วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ การรู้ธรรม เห็นธรรม ♦


ส่วนมากเรามักจะเข้าใจกันว่า การรู้ธรรมเห็นธรรมคือต้องเห็นสังขารไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เห็นโครงกระดูกแล้วรู้ว่า เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราไปหมายเอาหมวดใหญ่ที่ท่านเขียนเอาไว้ในคัมภีร์การตีความหมายอย่างนั้นก็ไม่ผิด เป็นการถูกต้องกับการรู้ธรรมเห็นธรรมโดยธรรมชาติที่จิตมันจะรู้เองด้วยพลังของสติสัมปชัญญะ แต่เราจะไปรู้ในกฎเกณฑ์ที่ท่านวางไว้เป็นแบบฉบับเท่านั้นไม่ได้ การรู้ธรรมเห็นธรรมโดยธรรมชาติมันจะต้องรู้ขึ้นมาเอง เป็นกระท่อนกระแท่น ไม่ติดต่อสืบเนื่องกันเป็นเรื่องยืดยาว การรู้ธรรมเห็นธรรมขอกำหนดหมายอย่างนี้


๑. คือการรู้ว่าจิตของเราคืออะไร เห็นว่าจิตของเราคืออะไร เป็นเบื้องต้น


๒. เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์ก็รู้ว่าจิตสัมผัสรู้อารมณ์


๓. เมื่อจิตสัมผัสรู้อารมณ์แล้วมีอะไรเกิดขึ้น จิตของเรายินดีไหม จิตของเรายินร้ายไหม จิตของเราพอใจไหม หรือเกลียดในอารมณ์นั้นในเมื่อรู้ว่ายินดีหรือยินร้ายเกลียดหรือชอบ ก็ดูต่อไปว่าความเกลียดและความชอบบังเกิดขึ้นภายในจิตเป็นอย่างไร ทำให้จิตร้อนหรือเย็น ทำให้จิตสุขหรือทุกข์ ถ้าหากว่าจิตรู้สึกสุขก็ผ่านไป แต่ถ้าจิตของเรารู้สึกทุกข์ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นมานั้นเป็นความร้อนภายในจิต เรารู้ความร้อนของจิต

ในเมื่อเรารู้ความร้อนของจิตแล้ว ความร้อนเป็นทุกข์ เราจะต้องถามหาเหตุว่าทุกข์นั้นเกิดมาจากอะไร


ในเมื่อจิตรู้ว่าความทุกข์นั้นเกิดขึ้นมาจากอำนาจของโลภะ เกิดมาจากอำนาจของโทสะ เกิดมาจากอำนาจของโมหะ จิตมันก็จะยอมรับว่าไฟ คือ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นอันว่าจิตรู้ธรรมเห็นธรรม คือเห็นทุกข์ในจิต เห็นสุขในจิต


ในเมื่อจิตเห็นทุกข์คือจิตร้อน เพราะไฟโลภะ โทสะ โมหะ ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างไร เราจะไล่ความร้อนของไฟโลภะ โทสะ โมหะ ให้หายไปอย่างนั้นหรือ เราไม่มีทางจะไปตั้งใจไล่ เพราะจิตของเราเกิดความชินชาต่อการปรุงกิเลส ให้เกิดไฟโลภะ โมหะ โทสะ แล้วถ้าไม่มีทางที่จะขับไล่ ไม่มีทางที่จะละ เราจะทำอย่างไร เราก็ทำสติกำหนดรู้ คือรู้ว่ามันเป็นไฟโลภะ โทสะ โมหะ รู้ว่าฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะ มันทำจิตให้ร้อน ให้ดูความร้อนที่มีอยู่ในจิต ดูความเย็นที่มีอยู่ในจิต จนกระทั่งจิตรู้ซึ้งเห็นจริงลงไป แล้วจิตยอมรับความเป็นจริงว่า ฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะนี้เป็นไฟเผาให้ร้อน มันร้อนอย่างนี้หนอ เมื่อจิตยอมรับความจริงแล้วก็เกิดความเข็ดหลาบในตัวของมันเอง ภายหลังมันก็จะไม่สร้างเหตุเดือดร้อนให้เกิดขึ้นมาอีก เปรียบเหมือนคนเรา ที่เราว่าถ่านไฟมันร้อน เมื่อมีใครนำถ่านไฟร้อนมาวางไว้ตรงหน้าเรา แล้วบอกกับเราว่า ดูซิ ถ่านไฟนี้มันสวย ดูซิมันเย็น แต่เรารู้แล้วว่าถ่านไฟนี้มันร้อน เราก็จะไม่ไปจับถ่านไฟนั้น ในทำนองเดียวกัน ในเมื่อจิตมันรู้ฤทธิ์ของโลภะ โทสะ โมหะ อย่างแท้จริงแล้ว ยอมรับสภาพความเป็นจริงแล้ว มันก็จะไม่ก่อเรื่องให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นมาอีก มีแต่ค่อยพิจารณาปลดเปลื้องโลภะ โทสะ โมหะ ของเก่าที่มีอยู่ให้ลดน้อยลง เบาบางลงไป


การปฏิบัติธรรมสำคัญอยู่ที่การทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก การภาวนาพุทโธก็ทำพุทโธให้เป็นสิ่งรู้ของจิต เป็นสิ่งระลึกของสติ การภาวนายุบหนอ-พองหนอ ก็ทำยุบหนอ-พองหนอให้เป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ การภาวนาสัมมาอรหัง ก็ทำสัมมาอรหังเป็นสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ ทั้งหลายเหล่านี้ หรืออย่างอื่นๆก็ตาม ใครภาวนาแล้ว เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็ต้องทำจิตให้เป็นวิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาเหมือนกัน


สมาธิเป็นสัจธรรม เป็นของจริง ในเมื่อสัจธรรมของจริงคือสมาธิมีอยู่ ใครจะรู้แตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายอย่าไปยึดมั่นอยู่เพียงวิธีการเท่านั้น ขอให้ทุกท่านพิจารณาดูความจริงที่จะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา ในขณะที่เราภาวนา สมาธินี้เป็นของจริง ใครจะภาวนาแบบไหน อย่างไร จะเกิดมีแนวโน้มเป็นอย่างเดียวกันทั้งหมด และขอเตือนไว้อีกอย่างหนึ่งว่า การรู้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ก็ดี สิ่งที่เราเห็นในระหว่างจิตมีสมาธิ สงบ สว่าง เราเห็นนิมิตต่างๆ เกิดอุทานธรรมขึ้นมาก็ดี สิ่งนั้นเป็นเพียงสิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติ เมื่อเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นแล้วให้เราทำสติไว้ให้ดี.



ที่มา : มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

วันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♥ แก่นสารของความรัก ♥

การมีคนรัก ไม่ได้หมายความว่าคุณรู้จักรัก


ความรู้สึกแสนดี การมีเรื่องประทับใจ ได้ช่วยกันสานสายใยผูกพัน เป็นเพียงเปลือกนอกของความรัก


"เนื้อแท้ของความรัก... คือการมีกันและกันในยามยาก"


@..แก่นสารของความรัก...คือการรู้ทางที่จะร่วมกอดคอเดินหน้าไปสู่ความดับทุกข์...ไม่เหลือแม้น้ำตาอาลัยในยามตาย...@

ที่มา : ดังตฤณวิสัชนาฉบับรู้จักรัก



♥ ในหลวงในรอยธรรม ♥


พระราชปุจฉา กับ หลวงปู่ดูลย์ อตุโลณ


พระราชปุจฉา : หลวงปู่ การละกิเลสนั้น ควรละกิเลสอะไรก่อน


หลวงปู่ดูลย์ : กิเลสทั้งหมดเกิดรวมอยู่ที่จิต ให้มองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อน ให้ละอันนั้นก่อน"


