วันจันทร์ที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ เกษียณอายุ ღ

การเกษียณ คือ การเปลี่ยนแปลง
โดย : พระธรรมปิฎก (หลักธรรมนำสุขในยุค 2000)

"...การเกษียณอายุราชการ เป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งในชีวิต ถ้าเรามองแค่เป็นการเปลี่ยนแปลงก็ไม่เป็นไร แต่บางท่านมองเป็นการสิ้นสุด ถ้ามองเป็นการสิ้นสุด ก็จะทำให้รู้สึกว่า เป็นการสูญเสีย แล้วก็ไม่สบายใจการมองอย่างนั้น ที่จริงน่าจะไม่ถูก ความจริงการเกษียณอายุราชการ ไม่ใช่เป็นความสิ้นสุด หรือความสูญเสีย แต่เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลง

หลายท่านเมื่ออยู่ในตำแหน่งราชการ เคยมีเกียรติยศ มีฐานะต่างๆ ไปไหน ถ้าเป็นผู้ใหญ่ อย่างเป็นอธิบดี เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด พอไปที่นั้นที่นี่ ก็ได้รับเกียรติ ได้รับยกย่อง คนคอยกุลีกุจอล้อมหน้าล้อมหลัง เสนอตัวรับใช้อะไรต่างๆ พอเกษียณอายุราชการ อะไรต่างๆ ก็เปลี่ยนไปแบบฉับพลันทันที แทบจะว่าวันรุ่งขึ้น หรืออีกสัปดาห์ต่อมา พอไปในที่เก่าที่เคยไป ไม่ค่อยมีใครสนใจ อาจจะไม่มีใครกุลีกุจอต้อนรับ

บางท่านเมื่อประสบเข้าอย่างนี้ เลยเกิดความรู้สึกใจฝ่อห่อเหี่ยว สิ้นกำลังใจ เมื่อต้องอยู่ต่อไปในภาวะอย่างนั้น ชีวิตก็เหี่ยวเฉา ความเหี่ยวเฉานี้ เป็นผลร้ายต่อชีวิต ที่จริงการที่ได้ประสบภาวะอย่างนั้น ถ้ามองในแง่ธรรมะ ก็คือโอกาสที่เราจะได้เข้าถึงความจริงของชีวิต เราจะได้มาอยู่กับความจริง และจะได้บอกกับตัวเองได้ ว่านี่แหละ คือโลกที่แท้จริง แต่ก่อนนี้ ต้องสวมหัวโขนกันตลอดเวลา ไม่ได้เห็นความจริง หรือไม่ก็ปั้นหน้าปั้นตามาแสดงต่อกัน แต่ต่อนี้ไป เราจะได้เข้ามาอยู่กับความเป็นจริงเสียที จะได้พูดได้ว่า อ้อ นี่เราเจอแล้ว ความจริงของชีวิต

ความเป็นจริงชองชีวิตนี้ ถ้าเราสัมผัสได้เมื่อไร และวางใจถูก นั้นคือชัยชนะที่แท้ และเป็นความสำเร็จที่ดีที่สุด การที่ได้พ้นไปจากโลกแห่งการสวมหัวโขน มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง ย่อมเป็นช่วงเวลาที่ ประเสริฐตอนหนึ่ง เวลานั้นมาถึงแล้ว เหลือเพียงว่า เราจะปรับใจของเรา ในการเข้าสู่ภาวะอย่างนั้นได้ ถูกต้อง โดยมองสถานการณ์ด้วยใจที่เข้าถึงความเป็นจริงได้หรือไม่ อาจจะท่องไว้ในใจว่า การได้อยู่กับความจริง เป็นโอกาสที่ดีที่สุดของชีวิตแล้ว

เรากำลังจะเข้าสู่ชีวิตที่เป็นจริง มาอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง และใจที่อยู่กับความเป็นจริง ก็อยู่ด้วยปัญญา ถ้าเราอยู่ด้วยปัญญา เราก็สบาย ปลอดโปร่งโล่งเบา เป็นอิสระ นอกจากการเกษียณอายุจะเป็นความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นโอกาสให้เราเข้าไปอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงของชีวิตแล้ว มันยังเป็นโอกาสที่ชีวิตของเราจะได้พัฒนายิ่งขึ้น เพื่อเข้าถึงอะไรบางอย่าง ที่ชีวิตของเราควรได้ แต่ยังไม่ได้..."

ที่มา : http://www.dhammathai.org/store/dhamma_2000/page11.php
เครดิพภาพ : Google

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ ด ว ง ต า เ ห็ น ธ ร ร ม ღ

ด ว ง ต า เ ห็ น ธ ร ร ม
โดย... หลวงพ่อชา สุภัทโท


ดวงตาเห็นธรรมนั้นคือดวงตาเห็นอะไร

คือดวงตาเห็นสิ่งใด สิ่งหนึ่ง มีความเกิดเป็นเบื้องต้น
ความแปรไปเป็นท่ามกลาง ความ ดับเป็นที่สุด

สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คือ ทั้งหมด จะเป็นรูปก็ช่าง จะเป็นนามก็ ตาม
สิ่งใดสิ่งหนึ่งครอบรวมเลยทีเดียวได้แก่ ธรรมชาติทั้งหมด
เป็น สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นรูปธรรมก็ช่าง จะเป็นนามธรรมก็ตาม
เกิดขึ้น แล้วก็แปรดับไป

อย่างตัวสกลร่างกายของเราก็เหมือนกัน
มันเกิดแล้ว ก็แปรไปตามธรรมดาของมัน แล้วมันก็ดับไป

อย่างคนเราเกิดมาเป็นเด็ก
จากเด็กแปรมาหนุ่ม จากหนุ่มก็ แปรไปเป็นแก่
จากแก่แปรไปเป็นชรา จากชราแล้วก็ตายดับไป

ต้นไม้ ภูเขา เถาวัลย์ ก็เหมือนกัน
มันแปรไปแล้วก็แก่ ไป

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ ธรรมชาติเหล่านี้
เรียกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ความเห็นหรือความเข้าใจ
อันเกิดมาจากผู้รู้ในคราวที่นั่งฟัง ธรรมอยู่นั้น
เข้าไปถึงใจอย่างแจ่มแจ้ง

สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น ก็เลยเข้าฝัง
ในดวงจิตของพระอัญญาโกณฑัญญะ
จนเป็นเหตุให้ถอนตัวอุปธิ หรืออุปาทาน
ออกจากสังขารทั้งหลายทั้งปวงนั้นได้

เป็นต้นว่า สักกายทิฐิ คืออาการที่ไม่ถือเนื้อถือตัว
ทั้งหลายนี้เห็นตามสกลร่างกาย ของเราแล้ว
ก็ไม่เห็นว่าเป็นตัวเป็นตนของเรา เห็นชัดลงไป
จนเป็น เหตุให้ถอนจากอุปาทานนั้น ไม่ถือตัว
ซึ่งเป็น สักกายทิฐิ และไม่มี วิจิกิจฉา

เมื่อถอนอุปาทานออกมาจากความยึดมั่นถือมั่นแล้ว
ก็มิได้สงสัยเลยในธรรมทั้งหลาย
หรือในความรู้ทั้งหลาย
เข้าไปเห็นธรรมทั้งหลายเหล่านี้
แล้วก็เปลี่ยนออกไปเลยทีเดียว

รู้ว่านี่...วิจิกิจฉา
นี่...สีลัพพตปรามาส

การปฏิบัติของท่านนั้นแน่แน่วตรงเข้าไป
ไม่ได้เคลือบแคลงสงสัย ไม่ได้ลูบหรือไม่ได้คลำ

ถึงแม้ว่าสกลร่างกาย มันจะเจ็บ มันจะไข้เป็นไปอย่างใด
ท่านก็ไม่ลูบไม่คลำมัน ไม่ได้สงสัย เสียแล้ว

การที่ไม่ได้สงสัยนี้ ก็คือถอนอุปาทานออกมาแล้ว
ถ้ามี อุปาทานอยู่ก็ต้องไปลูบไปคลำในสกลร่างกายนี้
อาการลูบคลำใน สกลร่างกายนี้ เป็น สีลัพพตปรามาส
เมื่อถอนสักกายทิฐิออกจากกายนี้
สีลัพพตปรามาสก็หมดไป วิจิกิจฉาก็ไม่มี

ถ้าถอนสักกายทิฐิขึ้นอย่างเดียว
วิจิกิจฉาก็ไม่มี สีลัพพตปรามาสก็ไม่มี

ถ้าถอนสักกายทิฐิขึ้นอย่างเดียว
วิจิกิจฉาก็ เลิก สีลัพพตปรามาสก็เลิก

ถ้ายังมีสักกายทิฐิอยู่
วิจิกิจฉาก็ยังอยู่ สีลัพพตปรามาสก็ยังอยู่
อุปาทานก็ยังอยู่

เมื่อดวงตาเห็นธรรมก็หลุดพ้นจากอุปาทาน

อันนี้แสดงว่าธรรมะที่สมเด็จพระบรมศาสดาของเราท่านแสดงในคราวนั้น
พระอัญญาโกณฑัญญะฟังแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม

ดวงตานั้นก็คือผู้รู้แจ้งนั่นเอง เรียกว่าดวงตาเห็นธรรม
คือเห็นธรรม หรือธรรมดาอันนี้เอง
เมื่อเห็นชัดลงไปอย่างนี้ก็ถอนอุปาทานได้

ฉะนั้นการถอนอุปาทานได้นี้
จึงรู้สึกว่ามันเกิด ผู้รู้ขึ้นมาจริงๆ
เมื่อก่อนก็รู้อยู่เหมือนกันแต่มันถอนอุปาทานไม่ได้ นั่น

เรียกว่าผู้รู้ธรรมอยู่
แต่ไม่เห็นธรรม
เห็นธรรมอยู่แต่ไม่เป็นธรรม
เพราะ ไม่รู้ตามสภาวะของมัน

ฉะนั้นพระบรมศาสดาท่านจึงตรัส

“อัญญาสิ อัญญาสิวตโภ โกณทัญโญ ได้รู้แล้วหนอ รู้แล้วหนอ”

รู้อะไรละ ท่านรู้ อะไร ก็คือได้รู้ธรรมชาติที่มันเป็นอยู่นี่เอง

เราทั้งหลายมักหลงธรรมชาติ
อย่างสกลร่างกายนี้ กายของ เรานี้
ประกอบขึ้นด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม มันก็เป็นธรรมชาติ
ที่เรียกว่า วัตถุที่มองเห็นด้วยตา
มันอยู่ด้วยอาหารเจริญมา เจริญมา เจริญขึ้น มา
แล้วก็แปรไป ถึงที่สุดมันก็ดับไปเช่นกัน

วิญญาณ จิต ผู้รู้ ผู้คุ้มครองภายใน
ส่วนข้างในนั้น ผู้คุ้มครองอยู่ซึ่งกายนี้
ก็คือ วิญญาณ ผู้รู้ นี้ แหละ
ผู้รู้ผู้เดียวนี้แหละ

ถ้าไปรับทางตาก็เป็นจักษุวิญญาณ
ถ้าไปรับ ทางหูก็เรียกโสตวิญญาณ
ถ้าไปรับทางจมูกก็เรียกฆานะวิญญาณ
ไป รับทางลิ้นก็เรียกชิวหาวิญญาณ
ไปรับทางกายก็เรียกกายวิญญาณ
รับทางจิตก็เรียกมโนวิญญาณ

ตัววิญญาณนี้ตัวเดียว
เกิดขึ้นที่ไหนก็เรียกว่าผู้รู้ทั้งนั้น

ไปรู้ ทางตา ก็เรียกไปอย่างหนึ่ง
ไปรู้ทางหู จมูก ก็เรียกไปอย่างหนึ่ง
รู้ที่ตา รู้ที่หู รู้ที่จมูก รู้ที่ลิ้น รู้ที่กาย รู้ที่จิต
มันก็ตัวผู้รู้อันเดียวนี้แหละ

ผู้รู้อัน เดียวนี้ไม่ใช่ผู้อื่น
ตัวผู้รู้อันเดียวนี้เรียกว่าวิญญาณ
ก็วิญญาณหก อย่างนี้แหละ
ชื่อมันว่าหกเฉยๆ
คือมันไปรู้อยู่ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง
รู้ที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต อย่างนี้แหละ

ไปรู้ที่ตาบ้าง รู้ที่หูบ้าง รู้ที่จมูกบ้าง
ที่ลิ้นบ้าง ที่กายบ้าง ที่จิตบ้าง
เขาจึงเรียกว่าหก
ความจริงมันไม่มีหกหรอก
มันไปรู้ในช่องทั้งหกเท่านั้นแหละ

เพราะช่องทั้งหกมันเป็นประตูผ่านเข้ามาสู่ผู้รู้อันเดียว
ผู้รู้เดียว สามารถจะรู้ทั่วถึงในทวารทั้งหกอย่างนี้
เราจึงเรียกว่าวิญญาณหก

วิญญาณหกนี่แยกออกโดยปริยัติ
ความเป็นจริงมีผู้รู้ผู้เดียว เท่านั้น

รู้ทางตาก็ว่าอย่างหนึ่ง
รู้ทางหูก็ว่าอย่างหนึ่ง
รู้ทางจมูก ทาง ลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ว่าอย่างหนึ่ง

