ทำอย่างไรจึงจะมีสุขในยุคปัจจุบัน
โดย...พระมหานพดล ปุญญสุวัฑฒโก
เราคงยอมรับกันว่า ปัจจุบันนี้เป็นยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัยทุกด้าน โดยเฉพาะการสื่อสารโทรคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในมุมโลกเราก็รู้ได้ด้วยสื่อวิทยุโทรทัศน์ และปัจจุบันสื่อใหม่ล่าสุดที่ทำให้โลกเราดูจะแคบลงไปนั่นคือ อินเตอร์เนต ที่เปลี่ยนโลกของเราเข้าสู่ยุคไร้พรมแดนจริง ๆ
แต่เชื่อไหมว่า แม้โลกจะเจริญก้าวหน้าไปมากเพียงใด ปัญหาความทุกข์ยากก็ดูเหมือนจะพัฒนาเจริญตามเป็นเงาติดตามคุกคามชีวิตจิตใจมนุษย์เรามากขึ้น รุนแรงขึ้นไม่ว่าปัญหาโรคร้าย มหันตภัยเอดส์ ปัญหาอาชญากรรม ความเครียด ปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งด้านการเมือง การศาสนา การฆ่าตัวตาย ไม่เว้นแต่ละวัน และล่าสุดที่กระทบต่อชะตากรรมของประเทศชาติอย่างมากที่สุดคือ ปัญหาการระบาดของยาบ้า ยาอี หรือยาเสพย์ติดทุกประเภททั้งที่สังคมมนุษย์มีความเจริญ ก้าวหน้าอยู่แล้ว ทำไมปัญหาจึงมากเหลือเกิน มากเสียจนคนยุคใหม่แทบจะหาความสงบสุขไม่ได้ ในปัจจุบันขาดความอิสระ ขาดความเป็นตัวของตัวเองเข้าไปทุกที นี่คือประเด็นปัญหาที่น่าพิจารณาในที่นี่ว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสุข ในยุคปัจจุบัน
อันที่จริง ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดเกิดมาจากจิตใจของเรานี้เอง สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นคว้าจนพบแล้วชี้ให้เราดู เปิดเผยให้เราเห็น บอกให้เราฟังตลอดมาตั้ง 2547 ปีว่า โลกนี้ก็คือ ปัญหาหรือความทุกข์ที่เราต้องแก้ไขกันเรื่อยไป ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ..ถึงตอนนี้แล้วเราจะหาความสุขไม่ได้เลยหรืออย่างไรข้อนี้พระพุทธองค์มีพุทธวิธีการสร้างสุขให้เราแล้ว และก็เป็นวิธีง่าย ๆ เชื่อว่าทุกท่านสามารถทำได้ไม่ยาก พุทธวิธีสร้างสุขดังกล่าวก็คือ
ประการแรก การให้ การเสียสละ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน ซึ่งเป็นคำที่เราคุ้นเคย และไม่ว่าจะเป็นสิ่งของปัจจัยสี่ หรือแม้แต่การให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้กำลังใจ ให้น้ำใจ ให้เกียรติ ให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างสรรค์แก่เพื่อนร่วมทุกข์ในวัฎสงสารนี้ แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานอ่อนแอกว่าเรา พุทธวิธีข้อนี้ เรียกว่า "ทาน" คือ การให้นั้นเป็นการประสานมิตรภาพได้เป็นอย่างดี ผู้ให้ยอมเป็นที่รักของผู้รับ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ดังคำพระองค์ตรัสว่า "ทะทะมาโน ปิโย โหติ แปลว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก" และพร้อมกันนี้ก็มีคำโคลงโลกนิติสอนไว้น่าฟังว่า..