ที่มา : ในหลวงในรอยธรรม โดย...ดนัย จันทร์เจ้าฉาย

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♥ ควานรัก กับ สัจจธรรม ♥


"การสูญเสียเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักร ไม่มีอะไรอยู่กับเราตลอดไป ไม่มีอะไรจากเราไปตลอดกาล ถ้าคลี่เวลาออกเป็นเส้นตรงและสามารถเห็นได้จริงทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคตพร้อมกัน เราคงเห็นตัวเองได้ของรักแล้วเสียของรัก หัวเราะแล้วร้องไห้ พบแล้วพลัดพราก ย้อนเวียนกลับไปกลับมา สลับกันเป็นสายโซ่ยืดยาว"(ทางนฤพาน บทที่ ๑๔ ร่วมทาง)
ธรรมชาติจะบังคับให้เราทิ้งทุกคนไปอยู่ดี เราเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เรารักและหวังหอบหิ้วใครไปด้วยก็ตาม พวกเราต่างก็เป็นนักเดินทางผู้โดดเดี่ยว มาสวมหัวโขนเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง คนรัก เพื่อน ศัตรู หรืออะไรอื่นเดี๋ยวเดียว แล้วก็ต้องตายจากไปเป็นอื่น แม้ในชาติเดียวกันก็อาจเป็นอะไรหลาย ๆ ฐานะ บางคนเดินชนไหล่หรือเหยียบเท้าใครอีกคนบนถนน ทะเลาะกันเลือดขึ้นหน้าเป็นพัก กว่าจะจำได้ว่าเคยเป็นเพื่อนรักสุดรักสมัยประถมมัธยมที่เคยอยากไปไหน ๆ ด้วยกันตลอดชีวิต แต่พอห่างกันมาก ๆ เจออีกทีอาจกลายเป็นศัตรูก็ได้ เราต่างถูกหลอกว่ามีคนรักและเครือข่ายญาติมิตร ทั้งที่จริงทุกคนไม่มีแม้แต่เงาติดตามตัวเองไปได้ตลอด(๗ เดือนบรรลุธรรม เดือนที่ ๕)
มนุษย์เราถูกหลอกให้หลงติด หลงร้องไห้คร่ำครวญกับสิ่งที่วันหนึ่งต้องทิ้งไปไม่ว่าจะได้อะไรมาแค่ไหนก็เสียไปแค่นั้น หลงทำบาปทำกรรมติดตัวไปภพหน้ากันก็เพียงเพราะยังติด ยังไม่รู้ด้วยกันทั้งสิ้นตัวผู้รัก ผู้ถูกรัก ผู้สมหวัง ผู้ผิดหวัง ปรากฏมีสาระอยู่แต่ในจิตอันปรุงแต่ง เสกปั้นสรรค์ไป จูงให้เราหลงไป เพ้อไป ปราศจากแก่นสาร (ทางนฤพาน บทที่ ๑๖ ฝันร้าย)
ปกติเวลาเราฟุ้งซ่านถึงใคร เราจะรู้สึกว่าเขามารบกวนเรา เราจะมีปฏิกิริยาทางใจกับเขาเป็นชอบ เป็นชังยิ่ง ๆ ขึ้นทุกครั้งที่เขามาอยู่ในหัวของเรา ทั้งที่ตัวจริงของเขาไม่ได้มาอยู่ตรงนั้นเลย(๗ เดือนบรรลุธรรม สรุปเดือนที่ ๔)บทสรุปหนึ่งก็คือว่า รักแท้น่ะมีจริง แต่ที่จริงกว่านั้นคือกิเลสหมายความว่าถ้ามองตามสายตาทางโลกก็ต้องว่ามี แต่ถ้ามองตามสายตาทางธรรมก็ต้องว่ารากของรักแท้นั้นมาจากกิเลสนี่เอง ที่รักแท้จะมีอันต้องกลับกลายเป็นรักเก๊ ก็ด้วยกิเลสอันเดียวกันอีกนั่นแหละโดยมีตัวแปรเช่นบุคคล เวลา และสถานการณ์มาร่วมสมการกิเลสกิเลสมากก็ทุกข์มาก กิเลสน้อยก็ทุกข์น้อยสมดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์(ทางนฤพาน บทที่ ๒๘ วังวน)“พระพุทธองค์ท่านตรัสว่าคนเรามีรักร้อยก็นับว่าทุกข์ร้อย มีรักสิบก็นับว่าทุกข์สิบ มีรักหนึ่งก็นับว่าทุกข์หนึ่ง หากไม่มีรักเลย ก็แปลว่าไม่ต้องมีทุกข์เพราะรักเลยเช่นกัน… สรุปคือ ความรักเป็นแค่รูปแบบหนึ่งของความทุกข์เท่านั้น ต่อให้รักกันยืดยาวจนแก่เฒ่า วันหนึ่งก็ต้องทุกข์ใหญ่หลวงเพราะความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักอยู่ดี”(กรรมพยากรณ์ : ชนะกรรม ตอนที่ ๓๓ คู่มือนักฆ่าตัวตาย)
การเกิดใหม่ช่างเป็นอะไรที่ไม่เหมือนเดิม ไม่มีอะไรประกันความแน่ใจ และไม่มีใครจำใครได้ เหมือนเล่นซ่อนหาชนิดปิดทางพบเจอ ทำให้ณชะเลมองความสัมพันธ์ทั้งหลายเป็นเรื่องหลอกลวง ถึงแม้พยายามเป็นที่พึ่งให้กันก็เป็นไปได้แค่เดี๋ยวเดียว แล้วต่างต้องแยกย้ายไปเสวยกรรมตามวิบากแห่งตน ไม่อาจนัดหมายว่าจะไปเจอกันที่ไหน เมื่อไหร่ ในสภาพเช่นใดเลย(กรรมพยากรณ์ : เลือกเกิดใหม่ ตอนที่ ๔๑ คนอยู่ข้างหลัง)
อยู่ในสังสารวัฏ ท่องเที่ยวเกิดตายไปเรื่อย ๆ นั้นแม้สิ่งหนึ่งสิ่งเดียวที่สังสารสัตว์หวังฝากไว้ให้อบอุ่นใจ คือความรัก ความมั่นคงของเนื้อคู่ที่จะติดตามกันไปทุกภพทุกชาติเอาเข้าจริงก็แค่ความไม่แน่นอนอีกชนิดหนึ่งความแปรปรวนเป็นอื่นได้อีกชนิดหนึ่งภพชาติ ความสัมพันธ์ และสายใยต่างๆนั้นซับซ้อนมีความไม่แน่นอนเป็นความหวังได้ด้วยเหตุปัจจัยอันลึกลับเกินหยั่งทำใจไว้แต่แรกว่าเราทุกคนเป็นนักเดินทางผู้โดดเดี่ยว จะได้สบายใจในระยะยาวความรักชั้นสูงคือความรักพระนิพพานครับเมื่อรักพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติสูงสุดเหนือสมมุติได้บุคคลย่อมไม่หลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต่ำกว่านั้นแบบยอมตายถวายชีวิตอีก
ที่มา : ดังตฤณ

♥ ความรักในกรรม (มือ)♥



สังสารวัฏปกปิดเงื่อนงำ เวลาผ่านไปเราก็ลืมเริ่มต้นก็ถูกเข้าใจผิดความรักตนเอง หลงว่ามีตนเองถูกกิเลสครอบงำ ทำกรรมทำร้ายคนอื่นด้วยความไม่รู้ว่ากิเลสกำลังเผาใจ เผาคนอื่นและเป็นเชื้อให้เผาตนเองอีกในอนาคตพอต้องรับผลกรรม โดนกระทำ ก็ลืมไปว่าตนเป็นผู้ทำมาอาฆาตแค้น ไม่ยอมอภัยคนที่มาทำกับเราวงจรเป็นเช่นนี้ ทุกคนถูกปกปิดด้วยความไม่รู้อย่างเดียวกัน






"แท้ที่จริงโลกของเรามันคือโลกของกรรมที่เราทำที่ต้องรับเพราะสร้างเองแต่ผู้เดียวคนอื่นก็เป็นหุ่นชักใยโดนหลอกแบบเดียวกันเขาก็ต้องไปรับกรรมที่เขาสร้างของเขา" "ไม่มีใครทำร้ายใครหรอก มีแต่กรรมที่เราทำทั้งที่กระทำไป ทั้งที่พูดไป ทั้งที่คิดต่อ ที่ทำร้ายตัวเรา"






เมื่อเราเข้าใจกรรม เราก็เลือกทำกรรมใหม่ที่ดีได้ที่ทำไม่ดีไปแล้ว มันทุกข์ ใครจะหลีกเลี่ยงได้มีสติก็ไม่ถือ ขาดสติก็รับมา แค่นั้นเองตราบใดที่เกิดก็ยังต้องทุกข์ไม่มีทางสิ้นสุดหรอก เรื่องธรรมดา






"โลกหมุนอยู่ด้วยสมมติ ด้วยความคิดของเราที่ไม่อาจจับต้องได้"แต่สิ่งที่ไม่อาจจับต้องได้นี้คละเคล้าอยู่กับกิเลสปั่นหัวเราให้หมุนให้ทุกข์ตลอดน่าจะถึงเวลาที่เราจะพยายามแสวงหา ทางรู้ ทางตื่น ออกจากโลกเสียทีหยุดสร้างโลก ให้มีให้เป็นเพิ่ม แต่หันมาสร้างธรรมให้เกิดมีในใจมากขึ้นๆ






