วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ ปัจจุบันสำคัญที่สุด ღ

ปัจจุบันสำคัญที่สุด
โดย...อาภัสสะโร ภิกขุ

พระ พุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายถึงการปฏิบัติธรรมว่า "ปัจจุบัน" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทั้งอดีตและอนาคตจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ สิ่งที่ควรให้ความสนใจก็คือที่นี่และเดี๋ยวนี้ โดยตรัสว่า

"บุคคลไม่ ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บุคคลใดเห็นแจ้งในปัจจุบันธรรม ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ ผู้นั้นควรเจริญในธรรมเนือง ๆ ความเพียรควรทำเสียวันนี้เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรู้ความตายในวันพรุ่งนี้

เพราะการผลัดเพี้ยนกับความตาย ไม่มีใครทำได้ ผู้รู้ย่อมสงบ เรียกว่าผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนว่า ผู้นั้นมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวประเสริฐที่สุด"

สาเหตุหนึ่งที่ทำ ให้จิตของผู้ปฏิบัติธรรมฟุ้งซ่านไม่สงบ นั้นหมายถึงความปรุงแต่งไปตามสัญญาอารมณ์ทั้งอดีตและอนาคต เราชอบเก็บเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านไปแล้วมานึกคิด ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีจิตก็สลดหดหู่เหงาหงอยเซื่องซึมไป ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นก็ผ่านพ้นเลยไปแล้ว ถ้าเป็นเรื่องสุขจิตก็กระเจิดกระเจิงโลดแล่นไป

ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ก็ไม่ควรเก็บมาคิดให้เปลืองเวลา เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ผ่านล่วงเลยไป กลับกลายเป็นอดีตไปแล้ว จะเรียกร้องแก้ไขให้กลับคืนก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ยากแล้วสิ่งที่เรียกว่า อนาคต ก็เป็นเรื่องของกาลเวลาข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ก็หาควรโน้มน้าวเก็บมาครุ่นคำนึง นึกคิดสร้างความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ไว้คอยท่า เพราะเหตุการณ์ที่ถูกจัดว่าเป็นเรื่องของอนาคตนั้นเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่แน่นอนเป็นจริงเป็นจังอะไรขึ้นมา รังแต่จะทำให้จิตว้าวุ่นโดยเปล่าประโยชน์

ตัดสิ่งที่ผ่านไป และสิ่งที่ยังมาไม่ถึงทิ้งเสีย แล้วภาวะแห่งการครุ่นคำนึงเพ้อฝันก็จะดับตัวเองลง เหลือแต่จุดสว่างโพลงอยู่เบื้องหน้าที่ถูกสมมติเรียกว่า "ปัจจุบัน" ยืนเด่นรออยู่ ประคองให้ดี อย่าให้จุดนี้เอียงไปทางขวาหรือทางซ้าย ให้ดำรงความเป็นหนึ่งหรือความเป็นกลางไว้ให้ตลอด ให้ลอยอยู่อย่างนั้น อย่าให้เกาะให้ติดในความเป็นกลางคือปัจจุบันเสียเอง รู้แล้วปล่อย ๆ โดยใช้ความมั่นคงของจิตอันสมบูรณ์ด้วยสติเป็นเครื่องกำกับ ประคับประคองไว้ให้ดี จนกระทั่งมันอาจจะกลั่นกรองออกเป็นสูตรหรือนิยมสั้น ๆ ให้เราได้ระลึกไว้ในใจกันหลง คือ ปล่อย, ผละ, ละ, วาง

* ปล่อย - อดีตที่ผ่านไปทั้งหมดอย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น
* ผละ - จากสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คือ อนาคตเสีย อย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น
* ละ - อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง อย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น
* วาง - ความผูกมัด เกาะติดในปัจจุบัน เพียงกำหนดรู้ ด้วยสติที่สมบูรณ์เพียบพร้อม

รู้เฉย ๆ รู้แล้วปล่อย อย่าเข้าไปปรุงแต่งในรู้นั้น จิตจะว้าวุ่น

การ เห็นแจ้งในปัจจุบันธรรม โดยมีสติสัมปชัญญะเป็นแม่งานใหญ่คอยคุมจิตอยู่ตลอดเวลา จนจิตโพลงอยู่ทุกขณะ กลายเป็นความรู้สึกตัว อยู่ทุกลมหายใจ แล้วจิตกับสติจะผนวกแนบแน่นกลายเป็นปัจจุบันธรรม อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นจุดหนึ่งที่มีความสำคัญของการปฏิบัติธรรมในพระศาสนานี้ ผู้เขียนสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ที่ปรารภท่ามกลางหมู่ภิกษุ อันเป็นเรื่องราวใน "ภัทเทกรัตตสูตร" ฝากท่านผู้รู้ช่วยกรุณาพิจารณาด้วย.