" ให้ท่านท่านจักให้ ตอบสนอง
ไหว้ท่านท่านจักปอง นอบไหว้
รักท่านท่านจักครอง ความรัก เรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้ แต่ผู้ทุรชน "
ประการที่สอง การรู้จักสำรวมระมัดระวังควบคุมกิริยาอาการที่ทำ คำที่พูดให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่เป็นการเบียดเบียนตัวเองและคนรอบข้าง ไม่กระทบกระเทือนความสงบสุขของครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และประชาคมโลก ทั้งหมดนี้ เรียกว่า "ศีล" ทางกายได้แก่การหลีกเลี่ยง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ทำความเดือดร้อนทั้งหลายไม่เบียดเบียนทำร้ายร่างกายทั้งตัวเอง และคนอื่นด้วยจิตใจโหดเหี้ยม ด้วยความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทที่เรียกว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี ไม่หยิบฉวย ลักขโมย จี้ปล้น หลอกลวง ฉ้อฉล ด้วยกลโกงเอาสิ่งของผู้อื่น มาเป็นของตัวเอง เรียกว่า อะทินนาทานา เวระมะณี และไม่ล่วงละเมิด บุตร ธิดา ภริยา สามีของคนอื่น ในทางเพศ เชิงชู้สาว ชายหนุ่ม อันผิดศีลธรรมจรรยา และกฎหมายก่อให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวตระกูลของเราเอง และคนอื่น ที่เรียกว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี ทั้ง 3 ประการนี้เรียกว่า "กายสุจริต" ในส่วนคำพูดนั้น พยายามหลีกเลี่ยง ลด ละ เลิก การพูดคำเท็จ คำหยาบ คอส่อเสียด ยุแหย่ให้คนเขาทะเลาะเข้าใจผิดต่อกัน ไม่พูดเรื่องไร้สาระเรื่อยเปื่อยเพ้อเจ้อเกินจริง รวม 4 ประการนี้ เรียกว่า "วจีสุจริต" นอกจากนี้ การมีสติควบคุมตัวเองให้งดเว้น ละเลิกจากเสพ การส่งเสริม สนับสนุนค้าขายสิ่งเสพย์ติดมึนเมาที่ทำลายสุขภาพสติปัญญา เสียทรัพย์สิน เกียรติและศักดิ์ศรี วงศ์ตระกูลที่รู้จักกันว่า สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานาเวระมะณี ใครมีศีลถือว่ามีเครื่องประดับที่งดงาม สง่าอาจหาญในทุกสถานที่ ทุกเวลาทุกสมาคม ดังพระบาลีว่า "สีลัง อาภะระณัง เสฎฐัง ศีลเป็นเครื่องประดับที่ยอดเยี่ยม" นอกจากนี้ศีลยังเป็นเครื่องหอมประดับชีวิตเกียรติศักดิ์วงศ์ตระกูลหอมติดแน่นทนทานตลอดเวลา ยิ่งกว่าของหอมใดๆ ในโลก ดังมีคำโคลงโลกนิติให้ข้อคิดไว้ว่า…
"หอมกลิ่นดอกไม้ที่ นับถือ
หอมแต่ตามลมฤา กลับย้อน
หอมแห่งกลิ่นกล่าวคือ ศีลสัตย์ นี้นา
หอมสุดหอมสะท้อน ทั่วใกล้ไกลถึง"
ประการที่สาม การอบรมพัฒนาสติความคิดจิตใจ ให้สงบสุขุมเยือกเย็น มีเหตุผล เข้าใจชัดเจนในธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตตามความจริง วิธีนี้เรียกว่า "ภาวนา" กล่าวคือการสวดมนต์ เจริญภาวนา วิปัสสนาภาวนา จนเข้าใจในธรรมดาของโลกที่ย่อมจะ มีขึ้น มีลง มีบวกมีลบ มีเจริญ มีเสื่อม มีผิดหวัง สำเร็จ ล้มเหลว มีหัวเราะ ร้องไห้ ที่ว่า โลกนี้คือ ละคร ขออย่างเดียว เราอย่าท้อแท้ หมดกำลังท้อถอยน้อยใจในตัวเองเติมพลังใจให้ตัวเองบ่อย ๆ ด้วยการภาวนาระลึกถึงพระรัตนตรัย คุณความดีที่เราทำ อดได้ ทนได้ รอได้ ไม่กลัวอด ไม่กลัวเจ็บ และไม่กลัวตาย ตราบใดที่เรามีลมหายใจอยู่