ฉันเองสนใจอยากรู้สาระของการเกิดตั้งแต่เด็กมาเรียนรู้เข้มข้นขึ้นเพราะทุกข์มามุ่งมั่นเพิ่มขึ้นเพราะอยากไปกับใครคนหนึ่งแต่เพิ่งมารู้สึกเห็นอะไรชัดเจนขึ้นก็เมื่อตอนย้อนมาดูตนเองมากๆ เพราะทุกข์ในรัก






"แท้จริงความรักมันก็เป็นมายาผลแห่งกรรมที่เราทำอีกอย่างหนึ่ง"ยิ่งจิตใจเราซึมซับธรรมะไว้ในใจมากขึ้นเท่าไหร่เราจะยิ่งเข้าใจความรักที่แท้จริงได้มากขึ้น






ฉันเคยฝันที่จะมีรักแท้กับเขาเหมือนกันฝันว่าจะมีคนที่เรารักเขามากๆ เขารักเรามากๆ อยู่ด้วยกันตลอดไปจนมาศึกษาธรรมะมากขึ้นก็ได้เข้าใจมากขึ้นว่ามันไม่มีอยู่จริง"เพราะอะไรที่แท้มันคือความไม่แปรเปลี่ยนแต่รักของคนบนโลกมันยังมีขึ้นมีลงตามอารมณ์นั่นไม่ใช่ความรัก แต่นั่นคือการทำตามกรรม ตามกิเลสต่างหาก"






"ความรักที่แท้ต้องเริ่มสร้างจากตัวเราตราบเท่าที่ใจเรายังไม่เต็มไม่สมบูรณ์เราก็ไม่สามารถพบความรักที่ไม่พาให้ทุกข์ได้"






ถ้ายิ่งเข้าใจธรรมะ เราจะยิ่งรู้จักรักเป็นโดยลำดับเมื่อเรารู้จักรักด้วยธรรมแล้ว เราจะไม่สนใจต้องคอยความรักจากอีกฝ่าย หรือจากใครเลยด้วยซ้ำ






"เพราะรักในธรรม มันไม่มีตัวตนไม่เจือด้วยกิเลสความอยาก ความติดใจยึดถือความเคียดแค้นเมื่อไม่ได้ดังหวัง"






ถ้าเราเข้าใจกรรม เข้าใจจิตใจตนเองเราจะเข้าใจว่า ที่จริงแล้วเขาจะรักเรามากเราน้อย มันควรจะขึ้นอยู่กับว่าเขารักเรามากเราน้อยแต่ในแง่ความเป็นจริงเราจะรับได้มากหรือน้อยมันขึ้นอยู่กับตัวเรา กรรมเรา ใจเราที่เปิดรับ ใจเราที่คิดไป






เราไม่มีทางรู้ได้จริงๆหรอกว่าใครรักเรามากน้อย จริงไม่จริงรับรู้ได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่มีทางรู้ได้ทั้งหมดที่เป็นแบบนี้ก็เพราะมันขึ้นอยู่กับกรรมของเรา ของใครของมันที่เลือกสร้างเหตุไว้ และรับได้แค่ไหนเพราะกรรมมันส่งที่ความรู้สึก






ความสุขของเราจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนอื่นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขาไม่รักเขารักมาก เขารักน้อยเขาให้หรือไม่ให้อะไรอย่างที่ใจเราต้องการแต่มันขึ้นอยู่กับกรรมของเราที่สมควรจะได้อะไรมีความสุข มีความทุกข์แค่ไหนและมันขึ้นอยู่กับความพอใจของเราที่เราเลือกจะคิดจะเป็น






คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ตรงจุดนี้คิดว่าเรามีความสุขจากการได้ จากคนอื่น จากสิ่งอื่นเราก็เลยเป็นคนช่างขอ ช่างคาดหวังพอไม่ได้ดังใจก็ทุกข์ ก็มีปัญหา ก็ทะเลาะ ก็เลิก ก็เปลี่ยนคนสร้างความสุขให้ตนเองไม่เป็น แล้วยังสร้างปัญหาให้กับคนอื่นและมันก็ย้อนกลับมาที่ตัวไปเรื่อยๆ ไม่ได้ออกจากวงจรซะที






ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว หันมาสร้างธรรมในใจตนเองให้สมบูรณ์ดีกว่าอย่าหวังให้ใครเปลี่ยนหรือสร้างอะไรเลย"สุดท้ายจะมีความสุขก็เพราะเราทำกรรมเลือก"






และถ้าไม่อยากเหนื่อยต้องทุกข์แล้วสุข สุขแล้วทุกข์ไปเรื่อยๆก็เพียรหาทางออกจากวงจรนี้เสียเถอะโอกาสที่เราจะเกิดมาในชาติที่ยังมีพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นมีไม่มากถ้าพลาดโอกาส ก็จะต้องมาหลงโลก หลงทุกข์ไปเรื่อยๆ






พระอริยะสาวกหลายรูปสละความรักความหลงในโลกเพื่อแลกธรรม พ้นโลกพระพุทธองค์เองครั้งเมื่อชาติสุดท้ายก็ยอมสละความสุขจากทรัพย์สมบัติอันบริบูรณ์หาใครเทียบแม้แต่พระมเหสีและบุตรอันเป็นที่รักก็ทรงสละ เพื่อมาค้นพบสัจธรรมและนำมาเผยแพร่แก่ชาวโลกเมื่อเรามีทุกข์ในรักที่ไม่สมบูรณ์ เราจะสละออกจากใจเพื่อมาค้นหาธรรมไม่คุ้มหรือ :)








ที่มา : http://www.dharmamag.com/

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ ทางสายเอกแห่งการหลุดพ้น ♦


ถ้าใครบริกรรมอยู่สังเกตดูว่า ยังไงก็ต้องติดสภาวะ และไม่สามารถหลุดพ้นได้ เพราะที่สุดแห่งบริกรรมก็ต้องวาง เพราะการบริกรรมนี่ เรียกว่าไม่เห็นตามความเป็นจริง เพราะความคิดและอารมณ์ต่างๆมันไม่เที่ยง
ฉะนั้นเมื่อคนที่บริกรรมทับความคิดนี่เรียกว่า เหมือนหินทับหญ้าเมื่อเอาหินออกหญ้าก็ขึ้นมาใหม่ไม่สามารถตัดกิเลสได้ เหมือนกัน.. ผู้ปฏิบัติต้องเห็นตามความเป็นจริงว่า ความคิดหรืออารมณ์หรือเวทนามันไม่เที่ยง ต้องอิงหลักไว้ ถ้านักปฏิบัติไม่มีหลักก็จะไขว้เขว นักปฏิบัติต้องเรียนรู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า...♦ เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค♦ “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางสายเอก เป็นที่ไปแห่งบุคคลผู้เดียวเป็นไปในที่แห่งเดียว”
การเจริญวิปัสสนานั้นมีอย่างเดียว ที่ว่ามีหลายอย่างนั้นคือสมถกัมมัฏฐาน วิปัสสนานั้นต้องยกจิตขึ้นสู่พระไตรลักษณ์อย่างเดียว
คนที่ไม่ได้เข้าถึงก็ไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วยังไม่แจ้ง เมื่อไม่แจ้งก็ไม่แทงตลอด ♦ความลึกย่อมหลุดจากจิต♦ และการฝึกจิตจึงไม่ต้องบริกรรมภาวนา เพราะที่สุดแห่งบริกรรม ก็ต้องเข้าสู่ความว่าง
พระพุทธเจ้าเรียกการเกิด - ดับ ว่าจิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้างดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน การปฏิบัติต้องเป็นอากาลิโก คือ ไม่เลือกการเวลา ทำได้ตลอด เมื่อรู้สึกไปกลางหน้าอกบริเวณลิ้นปี่ เรียกว่าเห็นการเกิด - ดับ เป็นภายใน
พระพุทธเจ้าอุปมาเรื่องจิตเหมือนตาน้ำผุด ตาน้ำผุด...มันก็ วุบ วุบ เมื่อเรารู้สึกไปเรื่อยเรื่อยแม้แต่จิตเกิด - ดับมันก็ไม่เที่ยง เรียกว่า สัพเพ ธมฺมา นาลฺ อภินิเวสาย (สภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น)
แม้แต่ที่บอกว่าอาณาปานสติ บางคนไปดูลมที่ตรงจมูกนั่นเรียกว่าดูลม แม้แต่ลมก็ไม่เที่ยง อาณาปานสติคือสูดลมหายใจเข้าไปภายในและที่ให้รู้สึกไปที่กลางหน้าอกบริเวณลิ้นปี่ซึ่งเป็นฐานของจิต เมื่อรู้สึกไปเรื่อยๆก็จะหลุดพ้น 7 วัน 7 เดือน 7 ปี สามารถสำเร็จ คือ จิตก็จะหลุดพ้นและต้องเห็นเอง เหมือนกลอนที่แต่งไว้ ตอนจบ เหมือนพระจันทร์ทอแสงผ่องอำพัน จิตดวงนั้นเป็นวิมุติหลุดพ้นเอย.....
และเวทนาที่นักปฏิบัติไม่ควรยึดมั่นกับกายนอก นั่งทน นั่งนาน ยืนเดิน นั่ง นอน เวทนาเจ็บทางร่างกายก็เปลี่ยนอิริยาบถ เพราะร่างกายนี้ไม่เที่ยงอยู่แล้วไม่ควรยึดมั่น ...
ที่นักปฏิบัติต้องดูแลคือตามรักษาจิตที่กลางหน้าอก บริเวณลิ้นปี่ เมื่อมีจิตเป็นที่เกาะแล้วไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ปฏิบัติได้ และจะเห็นความคิดว่า "มันไม่เที่ยง" และจิตมันก็จะไม่ยึดมั่นด้วยตัวของมันเอง และต้องมีอาตาปีคือมีความเพียร เมื่อ ดูจิตไปเรื่อยๆจะคุ้ยอาสวะกิเลส หรือการตัดกรรมนั่นเอง มันคุ้ยออกมาตลอด และเมื่อเข้าสู่ความว่าง นักปฏิบัติต้องนิ่งในสภาวะนั้นอย่าพึ่งประมาท จนกว่าจะบวชและหลุดพ้น
ที่มา : http://www.thammatipo.com/

