วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ รั ก แ บ บ พุ ท ธ ღ

รั ก แ บ บ พุ ท ธ
โดย...พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ


“...คนเราจะอยู่ในโลกนี้อย่างผู้มีปัญญา
เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติของความรัก
และพยายามลดสัดส่วนที่เกิดจากตัณหาเท่าที่จะลดได้

ควรจะพัฒนาความรู้สึกของเรา
ให้เป็นไปในทางเมตตาเท่าที่เราจะทำได้
ถ้าเทียบเป็นระดับ
ก็มีตั้งแต่ความรักตาบอด
หรือความรักที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว
เรียกว่าความรักที่มืด
ที่นำไปสู่ความทุกข์ ความเดือดร้อนมากที่สุด
จนถึงความรักระดับสูงสุด สว่างที่สุด
ก็คือ เมตตาธรรมที่ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง

ทำอย่างไรเราจึงพัฒนาความรักให้สว่างขึ้น
ให้เป็นเหตุให้ต้องทุกข์ต้องทรมานใจน้อยลง
อารมณ์ของคนเราส่วนมากมันอยู่ได้หรือเข้มข้นได้
เพราะเราหลับหูหลับตาต่อความจริงบางประการ
อารมณ์นั้นไม่ใช่ทางไปสู่ความพ้นทุกข์แน่นอน

เพราะอาศัยอวิชชาจึงอยู่ได้
อวิชชาอยู่ที่ไหน ตัณหาต้องอยู่ที่นั่น
เพราะแยกออกจากกันไม่ได้ อวิชชากับตัณหาไปด้วยกัน
เหมือนกับวิชาความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริง
ต้องอยู่กับฉันทะ หรือกุศลฉันทะ
เป็นความอยากที่ปราศจากโทษ”

“...บางครั้งคนแสวงหาความรักเพื่อดับทุกข์อย่างตาบอด
คือว่ารู้ว่าตัวเองเป็นทุกข์
แล้วเชื่อว่าความรักจะดับความทุกข์ของตนได้

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าจะมีปัญหา
เพราะความทุกข์ไม่เคยดับไปด้วยความรัก
ความทุกข์ดับไปด้วยการดับอวิชชา
ทุกข์ดับเพราะอวิชชาดับ เพราะตัณหาดับ
ไม่ใช่เพราะความรัก
ถ้าเราหวังความดับทุกข์จากความรักนั้น
คือการตั้งต้นไว้ผิด และจะต้องผิดหวัง…

มีละคร หนังสือ เพลง หลายสิ่งหลายอย่าง
ที่จะชวนให้เราเข้าใจว่าความรักดับทุกข์ได้
แต่ชีวิตของเราแต่ละคนฟ้องขึ้นมาว่า ไม่ใช่ !

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
อวิชชาปรากฏอยู่ในลักษณะตัณหา
อยากได้ อยากมี อยากเป็น
แต่แก่นแท้ของอวิชชา
คือการมองว่าชีวิตมีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง
เป็นสิ่งที่ตัวของตัว สิ่งที่ท่านเรียกว่าอัตตา
คือตัวเราศูนย์กลางของชีวิต

พระพุทธองค์ท้าทายว่า
ถ้ามีจริง มันอยู่ตรงไหน
อยู่ในกายไหม อยู่ในความรู้สึกไหม อยู่ในความจำได้ไหม
อยู่ในความคิด อยู่ในการรับรู้ทางประสาทไหม มีอยู่ตรงไหน
แต่ส่วนมากคนก็ไม่ได้สนใจวิเคราะห์อย่างนี้
แต่เชื่อว่ามีตัวเราที่เป็นของเที่ยงแท้ถาวร
เกิดความเชื่องมงายเกี่ยวกับธรรมชาติของตัวเอง

สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ
หนึ่ง ความกลัว สอง ความเหงา
กิเลสทั้งหลายทั้งปวง มันจะเกิดขึ้น
เพราะมีตัวเราที่แปลกแยกจากคนอื่น
แปลกแยกจากสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิง
แต่พอเราไม่ได้ดูตัวเองดีๆ
ก็ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร
คืออวิชชา การไม่รู้ ไม่เข้าใจตัวเอง รู้แต่ว่าเหงา
รู้แต่ว่าแปลกแยก รู้แต่ว่ากลัว...

ผู้มีอวิชชามักจะแสวงหาความรัก
เพื่อจะไม่ต้องเหงา ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก
แต่นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง…
ถ้าเรากล้าดูตัวเอง
กล้าพิจารณาความเหงา กล้าพิจารณาความกลัว
ความกังวลต่างๆ กล้าดูสิ่งต่างๆ ที่เป็นทุกข์อยู่ในใจ
ความหิวโหย ความหวังจากคนอื่นก็จะน้อยลงไปเอง
จะเริ่มเห็นว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ของจริงของจังอะไร
มันเป็นแค่อารมณ์ มีเกิด มีดับ