เราจะต้องยืนหยัดต่อสู้ต่อไปไม่ถอยหลังตั้งความหวังไว้บนพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้ ตามศักยภาพของตัวเอง พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างทรงทำให้เราดูมาแล้วว่า กว่าจะบรรลุโพธิญารตรัสรู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ต่อสู้กับมารและอุปสรรคมามากมายแสนสาหัสเพียงใด ไม่รู้กี่อสงไขยชาติ ใกล้เข้ามา 500 ชาติ และ 10 ชาติ จนที่สุดเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรก็ยังถูกขับไล่ออกจากพระตำหนักพระราชวัง ให้ไปอยู่ป่าเขาพระองค์ก็ต้องเสียสละ และอดทนเพื่อความสงบสุขของพสกนิกร แม้ในชาตินี้ ก็ทรงสละราชสมบัติออกบำเพ็ญทรมานวรกาย ด้วยแสวงหาโมกขธรรมความหลุดพ้น เพื่อโปรดมวลมนุษยชาติให้ฉลาดหลุดพ้นจากการเป็นทาสของมารคือ กิเลส อันเป็นเหตุให้ทุกข์ และปัญหานานัปการ
แม้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังมีพระเทวทัต และนางจิญจมานาวิกา นางมาคันทิยา คอยให้ร้ายป้ายสี ลอบทำร้ายทำลายพระองค์ และภิกษุสงฆ์ แต่ด้วยพระบารมีธรรมที่ได้บำเพ็ญมาจึงทรงสามารถเอาชนะมาร และสรรพทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยพระหฤทัยที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา ความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส และด้วยพระปัญญาที่สูงส่งยากที่ใครจะเสมอเหมือนได้ พระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่าง ทรงเดินทางบุกเบิกให้เราอย่างดีแล้ว ทรงชี้ให้เราดูดำเนินไปดีแล้ว ฝากรอยพระบาทไว้ให้เราเดินตามอย่างชัดเจนแล้ว เราจะเฉยเมยได้อย่างไร ดังอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้ประพันธ์ไว้น่าฟังว่า..
" รอยพระบาทยาตราคือ จารึก ปลุกสำนึกให้คืนกลับจากหลับไหล
ทรงชี้ทางบรรเทาทุกข์ชี้สุขใจ เหตุไฉนเรามัวเพลินไม่เดินตาม "
จะเห็นว่าพุทธวิธีสร้างสุขยุคปัจจุบันไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่อยู่ที่ใจเรานั่นเอง หากใจเราตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เข้าใจธรรมชาติ ธรรมดาของโลกที่หมุนไป แล้วไม่เข้าไปเกาะยึดอะไรเสียจนเกินไป ไม่แบกโลกจนเกินไป จงอยู่ในโลกแห่งความจริงที่ปรากฏ แต่อย่าจริงจังกับโลก ๆ ใบนี้มีไว้สำหรับเหยียบ มิใช่มีไว้สำหรับแบก และเรากำลังอยู่บนโลกไม่ใช่โลกอยู่บนเรา..ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่ที่ว่า เราจะเลือกสุข หรือเลือกทุกข์ ก็ขึ้นอยู่ที่ใจเรา เพราะทุกสิ่งล้วนมาจากใจ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า………..
"มะโนปุพพังคะมา ธัมมา - สรรพสิ่งล้วนเกิดมาจากใจเป็นเบื้องต้น" และมีคำกลอนสอนใจไว้ว่า
"ความสุขทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุขใส
ไม่ยึดถือก็เป็นสุขไม่ทุกข์ใจ เราอยากได้ความสุข หรือทุกข์เอย"
……….นี่แหละคือ พุทธวิธีมีสุขในยุคปัจจุบัน """"""
ที่มา : http://www.dhammathai.org/articles/023.php
เครดิตภาพ : Google
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น