การอยู่กับปัจจุบัน

สาเหตุหนึ่งที่คนเราทุกข์ก็เพราะไม่รู้จักอยู่ กับปัจจุบัน เรามักจมอยู่กับอดีตและหวังไปในอนาคต อยู่กับความผิดหวังความไม่พอใจ หรือติดอยู่กับความสุขความสมหวังในอดีตที่ผ่านไปแล้ว รวมทั้งอยู่กับความคาดหวังในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ฝันว่าจะต้องรวย ประสบความสำเร็จ มีครอบครัวที่อบอุ่น จนแม้กระทั่งหวังบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์สำหรับบางท่าน

การไม่อยู่กับปัจจุบันดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะต้องทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับความผิดหวังความไม่พอใจ หรืออาจทุกข์เพราะโหยหาความสุขความสมหวังในอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ตั้งความหวังอันสวยหรูไว้ในอนาคตที่ไม่มีทางรู้แน่ว่าจะมา ถึงหรือไม่ จนอาจคิดว่าจะมีความสุขได้จริงก็ต่อเมื่อได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว

บางท่านอาจบอกว่า การจมอยู่กับอดีตที่หอมหวานและวาดหวังถึงอนาคตอันสดใส ก็ยังดีกว่าการต้องอยู่กับปัจจุบันที่ขมขื่นหรือไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งฟังดูเผินๆก็น่าจะใช่ แต่ในความเป็นจริงแล้วจิตนั้นเกิดดับเร็วมาก ทั้งความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าเรานำมาย้ำคิดครั้งแล้วครั้งเล่า จึงทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์จากสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือจะเป็นความทุกข์ด้วยความติดข้องต้องการในสิ่งที่น่าพอใจก็ตาม

ตัวอย่างของความทุกข์จากการไม่อยู่กับปัจจุบันมีให้เห็นทุกวัน เช่น เราโกรธใครบางคนที่ทำงาน นอกจากจะไม่พอใจในตอนนั้นแล้ว หลายครั้งที่เราพกพาความไม่พอใจนั้นกลับบ้านมาด้วย ซึ่งบางครั้งก็กินเวลาหลายวันกว่าจะลืมหรืออาจนานเป็นปีก็เป็นไปได้

ในขณะเดียวกันการหวังไปในอนาคตก็ทำให้เราต้องฝากความสุขของเราไว้กับ เหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงตลอดเวลา โดยบางเรื่องต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ซึ่งพอเกิดขึ้นจริงก็ให้ความสุขสมหวังเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่นานความรู้สึกดังกล่าวก็ผ่านไปและกลายเป็นอดีตอีก

ยิ่งเราอยู่กับปัจจุบันได้มากเท่าไร ความทุกข์ก็จะลดน้อยลงได้เท่านั้น เพราะปัจจุบันขณะเกิดดับอย่างรวดเร็ว จะมีจริงก็แต่ทุกข์ทางกาย เช่นในเวลาที่เจ็บป่วย ซึ่งหากทำใจได้ ความทุกข์ที่เหลือส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงความทุกข์ทางกาย อย่างความเจ็บปวดไม่สบายกายหรือความไม่สะดวก เช่น ไม่สามารถเคลื่อนไหว ได้เห็นได้ยิน ฯลฯ ดังคนปกติ ส่วนความทุกข์ทางใจที่เกิดจากการคิดนึกไปในอดีตและอนาคต รวมทั้งการปรุงแต่งก็จะบรรเทาลงได้ตามกำลังปัญญาของแต่ละคนที่จะมีสติระลึก รู้ถึงปัจจุบันขณะด้วยความเห็นถูกนั่นเอง

สำหรับความรู้ความเข้าใจในพระธรรม ขอกราบขอบพระคุณ :
อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ที่มา : http://buddhadham.zzl.org/webpage/Story/webpage/allstorydhamma/09.html
เครดิตภาพ : Google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น