วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ ทางสายเอกแห่งการหลุดพ้น ♦


ถ้าใครบริกรรมอยู่สังเกตดูว่า ยังไงก็ต้องติดสภาวะ และไม่สามารถหลุดพ้นได้ เพราะที่สุดแห่งบริกรรมก็ต้องวาง เพราะการบริกรรมนี่ เรียกว่าไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะความคิดและอารมณ์ต่างๆมันไม่เที่ยง
ฉะนั้นเมื่อคนที่บริกรรมทับความคิดนี่เรียกว่า เหมือนหินทับหญ้าเมื่อเอาหินออกหญ้าก็ขึ้นมาใหม่ไม่สามารถตัดกิเลสได้ เหมือนกัน.. ผู้ปฏิบัติต้องเห็นตามความเป็นจริงว่า ความคิดหรืออารมณ์หรือเวทนามันไม่เที่ยง ต้องอิงหลักไว้ ถ้านักปฏิบัติไม่มีหลักก็จะไขว้เขว นักปฏิบัติต้องเรียนรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า...♦ เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค♦ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เป็นที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียวเป็นไปในที่แห่งเดียว”
การเจริญวิปัสสนานั้นมีอย่างเดียว ที่ว่ามีหลายอย่างนั้นคือสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนานั้นต้องยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อย่างเดียว
คนที่ไม่ได้เข้าถึงก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วยังไม่แจ้ง เมื่อไม่แจ้งก็ไม่แทงตลอด ♦ความลึกย่อมหลุดจากจิต♦ และการฝึกจิตจึงไม่ต้องบริกรรมภาวนา เพราะที่สุดแห่งบริกรรม ก็ต้องเข้าสู่ความว่าง
พระพุทธเจ้าเรียกการเกิด - ดับ ว่าจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้างดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน การปฏิบัติต้องเป็นอากาลิโก คือ ไม่เลือกการเวลา ทำได้ตลอด เมื่อรู้สึกไปกลางหน้าอกบริเวณลิ้นปี่ เรียกว่าเห็นการเกิด - ดับ เป็นภายใน
พระพุทธเจ้าอุปมาเรื่องจิตเหมือนตาน้ำผุด ตาน้ำผุด...มันก็ วุบ วุบ เมื่อเรารู้สึกไปเรื่อยเรื่อยแม้แต่จิตเกิด - ดับมันก็ไม่เที่ยง เรียกว่า สัพเพ ธมฺมา นาลฺ อภินิเวสาย (สภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น)
แม้แต่ที่บอกว่าอาณาปานสติ บางคนไปดูลมที่ตรงจมูกนั่นเรียกว่าดูลม แม้แต่ลมก็ไม่เที่ยง อาณาปานสติคือสูดลมหายใจเข้าไปภายในและที่ให้รู้สึกไปที่กลางหน้าอกบริเวณลิ้นปี่ซึ่งเป็นฐานของจิต เมื่อรู้สึกไปเรื่อยๆก็จะหลุดพ้น 7 วัน 7 เดือน 7 ปี สามารถสำเร็จ คือ จิตก็จะหลุดพ้นและต้องเห็นเอง เหมือนกลอนที่แต่งไว้ ตอนจบ เหมือนพระจันทร์ทอแสงผ่องอำพัน จิตดวงนั้นเป็นวิมุติหลุดพ้นเอย.....
และเวทนาที่นักปฏิบัติไม่ควรยึดมั่นกับกายนอก นั่งทน นั่งนาน ยืนเดิน นั่ง นอน เวทนาเจ็บทางร่างกายก็เปลี่ยนอิริยาบถ เพราะร่างกายนี้ไม่เที่ยงอยู่แล้วไม่ควรยึดมั่น ...
ที่นักปฏิบัติต้องดูแลคือตามรักษาจิตที่กลางหน้าอก บริเวณลิ้นปี่ เมื่อมีจิตเป็นที่เกาะแล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ และจะเห็นความคิดว่า "มันไม่เที่ยง" และจิตมันก็จะไม่ยึดมั่นด้วยตัวของมันเอง และต้องมีอาตาปีคือมีความเพียร เมื่อ ดูจิตไปเรื่อยๆจะคุ้ยอาสวะกิเลส หรือการตัดกรรมนั่นเอง มันคุ้ยออกมาตลอด และเมื่อเข้าสู่ความว่าง นักปฏิบัติต้องนิ่งในสภาวะนั้นอย่าพึ่งประมาท จนกว่าจะบวชและหลุดพ้น
ที่มา : http://www.thammatipo.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น