคิด ความกังวล

ทำให้สิ่งที่น่าจะง่าย กลายเป็นสิ่งยุ่งยาก
ถ้าความคิดบางอย่าง ยิ่งคิด ยิ่งเศร้า ยิ่งทำให้กังวล
ยิ่งไม่มีความสุข ยิ่งหวาดกลัววันข้างหน้า ก็อย่าไปคิดมันเลย
แค่ทำวันนี้ให้มีความสุข ทำให้ดีที่สุดกับเวลานี้ที่มีโอกาสนี้...
บางที ใครจะรู้ว่า อะไรๆที่ไปกังวลนั้น อาจจะมาไม่ถึงก็ได้..

ชีวิตอาจไม่ยาวนานถึงขนาดนั้น
ไม่มีใครรู้ว่าพรุ่งนี้ จะตื่นหรือเปล่า
อย่ากังวลกับอะไรที่ยังมาไม่ถึง...
มองวันนี้ ทำวันนี้ มีความสุขกับทุกวินาทีนี้ .....
ที่ยังหายใจอยู่ดีกว่า เวลามีพอเสมอสำหรับความสุข .

ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ ชีวิตที่พบความทุกข์ เป็นชีวิตที่แท้...
ไม่มีความทุกข์ก็ไม่มีการเติบโต
ความทุกข์เป็นพลังขับเคลื่อนให้หลายอย่างเกิด
ไม่มีใครไม่มีความทุกข์ เพราะนั่นคือการเป็นชีวิต


ความทุกข์สอนให้แต่ละคนเข้มแข็งในแง่มุมต่างๆ
ถ้าความทุกข์ไม่เข้ามาหา ก็จะไม่รู้ว่า ความสุขที่แท้เป็นอย่างไร
ไม่มีความทุกข์ ก็ไม่รู้จักความสุข......
เพราะความทุกข์พิสูจน์ความเป็นคน อ่อนแอ หรือเข้มแข็ง
ความทุกข์เป็นสิ่งท้าทายความสามารถ.....

ต่างจากความสุข ที่ทำให้อ่อนแอ มองโลกง่ายๆ แคบๆ
ความสุขเหมือนฝนพรำสาย
อ่อนโยน งดงาม บางเบา แต่ว่างเปล่า ไม่มีการเรียนรู้ใดในความสุข.......
เมื่อใดที่มีความทุกข์ ควรยิ้มรับ และคิดว่าโชคดีที่ได้เจอความทุกข์
ได้เรียนรู้การแก้ปัญหา ได้สงบ ได้สติ ได้ความนิ่ง ได้รู้จักโลก รู้จักตัวเอง
รู้จักการเติบโตทุกๆก้าว
ให้กำลังใจตัวเองมากๆ บอกตัวเองว่า

โชคดีที่วันนี้มีความทุกข์
เพราะเมื่อผ่านความทุกข์ ความสุขก็จะรออยู่เบื้องหน้า...
จงใช้ความทุกข์สร้างสิ่งมหัศจรรย์ให้กับชีวิต.

ที่มา : www.atcloud.com
เครดิตภาพ : Google

วันจันทร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2555

ღ คติธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ღ


คติธรรมคำสอน

โดย..หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต



ธรรม เป็นเครื่องปกครองสมบัติและปกครองใจ

ถ้าขาดธรรมเพียงอย่างเดียว
ความอยากของใจจะพยายามหาทรัพย์
ได้กองเท่าภูเขาก็ยังหาความสุขไม่เจอ

ไม่มีธรรมในใจเพียงอย่างเดียว
จะอยู่ในโลกใด กองสมบัติใด ก็เป็นเพียงโลก
เศษเดนและกองสมบัติเดนเท่านั้น
ไม่มีประโยชน์อะไรแก่จิตใจแม้แต่นิด

ความทุกข์ทรมาน ความอดทน
ทนทาน ต่อสิ่งกระทบกระทั่งต่างๆ
ไม่มีอะไรจะแข็งแกร่งเท่าใจ

ถ้าได้รับความช่วยเหลือที่ถูกทาง
ใจจะกลายเป็นของประเสริฐ
ให้เจ้าของได้ชมอย่างภูมิใจต่อเรื่องทั้งหลาย

ที่มา : www.84000.org
เครดิตภาพ : Google











ღ เห็นทุกข์ เห็นธรรม ღ

เห็นทุกข์ เห็นธรรม

โดย...พระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ


มีคำกล่าวว่า ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม คำกล่าวนี้หมายความว่าอย่างไร


