สุขเพราะละ
โดย...พระไพศาล วิสาโล
ในทัศนะของคนทั่วไป ความสุขของชีวิตอยู่ที่การมีหรือหามาได้มาก ๆ ไม่ว่าทรัพย์สินเงินทอง ชื่อเสียง เกียรติยศ อำนาจ ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นสุขมากเท่านั้น ความสำเร็จหรือความเจริญก้าวหน้าก็เช่นกัน วัดกันที่ตรงนั้น ถ้ามีเงินมากขึ้น มีรถยนต์เพิ่มขึ้น มีบ้านหลังใหญ่ขึ้น หรือมีตำแหน่งที่สูงขึ้น ก็ถือว่ามีความสำเร็จและเจริญก้าวหน้ามากกว่าเดิม
ความสุขทางใจหรือความสุขทางธรรมนั้นสวนทางกับความสุขทางโลก คนเราจะพบกับความสุขทางใจได้ต่อเมื่อรู้จักลดละหรือสละออกไป เริ่มจากการสละหรือให้สิ่งของที่มีอยู่แก่ผู้อื่น เมื่อเราให้ทานหรือบริจาคข้าวของเงินทอง เราย่อมรู้สึกปีติยินดี โดยเฉพาะเมื่อเห็นผู้รับมีความสุข เราก็พลอยมีความสุขด้วย คนที่คิดแต่จะเอาเข้าตัวอย่างเดียว จะไม่มีวันรู้จักความสุขชนิดนี้ เพราะถูกความเห็นแก่ตัวครอบงำ
การให้หรือสละสิ่งของนอกจากเป็นการลดความเห็นแก่ตัวแล้ว ยังเป็นการลดความยึดติดถือมั่นในทรัพย์ด้วย ยิ่งของนั้น ๆเป็นสิ่งที่เรารักหรือหวงแหนมากเท่าไร การสละออกไปก็ยิ่งทำให้ความยึดมั่นใน “ของกู”เบาบางลงมากเท่านั้น เป็นการฝึกฝนจิตใจให้รู้จักปล่อยวาง จึงช่วยให้เรามีความสุขใจได้ง่ายขึ้น เพราะหากมีเหตุให้ต้องสูญเสียทรัพย์ เราก็จะปล่อยวางได้รวดเร็ว ไม่มัวเศร้าโศกเสียใจหรือหวนหาอาลัย หรือเป็นทุกข์สองต่อ คือ นอกจากเสียของแล้ว ยังเสียอารมณ์อีกต่างหาก
นอกจากความยึดติดถือมั่นในทรัพย์แล้ว ความยึดติดในอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความโกรธเกลียด ความคับแค้นข้องขัด ความน้อยเนื้อต่ำใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องลดละด้วยจึงจะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง การลดละอย่างหลัง ทำไม่ได้ด้วยการให้ทาน แต่ต้องอาศัยวิธีการอื่น ได้แก่ การควบคุมกายวาจาไม่ให้ทำตามอำนาจของอารมณ์ และการฝึกจิตให้เป็นอิสระหรือปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นได้ วิธีการดังกล่าวก็คือ ศีล และ ภาวนา นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติธรรมหรือการทำบุญในพุทธศาสนา ล้วนเป็นไปเพื่อการลดละหรือสละวางสิ่งซึ่งก่อความข้องขัดในจิตใจ ซึ่งมีแก่นแกนอยู่ที่ความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” ความยึดติดถือมั่นดังกล่าวแสดงอาการออกมาในหลายรูปลักษณ์ เช่น อยากได้ไม่รู้จักพอ (ตัณหา) อยากใหญ่ใคร่เด่น(มานะ) และติดยึดในความเห็นของตน(ทิฏฐิ) ตราบใดที่ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนอย่างแน่นหนา ก็ยากจะมีความสุขใจได้ แม้มีวัตถุพรั่งพร้อมและมีอำนาจล้นแผ่นดินก็ตาม
ความสำเร็จทางโลกนั้นมุ่งที่การแสวงหาสิ่งต่าง ๆ มาครอบครองให้มากที่สุด สิ่งที่มักตามมาก็คือ ความยึดติดถือมั่นในตัวตนเพิ่มพูนมากขึ้น ทำให้เกิดความอยากได้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่มีความสุขกับสิ่งที่มี ขณะเดียวกันก็เกิดความหลงตัวว่าเก่งและสูงเด่น รวมทั้งยึดมั่นในความเห็นของตนเหนียวแน่นกว่าเดิม ซึ่งมักนำไปสู่การวิวาทบาดหมางและทะเลาะวิวาท ดังนั้นจึงมักมีเรื่องร้อนใจอยู่เนือง ๆ สุขแต่กาย แต่ใจไม่เป็นสุข