ผู้ที่เห็นแก่ตัวมาก เพราะเชื่อในอัตตาตัวตนมาก
และเป็นผู้ที่บำรุงเลี้ยงความคิดผิด
ที่เราให้ชื่อว่าอัตตาอยู่ตลอดเวลา
ยิ่งเห็นแก่ตัว ก็ยิ่งจะต้องเจอความเหงา
ยิ่งต้องเจอความกลัว ความกังวล
ความกลัวบางทีก็ปลอมตัว...
มันจะออกในรูปแบบความก้าวร้าว
ความก้าวร้าวนี้มักจะเป็นอาการของความกลัว”

“...ถ้าจะรู้สึกว่า เราขาดอะไรสักอย่าง
และก็หวังว่าคนอื่นเขาจะเสริมส่วนที่ขาด
ก็จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่น
แปรไปในทางที่ต้องการอะไรสักอย่างจากเขา
เมื่อเราต้องการอะไรสักอย่างจากคนอื่น
และเชื่อว่าถ้าไม่ได้สิ่งนั้นชีวิตเราจะแย่ ก็ต้องเครียด
และความหึงหวงก็จะต้องรุนแรงมาก
เพราะถ้าเราฝากความหวังในความสุขใจ
ความมั่นคงของชีวิตไว้กับคนใดคนหนึ่ง
เราก็ต้องกลัวว่า เราต้องพลัดพรากจากคนนั้น

สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักธรรมชาติของชีวิต
และผู้ที่มีความหวังในคนรักมากเกินไป
ต้องการสิ่งที่คนอื่นให้เราไม่ได้...”
“...ส่วนมากคนแต่งงานกัน เท่าที่สังเกต
เมื่อเกิดปัญหา ไม่ใช่เพราะไม่รักกัน
ที่จริงก็รักกันอยู่ แต่ไม่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

คนสองคนรักกันได้โดยไม่ค่อยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
พอคนสองคนเกิดมีปัญหา
ก็จะเข้าใจว่า ไม่รักกันจริง
หรือมีปัญหาเรื่องความรัก
ที่จริงก็รักกันอยู่แต่ไม่เข้าใจกัน
มีความคิดผิดบางอย่างที่ยังปล่อยวางไม่ได้
ถ้าเราไม่ฝึกหัดตัวเอง
ความรักก็จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชีวิตและกิเลสต่างๆ
ก็จะทำให้ความรักเศร้าหมองได้
โดยไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาให้สูงขึ้นได้เลย

เรื่องความรัก แรกๆ คนรักกัน
ก็อยากจะสบตากันนานๆ
อยากจะมองแต่หน้าและดวงตานานๆ
อันนั้นก็เป็นวาระของมัน
แต่ว่าเสร็จแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ
ทั้งสองคนมองที่เป้าเดียวกัน
มองข้างหน้าที่เป้าเดียวกัน จะอยู่ได้นาน
แต่มองตาซึ่งกันและกัน นี่ไม่แน่นอน

ถ้ามองข้างหน้า มองที่เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน
ก็มีทางไปด้วยกันได้ คือ มองว่าต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
ความรักเป็นอารมณ์เป็นสังขาร ความหวานก็เป็นอารมณ์
ความหวานก็เปลี่ยนเป็นความเปรี้ยวได้

แต่การเป็นมิตรที่ดีต่อกัน
พึ่งธรรมะในการดำเนินชีวิตก็มีความสดชื่นได้ตลอด
ผู้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันมีความไว้วางใจต่อกัน
สามารถให้กำลังใจ ในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังท้อแท้ใจ
เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้เข้าใจ เป็นผู้ให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่คิดจะชนะกัน ไม่คิดจะต่อสู้กัน
ต่างคนต่างอยู่ด้วยการยอมรับว่า
ต่างเป็นปุถุชน ยังมีกิเลส
แต่ว่าต่างคนต่างอยากพ้นจากกิเลส
อย่าจะช่วยกันแก้กิเลส
พร้อมที่จะรับฟังข้อคิด ข้อวิพากษ์วิจารณ์
ข้อตักเตือนจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ถ้าเป็นอย่างนั้นความรักก็จะไปในทางเมตตามากขึ้น

เมตตา คือ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
ความรักที่ทำให้คนตกนรก คือ ความรักที่มีเงื่อนไขมาก
ความรักที่มีเงื่อนไขมากที่สุด
ก็คือ ฉันรักเธอเฉพาะช่วงที่เธอทำตามใจฉัน
ถ้าเธอให้ความสุขแก่ฉันได้ ฉันจะรักเธอ
เธอให้ความสุขแก่ฉันไม่ได้เมื่อไหร่ ฉันก็จะไม่รัก
ก็กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง
ฉันรักเธอแต่ถ้าเธอเบื่อฉันเมื่อไหร่ ฉันก็ไม่รัก
คือ ไม่ได้เป็นมิตร ไม่ได้มีความจริงใจต่อกัน
เอาอารมณ์ เอากามเป็นที่ตั้ง

การอยู่ในเพศฆราวาส
เรื่องกามก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
แต่เป็นส่วนที่ควรควบคุม
และไม่ควรจะหวังอะไรมากเกินไปจากความรัก
พูดถึงการรักษาศีลข้อสาม สังเกตว่า
ผู้ชายผิดศีลข้อสาม
ถือว่าเป็นธรรมชาติของผู้ชาย
อ้างร่างกาย อ้างความต้องการของร่างกาย
ผู้หญิงผิดศีลข้อสาม ก็จะอ้างความรัก
ช่วยตัวเองไม่ได้ รักเขาเหลือเกิน...
การจะอยู่ในโลก แต่งงานแล้ว จะไม่เกิดความรู้สึกว่า
ชอบหรือรักคนอื่น ก็คงเป็นไปได้ยาก...