ความเป็นจริงก็คือคนเดียวนี้เองแหละ

วิญญาณคือผู้รู้ผู้เดียว คือดวงจิตของเรา
ผู้รู้นี้แหละจะเป็นเหตุ
ให้มีอำนาจสามารถรู้สภาวะหรือธรรมชาติตามเป็นจริง

ถ้าตัวนี้ยังมีเครื่องปกปิดอยู่เมื่อใด
ความรู้อันนี้ท่านเรียกว่า โมหธรรม
คือรู้ไปในทางที่ผิด รู้ผิด เห็นผิด

ก็ตัววิญญาณตัวเดียวนี้ แหละ
ผู้รู้ตัวเดียวนี้เองไม่มีตัวอื่นอีก

รู้ผิดเห็นผิด รู้ถูกเห็นถูก ก็ตัวเดียวนี้เอง

เพราะเช่นนี้ท่านจึงว่าเป็น มิจฉาทิฐิ สัมมาทิฐิ
ไม่มีสองตัว มีตัวเดียว
ผิดก็เกิดขึ้นจากตัวเดียว ถูกก็เกิดขึ้นจากตัวเดียว

เมื่อโมหะเกิดในทางที่ผิด
ก็เรียกว่าโมหะมันกำบัง ความรู้อัน นี้มันก็ผิดไป
เมื่อความรู้ผิด มันก็มีความเห็นผิด
ดำริผิด การงานผิด เลี้ยงชีวิตผิด ผิดไปหมด เป็นมิจฉาทิฐิ

อันนี้ท่านจึงว่าองค์ของมรรคก็เหมือนกัน

สัมมาทิฐิคือความเห็นชอบ
ความเห็นชอบก็เกิดจากผู้รู้ เดียว

ถ้ามันชอบแล้ว ความไม่ชอบมันก็หายไป
ถ้ามันถูกแล้ว ความผิดมันก็หายไป

ฉะนั้นสมเด็จพระบรมศาสดา
ท่านประพฤติหรือปฏิบัติอยู่นั้น
ทรงทรมานสกลร่างกายของท่านด้วยเรื่องอาหารบริโภคต่างๆ
จนร่าง กายท่านซูบผอมลงไป
อย่างที่เราเรียนมาฟังมา
แล้วท่านก็พิจารณา เข้าไป
พิจารณาเข้าไป เข้าไป เข้าไป แล้วก็ถอนออกมา

ได้ความรู้ว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ตรัสรู้ทางจิต
เพราะกายนี้มันไม่รู้จักอะไร
กาย นี้จะให้มันกินก็ได้ จะไม่ให้มันกินก็ได้
ฆ่ามันทิ้งเมื่อไรก็ได้ กายนี้ฆ่า ทิ้งได้

เมื่อท่านได้ความรู้แล้วว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลายบำเพ็ญทางจิต
ความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายอยู่ที่จิต
เมื่อท่านมาพิจารณาถึง จิตของท่าน
ท่านก็ได้ออกจากการปฏิบัติทรมานกาย

เมื่อท่านแสดงธรรม
เรื่อง กามสุขัลลิกานุโยโค อัตตกิลมถานุ โยโค
ท่านจึงแสดงขึ้นอย่างชัดแจ้งเลยทีเดียว
เพราะท่านได้เห็นแล้ว
ธรรมเทศนาอันนี้มันจึงชัดในใจของพวกคนทั้งหลาย
ที่มา : http://buddhadham.zzl.org
เครดิตภาพ : Google


ღ ไม่ท้อ ไม่ทุกข์ ღ

ไม่ท้อ ไม่ทุกข์
โดย..พระมหาวุฒิชัย (ว.วชิรเมธี)

คนเราทุกคน..
ในช่วงเวลาที่เกิดความทุกข์..
ไม่สบายใจ..สับสน..วุ่นวาย..กับเรื่องราวต่าง ๆ
กับปัญหาต่าง ๆ ที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต

เพียงมีใคร..คนหนึ่ง..
ที่ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา
อดทนอีกสักนิด..แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น..

แต่ก็มีใครอีกหลาย ๆ คน
พอประสบกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต..
ในรูปแบบแตกต่างกัน..
ก็มักคิดท้อแท้..กลายเป็นท้อถอยไป..
เพียงเพราะไม่มีความอดทน..

ความทุกข์..
มักกลัวคนที่ไม่ยอมแพ้..

ความทุกข์..
มักชอบฝังตัวอยู่กับคนอ่อนแอ..

คนที่ไม่ยอมแพ้
จะเรียนรู้ความทุกข์อย่างเข้าใจ
เพราะคิดว่า..
ความทุกข์ คือ..เพื่อนสนิท..
ที่มาทดลอง..ฝึกให้จิตใจของเราเข้มแข็ง..

แต่สำหรับคนที่ท้อแท้..
เขาจะชอบเรียนรู้..ความสุข..ว่าเป็นอย่างไร
มีลักษณะนิสัยอย่างไร..
พร้อมยินดีที่จะคบหากับความสุขตลอดเวลา..

หารู้ไม่ว่า..
ความสุข..ความสบาย..
คือ..ศัตรูของคนที่ท้อแท้..
เพราะจะให้ความสุขในเบื้องต้น..
แล้วจะให้ความทุกข์ในเบื้องปลาย..

เพราะฉะนั้น..
เราจงมาเรียนรู้วิธีที่จะอยู่กับความสุข-ความทุกข์
ในทุก ๆ เวลาที่เกิดความท้อแท้..กันดีกว่า..

เพื่อนสนิท..
ของคนที่ไม่ท้อแท้..คือ..ความทุกข์
ส่วนเพื่อนจอมปลอม..
ของคนที่ท้อแท้..คือ..ความสุข..

เพราะอะไร ??
เหตุผล..เพราะว่า..

เวลาที่เรามีความสุข..
เราก็มักจะเพลิดเพลิน..หลงใหล..ไปกับความสุข
พอเจอความทุกข์..ก็รู้ไม่เท่าทัน..

แต่สำหรับคนที่ไม่ท้อแท้..
ไม่ว่าจะเจอความทุกข์ในรูปแบบใด
เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้..และอยู่กับมันได้อย่างเข้าใจ..

รู้สุข – รู้ทุกข์
แล้วปล่อยวาง..ไม่ยึดติดในสุข – ทุกข์
เรียนรู้และเข้าใจทั้งสุขและทุกข์

นั่นแหละ..
เราจึงจะเข้าใจถึงความรู้สึกที่ปราศจากสุขและทุกข์
คือ..วาง..ว่างเปล่า..นั่นเอง..

ที่มา : http://buddhadham.zzl.org/webpage/Story/webpage/vorvachiramete/19.html
เครดิตภาพ : Google

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ ปัจจุบันสำคัญที่สุด ღ

ปัจจุบันสำคัญที่สุด
โดย...อาภัสสะโร ภิกขุ

พระ พุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี ได้ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายถึงการปฏิบัติธรรมว่า "ปัจจุบัน" เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะอดีตเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้ว สิ่งที่เป็นอนาคตก็ยังมาไม่ถึง ทั้งอดีตและอนาคตจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าสนใจ สิ่งที่ควรให้ความสนใจก็คือที่นี่และเดี๋ยวนี้ โดยตรัสว่า

"บุคคลไม่ ควรคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บุคคลใดเห็นแจ้งในปัจจุบันธรรม ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมนั้น ๆ ผู้นั้นควรเจริญในธรรมเนือง ๆ ความเพียรควรทำเสียวันนี้เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครรู้ความตายในวันพรุ่งนี้

เพราะการผลัดเพี้ยนกับความตาย ไม่มีใครทำได้ ผู้รู้ย่อมสงบ เรียกว่าผู้มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืนว่า ผู้นั้นมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวประเสริฐที่สุด"

สาเหตุหนึ่งที่ทำ ให้จิตของผู้ปฏิบัติธรรมฟุ้งซ่านไม่สงบ นั้นหมายถึงความปรุงแต่งไปตามสัญญาอารมณ์ทั้งอดีตและอนาคต เราชอบเก็บเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านไปแล้วมานึกคิด ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีจิตก็สลดหดหู่เหงาหงอยเซื่องซึมไป ทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นก็ผ่านพ้นเลยไปแล้ว ถ้าเป็นเรื่องสุขจิตก็กระเจิดกระเจิงโลดแล่นไป

ทั้งเรื่องดีและไม่ดี ก็ไม่ควรเก็บมาคิดให้เปลืองเวลา เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ผ่านล่วงเลยไป กลับกลายเป็นอดีตไปแล้ว จะเรียกร้องแก้ไขให้กลับคืนก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ยากแล้วสิ่งที่เรียกว่า อนาคต ก็เป็นเรื่องของกาลเวลาข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ก็หาควรโน้มน้าวเก็บมาครุ่นคำนึง นึกคิดสร้างความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ไว้คอยท่า เพราะเหตุการณ์ที่ถูกจัดว่าเป็นเรื่องของอนาคตนั้นเป็นสิ่งเลื่อนลอย ไม่แน่นอนเป็นจริงเป็นจังอะไรขึ้นมา รังแต่จะทำให้จิตว้าวุ่นโดยเปล่าประโยชน์

ตัดสิ่งที่ผ่านไป และสิ่งที่ยังมาไม่ถึงทิ้งเสีย แล้วภาวะแห่งการครุ่นคำนึงเพ้อฝันก็จะดับตัวเองลง เหลือแต่จุดสว่างโพลงอยู่เบื้องหน้าที่ถูกสมมติเรียกว่า "ปัจจุบัน" ยืนเด่นรออยู่ ประคองให้ดี อย่าให้จุดนี้เอียงไปทางขวาหรือทางซ้าย ให้ดำรงความเป็นหนึ่งหรือความเป็นกลางไว้ให้ตลอด ให้ลอยอยู่อย่างนั้น อย่าให้เกาะให้ติดในความเป็นกลางคือปัจจุบันเสียเอง รู้แล้วปล่อย ๆ โดยใช้ความมั่นคงของจิตอันสมบูรณ์ด้วยสติเป็นเครื่องกำกับ ประคับประคองไว้ให้ดี จนกระทั่งมันอาจจะกลั่นกรองออกเป็นสูตรหรือนิยมสั้น ๆ ให้เราได้ระลึกไว้ในใจกันหลง คือ ปล่อย, ผละ, ละ, วาง

* ปล่อย - อดีตที่ผ่านไปทั้งหมดอย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น
* ผละ - จากสิ่งที่ยังมาไม่ถึง คือ อนาคตเสีย อย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น
* ละ - อุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวง อย่าเก็บมาปรุงมาคิด จิตจะว้าวุ่น
* วาง - ความผูกมัด เกาะติดในปัจจุบัน เพียงกำหนดรู้ ด้วยสติที่สมบูรณ์เพียบพร้อม

รู้เฉย ๆ รู้แล้วปล่อย อย่าเข้าไปปรุงแต่งในรู้นั้น จิตจะว้าวุ่น

การ เห็นแจ้งในปัจจุบันธรรม โดยมีสติสัมปชัญญะเป็นแม่งานใหญ่คอยคุมจิตอยู่ตลอดเวลา จนจิตโพลงอยู่ทุกขณะ กลายเป็นความรู้สึกตัว อยู่ทุกลมหายใจ แล้วจิตกับสติจะผนวกแนบแน่นกลายเป็นปัจจุบันธรรม อยู่ตลอดเวลา นี่เป็นจุดหนึ่งที่มีความสำคัญของการปฏิบัติธรรมในพระศาสนานี้ ผู้เขียนสะท้อนถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธองค์ที่ปรารภท่ามกลางหมู่ภิกษุ อันเป็นเรื่องราวใน "ภัทเทกรัตตสูตร" ฝากท่านผู้รู้ช่วยกรุณาพิจารณาด้วย.