อย่างไรก็ตามใช่ว่าใครมาปฏิบัติธรรมแล้วจะพบกับความสุขใจไปเสียหมด ก็หาไม่ ตราบใดที่การกระทำดังกล่าวไม่ได้ช่วยลดละความยึดติดถือมั่นในตัวตน หรือตัณหา มานะ ทิฐิเลย จิตใจก็ย่อมรุ่มร้อน ข้องขัด หาความสงบเย็นได้ยาก
มีคนจำนวนไม่น้อยเมื่อให้ทาน ใจก็ไม่ได้ลดละ กลับอยากได้มากขึ้น เช่น ทำบุญถวายสังฆทาน ก็อธิษฐานขอให้มั่งมี ได้โชคลาภ หาไม่ก็อยากประกาศให้สาธารณชนรู้ว่าตนเป็นคนใจบุญ บางคนชอบทำบุญ แต่ไม่อยากอุทิศส่วนบุญให้ใคร เพราะกลัวว่าบุญของตนจะเหลือน้อยลง
ส่วนใครที่เคร่งศีลหรือขยันทำสมาธิภาวนา แล้วเกิดความหลงตน รู้สึกว่าตนเองบริสุทธิ์กว่าคนอื่น หรือเหยียดผู้อื่นว่าด้อยกว่าตน อย่างนี้ก็ยากจะมีความสุขใจได้ เพราะมีมานะแน่นหนา ตัวตนใหญ่ขึ้น ไม่ถือว่ามีความก้าวหน้าในการปฏิบัติ เพราะแทนที่กิเลสจะลดลง กลับพอกพูนมากขึ้น พระพุทธองค์ถึงกับตรัสว่า บุคคลที่เคร่งในศีลวัตร หรือได้คุณพิเศษทางจิต เช่นได้ฌานสมาบัติ แต่หากเกิดความรู้สึกลำพองใจว่าฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ส่วนคนอื่นไม่ได้เป็นอย่างฉัน เกิดอาการยกตนข่มผู้อื่นแล้ว ล้วนเป็น “อสัตบุรุษ”ทั้งสิ้น
ทาน ศีล ภาวนา นั้น เป็นเสมือนเครื่องขัดเกลากิเลสออกไปจากจิตใจ ยิ่งขัดเกลามากเท่าไร จิตใจก็จะงดงามผ่องแผ้วมากเท่านั้น ไม่ต่างจากหินก้อนโตเทอะทะผิวหยาบ เมื่อถูกช่างแกะสลักเอาส่วนเกินออกไป สิ่งที่เหลือคือองค์พระปฏิมาอันงดงาม
หากให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนาแล้ว กิเลสไม่ได้ลดลง ยังมีความยึดติดถือมั่นในตัวตนแน่นหนา ก็แสดงว่าทำผิดแล้ว หรือพูดให้ถูกต้องกว่านั้นก็คือ “ทำผิดในสิ่งที่ถูก” ความดีนั้นหากทำไม่ถูก วางใจไม่เป็น มันก็เป็นโทษแก่ตนเองได้ ท่านอาจารย์พุทธทาสจึงเตือนเสมอว่า ระวังอย่าให้ความดีกัดเจ้าของ
ไหน ๆ จะทำความดีแล้ว ก็ควรทำโดยมุ่งลดละหรือสกัดส่วนเกินที่พอกหุ้มจิตใจออกไป เช่น เวลาทำบุญก็นึกถึงประโยชน์ของผู้รับเป็นสำคัญ ไม่นึกปรารถนาอะไรให้ตัวเอง หรือถ้าจะตั้งจิตปรารถนา ก็ขอให้กิเลสลดลง ความโลภเบาบาง ในทำนองเดียวกันเมื่อรักษาศีล ก็อย่าไปเพ่งโทษหรือจับผิดคนอื่น แต่หันมาดูใจของตนเองว่ากิเลสหรือมานะเพิ่มพูนขึ้นหรือไม่ เมื่อทำสมาธิภาวนาก็อย่ามัวเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่น แม้จะได้ความสงบก็ไม่ควรประมาทหรือหลงดีใจ เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า ความยึดติดถือมั่นในตัวตนลดลงหรือไม่ ถ้ายึดติดถือมั่นในตัวตนมากขึ้น ก็ถือว่าถอยหลัง
ผู้ที่ลดละความยึดติดถือมั่นในตัวตนได้เป็นลำดับ จิตใจจะสงบเย็นและเป็นสุขมากขึ้น เป็นความสุขที่มาจากภายใน ทำให้พึ่งพาวัตถุหรือสิ่งภายนอกน้อยลง ผลที่ตามมาก็คือ อยู่ง่ายกินง่าย บุคคลที่ลดละได้อย่างสิ้นเชิง แม้มีข้าวของไม่กี่ชิ้นก็มีความสุขล้นเหลือ ตรงข้ามกับคนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในทางโลก ยิ่งมีมากแต่ความสุขกลับลดลง
ที่มา : www.visalo.org
เครดิตภาพ : Google
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น