♦ ความสงบแห่งจิต ♦

วันพุธที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ หาจิตให้เจอ ♦


"การหาจิตให้เจอ"
โดยพระครูเกษมธรรมทัต (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)

วิปัสสนา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริงการเจริญสติ จึงต้องระลึกให้ตรงกับสภาวธรรมชาติ(จิต - เจตสิก - รูป = ปรมัตถธรรม) ที่เป็นจริง ให้บ่อยๆ เนืองๆ


ถ้าไม่ระลึกตรงต่อปรมัตถ์ ก็จะไปสู่บัญญัติ ไปรู้ที่บัญญัติอารมณ์อันเป็นสมมุติ เป็นของปลอม ไม่มีสภาวะ ไม่มีสภาพความเป็นจริงโดยแท้ไม่มีเกิดดับ ไม่เป็นไตรลักษณ์

เห็นของจริงตามความเป็นจริง ทิ้งสมมุติ เพิกบัญญัติอยู่กับปรมัตถ์ล้วนๆ ให้มากๆ รู้จักปรับ รู้จักปล่อย รู้จักวางไม่ยึด ไม่ติด ไม่เอาอะไรทั้งหมด



ต้องเข้าใจว่า ปรมัตถ์ ไม่ใช่รูปร่าง ท่าทาง ทรวดทรง สัณฐานความหมาย ชื่อ ภาษา - ชื่อหรือภาษาที่จิตคิด นึกถึง จดจำเป็นภาษา-คำ-ประโยค เกิดเป็นอารมณ์ของจิตอันเป็นการอยู่กับ 'บัญญัติอารมณ์'


วิตก-ตรึก / วิจาร-นึก / สัญญา-จำ เคล้าไปในอารมณ์ ปรุงแต่งจิตให้แล่นไปสู่อารมณ์ที่เป็นสมมุติ ปรุงๆ จิตก็มีอารมณ์เป็นเรื่องเป็นราวเป็นสมมุติขึ้นมา (แต่ตัวความตรึก นึก ระลึกรู้ เองนั้นเป็นปรมัตถ์)
ถ้ามาระลึกรู้ที่ปรมัตถ์ เรื่องก็จะขาดลง ภาษา หลุดจากเรื่อง ชื่อความหมาย เรื่องขาดลง คำพูดหาย ภาษา ชื่อภาษา รูปร่าง มโนภาพหายไป ก็คือ เรื่องขาดลง เหมือนฉายหนัง เอาแสงผ่านฟิล์มภาพบนจอเปรียบเสมือนอารมณ์ เป็น สมมุติบัญญัติฟิล์มและแสงเป็นปรมัตถ์ เมื่อฟิล์มขาด ภาพบนจอก็หายไป


ถ้าสติมารู้ความคิด ก็คือ กลับมาสู่ปัจจุบันเรื่องอดีตและอนาคตก็จะหายไปการที่สติอยู่กับอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน อารมณ์ที่เป็นปรมัตถ์จิตก็จะมีความสบาย เบา ผ่องใส เพราะกิเลสถูกขัดเกลาออกไปจิตใจจะปกติขึ้น แต่ถ้าเผลอไปสู่เรื่องอดีต อนาคตก็จะเกิดความยินดียินร้าย โลภ โกรธ หลง ฟุ้งซ่าน ทุกข์ ฯลฯเพราะว่าขาด สติ ดูแลรักษา จิต

ดังนี้ ปัญญาก็จะเกิด

ทางกายก็เช่นกัน สติจะรู้อยู่แค่ที่กาย ไม่ขยายไปสู่รูปร่าง ทรวดทรงสัณฐาน มโนภาพ ของกาย - รู้แค่ความรู้สึก ความไหว ความสั่นสะเทือนความสบาย ความไม่สบาย (ถ้านึกท่าทาง ก็จะไปนึกตีความหมายขยายออกเป็นสมมุติ) เพราะฉะนั้น รู้กาย ก็คือ รู้แค่ความรู้สึกเท่านั้น
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว ตึง กระเพื่อม ล้วนมากระทบ แล้วก็ดับไปเวทนาก็เกิดดับ จิต (ตัวรู้) ก็เกิดดับ


จะต้องระลึกรู้สัมผัสสัมพันธ์ทั้งทางกายและใจ รู้ความไหวทางกายรู้ความไหวทางจิต รู้สัมพันธ์กันไปทั้งส่วนที่เป็นรูปและนามเข้าสู่ความเป็นปกติ ไร้จากการบังคับแม้แต่จิตส่งออกนอกก็ไม่ต้องดึงกลับ (เพราะถ้าดึงกลับก็คือยังไม่ปกติยังบังคับบัญชาอยู่) สติรู้ความคิด เดี๋ยวก็กลับมาเอง


สติเองก็ดับ ระลึกรู้แล้วก็จบ ดับ เพราะฉะนั้น สติต้องเกิดบ่อยๆ เนืองๆเมื่อฝึกมากๆ ขึ้น จะไม่มีการจัดแจง ไม่มีกฎระเบียบว่าจะต้องเอาอะไรไปตรงไหนก่อน แล้วแต่อะไรจะเกิดก็รู้ตรงนั้น เมื่อนั้นพร้อมที่จะรู้เสมอ


จิต มีลักษณะอย่างไรจิต คือ สภาพรู้ รู้อารมณ์นั้น อารมณ์นี้ สภาพดู...สภาพดู นี้เอง ที่จะต้องเข้าไปรู้ตัวของตัวเองจิตที่ปรุงแต่ง คิดนึก ก็รู้ (จิตที่มีเจตสิกปรุงแต่ง)อีกระดับที่รู้ได้ยาก คือ จิตของผุ้ที่ปฏิบัติ มีสติ สัมปชัญญะสงบสำรวม นิ่งอยู่ ไม่คิดอะไร แม้จิตเช่นนี้ ไม่ปรุงแต่งแต่ก็เป็นกระแสของสภาพรู้อยู่ เป็นสภาพรู้อยู่ต้องเข้าไประลึกรู้จักจิตในสภาพนี้ ขณะที่ทรงตัวอยู่ นิ่ง หยุดไม่คิดอะไร เฉยๆ นิ่งๆ แต่ก็เป็นสภาพที่เกิดดับสภาพรู้เกิดดับอยู่เรื่อย ก็จะเห็นตัวเองดับ

เมื่อจิตเข้าไปดูจิต เห็นจิตดับไปอย่างรวดเร็ว และก็ดับไปพร้อมๆ กันจิตเช่นนี้ต้องทวนกระแส หัดดูใกล้ๆ กระชั้น กระชับเข้ามาอย่าขยายออกไปข้างนอก

จิตจะรู้จิตได้ คือ ต้องทำให้มันหยุดอยู่ ไม่แล่นไป ไม่ค้นหาไม่ขวนขวายใดๆ อยู่กับที่ นิ่งๆ เฉยๆ จิตจะทวนเข้ามารู้ตัวเองดูสภาพรู้ (ตัวดู = ตัวรู้ = สภาพรู้ = ผู้รู้ = รู้อารมณ์อยู่)ถึงจิตจะอยู่นิ่ง ก็ยังรู้อยู่ ยิ่งจะไม่ดูก็จะยิ่งรู้ยิ่งจะดูก็จะไม่เห็น ยิ่งทำ ยิ่งค้นหา ก็ยิ่งไม่เห็นแต่ถ้าหยุดดู ก็จะรู้ขึ้น

