วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ เส้นทางตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ♦


หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือว่า ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ พระองค์ทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้พระองค์ต้องรู้ ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ

ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์ สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้ รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์ ที่เกิดดับกับจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงใน ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ในสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ


คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์อันใด ที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่ เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้นก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์ เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต

ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์ พระองค์ก็กำหนดว่า นี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่า เป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุ ทุกข์นี่มันเกิดมาจากเหตุอะไร ทุกข์อันนี้เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความยินดี และความยินร้าย


ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่างเป็นภวตัณหา ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้พระองค์รู้ซึ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบ และตรัสรู้เองโดยชอบ

ที่มา : http://www.dhammajak.com/

1 ความคิดเห็น:

  1. _/|\_ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเศียรเกล้า

    ความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เป็นผลจากการที่จิตได้รับรายงานจากอายตนะทั้งหก อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทั้งสิ้น...เมื่อไหร่ที่รู้สึกสบาย จิตก็จะปรุงแต่งเป็นความพอใจหรือโลภะ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ลำบาก รู้สึกไม่สบาย ก็จะเกิดความไม่พอใจ จิตจะปรุงแต่งเป็นโทสะ...พระพุทธเจ้าสอนเราให้ปฏิบัติตนในหลักมัชฌิมาปฏิปทา คือ ‘ทางสายกลาง’ ทำอะไรให้พอดี ๆ อย่าตึง...อย่าหย่อนจนเกินไป...ชีวิตนี้ก็อยู่ได้อย่างสุข สงบ และร่มเย็น

    ตอบลบ