วันพุธที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ღ พระโสดาบัน ღ


พระโสดาบัน ประกอบไปด้วย องค์ ๔ ประการ คือ

๑. มีความเคารพในพระพุทธเจ้า

๒. มีความเคารพในพระธรรม

๒. มีความเคารพในพระสงฆ์

๔. มีศีลบริสุทธิ์

นี่เป็นองค์ของพระโสดาบัน แต่องค์ทั้งหลายอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะอาศัยมรณานุสสติกรรมฐานเป็นเบื้องต้น

สำหรับอนุสติที่จะพึงปฏิบัติในความเป็นพระโสดาบันก็คือ

๑. มรณานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความตายเป็นอารมณ์

๒. พุทธานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์

๓. ธัมมานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระธรรมเป็นอารมณ์

๔. สังฆานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของพระสงฆ์เป็นอารมณ์

5. สีลานุสสติกรรมฐาน นึกถึงความดีของศีลเป็นอารมณ์

๖. พรหมวิหาร ๔ อย่างนี้ไม่เรียกว่าอนุสติ ใคร่ครวญในพรหมวิหาร ๔ จัดเป็นกรรมฐานกองหนึ่งเป็นอารมณ์

๗. อุปสมานุสสติ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์

ทั้งหมดนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งภาวนา ให้ใช้จิตควบคุมอยู่ตลอดทั้งเวลาลืมตาและหลับตา นักปฏิบัติที่ดีเขาใช้แบบนี้ ไม่ใช่ว่าเวลาหลับตาทำท่าจะเป็นคนดี แต่พอลืมตาขึ้นมาแล้วความอัปรีย์มันก็เกิดแก่จิต อิจฉาริษยาบุคคลอื่น กลั่นแกล้งบุคคลอื่น คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น อย่างนี้มันใช้อะไรไม่ได้ ตายแล้วไปสู่อบายภูมิ อย่าว่าแต่พระโสดาบันเลย กลับมาเป็นคนมันยังเป็นไม่ได้ เข้าใจจิตตามนี้

ต่อไปอีกนิดถึงอารมณ์ของพระสกิทาคามี สำหรับพระสกิทาคามี ทำให้จิตละเอียดลงไปกว่านั้น คือ ระงับโลภะ ความโลภ ระงับโทสะ ความโกรธ ระงับโมหะ ความหลง ให้เบาบางลง ยังไม่หมด คือ ความโลภยังมีอยู่ แต่ว่าเพลาลงไป ความโกรธยังมีอยู่ ยับยั้งไว้ได้เร็ว ความหลงยังมีอยู่ มีอาการเพลาตัว เป็นอันว่าทั้งความโลภ ความโกรธ ความหลงมันบาง บางกว่าพระโสดาบัน ท่านเรียกว่า สกิทาคามี สำหรับสังโยชน์ก็มีความประพฤติเหมือนกัน แต่จิตละเอียดกว่า

ถ้าหากว่าเราระงับความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้ทีละตัวมันก็ลำบาก เราก็ต้องมายืนอยู่ที่จุดศูนย์กลางก็คือ ทรงพรหมวิหาร ๔ เคร่งครัด มีความมั่นคงในพรหมวิหาร ๔ มากขึ้น มีหิริและโอตตัปปะมากขึ้น นึกถึงความตายเห็นชัด มีอารมณ์ทรงตัวมากขึ้น ทีนี้เมื่อเรามีพรหมวิหาร ๔ มีหิริและโอตตัปปะ นึกถึงความตาย ใจมันก็เลิกโลภ ทำตะเกียกตะกายเหมือนกับว่าเกินพอดี ถ้าหากว่าหาอาหารหรือหาทรัพย์สินมาด้วยสัมมาอาชีวะ ไม่จัดว่าเป็นความโลภ ต้องเอาอาการเกินพอดี ที่สำคัญคืออยากจะได้ของบุคคลอื่น แม้ไม่ทำแต่ใจมันก็อยาก อยากจะโกงเขา อยากจะข่มเหงเขา อยากจะอิจฉาริษยาเขา อยากทุกอย่างซึ่งเป็นด้านของความเลว อันนี้ไอ้ตัวอยากตัวนี้เราตัด งดมันเสียได้ด้วยอำนาจของ พรหมวิหาร ๔ หิริ และ โอตตัปปะ และ มรณานุสสติกรรมฐาน เอาอารมณ์ ๓ ประการเข้าควบคุม คิดว่าจะอยากได้ของเขาไปทำไม ได้มาแล้วมันก็ตาย ไม่ได้มันก็ตาย มีเท่านี้ก็พอกิน หากินแบบนี้ไม่ได้มีได้เท่าไหร่พอใช้พอกิน หากินให้มันรวยกว่านี้ หากินด้วยความสุจริตใจ ไม่มีโทษ เพราะยังเป็นสกิทาคามี

และอารมณ์อีกอันหนึ่งสำหรับพระอนาคามี ที่มีความสำคัญก็คืออภัยทาน ให้อภัยแก่ผู้ผิด เราเองก็พยายามไม่ทำผิดอยู่เสมอ ทรงอารมณ์ปกติในมรณานุสสติกรรมฐานเคร่งครัด เคารพในคุณพระรัตนตรัยเคร่งครัด มีหิริและโอตตัปปะเคร่งครัด ศีลเคร่งครัด และมีพรหมวิหาร ๔ แข็งกร้าวในจิต ไม่ยอมให้จิตตกอยู่ในอำนาจของความเลว นึกถึงการให้ทาน การบริจาคอยู่ตลอดเวลา ตั้งหน้าปรารถนาจะสงเคราะห์คนอื่นให้มีความสุข เป็นอุปสมานุสติ การนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ มีจิตใจรักพระนิพพานอย่างยิ่ง

เพียงเท่านี้จิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท ชายหญิง ภิกษุและสามเณร ถ้าทรงอารมณ์จิตได้อย่างนี้จริงๆ ท่านก็เป็นสกิทาคามี ซึ่งมันเป็นของไม่ยาก ที่ยากก็เพราะเราอยากเลว ถ้าคนอยากดี พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ไม่มีอะไรยาก


เครดิต :  https://www.facebook.com/pages/ธรรมะดั่งลมหายใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น