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติมากๆ ขึ้น คือ หยุดดู หยุดค้นหาจิตจะรู้ตัวเอง เห็นอาการในตัวเอง เห็นความจริงของตัวเองดูผู้รู้ ดูความรู้สึก

ถ้าดูจิตไม่เป็น การปฏิบัติจะไม่ก้าวไปไหนอย่างดีก็มาติดที่ความว่าง กายนิ่ง เพราะเมื่อมีสมาธิ กายจะไม่ค่อยรู้สึกก็จะว่าง ไม่มีอะไรให้ดู ก็จะว่าง เป็นสมถะแต่ถ้าดูจิตเป็น ก็จะเห็นสภาพเกิดดับอยู่เรื่อยๆวิปัสสนาจะไม่ว่างเปล่า มีรูปนามป้อนให้เห็นเกิดดับอยู่ตลอดสติต้องอยู่กับรูปนามตลอดไป

ที่มา :
http://www.larndham.org/




♦ เคล็ดลับการดับทุกข์ ♦

~..เคล็ดลับการดับทุกข์.. ~
โดย...อาจารย์วศิน อินทสระ

1. คิดในทางยอมรับว่า ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นดับไป - นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ- ถึงเราไม่ดับ มันก็ดับไปเองเพราะมันไม่เที่ยง

2. คิดโดยโยนิโสมนสิการว่า ทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะเหตุไร แล้วไปดับที่เหตุ ความทุกข์ก็จะดับไป เหตุแห่งทุกข์มีมาก......
แต่กล่าวโดยสรุปคือ- ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ห้า เป็นทุกข์โดยรวบยอด- เพราะฉะนั้นพึงปฏิบัติเพื่อลดละความยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์เสีย ความทุกข์ก็จะดับไป… ทำยากแต่ก็ทำได้กล่าวโดยสรุปถึง เคล็ดลับการดับทุกข์ของท่านอ.วศิน ก็คือ การยอมรับถึงลักษณะของทุกข์ว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเองในที่สุด จึงไม่ควรผูกใจไว้กับทุกข์อันไม่คงที่ไม่มีตัวตนนั้น และให้ลดละการยึดมั่นถือมั่นในเบญจขันธ์อันเป็นสาเหตุหลักแห่งทุกข์ เมื่อเข้าใจทุกข์เช่นนี้แล้ว ก็จะดับทุกข์ได้โดยปริยายเราคงยังไม่พ้นทุกข์ไปได้ทั้งหมดหรอก

เอาเพียงว่าแค่ “เข้าใจในทุกข์และอยู่กับทุกข์นั้นได้” ก็แล้วกัน

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ อยากลืมอดีตที่ขมขื่น ♦

ถ้าเราอยากจะลืมอดีตที่ขมขื่นนะคะ เราก็จะทุกข์เพราะอดีตอีกแหละค่ะ อย่าทุกข์เพราะคิดที่จะลืมเลย แต่จงทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผ่านมาในอดีต ให้รู้เท่าทันตามความเป็นจริงของมัน จะทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่ผ่านมานั้น เป็นครูที่ดีของเราได้ มันเป็นเพื่อนกับเราได้ โดยที่เราจะเป็นอิสระจากมัน ไม่ต้องคิดลืมค่ะ แต่จงตั้งหลักกับปัจจุบันว่าเรากำลังดำเนินชีวิตของเราอย่างไร เราสามารถที่จะมีห้องแห่งลมหายใจของเราที่จะทำให้เรารู้ว่า ขณะนี้เรามีตัวเองที่สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพในใจของเราให้แข็งแรงในปัจจุบัน ถ้าอย่างนี้อดีตไม่มีอิทธิพลเหนือเราเลยค่ะ มันยังมีอยู่แต่ว่ามันไม่มีอิทธิพลต่อเราในปัจจุบัน เพราะเราเข้าใจมัน สิ่งนี้เราเรียกว่าปัญญาแล้วนะค่ะ การที่เราฝึกให้มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ อย่างคนที่ทันสมัยอย่างแม้จริง รู้ว่าขณะนี้ทำอะไร จิตของเราอยู่กับการทำอย่างคนที่ร่าเริง เบิกบานแจ่มใส มีปัจจุบันขณะ ที่ไม่ทุกข์ อดีตไม่มีอิทธิพลเลยในขณะที่เราไม่ทุกข์ ในปัจจุบันจริงไหมคะ ไม่ต้องคิดลืมให้มันทุกข์หรอกคะ อยู่กับปัจจุบันขณะอย่างคนที่ทันสมัยอย่างแท้จริง คือ เบิกบานแจ่มใส เราก็เป็นอิสระจากอดีตแล้ว เราก็ไม่หวาดระแวงกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึงในอนาคตด้วยนะคะ ปัจจุบันเป็นทั้งอดีตและอนาคตที่เราสามารถมีความสุขได้ อย่างคนที่ช่วยตัวเองได้ ภายในห้องแห่งลมหายใจคือลมหายใจแห่งสติปัญญานั่นแหละค่ะ ขอให้ท่านมีความสุขกับปัจจุบันขณะนะคะ

ที่มา :
www.sathira-dhammasathan.org/

♦ อุปมาเปรียบชีวิตมนุษย์ ๗ ประการ ♦

ธรรมคำสอนหลวงปู่ชอบ ฐานสโม

ชีวิตของมนุษย์ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ย่อมต้องตาย เหมือนสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก เมื่อมีการเกิดแล้ว ก็ย่อมมีการตายติดตามมาเป็นของคู่กัน ธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป การตายจึงเป็นสภาพที่ใครๆ ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ ในปฏิจจสมุปบาท พระพุทธองค์ทรงแสดงว่า สาเหตุหรือปัจจัยแห่งการเกิด คือ อวิชชา และปัจจัยให้เกิดการตายก็คือ การเกิดนั่นเอง เพราะการเกิดเป็นบทเริ่มต้นแห่งชีวิต และในเวลาเดียวกัน การเกิดก็นำไปสู่ความตาย โดยผ่านความแก่ ความเจ็บ ซึ่งเป็นปัจจยาการปรากฏต่อเนื่องกันไปโดยไม่ขาดตอนของชีวิต ในอังคุตรนิกาย ท่านได้อุปมาเปรียบชีวิตมนุษย์ไว้ ๗ ประการ ซึ่งแสดงให้เห็นความจริงของชีวิต ที่จะต้องเกิด-ดับ เกิดมาแล้วย่อมต้องตาย ช่วงแห่งการมีชีวิตอยู่นั้นสั้นนัก และเป็นของเล็กน้อย นิดหน่อยในปัจจยาการที่ชีวิตจะต้องผ่านวัฏวนต่อไป


๑. เปรียบด้วยน้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อพระอาทิตย์อุทัยขึ้นมาแล้ว น้ำค้างย่อมแห้งหายไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน ชีวิตมนุษย์ก็เปรียบเช่นเดียวกับหยาดน้ำค้าง เป็นชีวิตที่แสนสั้น มีประมาณนิดหน่อย เปลี่ยนแปลงเร็ว มีความทุกข์มาก คับแค้นมาก

๒. เปรียบด้วยฟองน้ำเมื่อฝนตกหนัก หนาเม็ด ฟองน้ำที่เกิดขึ้นจากหยาดฝน ย่อมตั้งขึ้น แต่ก็แตกกระจายไปอย่างรวดเร็ว ชีวิตก็เปรียบเป็นเช่นฟองน้ำ ไม่อาจตั้งอยู่ได้นาน เป็นชีวิตที่สั้น แตกดับง่าย มีประมาณนิดหน่อย มีความทุกข์มาก คับแค้นมาก

๓. เปรียบด้วยรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำ เมื่อเราขีดไม้ลงไปในน้ำ รอยนั้นย่อมกลับเข้ามาหากันอย่างรวดเร็วในพริบตา ไม่ตั้งอยู่นาน เฉกเช่นชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย อุปมาเปรียบได้เหมือนกับรอยไม้ที่ขีดลงไปในน้ำฉะนั้น

๔. เปรียบด้วยน้ำที่ไหลลงภูเขา น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ย่อมมีกระแสเชี่ยวกราก พัดสรรพสิ่งที่พอจะพัดพาไปได้ ไม่มีเวลาแม้แต่ขณะจิตเดียวที่กระแสน้ำจากภูเขาจะหยุดชะงัก มีแต่จะไหลเรื่อยลงไปแต่ถ่ายเดียวไม่เคยหยุดยั้ง เหมือนชีวิตมนุษย์ที่จะล่วงไปทุกนาที เช่นเดียวกับน้ำที่ไหลลงจากภูเขาฉะนั้น