การอยู่กับปัจจุบัน

สาเหตุหนึ่งที่คนเราทุกข์ก็เพราะไม่รู้จักอยู่ กับปัจจุบัน เรามักจมอยู่กับอดีตและหวังไปในอนาคต อยู่กับความผิดหวังความไม่พอใจ หรือติดอยู่กับความสุขความสมหวังในอดีตที่ผ่านไปแล้ว รวมทั้งอยู่กับความคาดหวังในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ฝันว่าจะต้องรวย ประสบความสำเร็จ มีครอบครัวที่อบอุ่น จนแม้กระทั่งหวังบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์สำหรับบางท่าน

การไม่อยู่กับปัจจุบันดังกล่าว ย่อมนำมาซึ่งความทุกข์ เพราะต้องทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับความผิดหวังความไม่พอใจ หรืออาจทุกข์เพราะโหยหาความสุขความสมหวังในอดีตที่ผ่านมาแล้วก็ได้ ในขณะเดียวกันก็ตั้งความหวังอันสวยหรูไว้ในอนาคตที่ไม่มีทางรู้แน่ว่าจะมา ถึงหรือไม่ จนอาจคิดว่าจะมีความสุขได้จริงก็ต่อเมื่อได้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวแล้ว

บางท่านอาจบอกว่า การจมอยู่กับอดีตที่หอมหวานและวาดหวังถึงอนาคตอันสดใส ก็ยังดีกว่าการต้องอยู่กับปัจจุบันที่ขมขื่นหรือไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งฟังดูเผินๆก็น่าจะใช่ แต่ในความเป็นจริงแล้วจิตนั้นเกิดดับเร็วมาก ทั้งความทุกข์และความสุขที่เกิดขึ้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เพียงแต่ว่าเรานำมาย้ำคิดครั้งแล้วครั้งเล่า จึงทำให้เกิดความทุกข์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์จากสิ่งที่ไม่น่าพอใจ หรือจะเป็นความทุกข์ด้วยความติดข้องต้องการในสิ่งที่น่าพอใจก็ตาม

ตัวอย่างของความทุกข์จากการไม่อยู่กับปัจจุบันมีให้เห็นทุกวัน เช่น เราโกรธใครบางคนที่ทำงาน นอกจากจะไม่พอใจในตอนนั้นแล้ว หลายครั้งที่เราพกพาความไม่พอใจนั้นกลับบ้านมาด้วย ซึ่งบางครั้งก็กินเวลาหลายวันกว่าจะลืมหรืออาจนานเป็นปีก็เป็นไปได้

ในขณะเดียวกันการหวังไปในอนาคตก็ทำให้เราต้องฝากความสุขของเราไว้กับ เหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึงตลอดเวลา โดยบางเรื่องต้องใช้เวลาเกือบทั้งชีวิต ซึ่งพอเกิดขึ้นจริงก็ให้ความสุขสมหวังเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ไม่นานความรู้สึกดังกล่าวก็ผ่านไปและกลายเป็นอดีตอีก

ยิ่งเราอยู่กับปัจจุบันได้มากเท่าไร ความทุกข์ก็จะลดน้อยลงได้เท่านั้น เพราะปัจจุบันขณะเกิดดับอย่างรวดเร็ว จะมีจริงก็แต่ทุกข์ทางกาย เช่นในเวลาที่เจ็บป่วย ซึ่งหากทำใจได้ ความทุกข์ที่เหลือส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงความทุกข์ทางกาย อย่างความเจ็บปวดไม่สบายกายหรือความไม่สะดวก เช่น ไม่สามารถเคลื่อนไหว ได้เห็นได้ยิน ฯลฯ ดังคนปกติ ส่วนความทุกข์ทางใจที่เกิดจากการคิดนึกไปในอดีตและอนาคต รวมทั้งการปรุงแต่งก็จะบรรเทาลงได้ตามกำลังปัญญาของแต่ละคนที่จะมีสติระลึก รู้ถึงปัจจุบันขณะด้วยความเห็นถูกนั่นเอง

สำหรับความรู้ความเข้าใจในพระธรรม ขอกราบขอบพระคุณ :
อ.สุจินต์ บริหารวนเขตต์
มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ที่มา : http://buddhadham.zzl.org/webpage/Story/webpage/allstorydhamma/09.html
เครดิตภาพ : Google

วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ รั ก แ บ บ พุ ท ธ ღ

รั ก แ บ บ พุ ท ธ
โดย...พระอาจารย์ชยสาโร ภิกขุ


“...คนเราจะอยู่ในโลกนี้อย่างผู้มีปัญญา
เราต้องเรียนรู้ธรรมชาติของความรัก
และพยายามลดสัดส่วนที่เกิดจากตัณหาเท่าที่จะลดได้

ควรจะพัฒนาความรู้สึกของเรา
ให้เป็นไปในทางเมตตาเท่าที่เราจะทำได้
ถ้าเทียบเป็นระดับ
ก็มีตั้งแต่ความรักตาบอด
หรือความรักที่เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว
เรียกว่าความรักที่มืด
ที่นำไปสู่ความทุกข์ ความเดือดร้อนมากที่สุด
จนถึงความรักระดับสูงสุด สว่างที่สุด
ก็คือ เมตตาธรรมที่ไม่มีที่สุด ไม่มีประมาณ
ไม่มีการเลือกที่รักมักที่ชัง

ทำอย่างไรเราจึงพัฒนาความรักให้สว่างขึ้น
ให้เป็นเหตุให้ต้องทุกข์ต้องทรมานใจน้อยลง
อารมณ์ของคนเราส่วนมากมันอยู่ได้หรือเข้มข้นได้
เพราะเราหลับหูหลับตาต่อความจริงบางประการ
อารมณ์นั้นไม่ใช่ทางไปสู่ความพ้นทุกข์แน่นอน

เพราะอาศัยอวิชชาจึงอยู่ได้
อวิชชาอยู่ที่ไหน ตัณหาต้องอยู่ที่นั่น
เพราะแยกออกจากกันไม่ได้ อวิชชากับตัณหาไปด้วยกัน
เหมือนกับวิชาความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริง
ต้องอยู่กับฉันทะ หรือกุศลฉันทะ
เป็นความอยากที่ปราศจากโทษ”

“...บางครั้งคนแสวงหาความรักเพื่อดับทุกข์อย่างตาบอด
คือว่ารู้ว่าตัวเองเป็นทุกข์
แล้วเชื่อว่าความรักจะดับความทุกข์ของตนได้

ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าจะมีปัญหา
เพราะความทุกข์ไม่เคยดับไปด้วยความรัก
ความทุกข์ดับไปด้วยการดับอวิชชา
ทุกข์ดับเพราะอวิชชาดับ เพราะตัณหาดับ
ไม่ใช่เพราะความรัก
ถ้าเราหวังความดับทุกข์จากความรักนั้น
คือการตั้งต้นไว้ผิด และจะต้องผิดหวัง…

มีละคร หนังสือ เพลง หลายสิ่งหลายอย่าง
ที่จะชวนให้เราเข้าใจว่าความรักดับทุกข์ได้
แต่ชีวิตของเราแต่ละคนฟ้องขึ้นมาว่า ไม่ใช่ !

พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า
อวิชชาปรากฏอยู่ในลักษณะตัณหา
อยากได้ อยากมี อยากเป็น
แต่แก่นแท้ของอวิชชา
คือการมองว่าชีวิตมีสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง
เป็นสิ่งที่ตัวของตัว สิ่งที่ท่านเรียกว่าอัตตา
คือตัวเราศูนย์กลางของชีวิต

พระพุทธองค์ท้าทายว่า
ถ้ามีจริง มันอยู่ตรงไหน
อยู่ในกายไหม อยู่ในความรู้สึกไหม อยู่ในความจำได้ไหม
อยู่ในความคิด อยู่ในการรับรู้ทางประสาทไหม มีอยู่ตรงไหน
แต่ส่วนมากคนก็ไม่ได้สนใจวิเคราะห์อย่างนี้
แต่เชื่อว่ามีตัวเราที่เป็นของเที่ยงแท้ถาวร
เกิดความเชื่องมงายเกี่ยวกับธรรมชาติของตัวเอง

สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ
หนึ่ง ความกลัว สอง ความเหงา
กิเลสทั้งหลายทั้งปวง มันจะเกิดขึ้น
เพราะมีตัวเราที่แปลกแยกจากคนอื่น
แปลกแยกจากสิ่งอื่นโดยสิ้นเชิง
แต่พอเราไม่ได้ดูตัวเองดีๆ
ก็ไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงคืออะไร
คืออวิชชา การไม่รู้ ไม่เข้าใจตัวเอง รู้แต่ว่าเหงา
รู้แต่ว่าแปลกแยก รู้แต่ว่ากลัว...

ผู้มีอวิชชามักจะแสวงหาความรัก
เพื่อจะไม่ต้องเหงา ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องรู้สึกแปลกแยก
แต่นี่ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง…
ถ้าเรากล้าดูตัวเอง
กล้าพิจารณาความเหงา กล้าพิจารณาความกลัว
ความกังวลต่างๆ กล้าดูสิ่งต่างๆ ที่เป็นทุกข์อยู่ในใจ
ความหิวโหย ความหวังจากคนอื่นก็จะน้อยลงไปเอง
จะเริ่มเห็นว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ของจริงของจังอะไร
มันเป็นแค่อารมณ์ มีเกิด มีดับ

ผู้ที่เห็นแก่ตัวมาก เพราะเชื่อในอัตตาตัวตนมาก
และเป็นผู้ที่บำรุงเลี้ยงความคิดผิด
ที่เราให้ชื่อว่าอัตตาอยู่ตลอดเวลา
ยิ่งเห็นแก่ตัว ก็ยิ่งจะต้องเจอความเหงา
ยิ่งต้องเจอความกลัว ความกังวล
ความกลัวบางทีก็ปลอมตัว...
มันจะออกในรูปแบบความก้าวร้าว
ความก้าวร้าวนี้มักจะเป็นอาการของความกลัว”

“...ถ้าจะรู้สึกว่า เราขาดอะไรสักอย่าง
และก็หวังว่าคนอื่นเขาจะเสริมส่วนที่ขาด
ก็จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่น
แปรไปในทางที่ต้องการอะไรสักอย่างจากเขา
เมื่อเราต้องการอะไรสักอย่างจากคนอื่น
และเชื่อว่าถ้าไม่ได้สิ่งนั้นชีวิตเราจะแย่ ก็ต้องเครียด
และความหึงหวงก็จะต้องรุนแรงมาก
เพราะถ้าเราฝากความหวังในความสุขใจ
ความมั่นคงของชีวิตไว้กับคนใดคนหนึ่ง
เราก็ต้องกลัวว่า เราต้องพลัดพรากจากคนนั้น

สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักธรรมชาติของชีวิต
และผู้ที่มีความหวังในคนรักมากเกินไป
ต้องการสิ่งที่คนอื่นให้เราไม่ได้...”
“...ส่วนมากคนแต่งงานกัน เท่าที่สังเกต
เมื่อเกิดปัญหา ไม่ใช่เพราะไม่รักกัน
ที่จริงก็รักกันอยู่ แต่ไม่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

คนสองคนรักกันได้โดยไม่ค่อยเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
พอคนสองคนเกิดมีปัญหา
ก็จะเข้าใจว่า ไม่รักกันจริง
หรือมีปัญหาเรื่องความรัก
ที่จริงก็รักกันอยู่แต่ไม่เข้าใจกัน
มีความคิดผิดบางอย่างที่ยังปล่อยวางไม่ได้
ถ้าเราไม่ฝึกหัดตัวเอง
ความรักก็จะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาชีวิตและกิเลสต่างๆ
ก็จะทำให้ความรักเศร้าหมองได้
โดยไม่มีโอกาสที่จะพัฒนาให้สูงขึ้นได้เลย

เรื่องความรัก แรกๆ คนรักกัน
ก็อยากจะสบตากันนานๆ
อยากจะมองแต่หน้าและดวงตานานๆ
อันนั้นก็เป็นวาระของมัน
แต่ว่าเสร็จแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นก็คือ
ทั้งสองคนมองที่เป้าเดียวกัน
มองข้างหน้าที่เป้าเดียวกัน จะอยู่ได้นาน
แต่มองตาซึ่งกันและกัน นี่ไม่แน่นอน

ถ้ามองข้างหน้า มองที่เดียวกัน เป้าหมายเดียวกัน
ก็มีทางไปด้วยกันได้ คือ มองว่าต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน
ความรักเป็นอารมณ์เป็นสังขาร ความหวานก็เป็นอารมณ์
ความหวานก็เปลี่ยนเป็นความเปรี้ยวได้

แต่การเป็นมิตรที่ดีต่อกัน
พึ่งธรรมะในการดำเนินชีวิตก็มีความสดชื่นได้ตลอด
ผู้เป็นกัลยาณมิตรต่อกันมีความไว้วางใจต่อกัน
สามารถให้กำลังใจ ในเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกำลังท้อแท้ใจ
เป็นที่ปรึกษา เป็นผู้เข้าใจ เป็นผู้ให้อภัยทุกสิ่งทุกอย่าง
ไม่คิดจะชนะกัน ไม่คิดจะต่อสู้กัน
ต่างคนต่างอยู่ด้วยการยอมรับว่า
ต่างเป็นปุถุชน ยังมีกิเลส
แต่ว่าต่างคนต่างอยากพ้นจากกิเลส
อย่าจะช่วยกันแก้กิเลส
พร้อมที่จะรับฟังข้อคิด ข้อวิพากษ์วิจารณ์
ข้อตักเตือนจากอีกฝ่ายหนึ่ง
ถ้าเป็นอย่างนั้นความรักก็จะไปในทางเมตตามากขึ้น

เมตตา คือ ความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
ความรักที่ทำให้คนตกนรก คือ ความรักที่มีเงื่อนไขมาก
ความรักที่มีเงื่อนไขมากที่สุด
ก็คือ ฉันรักเธอเฉพาะช่วงที่เธอทำตามใจฉัน
ถ้าเธอให้ความสุขแก่ฉันได้ ฉันจะรักเธอ
เธอให้ความสุขแก่ฉันไม่ได้เมื่อไหร่ ฉันก็จะไม่รัก
ก็กลายเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง
ฉันรักเธอแต่ถ้าเธอเบื่อฉันเมื่อไหร่ ฉันก็ไม่รัก
คือ ไม่ได้เป็นมิตร ไม่ได้มีความจริงใจต่อกัน
เอาอารมณ์ เอากามเป็นที่ตั้ง

การอยู่ในเพศฆราวาส
เรื่องกามก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
แต่เป็นส่วนที่ควรควบคุม
และไม่ควรจะหวังอะไรมากเกินไปจากความรัก
พูดถึงการรักษาศีลข้อสาม สังเกตว่า
ผู้ชายผิดศีลข้อสาม
ถือว่าเป็นธรรมชาติของผู้ชาย
อ้างร่างกาย อ้างความต้องการของร่างกาย
ผู้หญิงผิดศีลข้อสาม ก็จะอ้างความรัก
ช่วยตัวเองไม่ได้ รักเขาเหลือเกิน...
การจะอยู่ในโลก แต่งงานแล้ว จะไม่เกิดความรู้สึกว่า
ชอบหรือรักคนอื่น ก็คงเป็นไปได้ยาก...