โดยปกติแล้วคนเราเมื่อมีความสุข ก็หลงอยู่ในความสุขที่ตนมีอยู่ มีความประมาทว่าสถานภาพเช่นนี้คงจะดำรงอยู่ไป


เรื่อยๆ ไม่เสื่อมทราม จึงไม่สนใจที่จะศึกษาธรรมะ เพราะไม่เข้าใจว่าธรรมะคืออะไร

ความไม่เข้าใจดังกล่าว ประกอบกับมีความเห็นผิด จึงดูหมิ่นดูแคลนธรรมะหรือดูหมิ่นดูแคลนพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ ตลอดจนผู้ปฏิบัติธรรม

ครั้นเมื่อตนมีทุกข์ เป็นต้นว่า ต้องพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักหรือของรัก เจ็บป่วยด้วยโรคร้าย ถูกเขาโกง ถูกเขากลั่นแกล้งให้ร้าย กดขี่ข่มเหง ธุรกิจตกต่ำ มีหนี้สินมากฯลฯ ก็หาทางดับทุกข์ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น เข้าหาอบายมุข หาหมอดูเจ้าเข้าทรง บนบานศาลกล่าว สะเดาะเคราะห์ แก้กรรม เปลี่ยนชื่อ ตั้งศาลพระภูมิ เปลี่ยนฮวงจุ้ย สารพัดอย่าง จนในที่สุดเมื่อวิธีการต่างๆดังกล่าวไม่อาจแก้ทุกข์หรือปัญหาที่มีอยู่ได้ ที่สุดก็หันมาพึ่งธรรมะ บางคนบวช บางคนปฏิบัติธรรม

เมื่อเข้ามาสู่กระแสธรรม ทุกข์นั้นก็บรรเทาเบาบางลงได้หรือดับลงได้ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น


การเรียนรู้ธรรมะก็คือการเรียนรู้ความเป็นจริงของชีวิต


การปฏิบัติธรรม ก็คือการฝึกใจให้ยอมรับความเป็นจริงของชีวิต


ความเป็นจริงของชีวิตคืออะไร

ชีวิตของเรามีร่างกายกับจิตใจ ร่างกายของทุกคนมีทุกข์ติดมาด้วย เป็นต้นว่า ต้องหิว ต้องขับถ่าย ต้องปวดเมื่อยเมื่อยอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานๆ ต้องเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ต้องง่วงเป็นต้น

ทุกข์ดังกล่าวมีอยู่ทุกวัน เราบำบัดได้ง่าย หรือป้องกันก่อนที่ทุกข์นั้นจะเกิดขึ้นก็ได้ เช่น กินก่อนหิว ขับถ่ายก่อนปวด เปลี่ยนอิริยาบถก่อนปวดเมื่อย พักผ่อนก่อนเหนื่อยล้า นอนก่อนง่วง เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ความทุกข์ ทั้งๆ ที่อาการเหล่านี้เป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของร่างกาย


สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นความทุกข์ทางกายก็คือ ความแก่ ทำให้อวัยวะบางอย่างเสื่อม ไม่สามารถใช้การได้ตามปกติ ทำให้ช่วยตัวเองไม่ได้ ความเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง ทำให้เจ็บปวด ได้รับความทุกข์ทรมานและความตาย ซึ่งคนทั่วๆ ไปไม่อยากตาย เพราะไม่อยากพลัดพรากจากของรักของหวง


แต่ทุกคนก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตายด้วยกันทั้งนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ เมื่อมีร่างกาย จึงมีความทุกข์ติดมากับร่างกายด้วยจะปฏิเสธไม่เอาทุกข์ไม่ได้เลย


หันมาดูจิตใจของเรา ธรรมชาติของจิตมีหน้าที่อยู่ 4 อย่าง คือ รับรู้ สิ่งต่างๆ ที่มากระทบโดยอาศัยประสาทสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อรับสิ่งใดก็จำ ในสิ่งนั้น รู้สึก ต่อสิ่งนั้น และคิด ต่อสิ่งนั้น

ร่างกายไม่มีความคิด จึงแสดงออกในสิ่งที่เป็นอยู่อย่างตรงไปตรงมา ไม่มีมารยา เช่นหิวก็แสดงอาการว่าหิว ง่วง เหนื่อยล้าเจ็บป่วย ก็แสดงอาการนั้นๆ ออกมาให้เห็น เป็นต้น


