เข้าถึงความเป็นพุทธะแห่งจิต
พระธรรมเทศนา...หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ว่าด้วยสัจธรรมของจริง ของจริงมีอยู่ในกาย ในใจของทุกคน สภาพความเป็นจริงของกายโดยพื้นฐานแล้ว สัตว์ทั้งหลายมีอาหารเป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องกินอาหาร อันนี้คือความจริงอันหนึ่ง ส่วนทางด้านจิตใจนั้นก็มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นอาหาร แต่อาหารของจิตใจนั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท
ประเภท ๑ เมื่อจิตได้ลิ้มรสอาหารแล้วทำให้จิตเดือดร้อนวุ่นวาย เกิดความทุกข์
ประเภท ๒ เมื่อจิตได้ลิ้มรสอาหารแล้วเกิดความสุข สิ่งที่ทำให้จิตสงบเยือกเย็นมีความสุขนั้นได้แก่ธรรมะนั่นเอง
ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่มีความจริง และพุทธะก็คือสัจธรรม เป็นวิสุทธิธรรม เป็นความจริงอย่างสูงสุด สัจธรรมคือความจริงนั้นย่อมไม่สังกัดในลัทธิหรือศาสนาใด แต่เมื่อใครได้ดำเนินจิตของตนเองเข้าไปสู่จิตแห่งความเป็นสัจธรรมอย่างแท้จริง หรือธาตุแท้แห่งความจริงที่มีอยู่ภายในจิตใจ สัจธรรมแห่งพุทธะอันเป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสมบัติของผู้นั้น
ท่านชายสิทธัตถะทรงดำรงพระชนม์ชีพเป็นมนุษย์ โดยประสูติในตระกูลกษัตริย์ ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดา มีกายใจเหมือนกับเราท่านทั้งหลาย ท่านสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อาศัยกายกับใจเป็นหลัก โดยเอากายและใจไปพิจารณาดูความเป็นจริงของร่างกายและทรงพบความจริงของร่างกายนั้นว่ามีอะไรบ้าง ร่างกายต้องมีอาหารเป็นที่ตั้งเพื่อความเป็นไปของร่างกาย และโดยกฎธรรมชาติย่อมมีความแตกดับ เน่าเปื่อย ผุพัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ผู้แสวงหาคุณธรรมเราคงเคยได้ยินคำสอนในศาสนาพุทธว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คือ พระพุทธเจ้าสอนให้เราละความชั่ว ประพฤติความดี และก็ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สะอาด ปัญหาก็อยู่ที่ว่า “การละความชั่วนั้น โดยสาธารณะทั่วไปได้แก่อะไร” โดยสาธารณะทั่วไป ได้แก่ การงดเว้นจากความชั่ว ๕ ประการ ซึ่งก็คือ ศีล ๕ ดังนั้น การตั้งใจกระทำความดีจึงมีศีล ๕ เป็นหลักประกัน เมื่อเรามีศีล ๕ เป็นหลักประกันความปลอดภัย ภัยเวรที่จะพึงเกิดขึ้นนั้นย่อมไม่มี ฉะนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะละเว้นความชั่วกันอย่างจริงจัง ในเบื้องต้นขอให้มั่นคงในการยึดศีล ๕ เป็นหลัก ศีล ๕ นี้ ผู้บัญญัติมุ่งหมายที่จะป้องกันที่จะไม่ให้มนุษย์ต้องฆ่ากัน ปาณาติบาต บ่งถึงเจตนาที่จะฆ่าโดยตรง สิ่งที่สนับสนุนปาณาติบาต เช่น อทินนาทาน คือการลักขโมย โดยปกติแล้วคนที่มีข้าวของเขาต้องมีความรักหวงแหนทรัพย์สมบัติ ถ้าเราไปขโมยของเขา เขาโกรธเขาก็ฆ่าเอา กาเมสุมิจฉาจาร ไปละเมิดสิทธิของท่าน ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา มุสาวาท พูดปดมดเท็จ กล่าวส่อเสียด ยุยง หรือพูดคำหยาบให้ท่านได้รับความเสียหาย ท่านโกรธท่านก็ฆ่าเอา สุรา ดื่มเข้าไปแล้วมึนเมา คุมสติไม่อยู่ เกิดทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดก็ต้องฆ่ากัน เพราะฉะนั้น เหตุผลในการบัญญัติศีล ๕ เอาไว้เป็นหลักในการปฏิบัตินั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ฆ่ากันโดยตรง
นอกจากเราจะมีศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้มีความมั่นคงอยู่ภายในจิตใจไม่เสื่อมคลาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พร่ำสอนให้บำเพ็ญสมาธิภาวนาเป็นหลัก แต่การบำเพ็ญสมาธิภาวนา ท่านทั้งหลายได้เคยฟังและได้ปฏิบัติมามากแล้ว จึงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ แต่จะขอย้ำเตือนว่า การประพฤติดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้นอยู่ที่ความตั้งใจจริง จะปฏิบัติแบบไหน อย่างไร ขอให้ยึดในสิ่งนั้นจริงๆ เช่นอย่างท่านจะบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือจะภาวนาพุทโธหรืออะไรก็ตาม ท่านอาจจะนึกในใจว่าจะนั่งสมาธิให้ได้วันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง แล้วตั้งใจอย่างจริงจังแน่วแน่ลงไป บริกรรมภาวนาพุทโธๆๆไว้ ให้จิตอยู่กับพุทโธแน่วแน่ไม่พรากจากไป แม้ว่าจิตจะไม่มีอาการสงบก็ตาม เมื่อเรานึกพุทโธๆๆ ติดต่อกันไม่ขาดสาย พุทโธนั่นแหละจะเป็นสิ่งกางกั้นไม่ให้เราส่งกระแสจิตออกไปสร้างบาปสร้างกรรมที่อื่น อีกอย่างหนึ่ง พุทโธ จะเป็นที่พึ่งของจิต จะเป็นวิหารธรรม ในเมื่อเรานึกพุทโธจนชำนิชำนาญ จนจิตติดอยู่กับพุทโธ ในบางครั้งเราอาจไม่ตั้งใจว่า แต่จิตจะนึกพุทโธเองโดยไม่ตั้งใจ จนกลายเป็นอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น บางครั้งเราพบอุบัติเหตุสำคัญ จิตของเราจะวิ่งเข้าสู่พุทโธโดยไม่ตั้งใจ เมื่อจิตเข้าถึงพุทโธจิตก็มีที่พึ่ง พุทโธเป็นที่พึ่งที่ระลึกของจิต เป็นคุณสมบัติของความเป็นพุทธะ
ความเป็นพุทธะสามารถเป็นได้กับทุกคน ถ้าเราคิดว่าพุทธะคือผู้รู้เป็นได้เฉพาะแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้วพุทธะย่อมสาบสูญไป แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว ธาตุแท้ของความเป็นพุทธะยังสถิตอยู่ในจิตใจของเราทุกคน พุทธะคือวิสุทธิธรรม พุทธะที่เป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสิ่งรับรอง นักปฏิบัติทุกท่านย่อมสามารถที่จะเหนี่ยวเอาคุณสมบัติอันนี้เข้าไปอยู่ในจิตใจของตนเองได้ ถึงความบริสุทธิ์สะอาด และเข้าถึงความเป็นพุทธะอย่างแท้จริง
ที่มา :http://www.thaniyo.com
เครดิตภาพ : Google
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น