แต่ที่สำคัญอยู่ที่การควบคุมกาย วาจา
เมื่อเกิดความรู้สึกต่อคนอื่น ทำอย่างไร
ถ้ายินดีในความรู้สึกนั้น แล้วมีการกระทำอันใด
ไม่ว่าด้วยกาย ด้วยวาจา มันก็ผิดแล้ว
และเราถือว่า เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม
ถือว่ากามารมณ์เป็นไฟ เผาลนจิตใจของคน
ทำให้คนทำบาปกรรมได้สารพัด
เราระมัดระวัง ไม่ทำสิ่งใดที่จะทำให้คนที่เรารักต้องทุกข์ ต้องเดือดร้อน
ไม่ทำสิ่งใดลับหลังคนที่เรารัก
เพียงเพราะว่าอยากได้รสชาติแห่งกาม มันไม่คุ้มค่า
เราต้องพยายามดูจิตใจของตัวเอง
แล้วมาแก้ที่จิตใจตัวเอง อย่างไปแก้ที่อื่น

“...เราจะรัก ก็รักได้
แต่ควรจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า
เราจะอยู่ด้วยกันก็เป็นเรื่องชั่วคราว
จะเป็นชั่วคราวสั้นๆ เป็นเดือน เป็นปี
หรือจะเป็น ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๕๐ ปี
อย่างไรก็ตาม มันก็เป็นเรื่องชั่วคราว
ถ้าเราระลึกอยู่ในความไม่เที่ยง
ความไม่แน่นอนของการอยู่ด้วยกัน
เราน่าจะปล่อยวางได้ง่ายขึ้น ให้อภัยได้ง่ายขึ้น
ไม่ทะเลาะเบาะแว้งเรื่องเล็กเรื่องน้อย
เพราะเราอยู่ด้วยกันอย่างชั่วคราว

ถ้าเราเป็นเทวบุตร เทวธิดา อยู่บนสวรรค์
อยู่ด้วยกันล้านๆปี ทะเลาะเบาะแว้งกัน เรื่องเล็กเรื่องน้อย
คงไม่เป็นไร คงมีเวลาแก้ไข
แต่มนุษย์ไม่มีเวลามากขนาดนั้น
การระลึกถึงความจริงก็มีผลต่อความรัก
ทำให้เป็นความรักที่ฉลาดขึ้น ประกอบด้วยปัญญา
การรู้เท่าทันชีวิตในโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น เป็นสิ่งที่ดี
เรามีความตาย เรามีความพลัดพรากจากกันแน่นอน
ระลึกอยู่เสมอ ชีวิตไม่แน่นอนจริงๆ วันใดวันหนึ่ง
เราต้องพลัดพรากจากกัน

ถ้าไม่คิดบ่อยๆ ไม่ซ้อมบ่อยๆ
พอเราพลัดพรากจากคนที่เรารักจริงๆ
เราก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน
ฟังเทศน์ ฟังธรรม กี่ร้อยกัณฑ์ กี่พันกัณฑ์
ก็ไม่เกิดประโยชน์ทางจิตใจเรา
บางคนครวญครางว่าไม่เคยคาดคิดว่า เขาจะเป็นอย่างนี้…
ทำไมจึงไม่คาดคิด ควรจะคิดทุกวัน...”

“...พระพุทธองค์ให้เราสังเกตว่า
ความรักสามัญมีโทษบางอย่าง
ความรักสามัญมีโทษอย่างไร
พอเรารักใครแล้ว ใครที่เป็นศัตรูกับคนที่เรารัก
ก็กลายเป็นศัตรูของเราไปด้วย
ยากที่จะหวังดีต่อคนเหล่านี้
หรือคนอื่นที่รักศัตรูของคนรักของเรา
เราก็ไม่ค่อยชอบ มันมีการแบ่งแยกเกิดขึ้น”

“...ขอให้เราเรียนรู้เรื่องความรัก
รักอย่างไรเศร้าหมอง รักอย่างไรผ่องใส
รักอย่างไรทำให้เราอ่อนแอ
รักอย่างไรทำให้เราเข้มแข็ง
รักอย่างไรทำให้มีความสุขชั่วแวบเท่านั้น

ความรักอย่างไรทำให้มีความสุขระยะยาว
และสามารถให้ความสุขแก่คนอื่น
ทำอย่างไร เราจะได้ขัดเกลาพัฒนาความสุขความรักของเรา
ให้มีลักษณะของเมตตามากขึ้นๆ ทุกวัน
นี่ก็คือข้อวัตรปฏิบัติในชีวิตประจำวันของเรา”.

ที่มา : http://buddhadham.zzl.org
เครดิตภาพ : Google

วันอาทิตย์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ ทำอย่างไรจึงจะมีสุขในยุคปัจจุบัน ღ

ทำอย่างไรจึงจะมีสุขในยุคปัจจุบัน
โดย...พระมหานพดล ปุญญสุวัฑฒโก

เราคงยอมรับกันว่า ปัจจุบันนี้เป็นยุคเทคโนโลยีที่ทันสมัยทุกด้าน โดยเฉพาะการสื่อสารโทรคมนาคม สิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นในมุมโลกเราก็รู้ได้ด้วยสื่อวิทยุโทรทัศน์ และปัจจุบันสื่อใหม่ล่าสุดที่ทำให้โลกเราดูจะแคบลงไปนั่นคือ อินเตอร์เนต ที่เปลี่ยนโลกของเราเข้าสู่ยุคไร้พรมแดนจริง ๆ

แต่เชื่อไหมว่า แม้โลกจะเจริญก้าวหน้าไปมากเพียงใด ปัญหาความทุกข์ยากก็ดูเหมือนจะพัฒนาเจริญตามเป็นเงาติดตามคุกคามชีวิตจิตใจมนุษย์เรามากขึ้น รุนแรงขึ้นไม่ว่าปัญหาโรคร้าย มหันตภัยเอดส์ ปัญหาอาชญากรรม ความเครียด ปัญหาความยากจน ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาความขัดแย้งด้านการเมือง การศาสนา การฆ่าตัวตาย ไม่เว้นแต่ละวัน และล่าสุดที่กระทบต่อชะตากรรมของประเทศชาติอย่างมากที่สุดคือ ปัญหาการระบาดของยาบ้า ยาอี หรือยาเสพย์ติดทุกประเภททั้งที่สังคมมนุษย์มีความเจริญ ก้าวหน้าอยู่แล้ว ทำไมปัญหาจึงมากเหลือเกิน มากเสียจนคนยุคใหม่แทบจะหาความสงบสุขไม่ได้ ในปัจจุบันขาดความอิสระ ขาดความเป็นตัวของตัวเองเข้าไปทุกที นี่คือประเด็นปัญหาที่น่าพิจารณาในที่นี่ว่า ทำอย่างไรจึงจะมีสุข ในยุคปัจจุบัน

อันที่จริง ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดเกิดมาจากจิตใจของเรานี้เอง สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นคว้าจนพบแล้วชี้ให้เราดู เปิดเผยให้เราเห็น บอกให้เราฟังตลอดมาตั้ง 2547 ปีว่า โลกนี้ก็คือ ปัญหาหรือความทุกข์ที่เราต้องแก้ไขกันเรื่อยไป ตราบใดที่ยังไม่เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพาน ..ถึงตอนนี้แล้วเราจะหาความสุขไม่ได้เลยหรืออย่างไรข้อนี้พระพุทธองค์มีพุทธวิธีการสร้างสุขให้เราแล้ว และก็เป็นวิธีง่าย ๆ เชื่อว่าทุกท่านสามารถทำได้ไม่ยาก พุทธวิธีสร้างสุขดังกล่าวก็คือ

ประการแรก การให้ การเสียสละ เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ แบ่งปัน ซึ่งเป็นคำที่เราคุ้นเคย และไม่ว่าจะเป็นสิ่งของปัจจัยสี่ หรือแม้แต่การให้ความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำ ให้กำลังใจ ให้น้ำใจ ให้เกียรติ ให้ความร่วมมือ เพื่อสร้างสรรค์แก่เพื่อนร่วมทุกข์ในวัฎสงสารนี้ แม้กระทั่งสัตว์เดรัจฉานอ่อนแอกว่าเรา พุทธวิธีข้อนี้ เรียกว่า "ทาน" คือ การให้นั้นเป็นการประสานมิตรภาพได้เป็นอย่างดี ผู้ให้ยอมเป็นที่รักของผู้รับ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ ดังคำพระองค์ตรัสว่า "ทะทะมาโน ปิโย โหติ แปลว่า ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก" และพร้อมกันนี้ก็มีคำโคลงโลกนิติสอนไว้น่าฟังว่า..

" ให้ท่านท่านจักให้ ตอบสนอง
ไหว้ท่านท่านจักปอง นอบไหว้
รักท่านท่านจักครอง ความรัก เรานา
สามสิ่งนี้เว้นไว้ แต่ผู้ทุรชน "

ประการที่สอง การรู้จักสำรวมระมัดระวังควบคุมกิริยาอาการที่ทำ คำที่พูดให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์ประโยชน์ ไม่เป็นการเบียดเบียนตัวเองและคนรอบข้าง ไม่กระทบกระเทือนความสงบสุขของครอบครัว ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และประชาคมโลก ทั้งหมดนี้ เรียกว่า "ศีล" ทางกายได้แก่การหลีกเลี่ยง ลด ละ เลิก พฤติกรรมที่ทำความเดือดร้อนทั้งหลายไม่เบียดเบียนทำร้ายร่างกายทั้งตัวเอง และคนอื่นด้วยจิตใจโหดเหี้ยม ด้วยความโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทที่เรียกว่า ปาณาติปาตา เวระมะณี ไม่หยิบฉวย ลักขโมย จี้ปล้น หลอกลวง ฉ้อฉล ด้วยกลโกงเอาสิ่งของผู้อื่น มาเป็นของตัวเอง เรียกว่า อะทินนาทานา เวระมะณี และไม่ล่วงละเมิด บุตร ธิดา ภริยา สามีของคนอื่น ในทางเพศ เชิงชู้สาว ชายหนุ่ม อันผิดศีลธรรมจรรยา และกฎหมายก่อให้เกิดความร้าวฉานในครอบครัวตระกูลของเราเอง และคนอื่น ที่เรียกว่า กาเมสุ มิจฉาจารา เวระมะณี ทั้ง 3 ประการนี้เรียกว่า "กายสุจริต" ในส่วนคำพูดนั้น พยายามหลีกเลี่ยง ลด ละ เลิก การพูดคำเท็จ คำหยาบ คอส่อเสียด ยุแหย่ให้คนเขาทะเลาะเข้าใจผิดต่อกัน ไม่พูดเรื่องไร้สาระเรื่อยเปื่อยเพ้อเจ้อเกินจริง รวม 4 ประการนี้ เรียกว่า "วจีสุจริต" นอกจากนี้ การมีสติควบคุมตัวเองให้งดเว้น ละเลิกจากเสพ การส่งเสริม สนับสนุนค้าขายสิ่งเสพย์ติดมึนเมาที่ทำลายสุขภาพสติปัญญา เสียทรัพย์สิน เกียรติและศักดิ์ศรี วงศ์ตระกูลที่รู้จักกันว่า สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานาเวระมะณี ใครมีศีลถือว่ามีเครื่องประดับที่งดงาม สง่าอาจหาญในทุกสถานที่ ทุกเวลาทุกสมาคม ดังพระบาลีว่า "สีลัง อาภะระณัง เสฎฐัง ศีลเป็นเครื่องประดับที่ยอดเยี่ยม" นอกจากนี้ศีลยังเป็นเครื่องหอมประดับชีวิตเกียรติศักดิ์วงศ์ตระกูลหอมติดแน่นทนทานตลอดเวลา ยิ่งกว่าของหอมใดๆ ในโลก ดังมีคำโคลงโลกนิติให้ข้อคิดไว้ว่า…

"หอมกลิ่นดอกไม้ที่ นับถือ
หอมแต่ตามลมฤา กลับย้อน
หอมแห่งกลิ่นกล่าวคือ ศีลสัตย์ นี้นา
หอมสุดหอมสะท้อน ทั่วใกล้ไกลถึง"

ประการที่สาม การอบรมพัฒนาสติความคิดจิตใจ ให้สงบสุขุมเยือกเย็น มีเหตุผล เข้าใจชัดเจนในธรรมชาติของสรรพสิ่งทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิตตามความจริง วิธีนี้เรียกว่า "ภาวนา" กล่าวคือการสวดมนต์ เจริญภาวนา วิปัสสนาภาวนา จนเข้าใจในธรรมดาของโลกที่ย่อมจะ มีขึ้น มีลง มีบวกมีลบ มีเจริญ มีเสื่อม มีผิดหวัง สำเร็จ ล้มเหลว มีหัวเราะ ร้องไห้ ที่ว่า โลกนี้คือ ละคร ขออย่างเดียว เราอย่าท้อแท้ หมดกำลังท้อถอยน้อยใจในตัวเองเติมพลังใจให้ตัวเองบ่อย ๆ ด้วยการภาวนาระลึกถึงพระรัตนตรัย คุณความดีที่เราทำ อดได้ ทนได้ รอได้ ไม่กลัวอด ไม่กลัวเจ็บ และไม่กลัวตาย ตราบใดที่เรามีลมหายใจอยู่