แต่ที่สำคัญอยู่ที่การควบคุมกาย วาจา
เมื่อเกิดความรู้สึกต่อคนอื่น ทำอย่างไร
ถ้ายินดีในความรู้สึกนั้น แล้วมีการกระทำอันใด
ไม่ว่าด้วยกาย ด้วยวาจา มันก็ผิดแล้ว
และเราถือว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
ถือว่ากามารมณ์เป็นไฟ เผาลนจิตใจของคน
ทำให้คนทำบาปกรรมได้สารพัด
เราระมัดระวัง ไม่ทำสิ่งใดที่จะทำให้คนที่เรารักต้องทุกข์ ต้องเดือดร้อน
ไม่ทำสิ่งใดลับหลังคนที่เรารัก
เพียงเพราะว่าอยากได้รสชาติแห่งกาม มันไม่คุ้มค่า
เราต้องพยายามดูจิตใจของตัวเอง
แล้วมาแก้ที่จิตใจตัวเอง อย่างไปแก้ที่อื่น

“...เราจะรัก ก็รักได้
แต่ควรจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า
เราจะอยู่ด้วยกันก็เป็นเรื่องชั่วคราว
จะเป็นชั่วคราวสั้นๆ เป็นเดือน เป็นปี
หรือจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐ ปี
อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องชั่วคราว
ถ้าเราระลึกอยู่ในความไม่เที่ยง
ความไม่แน่นอนของการอยู่ด้วยกัน
เราน่าจะปล่อยวางได้ง่ายขึ้น ให้อภัยได้ง่ายขึ้น
ไม่ทะเลาะเบาะแว้งเรื่องเล็กเรื่องน้อย
เพราะเราอยู่ด้วยกันอย่างชั่วคราว

ถ้าเราเป็นเทวบุตร เทวธิดา อยู่บนสวรรค์
อยู่ด้วยกันล้านๆปี ทะเลาะเบาะแว้งกัน เรื่องเล็กเรื่องน้อย
คงไม่เป็นไร คงมีเวลาแก้ไข
แต่มนุษย์ไม่มีเวลามากขนาดนั้น
การระลึกถึงความจริงก็มีผลต่อความรัก
ทำให้เป็นความรักที่ฉลาดขึ้น ประกอบด้วยปัญญา
การรู้เท่าทันชีวิตในโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดี
เรามีความตาย เรามีความพลัดพรากจากกันแน่นอน
ระลึกอยู่เสมอ ชีวิตไม่แน่นอนจริงๆ วันใดวันหนึ่ง
เราต้องพลัดพรากจากกัน

ถ้าไม่คิดบ่อยๆ ไม่ซ้อมบ่อยๆ
พอเราพลัดพรากจากคนที่เรารักจริงๆ
เราก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน
ฟังเทศน์ ฟังธรรม กี่ร้อยกัณฑ์ กี่พันกัณฑ์
ก็ไม่เกิดประโยชน์ทางจิตใจเรา
บางคนครวญครางว่าไม่เคยคาดคิดว่า เขาจะเป็นอย่างนี้…
ทำไมจึงไม่คาดคิด ควรจะคิดทุกวัน...”

“...พระพุทธองค์ให้เราสังเกตว่า
ความรักสามัญมีโทษบางอย่าง
ความรักสามัญมีโทษอย่างไร
พอเรารักใครแล้ว ใครที่เป็นศัตรูกับคนที่เรารัก
ก็กลายเป็นศัตรูของเราไปด้วย
ยากที่จะหวังดีต่อคนเหล่านี้
หรือคนอื่นที่รักศัตรูของคนรักของเรา
เราก็ไม่ค่อยชอบ มันมีการแบ่งแยกเกิดขึ้น”

“...ขอให้เราเรียนรู้เรื่องความรัก
รักอย่างไรเศร้าหมอง รักอย่างไรผ่องใส
รักอย่างไรทำให้เราอ่อนแอ
รักอย่างไรทำให้เราเข้มแข็ง
รักอย่างไรทำให้มีความสุขชั่วแวบเท่านั้น

ความรักอย่างไรทำให้มีความสุขระยะยาว
และสามารถให้ความสุขแก่คนอื่น
ทำอย่างไร เราจะได้ขัดเกลาพัฒนาความสุขความรักของเรา
ให้มีลักษณะของเมตตามากขึ้นๆ ทุกวัน
นี่ก็คือข้อวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา”.

ที่มา : http://buddhadham.zzl.org
เครดิตภาพ : Google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น