๕. เปรียบเหมือนน้ำลายที่ถูกถ่มไป เมื่อบุรุษผู้มีกำลังอมก้อนน้ำลายไว้ที่ปลายลิ้น ความที่มีแรงกำลัง ทำให้เขาสามารถถ่มน้ำลายไปได้โดยง่าย ชีวิตมนุษย์ทั้งหลาย ก็มีอุปมาเหมือนก้อนน้ำลายที่จะพึงถ่มไปได้โดยง่าย เพราะตายง่ายดับง่าย

๖. เปรียบเหมือนชิ้นเนื้อที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอด ชิ้นเนื้อที่ใส่ลงนาบในกระทะเหล็ก ถูกไฟเผาลนอยู่ตลอดวัน ย่อมจะถึงความย่อยยับแตกทำลายไปโดยเร็ว ไม่อาจจะตั้งอยู่ได้นาน ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย จึงมีอุปมาเปรียบเหมือนกับเนื้อที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดวันตลอดคืนเช่นกัน

๗. เปรียบด้วยแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่า แม่โคที่จะถูกเชือด ย่อมถูกปฏักนายโคบาลไล่ต้อนให้ก้าวเท้าเดินเข้าไปสู่ที่ฆ่า ใกล้ความตายเข้าไปทุกขณะ ชีวิตของมนุษย์ทั้งหลาย ก็มีอุปมาเหมือนแม่โคที่ถูกเขาต้อนไปสู่ที่ฆ่าฉันนั้น

ที่มา :
http://www.dhammajak.net


วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ เพียงหยดหนึ่งในพสุธา ♦

เรือน้อยลอยคว้างกลางธารา
คลื่นซัดพายุพาทวนกระแส
หนึ่งเดียวเกลียวคลื่นสงบแล
ส่งกระแสแลเห็นฝั่งอยู่รำไร

อิสระจากจิตอิสระ
ดุจเดียวหยดพุทธะแกร่งกล้า
ขอเพียงหยดหนึ่งในพสุธา
รวมกระแสสายธารามหานที

เสรีใดใฝ่หาจากแดนไหน
แท้แดนกายแดนใจมนุษย์หนา
เสาะแสวงจนห่างไกลนิพพิทา
คืออยากได้หนักหนาหารู้ทัน




สงบนิ่งดิ่งสู่ความสงบ
สลายลบแรงต้านผ่านกระแส
ดั่งทอร์นาโดเกลียวหมุนแรงเหวี่ยงแล
หนึ่งเดียวเกลียวหมุนผ่านแท้แน่เอย

จะยืนหยัดตั้งรับสู้ทวนกระแส
เพียรหวังแค่มวลมิตรสนิทสหาย
จักตื่นรู้สิ้นหลับใหลไร้งมงาย
ล้างมลายสลายซึ่งภาพมายา

เพียรค้นหาถิ่นสงบพบสวรรค์
บนลานบรรเลงกวีศรีสมัย
พบหมู่มวลมากมิตรสนิทฤทัย
อุ่นกายใจที่ได้พบสหายธรรม

นิพพิทาพาซึ้งรู้สภาวะ
เลิก ลด ละสลายซึ่งสิ่งทั้งหลาย
แยกดิน น้ำ ลม ไฟ ดับมลาย
ให้สูญสิ้นสิ่งที่หมายว่า...ตัวกู

ที่มา :
http://www.dhammajak.net

♦ ธรรมะหลวงปู่ดุลย์ อตุโล สอนเรื่องจิตก่อนตาย ♦

เรื่องจิตก่อนตายนั้น สำคัญมากหากเวลาดับจิต หากจิต"ดี" ก็ได้ไปที่ "ดีๆ"หากจิต “หมอง” จิต “ร้าย” ก็จะไปสู่ “อบายภพ” ที่ร้อนร้ายในทันใด....ซึ่งจิตก่อนตายนี้ เป็นของไม่แน่นอน บังคับไม่ได้ แล้วแต่วาระหรือกรรมจะพาให้เป็นไป.ด้วยเหตุนี้.... บางคน แม้เคยทำบุญมามากต่อมากแต่ตายไปกลับไปตกนรกหน้าตาเฉย เพราะ"จิตหมอง"ก่อนตายก็มีบางคน แม้ชั่วแสนชั่ว แต่ตายไป กลับไปอยู่บนสวรรค์อย่างเหลือเชื่อเพราะเกิด"จิตใส"ตอนดับจิต ก็เคยมีตัวอย่างมาแล้ว....กรณีทั้งสองแบบ ล้วนมีบันทึกไว้ในพระไตรปิฏกมาแล้วทั้งสิ้นแต่... สำหรับคนที่เคย"ฝึกจิต"มาก่อนวินาทีที่รู้ตัวว่า อย่างไรเสียจะต้องตายหรือดับจิตลงไปแน่ๆหาก"ทำเป็น" ก็อาจพลิกจิตยกขึ้นสู่ภูมิสูง ไปสู่"สุคติ"หรือ"อริยะ"ไป"สุคติภพ"หรือ"อริยภูมิ"สถานเดียวเลยก็ได้!!!สำหรับวิธีตกกระไดพลอยกระโจน (สู่สุคติภพหรืออริยภูมิ)ของพระราชวุฒาจารย์หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม สุรินทร์ ก็คือ…ปล่อยวางทั้งอดีต อนาคต และปัจจุบันอยู่กับความไม่มีไม่เป็นว่าง สว่าง บริสุทธิ์หยุดการปรุงแต่งหยุดการแสวงหาหยุดกิริยาจิตไม่มีอะไรเลยไม่ยึดถืออะไรสักอย่างพระอริยเจ้ามีจิตไม่ส่งออกนอกจิตไม่หวั่นไหว จิตไม่กระเพื่อมมีสติอย่างสมบูรณ์เป็น วิหารธรรมมีสติอย่างสมบูรณ์ เป็นเครื่องอยู่วิธีทำหยุดคิด อย่าส่งจิตออกนอกมีสติอย่างสมบูรณ์เป็นเครื่องอยู่แต่เรื่องของการ"พลิกจิต" ช่วงสุดท้ายนี้ หลวงปู่ดุลย์ท่านว่าบุคคลนั้นๆต้องเคย"ฝึก"มาก่อน จึงจะทำได้จริง พอดี

ที่มา :
http://www.larndham.org/

วันอาทิตย์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ ความสงบ โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ♦



พากันตั้งใจฝึกหัดปฏิบัติตามความสามารถของตน ถ้าหากคนเราไม่ปฏิบัติธรรมะ ก็จะไม่รู้จักธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ความสุขอันใดจะเสมอเหมือนความสงบไม่มี คำนั้นเป็นคำจริงถ้าหากปฏิบัติไม่ถึง พอจะเดาๆ คิดนึกเอาเฉยๆ ก็เชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง อันความที่จะเชื่อคำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ จัง นี่เป็นของยากมาก ถึงหากเราเชื่อบ้างไม่เชื่อบ้าง ถ้าหากปฏิบัติลงไปถึงตรงนั้นแล้วจะเชื่อขึ้นมา อ๋อ! ตรงนี้หรอกคำที่พระพุทธเจ้าทรงเทศนาไว้นั้นว่ามีความสุข ความสงบ อย่างนี้เป็นต้น ความสงบนั้นมันมีจากไหน คนเราโดยส่วนมากมันยุ่งมันวุ่นวายสารพัดทุกสิ่งทุกอย่าง แส่ส่ายไปในที่ต่างๆ มันหาความสงบไม่ได้ เหตุนั้นคนที่เชื่อว่า ความสงบเป็นความสุข จึงค่อยมีน้อยนัก เพียงแต่เดาๆ คิดๆ นึกๆ ไปเฉยๆ ที่จะให้ถึงความสงบจริงๆ จังๆ มันต้องละทุกสิ่งทุกประการ อารมณ์ทั้งปวงวุ่นวี่วุ่นวายอยู่ในใจของตนหายหมด ไม่มีเกี่ยวข้อง ถึงซึ่งความสงบจริงๆ จังๆ ถ้ายังไปเกี่ยวข้องเรื่องต่างๆ อยู่มันยังไม่ถึงความสงบขึ้นมาได้ ความตรงนี้ละที่ไม่เชื่อพระพุทธเจ้าไม่เชื่ออย่างจริงๆ จัง เราฝึกหัดนี้ฝึกหัดหาความสงบ ทุกอย่างทุกประการที่อบรมมาก็เข้าหาความสงบอย่างเดียว ความไม่สงบมันมีมาก อย่างเราตั้งแต่เกิดขึ้นมาก็หาความสงบไม่ได้ จนกระทั่งวันหนึ่งๆ ๒๔ ชั่วโมงจะเอาความสงบจริงๆ จังๆ สัก ๕ นาทีก็ยังดี ๑๐ นาทีก็ยังดี นั่นล่ะเห็นแจ้งความจริงของพระพุทธเจ้าที่ทรงเทศนาไว้จริงในใจของเราเลย