เราจะต้องยืนหยัดต่อสู้ต่อไปไม่ถอยหลังตั้งความหวังไว้บนพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้ ตามศักยภาพของตัวเอง พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างทรงทำให้เราดูมาแล้วว่า กว่าจะบรรลุโพธิญารตรัสรู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงบำเพ็ญบารมี ต่อสู้กับมารและอุปสรรคมามากมายแสนสาหัสเพียงใด ไม่รู้กี่อสงไขยชาติ ใกล้เข้ามา 500 ชาติ และ 10 ชาติ จนที่สุดเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรก็ยังถูกขับไล่ออกจากพระตำหนักพระราชวัง ให้ไปอยู่ป่าเขาพระองค์ก็ต้องเสียสละ และอดทนเพื่อความสงบสุขของพสกนิกร แม้ในชาตินี้ ก็ทรงสละราชสมบัติออกบำเพ็ญทรมานวรกาย ด้วยแสวงหาโมกขธรรมความหลุดพ้น เพื่อโปรดมวลมนุษยชาติให้ฉลาดหลุดพ้นจากการเป็นทาสของมารคือ กิเลส อันเป็นเหตุให้ทุกข์ และปัญหานานัปการ

แม้จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังมีพระเทวทัต และนางจิญจมานาวิกา นางมาคันทิยา คอยให้ร้ายป้ายสี ลอบทำร้ายทำลายพระองค์ และภิกษุสงฆ์ แต่ด้วยพระบารมีธรรมที่ได้บำเพ็ญมาจึงทรงสามารถเอาชนะมาร และสรรพทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยพระหฤทัยที่เด็ดเดี่ยวมั่นคงเปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา ความบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส และด้วยพระปัญญาที่สูงส่งยากที่ใครจะเสมอเหมือนได้ พระองค์ทรงทำเป็นตัวอย่าง ทรงเดินทางบุกเบิกให้เราอย่างดีแล้ว ทรงชี้ให้เราดูดำเนินไปดีแล้ว ฝากรอยพระบาทไว้ให้เราเดินตามอย่างชัดเจนแล้ว เราจะเฉยเมยได้อย่างไร ดังอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้ประพันธ์ไว้น่าฟังว่า..

" รอยพระบาทยาตราคือ จารึก ปลุกสำนึกให้คืนกลับจากหลับไหล
ทรงชี้ทางบรรเทาทุกข์ชี้สุขใจ เหตุไฉนเรามัวเพลินไม่เดินตาม "

จะเห็นว่าพุทธวิธีสร้างสุขยุคปัจจุบันไม่ใช่ความเพ้อฝัน แต่อยู่ที่ใจเรานั่นเอง หากใจเราตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เข้าใจธรรมชาติ ธรรมดาของโลกที่หมุนไป แล้วไม่เข้าไปเกาะยึดอะไรเสียจนเกินไป ไม่แบกโลกจนเกินไป จงอยู่ในโลกแห่งความจริงที่ปรากฏ แต่อย่าจริงจังกับโลก ๆ ใบนี้มีไว้สำหรับเหยียบ มิใช่มีไว้สำหรับแบก และเรากำลังอยู่บนโลกไม่ใช่โลกอยู่บนเรา..ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่ที่ว่า เราจะเลือกสุข หรือเลือกทุกข์ ก็ขึ้นอยู่ที่ใจเรา เพราะทุกสิ่งล้วนมาจากใจ ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า………..

"มะโนปุพพังคะมา ธัมมา - สรรพสิ่งล้วนเกิดมาจากใจเป็นเบื้องต้น" และมีคำกลอนสอนใจไว้ว่า

"ความสุขทุกข์อยู่ที่ใจมิใช่หรือ ถ้าใจถือก็เป็นทุกข์ไม่สุขใส
ไม่ยึดถือก็เป็นสุขไม่ทุกข์ใจ เราอยากได้ความสุข หรือทุกข์เอย"

……….นี่แหละคือ พุทธวิธีมีสุขในยุคปัจจุบัน """"""

ที่มา : http://www.dhammathai.org/articles/023.php
เครดิตภาพ : Google

ღ อุบายทำให้จิตสงบ 10 ประการ ღ

อุบายทำให้จิตสงบ 10 ประการ

1. มักน้อย ในฐานะที่เป็นผู้ปฏิบัติเราต้องมักน้อย ปรารถนาน้อย เหมือนพระที่พอใจในอัฐบริขารเพียง 8 ประการ เมื่อมักน้อยแล้วจิตจะนิ่งง่าย เพราะสิ่งกระทบใจให้เกิดความโลภ โกรธ หลงลดน้อยลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการกิน หากรู้จักกินอย่างพอดี เพียงแค่พอให้ร่างกายนี้อยู่ได้เพื่อปฏิบัติธรรม ความอิ่มที่พอดีย่อมจะเกื้อกูลการปฏิบัติ ไม่ใช่สร้างความง่วงเหงาหาวนอนมาขัดขวาง เหมือนกับการกินจนพุงกางด้วยความมักมาก หรือติดใจในรสชาติแล้วกินมากจนเกินอิ่ม

2. สันโดษ หากต้องการให้จิตสงบต้องสันโดษ คือ รู้จักพอ พอใจในสิ่งที่ตนเป็น ตนมี ตนได้รับ ทำเต็มที่เท่าที่จะทำได้ แต่พอใจกับผลที่ได้รับ แล้วจิตจะสงบ มีความสุข ไม่ว้าวุ่น ไม่ดิ้นรน

3. ความสงัด พยายามหาโอกาสอยู่ในที่ที่สงบเงียบ สงัดกาย สงัดใจ เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติ แล้วจะทำให้จิตสงบได้ง่ายขึ้น ด้วยเหตุนี้ พระธุดงค์จึงเลือกที่จะออกไปสู่ป่าเพื่อหาที่สงัด เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม

4. ปลีกตัวออกจากหมู่คณะ ที่บางคนเรียกว่าการปลีกวิเวกนั้น สามารถสร้างความสงบให้เกิดขึ้น และช่วยเพิ่มพลังสติ สมาธิ และปัญญาให้มากขึ้นได้ หากต้องการประพฤติปฏิบัติธรรมให้ได้มรรคผลก้าวหน้า จึงต้องพยายามปลีกตัวอยู่ห่างจากหมู่คณะ เพื่อจะได้ไม่ต้องพูดคุยและทำในเรื่องที่ไร้สาระ กระตุ้นให้เกิดกิเลสตัณหาที่จะทำให้พลังจิตอ่อนลง จิตจึงสงบยาก

5. ความเพียร เป็นตัวการสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จทุกประเภท ความเพียรจึงเป็นองค์ประกอบของหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จ อย่างอิทธิบาท 4 สัมมัปปธาน 4 และพละ 5 ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญที่ผู้ปฏิบัติพึงนำมาใช้ในการฝึกฝนตนเอง ฉะนั้น หากต้องการให้จิตสงบ6. ศีล อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ศีลเป็นพื้นฐานของความสงบนิ่ง และเป็นปกติของจิต

6. ศีล อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ศีลเป็นพื้นฐานของความสงบนิ่ง และเป็นปกติของจิต

7. สมาธิ เมื่อฝึกฝนจนเกิดเป็นสมาธิแล้ว ต้งอรู้จักนำสมาธิแต่ละชนิดไปใช้ให้เกิดประโยชน์และเกื้อกูลต่อการประพฤติปฏิบัติ เช่น ใช้ขณิกสมาธิเป็นพื้นฐานในการศึกษาเล่าเรียน การทำกิจการงาน การสร้างสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และใช้อุปจารสมาธิเป็นพื้นฐานของการฝึกวิปัสสนากรรมฐานจนเห็นสรรพสิ่งเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ และเกิดปัญญาเห็นแจ้งในที่สุด

8. ปัญญา เมื่อเกิดสมาธิขึ้นแล้ว ต้องรู้จักนำปัญญาที่เกิดจากสมาธิมาพิจารณาสิ่งกระทบจนปัญญาญาณเห็นแจ้งเกิด เพื่อให้จิตปล่อยวางสิ่งที่เป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน และสงบนิ่งอย่างแท้จริงด้วยอุเบกขา

9. ความหลุดพ้น เมื่อปฏิบัติแล้วต้องโยนิโสมนสิการจนกระทั่งจิตสามารถเห็นแจ้งถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตาของสรรพสิ่ง แล้วความหลุดพ้นจากสิ่งเศร้าหมอง คือกิเลสใหญ่ทั้ง 3 ตัว คือโลภ โกรธ หลง จึงจะเกิด และสามารถนำจิตพ้นไปจากกิเลสที่เหลือได้

10. ความรู้ความเห็นว่าหลุดพ้นนั้นมีด้วยกันมากมายหลายแนวความเชื่อ บ้างเชื่อว่าบุคคลสามารถหลุดพ้นได้ด้วยศรัทธา หากศรัทธาในพระพุทธเจ้ามากพอจะหลุดพ้นได้ ก่อนตายจึงกอดพระพุทธเจ้าไว้แน่น เพราะเชื่อว่าตายแล้วจะได้ไปอยู่กับพระพุทธเจ้า โดยลืมพิจารณาไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนว่า จริง ๆ แล้วศรัทธาแบบนั้นไม่ได้ทำให้ความโลภ ความโกรธ ความหลง หมดไปได้เลย แต่กลับเป็นศรัทธาที่อยู่บนพื้นฐานของความหลงเสียเอง จึงยังห่างไกลนักจากความหลุดพ้น ในขณะที่บ้างก็เข้าใจว่า สมาธิจะทำให้หลุดพ้นได้เหมือนอาจารย์ทั้งสองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ อุทกกดาบสและอาฬารดาบส ซึ่งตายในอรูปฌาณสมาบัติ ด้วยเข้าใจผิดว่านั่นคือนิพพาน
ความเข้าใจที่ผิด ๆ เกี่ยวกับควาหลุดพ้น จึงสารถสร้างความเสียายที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติ เพราะฉะนั้นก่อนจะเชื่ออะไร จึงต้องอาศัยปัญญาโยนิโสมนสิการพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน อย่าเชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์ด้วยการประพฤติปฏิบัติจนเห็นจริงด้วยตนเอง

ความเข้าใจที่ผิด ๆ เกี่ยวกับความหลุดพ้น
จึงสามารถสร้างความเสียหายที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้ปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นก่อนจะเชื่ออะไร จึงต้องอาศัยปัญญาโยนิโสมนสิการพิจารณาให้ถ่องแท้เสียก่อน
อย่าเชื่อโดยไม่ได้พิสูจน์ด้วยการประพฤติปฏิบัติจนเห็นจริงด้วยตนเอง

จากหนังสือ ยิ่งกว่าสุขเมื่อจิตเป็นอิสระ ของ ดร.สนอง วรอุไร

ที่มา : http://www.arunsawat.com/board/index.php?topic=9719.0
เครดิตภาพ : Google

วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ ความทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่ความคิด ღ

ความทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่ความคิด
โดย...ศ.นพ.ประเวศ วะสี

มันหยุดคิดไม่ได้ นั่นคือ บาป บาปอยู่ที่ความคิด
ซึ่งเป็นเหยื่อของความจำ หรือเรียกว่าอดีตกรรม

ปรกติมันคิดไปในอดีตเชื่อมกับอนาคตดังกล่าว โดยไม่รู้ตัว วิธีแก้คือ ทำให้มันรู้ตัวกับปัจจุบัน เดิมปัจจุบันมันไม่มีที่อยู่ ความคิดเกี่ยวกับอดีตและอนาคตเอาไปกินหมด เราจะต้องหาที่อยู่ให้ปัจจุบัน

ถ่างความรู้อยู่กับปัจจุบันให้กว้างออก มันก็จะเบียดความคิดถึงอดีตกับอนาคตออกไปๆ โดยปัจจุบันเข้ามาแทนที่มากขึ้นๆ จนกระทั่งรู้อยู่กับปัจจุบันโดยสมบูรณ์ ความคิดถูกไล่ออกไปหมดมันก็จะทุกข์ไม่ได้ มีแต่ความสุข


หลวงพ่อเทียนสอนให้ปลุกธาตุรู้ หรือบางทีท่านเรียกว่าเขย่าธาตุรู้ โดยขั้นแรกให้รู้ความเคลื่อนไหวของกายก่อน กายเคลื่อนไหวอย่างไรก็ให้รู้ เช่น กะพริบตา หรือกลืนน้ำลาย หรือหายใจ หรือแกล้งเคลื่อนไหวมันเสียเลย เช่น คว่ำมือหงายมือ หรือยกมือทำจังหวะต่างๆ ก็ให้รู้ พยายามให้รู้อยู่เรื่อยๆ

ใหม่ๆ มันจะเป็นการชิงกันระหว่าง “รู้” กับ “คิด” ปุถุชนเคยชินกับคิดมากกว่ารู้ แม้แต่ที่ทำท่าทางต่างๆ อยู่นั้น มันก็มักจะไม่รู้อยู่กับปัจจุบันคือการเคลื่อนไหว แต่ไพล่จะไปคิด (อดีต-อนาคต) เสียเรื่อย

ขณะที่คิด ไม่รู้
ขณะที่รู้ ไม่คิด

ท่านจึงสอนให้รู้อยู่กับปัจจุบันของการเคลื่อนไหวทุกขั้นตอน เมื่อทำไปๆ จิตจะอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นๆ จะพบว่ามีความสงบที่ไม่เคยพบมาก่อน ความสงบเกิดจากรู้อยู่กับปัจจุบัน ปรกติไม่มีความสงบ เพราะมันวุ่นวายอยู่กับความคิด ซึ่งวิ่งจี๊ดจ๊าดทางโน้นทางนี้รวดเร็วสุดประมาณ

ปรกติเราคิด เราเป็นเหยื่อความคิด ถูกความคิดพาไปกับมัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับมัน แต่เราไม่รู้ความคิด ท่านจึงสอนว่าให้รู้ความคิด หรือให้ดูความคิด หรือให้เห็นความคิด

" มันจะคิดดีคิดร้ายก็ปล่อยให้มันคิด
ไม่ต้องไปเกร็งที่จะห้ามคิด
แต่อย่าเป็นเหยื่อถูกมันพาไปไหนๆ โดยไม่รู้...."