ตรงข้ามกับจิตใจ ซึ่งมากด้วยมารยา เพราะถูกกิเลสตัณหาชักนำไป ให้ลุ่มหลงในสิ่งต่างๆ มากด้วยอคติ ไม่มีความเที่ยงธรรม อยากได้อยากมีอยากเป็น ในสิ่งที่ชาวโลกเขาชื่นชมนิยมกัน ครั้นได้ มีเป็นในสิ่งที่ปรารถนา ก็หลงยึดติดในสิ่งนั้น ไม่อยากให้สิ่งดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อม ครั้นเมื่อสิ่งนั้นเปลี่ยนไปในทางที่ตนเสียประโยชน์ก็มีความทุกข์ นอกจากนี้เมื่อปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์


โดยที่ความต้องการของคนไม่มีที่สิ้นสุด และสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการก็ไม่มีจริงในโลกเช่น ต้องการให้สิ่งที่ตนรักพอใจดำรงอยู่เช่นนั้นตลอดไป ไม่ต้องการพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักพอใจ ความต้องการเช่นนี้ไม่มีอยู่จริง เพราะทุกๆสิ่งต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะร่างกายของเรา เปลี่ยนแปลงไปสู่ความแก่ ความเจ็บ และความตาย จิตใจของคนอันสะท้อนออกมาเป็นนิสัยใจคอและพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงไปตามกิเลสตัณหาที่คอยบงการ จะยึดถือว่าต้องเหมือนเดิมไม่ได้เลย ส่วนวัตถุสิ่งของที่ตนครอบครองอยู่ ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเก่า ความชำรุดทรุดโทรม ที่สุดก็ต้องพังลงไปเป็นธรรมดา


ชีวิตของปุถุชนจึงมาด้วยความทุกข์ บางคนอยู่กับทุกข์โดยไม่รู้ว่ามีความทุกข์ บางคนเมื่อมีทุกข์เกิดขึ้นอย่างรุนแรงแล้ว ก็ไม่สามารถดับทุกข์ของตนได้ ตรงข้าม กลับทำร้ายตนให้ทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก


ทุกข์ของชาวโลกเพราะมีใจเห็นผิด มีมิจฉาทิฐิ หรือมีความเห็นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงทางธรรม

ความเป็นจริงทางธรรมนั้นเป็นสิ่งที่เป็นสากล เป็นจริงทุกกาลสมัยและเป็นจริงต่อมวลมนุษยชาติทุกศาสนา ทุกเผ่าพันธุ์ ความเป็นจริงที่ว่านี้ คือ

1. ทุกชีวิตเกิดมามีทุกข์เป็นพื้นฐาน ไม่มีใครหนีทุกข์ไปได้ แต่หากมีปัญญาก็จะดับทุกข์ลงได้ ทุกข์กายนั้นเป็นเรื่องของสังขารที่ต้องแก่ เจ็บ ตาย ส่วนทุกข์ใจเป็นเรื่องของกิเลสตัณหา ธรรมะช่วยพัฒนาจิตให้มีปัญญาสู้กับกิเลสตัณหาได้ เมื่อจิตมีปัญญาที่เข้มแข็ง ก็จะไม่ทุกข์ใจ แม้ร่างกายเป็นทุกข์ ใจก็จะไม่ทุกข์


2. ทุกชีวิตสร้างกรรมดีและกรรมชั่ว ซึ่งตนจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ทั้งกรรมเก่าในอดีตชาติที่ยังให้ผลอยู่ และกรรมในชาติปัจจุบันที่ได้ทำไว้ ไม่มีใครสามารถแบ่งเบาหรือรับกรรมแทนกันได้

3. สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา คงทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่สามารถบังคับได้อย่างใจปรารถนา ว่าขอให้สิ่งทั้งหลายจงเป็นไปอย่างที่ตนพอใจ และอยู่อย่างนั้นนานๆเถิด อย่าได้เป็นไปในสิ่งที่ตนไม่ต้องการเลย


การรู้ความเป็นจริง ฝึกใจยอมรับความเป็นจริง ใจจะปล่อยวางความยึดมั่นสำคัญผิดเป็นเหตุแห่งทุกข์ นอกจากนี้ใจจะยกระดับขึ้นสู่การพัฒนา มีความเกรงกลัวต่อบาป ละอายต่อบาป ขจัดอารมณ์โกรธให้เบาลง มีความอดทนอดกลั้นมากขึ้น ลดความเห็นแก่ตัวจ ะทำประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นมากขึ้น

ธรรมะเป็นเสมือนแสงสว่าง ที่ให้คนได้เห็นทางเดิน นำไปสู่สันติสุขของชีวิต

ที่มา : www.kanlayanatam.com
เครดิตภาพ : Google