ที่มา : http://www.baanmaha.com/

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ เส้นทางตรัสรู้ธรรมของพระพุทธเจ้า ♦


หลักการที่พระองค์ทรงยึดเป็นหลักปฏิบัติก็คือว่า ทำจิตให้มีสิ่งรู้ ทำสติให้มีสิ่งระลึก พระองค์ทำลมอานาปานสติให้เป็นสิ่งรู้ของจิต แล้วเอาสติไปจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจ พระองค์ทรงทำพระสติรู้อยู่ที่ ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทำให้พระองค์ต้องรู้ ความหยาบความละเอียดของลมหายใจ และรู้ความเปลี่ยนแปลงของลมหายใจ

ในขณะใดที่พระองค์ไม่ได้ดูลมหายใจ พระองค์ก็กำหนดดูอารมณ์ ที่เกิดขึ้นภายในจิตของพระองค์ สิ่งใดเกิดขึ้นพระองค์ก็รู้ รู้ด้วยวิธีการทำสติกำหนดจิต กำหนดคอยรู้ คอยจ้องดูอารมณ์ ที่เกิดดับกับจิต ในเมื่อสติสัมปชัญญะของพระองค์มีความเข้มแข็งขึ้น สามารถที่จะประคับประคองจิตใจ ให้มีความรู้ซึ้งเห็นจริงใน ความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ ในสภาวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ


คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เมื่อรู้ว่าอารมณ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อารมณ์อันใด ที่จิตของพระองค์ยังยึดถืออยู่ เมื่ออารมณ์สิ่งนั้นเกิดขึ้นก็มายุแหย่ให้จิตของพระองค์ เกิดความยินดี เกิดความยินร้าย ความทุกข์ก็ปรากฏขึ้นภายในจิต

ทุกข์ที่ปรากฏขึ้นภายในจิตของพระองค์ พระองค์ก็กำหนดว่า นี่คือทุกข์อริยสัจ เป็นทุกข์จริงๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในเมื่อรู้ว่า เป็นทุกข์จริงๆ พระองค์ก็สาวหาสาเหตุ ทุกข์นี่มันเกิดมาจากเหตุอะไร ทุกข์อันนี้เกิดมาจากตัณหา ตัณหาเกิดมาจากไหน เกิดมาจากความยินดี และความยินร้าย


ความยินดีเป็นกามตัณหา ความยินร้ายเป็นวิภวตัณหา ความยึดมั่นถือมั่นในความยินดียินร้ายทั้ง ๒ อย่างเป็นภวตัณหา ในเมื่อจิตมีภวตัณหา มันก็ย่อมมีความทุกข์เกิดขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงทำให้พระองค์รู้ซึ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อันนี้เป็นภูมิธรรมที่พระองค์ค้นคว้าพบ และตรัสรู้เองโดยชอบ

ที่มา : http://www.dhammajak.com/

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ ธรรมะหลวงปู่ดุลย์ อตุโล ♦




♠ จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ ♠

♦ไตรลักษณ์ - ปฏิจจสมุปบาท ♦


♦ บทเพลง "สายลมแห่งจริยธรรม" โดย...จีวันBAND ♦

http://youtu.be/H3je14gCHH0

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

♦ การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน ♦

ถ้าชาตินี้ยังไม่สามารถทำมรรคผลให้แจ้งได้ก็จะเป็นปัจจัยที่เรียกว่าอุปนิสัยปัจจัย ให้ชาติหน้าเกิดมาเป็นผู้มีปัญญามาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาเช่นกัน จะเห็นได้ว่าถ้ามีความเพียรเจริญวิปัสสนาแล้ว จะชื่อว่าสูญเปล่านั้นไม่มีเลย และอย่าได้กลัวการเจริญวิปัสสนา เพราะกลัวว่าจะไม่ได้เกิดใหม่เลย เพราะตราบใดที่ท่านยังยินดีในการเกิดอยู่ ก็ไม่มีใครสามารถขัดขวางการเกิดของท่านได้ และมรรคผลนั้นมีหลายขั้น ขั้นแรก ๆ นั้นก็ยังต้องเกิดอีกนาน และเป็นการเกิดที่มีทุกข์น้อยกว่าคนทั่วไปด้วย ความจริงแล้วการเจริญวิปัสสนาก็คือการมาดูให้เห็น และตัดสินด้วยตัวของท่านเองว่าควรจะเกิดอีกต่อไปหรือไม่ ไม่ใช่การบังคับไม่ให้เกิดอีก
การเจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวัน
1.) เมื่อมีเวลาว่าง ให้พยายามทบทวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิต ตั้งแต่จำความได้ จนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทบทวนไปช้า ๆ ไม่ต้องรีบร้อน และพยายามทบทวนถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น ในขณะที่เหตุการณ์นั้น ๆ กำลังเกิดขึ้นให้ได้ เมื่อจำเหตุการณ์นั้นได้ชัดเจนดีแล้ว ก็ให้ทำใจให้เป็นกลางที่สุด ปราศจากอคติความลำเอียงใด ๆ ทำตัวเป็นผู้พิพากษาที่เที่ยงธรรมที่สุด แล้วพิจารณาเหตุการณ์นั้น ๆ ให้ลึกซึ้ง ละเอียดลออ มองในทุกแง่ทุกมุม ให้เห็นว่าเหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้เราเป็นสุขอย่างไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน ทำให้เราเป็นทุกข์อย่างไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน และสุขที่ว่านั้นมีทุกข์เคลือบแฝงอยู่ด้วยหรือเปล่า หรือทุกข์ที่ว่านั้นมีสุขเคลือบแฝงอยู่ด้วยหรือเปล่า และเหตุการณ์นั้น ๆ ส่งผลถึงชีวิตในเวลาต่อมาให้เป็นสุขหรือทุกข์บ้างหรือไม่ อย่างไร

กล่าวโดยสรุปก็คือให้มองให้เห็นชัดเจนด้วยตัวเองว่า ความสุขที่ได้รับมาจากเหตุการณ์นั้น ๆ กับความทุกข์ที่ต้องเผชิญมันคุ้มกันหรือไม่ การกระทำของเราในขณะนั้น เป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริง หรือว่าเราควบคุมมันไม่ได้ ความสุขความทุกข์นั้นอยู่กับเราได้นานเพียงใด
การพิจารณานั้น ในช่วงแรกก็พิจารณากว้าง ๆ โดยแบ่งช่วงพิจารณาเป็นวัยเด็ก ชีวิตการเรียน การทำงาน ความรัก การมีครอบครัว การมีลูก การทำสมาธิ ฯลฯ ( โดยเฉพาะความรัก และการมีครอบครัวนั้น ให้พิจารณาให้ลึกซึ้งทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เพราะพระพุทธเจ้าเปรียบเทียบความสุขทางโลกว่า เหมือนการกินอ้อยจากโคนไปหาปลาย คือเริ่มต้นจะหอมหวาน แต่ยิ่งนานวันก็ยิ่งจืดชืด ดังนั้น ถ้าพิจารณาเฉพาะตอนที่หอมหวาน ก็ย่อมจะไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแท้จริง )
เมื่อพิจารณากว้าง ๆ แล้ว ก็ค่อย ๆ พิจารณารายละเอียดในแต่ละเหตุการณ์ต่อไป โดยพิจารณาเหตุการณ์ที่ประทับใจมาก ๆ ก่อน เมื่อพิจารณาได้มากพอสมควรแล้ว ก็จะเห็นได้ด้วยความรู้สึกของเราอย่างแท้จริง ว่าชีวิตนี้เป็นสุขหรือทุกข์กันแน่ มีสาระมากน้อยเพียงไหน น่าปรารถนาน่ารักน่าใคร่เพียงใด
ที่สำคัญคือต้องทำใจให้เป็นกลาง อย่าตัดสินไว้ล่วงหน้าก่อนว่าจะต้องเป็นสุขหรือทุกข์ หรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และต้องมองให้ลึกซึ้งทุกแง่ทุกมุม เช่น ความสำเร็จความภาคภูมิใจในอดีต ถ้าภายหลังทำไม่ได้ หรือมีใครมาพูดให้กระทบกระเทือนถึงความภาคภูมิใจอันนั้น ทำให้ต้องสูญเสียความภาคภูมิใจนั้นไป ก็อาจทำให้เราเป็นทุกข์อย่างมากมายก็ได้ อย่ามองแง่เดียว เพราะสิ่งที่มีคุณอนันต์ก็มักจะมีโทษมหันต์เช่นกัน

2.) ก่อนนอนทุกคืนควรพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดวันนี้ทั้งวัน โดยพิจารณาทำนองเดียวกันกับการพิจารณาในข้อ 1.) ( ข้อ 1. และข้อ 2. นี้อาศัยหลักการของบุพเพนิวาสานุสติญาณ ในวิชชา 3 เพียงแต่เมื่อระลึกชาติในอดีตไม่ได้ ก็ต้องพิจารณาเฉพาะในชาติปัจจุบันเท่าที่จะระลึกได้เท่านั้น )

3.) ในชีวิตประจำวันก็ขอให้คอยสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ ให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ถ้าเผลอไปก็ไม่เป็นไร พยายามสังเกตให้ได้มากที่สุด จนเคยชินเป็นนิสัย มีสติรู้ทันความรู้สึกตลอดเวลา
ที่สำคัญคือ การสังเกตนั้นเพื่อศึกษาธรรมชาติของร่างกายของจิตใจของเราเองว่า มีสุขมีทุกข์มากน้อยเพียงใด แปรปรวนไปได้อย่างไรบ้าง บังคับได้หรือไม่ได้ อยู่ในอำนาจหรือไม่ ไม่ใช่สังเกตเพื่อจะบังคับหรือเพื่อจะข่ม หรือจะลองบังคับมันดูก็ได้ แล้วก็จะรู้เองว่ามันอยู่ในอำนาจหรือเปล่า
*** หรืออีกนัยหนึ่งก็คือพยายามหา "เรา" ให้เจอ (คือหาว่าสิ่งที่ท่านรู้สึกว่าเป็นเรานั้นอยู่ตรงไหน หรือคืออะไร เช่น อาจจะรู้สึกว่า สมอง หรือ หัวใจ กระดูก ร่างกายทั้งหมด จิต ความรู้สึก ความคิด ความจำ ฯลฯ คือเรา หรือ เป็นเรา) เมื่อเจอ "เรา" แล้ว ก็คอยดู คอยสังเกต "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ ทั้งเวลาที่ทำกรรมฐาน และเวลาที่ใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน จนกระทั่งหลับไปในที่สุด คือรู้ตัวเมื่อไหร่ก็สังเกตเมื่อนั้น แล้วสิ่งที่ท่านคิดว่าคือ "เรา" นั้น ก็จะแสดงธรรมชาติที่แท้จริงให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วท่านก็จะรู้ได้ด้วยตนเองว่าสิ่งนั้นสมควรจะถูกเรียกว่า "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา" หรือไม่ สิ่งนั้นควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่นหรือไม่
เมื่อสังเกตมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว บางครั้ง "เรา" ก็อาจจะย้ายจุดไปอยู่ที่อื่น (เช่น เดิมรู้สึกว่าจิตคือเรา ต่อมากลับรู้สึกว่าความจำต่างหากที่เป็นเรา ต่อมาก็อาจย้ายไปที่จุดอื่นอีก ฯลฯ) ถ้าความรู้สึกว่าเป็น "เรา" ย้ายไปอยู่ที่จุดอื่น ก็ย้ายจุดในการดู ในการสังเกต ตาม "เรา" นั้นไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหา "เรา" ไม่เจอในที่สุด
ลองคิดดูให้ดีเถิดว่า สิ่งที่ไม่เที่ยง แปรปรวนไปตลอดเวลา นำทุกข์มาให้สารพัดอย่าง ไม่อยู่ในอำนาจ ไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา เอาแน่อะไรไม่ได้ คาดหวังอะไรไม่ได้เลย ฯลฯ นั้นสมควรหรือที่จะเรียกว่าเป็น "เรา" หรือ "ของๆ เรา" หรือ "ตัวตนของเรา"
ถ้าจะถือว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็น "เรา" แล้ว อย่างน้อยสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามที่ใจปรารถนาได้ตลอดเวลาไม่ใช่หรือ ไม่ใช่แค่บางครั้งก็บังเอิญได้เหตุปัจจัยที่เหมาะสมก็เป็นอย่างที่ต้องการ แต่ถ้าไม่บังเอิญอย่างนั้นก็กลับกลายเป็นอย่างอื่น เช่น เมื่อมีเหตุให้สุขก็สุข มีเหตุให้ทุกข์ก็ทุกข์ มีเหตุให้โกรธก็โกรธ มีเหตุให้ดีใจก็ดีใจ มีเหตุให้เสียใจก็เสียใจ มีเหตุให้ป่วยก็ป่วย ฯลฯ ทั้งที่ไม่ได้อยากจะให้ทุกข์ ให้โกรธ ให้เสียใจ ให้เจ็บป่วย ฯลฯ เลยสักนิดเดียว

4.) ในเวลาทำกรรมฐาน ขณะทำสมาธิก็คอยสังเกตจิต หรือสังเกต "เรา" เป็นระยะๆ ทำนองเดียวกับข้อ 3.) ซึ่งจะเป็นการเจริญสมถะควบคู่กับวิปัสสนา และเมื่อคิดว่าทำสมาธิมากพอแล้ว ก็เปลี่ยนจุดยึดของจิตจากจุดที่ยึดไว้ในขณะทำสมาธิ มาเป็นการเพ่งจิตไปสำรวจตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย แล้วพิจารณาจุดนั้นให้ละเอียด ว่าจุดนั้น ๆ นำความสุขอะไรมาให้เราบ้าง และจุดเดียวกันนั้นนำความทุกข์อะไรมาให้เราบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในขณะปัจจุบันหรือในอดีต
ใหม่ ๆ ก็แบ่งเป็นรูปกับนามและพิจารณาในปัจจุบันก่อน จากนั้นจึงพิจารณาละเอียดขึ้นเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วพิจารณาละเอียดขึ้นอีกเป็นผม ตา ปาก จมูก แขน ขา มือ เล็บ เท้า กระเพาะ ลำไส้ ฯลฯ ต่อไปเรื่อย ๆ ตามความชำนาญและความรู้แจ้งที่เกิดขึ้น
เมื่อพิจารณาปัจจุบันจนชำนาญหรือชัดเจนแล้ว ก็พิจารณาถึงอดีตต่อไป ว่าอวัยวะนั้น ๆ เคยนำสุขนำทุกข์อะไรมาให้บ้าง ยึดมั่นสิ่งใดมากก็พิจารณาสิ่งนั้นก่อน พิจารณาอดีตบ้าง ปัจจุบันบ้างจนเห็นแจ้งทั้งในอดีตและปัจจุบัน ลองพิจารณาให้ดีเถิดว่ารูปนี้ นามนี้ อวัยวะเหล่านี้ มีสิ่งใดที่ไม่นำทุกข์มาให้เราบ้าง มีสิ่งใดที่อยู่ในอำนาจบ้าง มีสิ่งใดที่คงทนถาวร ไม่แปรปรวนไปตามเหตุตามปัจจัยบ้าง มีสิ่งใดที่ควรค่าแก่การยึดมั่นถือมั่นบ้าง สิ่งเหล่านี้ควรหรือที่จะคิดว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา

5.) เมื่อเห็นทุกข์เห็นโทษของสิ่งใดแล้ว ความยินดีรักใคร่ ความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้น ๆ ก็จะลดลงไปเอง นั่นคือกามฉันทะก็จะมารบกวนเราน้อยลงไปเรื่อย ๆ
- เมือเห็นว่าสิ่งทั้งปวงไม่อยู่ในอำนาจของใคร ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หรือเมื่อความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งเหล่านั้นลดลงไปแล้ว ความขัดเคืองใจเพราะสิ่งนั้น ๆ และความยินดีรักใคร่ในสิ่งนั้น ๆ ก็จะลดลงไปเอง นั่นคือ ปฏิฆะ และกามฉันทะ ก็จะมารบกวนเราน้อยลงไปเรื่อย ๆ
- เมื่อเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้แจ้งของเราเองอย่างแท้จริงแล้ว ความเคลือบแคลงลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็ย่อมจะหมดไป นั่นคือวิจิกิจฉาก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ
ถ้ามีความเพียรทำตามวิธีการเหล่านี้เรื่อยไปไม่ท้อถอยแล้ว ไม่ช้าก็จะเข้าถึงแก่นของศาสนาได้เอง และจะได้พบกับความสุขที่ไม่อาจหาได้จากทางโลก ไม่อาจหาได้จากสมาธิ ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงิน เป็นความสุขที่เกิดจากการที่จิตคลายความยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงลงไป เป็นความสุขที่ไม่มีทุกข์เจือปน ไม่ต้องอาศัยเครื่องล่อใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นความสุขที่เกิดจากการที่จิตไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ สามารถสงบอยู่ได้แม้ท่ามกลางพายุร้าย

หมายเหตุ ในการเจริญวิปัสสนานั้น ข้อที่สำคัญและทำให้ปัญญาเกิดได้มากที่สุดก็คือข้อ 3.)

ที่มา : http://www.dhammathai.org/