ที่มา : Facebook ตามรอย ท่านพุทธทาส
เครดิตภาพ : Google

ღ สุข สงบ ร่มเย็น ღ

สุข สงบ ร่มเย็น

ห้วงเวลาห้วงหนึ่งแห่งชีวิต ได้นำสังขารและจิตมาสัมผัสกับความสุขที่เป็น “ความสุขแท้”

ประโยคหนึ่งที่ดังก้องกังวานอยู่ในจิตใจเสมอ

“นำตัวกับใจมา”

เป็นคำพูดของพ่อแม่ครูอาจารย์ เป็นประโยคทองฝังจิตฝังใจเมื่อครั้งที่ได้มีโอกาสย่างก้าวเข้ามาสัมผัสดิน แห่งธรรมที่สุขสงบและร่มเย็นยิ่งแห่งนี้

ความสุขที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิต

ความสุขที่ไม่ต้องแลกได้สิ่งที่สังคมเรียกว่า “เงิน”

ความสุขที่ไม่ต้องหาสิ่งตอบแทนมาซึ่งวัตถุธาตุใด ๆ

ความสุขที่เพียงแค่ใช้ใจน้อมเข้าสัมผัสและก้มกราบกรานพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ความสุขแท้แห่งชีวิต ที่อุดมไปด้วยความสงบ

เป็นความสุขที่ไม่ถูกทับถมหรือมีเวทนาใด ๆ ซ้อนทับ

ข้อวัตรปฏิบัติที่ฝึกฝน “ตนและใจ” เป็นเครื่องขูดกิเลสต่าง ๆ ที่ตกตะกอนอยู่ในจิต ที่ฝังลึกอยู่ในใจ ความขี้เกียจขี้คร้านทางกาย “ล้าง ตัวและล้างใจ” ขจัดสันดานซึ่งเป็นพฤติกรรมฝังลึก (Tacit Behavior) ที่ถูกหล่อหลอมด้วยสังคมนิยมทุน นิยมเงิน นิยมกาม นิยมกิน นิยมเกียรติ

กวาดพื้น เพื่อกวาดใจ

ถูพื้น เพื่อถูใจ

ล้างห้องน้ำ เพื่อล้างใจ
ทำและปฏิบัติสิ่งใด ๆ เพื่อล้างสันดานแห่งกิเลสให้ล่วงพ้นจากตัวและใจ

ความสุขที่อยู่บนฐานแห่ง “ศีล” นำมาซึ่งความร่มเย็นภายในใจฉันใด

ความสุขที่เกิดขึ้นในทุกขณะที่มีลมหายใจขณะนี้ จึงเป็นความสุขแท้ที่อิ่มเอมใจอย่างหาที่สุดและไม่มีประมาณได้ฉันนั้น

***************************************************************************

~ วัด ที่เป็นวัดโดยแท้
วัดที่ใจ
วัดกันที่ใจ
วัดกันตลอดเวลาทุกขณะจิต
วัดที่อุดมไปด้วยกัลยาณมิตร
วัดแห่งนี้จึงเป็นวัดที่แท้แห่งโลกธรรม..~


♦ สุขใดหาเทียบเทียมทันความสุขสงบร่มเย็นแห่งสุขแท้ในโลกธรรมนั้นไม่มี ♦

(นำมาจาก สุญฺญตา - ความรู้คือพลัง - สุข สงบ และร่มเย็น)

ที่มา : http://board.palungjit.com
เครดิพภาพ : สนิมกฤช (http://www.oknation.net)

วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ประโยชน์ของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน

ประโยชน์ของสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ♦

1. ทำคนให้ฉลาด เพราะจะรู้จักทั้งบัญญัติและปรมัตถ์เป็นอย่างดี ละเอียดรอบคอบขึ้นมาก

2. ทำคนให้มีศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงาม

3. ทำคนให้สนิทสนมกลมกลืนกัน กรุณาเอ็นดูสงสารกัน พลอยยินดีอนุโมทนาสาธุการเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี

4. ทำคนให้เว้นจากเบียดเบียนกัน เว้นจากการเอารัดเอาเปรียบกัน

5. ทำคนให้รู้จักตัวเอง และรู้จักปกครองตัวเอง

6. ทำคนให้ว่านอนสอนง่าย ไม่มานะถือตัว ไม่เย่อหยิ่งจองหอง

7. ทำคนให้หันหน้าเข้าหากัน เพราะต่างฝ่ายต่างลดทิฏฐิมานะลง

8. ทำคนให้หนักแน่นในกตัญญูกตเวทิตา

9. ทำคนให้เป็นผู้ประเสริฐ เพราะเหตุว่า การปฏิบัติธรรมนี้ย่อมเป็นไปเพื่อคุณสมบัติเหล่านี้ คือ

1.เพื่อละนิวรณ์ 5

2.เพื่อละกามคุณ 5

3.เพื่อหัดให้คนเป็นผู้รู้จักประหยัด

4.เพื่อละอุปาทานขันธ์ 5

5.เพื่อละสังโยชน์เบื้องต่ำ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท

6.เพื่อละคติ 4 คือ นรกภูมิ เปตติวิสัยภูมิ อสุรกายภูมิ และดิรัจฉานภูมิ เมื่อได้ญาณ 16 ในวิปัสสนากรรมฐานโดยเด็ดขาดไม่ว่าจะเกิดอีกกี่ชาติ(พระโสดาบันเกิดไม่เกิน7ชาติ เป็นอย่างมาก)ส่วนสมถกรรมฐานเมื่อได้ฌานที่ 1 ขึ้นไปก็อาจนำไปเกิดในพรหมโลกได้ แต่ก็ยังคงเวียนว่ายมาเกิดในอบายถูมิ4ได้อีกในชาติต่อๆไป ดังนั้น สมถกรรมฐานจึงไม่ ใช่การปฏิบัติที่ละ อบายภูมิ 4 ได้โดยเด็ดขาด

7.เพื่อละความตระหนี่ 5 คือ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่ตระกูล ตระหนี่ลาภ ตระหนี่วรรณะ ตระหนี่ธรรม

8.เพื่อละสังโยชน์เบื้องบน คือ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา

9.เพื่อละตะปูตรึงใจ 5 คือ สงสัยในพระพุทธ สงสัยในพระธรรม สงสัยในพระสงฆ์ สงสัยในสิกขา ความโกรธไม่พอใจในเพื่อนพรหมจรรย์

10.เพื่อละเครื่องผูกพันจิตใจ 5 คือ ไม่ปราศจากความชอบใจทะยานอยากในกาม ในรูปความสุขในการกิน การนอน การรักษาศีลเพื่อเทพนิกาย

11.เพื่อก้าวล่วงความโศกเศร้าเสียใจ (ทุกข์ทั้งหลาย) ดับทุกข์โทมนัส เพื่อบรรลุมรรคผล นิพพาน

12.อานิสงส์อย่างสูงให้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ อย่างกลางก็ให้สำเร็จเป็นพระอนาคามี สกทาคามี โสดาบัน อย่างต่ำไปกว่านั้นที่เป็นสามัญ ก็เป็นผู้ที่มีคติเที่ยงที่จะไปสู่สุคติ

13.ชื่อว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิบัติบูชา

14.ชื่อว่า เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า

15.ชื่อว่า เป็นผู้ได้บำเพ็ญสิกขา 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

16.ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะมีสติอยู่กับรูปนามเสมอ ความไม่ประมาทนั้นคือ อยู่ไม่ปราศจากสตินั่นเอง

17.ชื่อว่า ได้เป็นผู้ทรงธรรม

18.ชื่อว่า ได้เป็นผู้ปฏิบัติถูกต้อง

19.ชื่อว่า ได้ปฏิบัติตามมรรคมีองค์ 8 ทางสายกลาง

20.ชื่อว่า ได้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแท้จริง คือถึงด้วยอำนาจแห่งการปฏิบัติ คือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่เกิดกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ตั้งแต่ ภังคญาณ เป็นต้นไป จนถึง มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ


ที่มา : http://th.wikipedia.org/
เครดิตภาพ : Google

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ คติธรรม นำทาง ღ

คติธรรม นำทาง
โดย...หลวงปู่ขาว อนาลโย

พยายามให้เรากินกาล อย่าให้กาลกินเรา วันคืนล่วงไปๆ อย่านิ่งนอนใจ ให้เร่งทำความเพียร ธรรมมีอยู่ แต่ขาดอุบายปัญญา ก็นั่งโง่ นอนโง่อยู่อย่างนั้นเอง ธรรมแท้ แม้จะลึกซึ้งคัมภีรภาพเพียงไหน ไม่เหลือวิสัยของบัณฑิตผู้มีความเพียร...

ที่มา : www.cybervanaram.net
เครดิตภาพ : Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย

ღ ธรรมนำทาง ღ

ธรรมนำทาง
โดย...หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต


การบำรุงรักษาสิ่งใดๆในโลก การบำรุงรักษาตนคือใจเป็นเยี่ยม
จุดที่เยี่ยมที่สุดในโลกคือใจควรบำรุงรักษาให้ดี
ได้ใจแล้วคือได้ธรรม เห็นใจแล้วคือเห็นธรรม
รู้ใจแล้วคือรู้ธรรมทั้งมวล ถึงใจตนแล้วคือถึงพระนิพพาน..



ที่มา : www.cybervanaram.net
เครดิตภาพ : Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย

ღ สงบงามในความเรียบง่าย ღ

สงบงามในความเรียบง่าย
โดย...Sudjai Liangpunsakul

สิ่งที่ยิ่งใหญ่อลังการน่าตื่นตาตื่นใจ ไม่ได้หมายความว่าจะดีมีคุณค่าเสมอไป ความสุขหาได้ง่ายและอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด ความสงบสุข ของการได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และซาบซึ้งกับความสุขแบบง่ายๆ


สิ่งที่ดีที่สุดมักจะเป็นสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด
ยามเราสับสนกับชีวิต อับจนหนทางไม่รู้จะหันเหไปทางไหน บางทีคำตอบที่ดีที่สุดก็อยู่ตรงหน้าเราเหมือนเส้นผมบังภูเขา วิธีที่ดีทีสุดก็คือ วิธีที่เรียบง่ายที่สุด ชีวิตมันง่ายอย่างนั้นเสมอ มันเป็นเช่นนั้นเอง

ที่มา : Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย(www.facebook.com)
เครดิตภาพ : Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย(www.facebook.com)

วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ พุทธะแห่งจิต ღ

เข้าถึงความเป็นพุทธะแห่งจิต
พระธรรมเทศนา...หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ว่าด้วยสัจธรรมของจริง ของจริงมีอยู่ในกาย ในใจของทุกคน สภาพความเป็นจริงของกายโดยพื้นฐานแล้ว สัตว์ทั้งหลายมีอาหารเป็นที่ตั้ง ทุกคนต้องกินอาหาร อันนี้คือความจริงอันหนึ่ง ส่วนทางด้านจิตใจนั้นก็มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเป็นอาหาร แต่อาหารของจิตใจนั้นแยกออกเป็น ๒ ประเภท

ประเภท ๑ เมื่อจิตได้ลิ้มรสอาหารแล้วทำให้จิตเดือดร้อนวุ่นวาย เกิดความทุกข์

ประเภท ๒ เมื่อจิตได้ลิ้มรสอาหารแล้วเกิดความสุข สิ่งที่ทำให้จิตสงบเยือกเย็นมีความสุขนั้นได้แก่ธรรมะนั่นเอง

ศาสนาของพระพุทธเจ้าเป็นศาสนาที่มีความจริง และพุทธะก็คือสัจธรรม เป็นวิสุทธิธรรม เป็นความจริงอย่างสูงสุด สัจธรรมคือความจริงนั้นย่อมไม่สังกัดในลัทธิหรือศาสนาใด แต่เมื่อใครได้ดำเนินจิตของตนเองเข้าไปสู่จิตแห่งความเป็นสัจธรรมอย่างแท้จริง หรือธาตุแท้แห่งความจริงที่มีอยู่ภายในจิตใจ สัจธรรมแห่งพุทธะอันเป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสมบัติของผู้นั้น

ท่านชายสิทธัตถะทรงดำรงพระชนม์ชีพเป็นมนุษย์ โดยประสูติในตระกูลกษัตริย์ ทรงเป็นมนุษย์ธรรมดา มีกายใจเหมือนกับเราท่านทั้งหลาย ท่านสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อาศัยกายกับใจเป็นหลัก โดยเอากายและใจไปพิจารณาดูความเป็นจริงของร่างกายและทรงพบความจริงของร่างกายนั้นว่ามีอะไรบ้าง ร่างกายต้องมีอาหารเป็นที่ตั้งเพื่อความเป็นไปของร่างกาย และโดยกฎธรรมชาติย่อมมีความแตกดับ เน่าเปื่อย ผุพัง เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

ผู้แสวงหาคุณธรรมเราคงเคยได้ยินคำสอนในศาสนาพุทธว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” คือ พระพุทธเจ้าสอนให้เราละความชั่ว ประพฤติความดี และก็ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ สะอาด ปัญหาก็อยู่ที่ว่า “การละความชั่วนั้น โดยสาธารณะทั่วไปได้แก่อะไร” โดยสาธารณะทั่วไป ได้แก่ การงดเว้นจากความชั่ว ๕ ประการ ซึ่งก็คือ ศีล ๕ ดังนั้น การตั้งใจกระทำความดีจึงมีศีล ๕ เป็นหลักประกัน เมื่อเรามีศีล ๕ เป็นหลักประกันความปลอดภัย ภัยเวรที่จะพึงเกิดขึ้นนั้นย่อมไม่มี ฉะนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะละเว้นความชั่วกันอย่างจริงจัง ในเบื้องต้นขอให้มั่นคงในการยึดศีล ๕ เป็นหลัก ศีล ๕ นี้ ผู้บัญญัติมุ่งหมายที่จะป้องกันที่จะไม่ให้มนุษย์ต้องฆ่ากัน ปาณาติบาต บ่งถึงเจตนาที่จะฆ่าโดยตรง สิ่งที่สนับสนุนปาณาติบาต เช่น อทินนาทาน คือการลักขโมย โดยปกติแล้วคนที่มีข้าวของเขาต้องมีความรักหวงแหนทรัพย์สมบัติ ถ้าเราไปขโมยของเขา เขาโกรธเขาก็ฆ่าเอา กาเมสุมิจฉาจาร ไปละเมิดสิทธิของท่าน ท่านโกรธ ท่านก็ฆ่าเอา มุสาวาท พูดปดมดเท็จ กล่าวส่อเสียด ยุยง หรือพูดคำหยาบให้ท่านได้รับความเสียหาย ท่านโกรธท่านก็ฆ่าเอา สุรา ดื่มเข้าไปแล้วมึนเมา คุมสติไม่อยู่ เกิดทะเลาะวิวาทกัน ในที่สุดก็ต้องฆ่ากัน เพราะฉะนั้น เหตุผลในการบัญญัติศีล ๕ เอาไว้เป็นหลักในการปฏิบัตินั้นก็เพื่อป้องกันไม่ให้มนุษย์ฆ่ากันโดยตรง

นอกจากเราจะมีศีล ๕ ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้มีความมั่นคงอยู่ภายในจิตใจไม่เสื่อมคลาย สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้พร่ำสอนให้บำเพ็ญสมาธิภาวนาเป็นหลัก แต่การบำเพ็ญสมาธิภาวนา ท่านทั้งหลายได้เคยฟังและได้ปฏิบัติมามากแล้ว จึงไม่ขอนำมากล่าวในที่นี้ แต่จะขอย้ำเตือนว่า การประพฤติดี ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบนั้นอยู่ที่ความตั้งใจจริง จะปฏิบัติแบบไหน อย่างไร ขอให้ยึดในสิ่งนั้นจริงๆ เช่นอย่างท่านจะบำเพ็ญกัมมัฏฐาน หรือจะภาวนาพุทโธหรืออะไรก็ตาม ท่านอาจจะนึกในใจว่าจะนั่งสมาธิให้ได้วันละ ๓ ครั้ง ครั้งละ ๑ ชั่วโมง แล้วตั้งใจอย่างจริงจังแน่วแน่ลงไป บริกรรมภาวนาพุทโธๆๆไว้ ให้จิตอยู่กับพุทโธแน่วแน่ไม่พรากจากไป แม้ว่าจิตจะไม่มีอาการสงบก็ตาม เมื่อเรานึกพุทโธๆๆ ติดต่อกันไม่ขาดสาย พุทโธนั่นแหละจะเป็นสิ่งกางกั้นไม่ให้เราส่งกระแสจิตออกไปสร้างบาปสร้างกรรมที่อื่น อีกอย่างหนึ่ง พุทโธ จะเป็นที่พึ่งของจิต จะเป็นวิหารธรรม ในเมื่อเรานึกพุทโธจนชำนิชำนาญ จนจิตติดอยู่กับพุทโธ ในบางครั้งเราอาจไม่ตั้งใจว่า แต่จิตจะนึกพุทโธเองโดยไม่ตั้งใจ จนกลายเป็นอัตโนมัติ เมื่อเป็นเช่นนั้น บางครั้งเราพบอุบัติเหตุสำคัญ จิตของเราจะวิ่งเข้าสู่พุทโธโดยไม่ตั้งใจ เมื่อจิตเข้าถึงพุทโธจิตก็มีที่พึ่ง พุทโธเป็นที่พึ่งที่ระลึกของจิต เป็นคุณสมบัติของความเป็นพุทธะ

ความเป็นพุทธะสามารถเป็นได้กับทุกคน ถ้าเราคิดว่าพุทธะคือผู้รู้เป็นได้เฉพาะแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียว เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานไปแล้วพุทธะย่อมสาบสูญไป แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แม้ว่าพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานไปแล้ว ธาตุแท้ของความเป็นพุทธะยังสถิตอยู่ในจิตใจของเราทุกคน พุทธะคือวิสุทธิธรรม พุทธะที่เป็นวิสุทธิธรรมย่อมเป็นสิ่งรับรอง นักปฏิบัติทุกท่านย่อมสามารถที่จะเหนี่ยวเอาคุณสมบัติอันนี้เข้าไปอยู่ในจิตใจของตนเองได้ ถึงความบริสุทธิ์สะอาด และเข้าถึงความเป็นพุทธะอย่างแท้จริง

ที่มา :http://www.thaniyo.com
เครดิตภาพ : Google

ღ ปฏิบัติไม่คืบหน้า ღ

..ปุจฉา-วิสัชนา ปฏิบัติไม่คืบหน้า
(หลวงพ่อชา สุภัทโท)

@ พากเพียรอย่างหนักในการปฏิบัติกรรมฐาน แต่ยังไม่มีท่าว่าจะได้ผลคืบหน้าเลย..

@ เรื่องนี้สำคัญมาก อย่าพยายามที่จะเอาอะไรๆ ในการปฏิบัติความอยากอย่างแรงกล้าที่จะหลุดพ้นหรือรู้แจ้งนั้น จะเป็นความอยากที่ขวางกั้นท่านจากการหลุดพ้น ท่านจะเพียรพยายามอย่างหนักตามใจท่านก็ได้
จะเร่งความเพียรทั้งกลางคืนกลางวันก็ได้ แต่ถ้าการฝึกปฏิบัตินั้นยังประกอบด้วยความอยาก ที่จะบรรลุเห็นแจ้งแล้ว ท่านจะไม่มีทาง ที่จะพบความสงบได้เลย แรงอยากจะเป็นเหตุ ให้เกิดความสงสัยและความกระวนกระวายใจ ไม่ว่าท่านจะฝึกปฏิบัติมานานเท่าใดหรือหนักเพียงใด ปัญญา (ที่แท้) จะไม่เกิดขึ้นจากความอยากนั้น

... ดังนั้น จงเพียงแต่ละความอยากเสีย
... จงเฝ้าดูจิตและกายอย่างมีสติ
... แต่อย่ามุ่งหวังที่จะบรรลุถึงอะไร
... อย่ายึดมั่นถือมั่นแม้ในเรื่องการฝึกปฏิบัติหรือในการรู้แจ้ง ฯ


ที่มา : แม่ชีเพียงพบพาน เพื่อผ่านภพ (www.facebook.com)
เครดิตภาพ : Google

ღ แต่งใจ ღ

อย่าแต่งกาย จงแต่งใจกันเถิด
โดย...หลวงพ่อชา สุภัทโท

พระพุทธองค์ให้หาที่พึ่ง คือ หาใจของเรา ใจของเราเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยมากคนเราไม่ค่อยมองดูในสิ่งที่สำคัญ ไปมองดูที่อื่นที่ไม่สำคัญ เป็นต้นว่า กวาดบ้าน ล้างจาน ก็มุ่งความสะอาด ล้างถ้วยล้างจานให้มันสะอาด ทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งความสะอาด แต่ใจเจ้าของไม่เคยมุ่งมองเลย ใจของเรามันเน่า บางทีก็โกรธหน้าบูดหน้าเบี้ยวเท่านั้นแหละ ก็ไปมุ่งแต่จานให้จานมันสะอาด ใจของเราไม่สะอาดเท่าไรก็ไม่มองดู นี่เราขาดที่พึ่ง เอาแต่ที่อาศัย แต่งบ้านแต่งช่อง แต่งอะไรสารพัดอย่าง แต่ใจของเราไม่ค่อยจะแต่งกัน ทุกข์ไม่ค่อยจะมองดู ใจนี่แหละเป็นสิ่งสำคัญ

พระพุทธองค์ท่านจึงพูดว่าให้หาที่พึ่งทางใจ อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ใครจะเป็นที่พึ่งได้ ที่เป็นที่พึ่งที่แน่นอนก็คือใจของเรานี่เอง ไม่ใช่สิ่งอื่น พึ่งสิ่งอื่นก็พึ่งได้ แต่ไม่ใช่ของที่แน่นอนเราจะพึ่งสิ่งอื่นได้ก็เพราะเราพึ่งตัวของเรา เราต้องมีที่พึ่งก่อน จะพึ่งอาจารย์ พึ่งญาติมิตรสหายทั้งหลาย จะพึ่งได้ดีนั้นเราต้องทำตัวของเราเป็นที่พึ่งให้ได้เสียก่อน

ที่มา : http://www.isangate.com/dhamma/goal_for_live.html
เครดิตภาพ : Google

ღ หยาดฝนแห่งบุญ ღ

หยาดฝนแห่งบุญ
โดย...หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ศาสนธรรมของพระพุทธเจ้ามีความละเอียดลออและความอัศจรรย์ไปโดยลำดับลำดา จนถึงความอัศจรรย์เกินโลกเกินสงสารไม่มีอะไรเกินธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ได้เข้าสัมผัสสัมพันธ์หัวใจ ของผู้ปฏิบัตินั้นเลย ธรรมมีอยู่ตามหลักธรรมชาติของตนก็จริง แต่ไม่ปรากฏเป็นความอัศจรรย์ แก่ผู้หนึ่งผู้ใด ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติได้เข้าสัมผัสในธรรมทั้งหลายเป็นลำดับลำดา จนเข้าถึงใจเต็มที่กลายเป็นอันเดียวกัน ธรรมกับจิตไม่แยกจากกันเลย นั่นแหละเป็นธรรมอันประเสริฐเลิศยิ่งกว่าโลกทั้งหลาย

เราเก็บเล็กผสมน้อย เช่นเดียวกับฝนที่ตกบนพื้นปฐพีนี้ เม็ดฝนแต่ละเม็ดนี้ ไม่ได้โตเท่ามะพร้าวอะไรเลย แต่ตกไม่หยุดไม่ถอยก็ทำสถานที่ให้เต็มไปด้วยน้ำ ดังที่เราเห็นอยู่นี้แล นี่ก็เหมือนกัน
การสั่งสมคุณงามความดี ด้วยการให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ซึ่งรวมเรียกว่าความดีทีละเล็กละน้อย
ก็เหมือนกับเม็ดฝนที่ตกลงมาในพื้นปฐพี ฯ

ที่มา : แม่ชีเพียงพบพาน เพื่อผ่านภพ (www.facebook.com)
เครดิตภาพ : Google

ღ หลงโลกจึงทุกข์ ღ

หลงโลกจึงทุกข์
โดย...หลวงพ่อชา สุภัทโท

เราฟังธรรมก็เพื่อจะได้มีความรู้ ไปแก้ปัญหาของโลก เพราะโลกอันนี้ไม่ต้องแก้ปัญหาอะไรให้มันมากมาย มาแก้ความเห็นของเรา มาแก้ความคิดของเรา มาแก้ทิฏฐิของเราให้มีความเห็นอันถูกต้องเป็นสัมมาทิฏฐิเท่านั้น โลกที่มันตั้งอยู่มันก็ตั้งอยู่ตามสภาพของมัน เพราะเราไปหลงโลกมันจึงทุกข์ โลกนั้นมันไม่ทุกข์ โลกนั้นมันไม่ยาก เราเป็นคนยาก

เหมือนกับเราเดินทางหนทางไกลเท่าไร มันก็ไม่เหนื่อยกับเรา หนทางไม่เหนื่อยเราผู้เดินนี้เหนื่อย เราผู้วิ่งนี้มันหนักหนทางมันจะไปไหนก็ช่าง มันไม่เมื่อย มันก็ไม่เหนื่อย มันเหนื่อยเพราะเราเดินทาง มันเป็นอย่างนี้ ฉะนั้นทางมันพอดีของมันอยู่ พอดีอย่างไร ถ้าเราเดินเหนื่อยเราก็พัก ก็ไม่เป็นไรถ้าเราฉลาด ถ้าเหนื่อยแล้วยังขืนเดินไปก็ตายกับหนทางเท่านั้นแหละทางไม่เป็นอะไร ถึงแม้ว่าเราจะหยุด มันก็ไม่บังคับให้เราเดินไปอีก ถึงแม้เราจะไปอีกมันก็ไม่บังคับให้เราหยุด โลกมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเรารู้จักทางก็รู้จักกำลังของเรา พอสมควรเราก็พักได้เราจึงค่อยเดินไป เป็นเรื่องของเรา คนรู้จักทางเป็นอย่างนี้

คนรู้จักโลกก็เหมือนกัน โลกมันเป็นของมันอยู่อย่างนั้นเองทางนั้นก็เป็นโลก โลกนั้นก็คือหนทาง ถึงแม้ว่าเราเดินต่อมันก็ไม่สิ้นสุดสักที โลกไม่ได้ทำให้เราทุกข์ เราทุกข์เอง ฉะนั้นจึงมาแก้ที่เรา ใจเรานี้มันหลงโลก ไม่ใช่โลกหลงเรา เรามันหลงโลกเข้าใจไหม? ถ้าว่าอาหารทั้งหลาย ถ้ามันอร่อย ไม่ใช่อาหารมันหลงเรา เรามันหลงอร่อยอันนั้น หลงหวาน หลงเปรี้ยว หวานก็พอดีของมัน เปรี้ยวก็พอดีของมัน มันเป็นของพอดี

ที่มา : http://www.isangate.com/
เครดิตภาพ : Google

ღ ธรรมคำสอนหลวงปู่ท่อน ღ

ธรรมคำสอนหลวงปู่ท่อน ญาณธโร

♦ ทำจิตให้ว่างจากสมมติ ไม่มีดี ไม่มีชั่ว คนไปสำคัญมั่นหมายเอาเอง ไม่มีความสำคัญ ไม่มั่น ไม่หมายในสิ่งใด อยู่เหมือนหลักเหมือนตอ วางลงได้ ขนาดนั้น วางได้ก็เบาสบาย ไม่มีอะไรหนัก ธาตุขันธ์ ร่างกายก็ไม่หนัก พร้อมที่จะวาง อุปทานขันธ์ พร้อมเสมอแล้วที่จะตาย..

♦ เห็นธรรม คือ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนันตา ทำอย่างไรเราจะพ้นจากกองทุกข์ เห็นว่าของทุกอย่างไม่ใช่เรา เป็นอนัตตา แม้ร่างกายที่อยู่ร่วมกันก็ไม่ใช่เราเลย มันอยากเจ็บ มันก็เจ็บ มันอยากแก่ มันก็แก่ มันอยากตาย มันก็ตาย ห้ามมันไม่ฟัง ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นไม่กลัวตาย ตายเมื่อไรช่างมัน ทำความดี..ดีกว่า...

คัดจาก : หนังสือบันทึกธรรมจากหลวงปู่
เครดิตภาพ : google

ღ บุญที่เกิดจากกุศลจิต ღ

บุญที่เกิดจากกุศลจิต
โดย...หลวงปู่เทส เทสฺรงฺสี

"....ทำบุญด้วยบุญที่เกิดจากกุศลจิต เป็นการทำบุญภายใน ไม่ใช่ทำบุญภายนอกด้วยวัตถุสิ่งของ แต่เราทำบุญโดยการสร้างกุศลจิต สร้างจิตที่ผ่องใส มีคุณงามความดี เป็นจิตที่ไม่ตระหนี่เหนียวแน่น จิตไม่เกิดโทสะ มานะทิฐิ จิตไม่ประกอบด้วยกิเลส จึงเป็นบุญมหาศาลหาค่ามิได้

... ถ้าเราทำบุญอย่างนี้อยู่เสมอๆ ก็เป็นบุญอยู่ทุกอิริยาบท และเราก็เห็นบุญในตัวของเรา หรือการที่เราละความชั่วได้ เราไม่เก็บความชั่วไว้ในตัวของเรา อันนั้นก็เป็นบุญกุศลเกิดขึ้นที่จิต
เราเองก็รู้สึกชื่นชมยินดีในตัวของเรา ที่ละทิ้งความชั่วได้

แล้วจะพากันไปหาบุญที่ไหนอีก บุญไม่ได้อยู่นอกเหนือไปจากจิตนี้หรอก
ขอให้พากันสะสมบุญอย่างนี้ขึ้นภายในจิตใจของคนทุกคน...."

ที่มา : http://www.dhammasatta.org/index.php?mo=3&art=266098
เครดิตภาพ : google

ღ จิตสงบ ღ

พระธรรมเทศนา หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

เราสามารถเพียงแต่ทำจิตของเราสงบ แม้ที่น้อยที่สุด ไม่ให้จิตเคลื่อนไหว แม้ที่น้อยที่สุดให้ได้ จิตของเราก็จะสงบ เมื่อจิตของเราสงบแล้ว กุศลธรรมทั้งปวงก็รวมอยู่ในจิตที่สงบนั้นเอง

เพราะฉะนั้นนักปฏิบัติต้องปฏิบัติอะไร คือปฏิบัติจิตนั้นเอง คือทำจิตให้สงบ ทำจิตให้สว่าง ทำจิตให้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ก็คือความสงบนั่นเอง

เบื้องต้นที่จะทำจิตให้สงบก็ไม่มีอะไรมากมาย คือภาวนา การภาวนาก็ไม่เอาอะไรมากมายนัก เอาพุทโธอย่างเดียวก็พอแล้ว ก่อนที่จะภาวนา เราต้องตัดอารมณ์ข้างนอกออกให้หมดเสียก่อน คือไม่ส่งอารมณ์ออกไปนอก อารมณ์ที่ส่งไปนอกไปหาปรุง หาแต่ง ไปหาก่อหาเกิดไม่มีที่สิ้นสุด จิตของเราไม่สงบ เพราะฉะนั้นก่อนที่จะภาวนาเราต้องตัดอารมณ์ออกให้หมด ไม่ต้องส่งจิตไปนอก หันมาดูจิตของเรา อยู่ในจิตของเรา ตั้งสติอยู่ในจิต แล้วก็บริกรรม ให้จิตเป็นผู้บริกรรมเอง ไม่เอาอะไรมากมาย พุทโธอย่างเดียวก็พอแล้ว แต่ว่าให้จิตเป็นผู้บริกรรมเอง ให้จิตเป็นผู้ว่าเอง ไม่ต้องว่ากับปาก

วิธีนั่งบริกรรม นั่งขัดสมาธิก็ได้ นั่งพับเพียบก็ได้ เอาตีนขวาทับตีนซ้าย ตั้งกาย ให้ตรง แล้วก็หลับตา แล้วก็ดูจิต คือผู้รู้นั้นเอง จิตผู้รู้มีประจำอยู่แล้วในคน ทุกคน ไม่ต้องไปหาที่อื่น ตั้งจิตอยู่ในจิต ตั้งสติอยู่ในจิต ให้จิตเป็นผู้บริกรรมเอง ไม่เอาอะไรมากมายเอาพุทโธอย่างเดียว แล้วบริกรรมพุทโธ พุทโธ พุทโธไป จนจิตของเรามันสงบ

ในการบริกรรมพุทโธ ผู้บริกรรมพุทโธอยู่ตรงไหน ตั้งสติอยู่ตรงนั้น ให้จิตเป็นผู้ว่าเอง ไม่ต้องว่ากับปาก ตาของเราหลับ แล้วให้จิตเป็นผู้ว่าเอง ตั้งสติอยู่ตรงนั้น บริกรรมเรื่อยไปเวลามันสงบเราจะรู้เอง คือจิตมันรวม มันรวมวูบลง แล้วก็จิตมีอารมณ์อันเดียว นั่นมันสงบแล้ว แล้วถ้าจิตสงบแล้วเราไม่ต้องบริกรรมต่อไป จิตกำหนดอยู่เฉยๆ หมายถึงว่า จิตหลุดจากคำบริกรรมไป นั่นจิตมันรวม จิตมันสงบ แล้วเราก็ไม่ต้องหันมาบริกรรมอีก ความสงบอยู่ไหนก็ตั้งสติอยู่นั้น แล้วกำหนดดูอาการของสมาธินั้นเป็นอย่างไร แล้วก็ต้องจำให้ชัดเจน จิตของเราสงบแล้ว นี่ให้รู้จักว่าจิตของเราสงบแล้ว

กุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงก็ไปรวมอยู่ที่จิตที่สงบนั้นเอง ที่สูงสุดอยู่ตรงนี้ หาที่อื่นไม่พบ จิตที่สงบนั้นคือตัวบุญ เราต้องจำให้ชัด เวลาเรารู้ เรารู้เอง มันผุดขึ้นมาในจิตของเราให้รู้เฉพาะตน นั่นละตัวบุญที่แท้จริง แล้วไปหาที่อื่นไม่พบหรอก บุญ ต้องหาจากจิตจากใจของเรา ถ้าจิตของเราสงบ บุญเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องไป
หาที่อื่น หาที่อื่นก็ไม่พบ บุญกับบาปก็ประจำอยู่แล้วทุกๆคนนั่นแหละ แต่บุญคือ ความสุข บาปคือความทุกข์ ทำจิตของเราให้สงบแล้ว หมายความว่าเราทำบุญ เกิดแล้วจิตไม่มีตัวตนอะไรหรอก แต่มันมีประจำอยู่แล้วในคนทุกๆคน

จิตก็คือพุทธะ พุทธะคือจิต จิตคือพุทธะสิ่งสูงสุด ย่อมรวมสิ่งทุกสิ่งลงในตัวมันทั้งหมด นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วทั้งหลาย เป็นที่สุดในเบื้องสูง ลงไปจนกระทั่งถึงสัตว์ประเภทที่ต่ำต้อยที่สุด ทั้งสัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่างๆ เป็นที่สุดในเบื้องต่ำ สิ่งเหล่านี้ย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะเท่ากันหมด แล้วทุกๆสิ่งนี้เนื้อหาเป็นอันเดียวกับจิตหนึ่งนั้น ดังนั้นสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็มีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันกับพุทธะอยู่แล้ว ตลอดเวลา ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถทำความเข้าใจในจิตของเราเองนี้ให้สงบ เราค้นพบธรรมชาติอันแท้จริงของเราเองได้ ด้วยความเข้าใจอันนี้เท่านั้น มันก็ไม่มีอะไรที่เราจะต้อง
แสวงหาแม้แต่อย่างใดเลย

จิตของเรานี้ถ้าเราทำความสงบอยู่จริงๆ เว้นจากความคิดนึก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิต แม้น้อยที่สุดเสียได้จริงๆ คล้ายๆกับมันจะปรากฏออกมาเป็นของว่าง แล้วเราก็จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป ไม่กินเนื้อที่อะไร อะไร แม้แต่จุดเดียว และเป็นสิ่งที่มีความเป็นอยู่หรือไม่มีความเป็นอยู่แม้แต่ประการใดเลย แต่จิตนี้เรารู้ด้วยอายตนะไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นครรภ์หรือเป็นกำเนิด ซึ่งไม่อาจมีใครทำให้เกิดขึ้น และไม่อาจ ถูกทำลายด้วยประการใดได้เลย ในการทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆนั้น มันเปลี่ยนรูปตัว มันออกมาเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อสะดวกในการพูดก็พูดถึงจิตในฐานะที่เป็น
ตัวสติปัญญา แต่ในขณะที่มันไม่ได้ทำการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่ได้เป็นตัวสติปัญญา คือสร้างสิ่งต่างๆนั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจพูดกล่าวถึง ในการที่จะบัญญัติว่ามันเป็นความที่มีอยู่ หรือไม่ใช่ความที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้นอีก แม้ขณะที่มันทำหน้าที่สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมา ในฐานะที่ตอบสนองต่อกฎของความเป็นเหตุ เป็นผลซึ่งกันและกันนั้น มันก็ยังเป็นสิ่งที่เรารู้ไม่ได้ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น
กาย และมโนทวารนั่นเอง

ถ้าเราทราบตามเป็นจริง เราทำความสงบ และสงบอยู่ในภาวะแห่งความไม่มีอะไร ในขณะนั้น พวกเรากำลังเดินอยู่แล้วในทางแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยแท้จริงนี้เราควร เจริญจิต ซึ่งหยุดอยู่ ในความไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น

ที่มา : http://solardogwp.wordpress.com
เครดิตภาพ : Google

วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ღ กัลยาณมิตร ღ

กัลยาณมิตร คือ มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย เพื่อนที่คอยช่วยเหลือเพื่อนอย่างจริงใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน เป็นมิตรที่หวังดี มีสิ่งดี ๆ ให้กันด้วยความจริงใจ

คุณสมบัติของกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตรธรรม 7)
1. ปิโย น่ารัก ในฐานเป็นที่สบายใจและสนิทสนม ชวนให้อยากเข้าไปปรึกษา ไต่ถาม
2. ครุ น่าเคารพ ในฐานประพฤติสมควรแก่ฐานะ ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจ เป็นที่พึ่งใจ และปลอดภัย
3. ภาวนีโย น่าเจริญใจ หรือน่ายกย่อง ในฐานทรงคุณ คือ ความรู้และภูมิปัญญาแท้จริง ทั้งเป็นผู้ฝึกอบรมและปรับปรุงตนอยู่เสมอ ควรเอาอย่าง ทำให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
4. วตฺตา จ รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไรควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือน เป็นที่ปรึกษาที่ดี
5. วจนกฺขโม อดทนต่อถ้อยคำ คือ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถามคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์ อดทน ฟังได้ไม่เบื่อ ไม่ฉุนเฉียว
6. คมฺภีรญฺจ กถํ กตฺตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อน ให้เข้าใจ และให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
7. โน จฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่แนะนำในเรื่องเหลวไหล หรือชักจูงไปในทางเสื่อมเสีย

ที่มา : http://th.wikipedia.org
เครดิตภาพ : google