วันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555

พิจารณาเห็นธรรมในธรรม

พิจารณาเห็นธรรมในธรรม
โดย.. หลวงปู่ดุลย์ อตุโล

การปฏิบัติธรรม หมายถึง การปฏิบัติฝึกจิตให้ปลอดพ้นจากกิเลสอย่างแท้จริง ด้วยวิถีทาง สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ตามลำดับ

จิต คือ พุทโธ
จิต นี้ก็คือ ธรรม เป็นสภาวะพิเศษที่ไม่ไปไม่มา เป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ เหนือความดีและความชั่วทั้งปวง ไม่อาจจัดเป็นลักษณะรูปหรือนามได้

เมื่อได้เข้าถึงสภาวะดังกล่าวของจิตแล้ว อาการต่างๆ ของจิตที่เป็นไป หรือจะเรียกว่ากิริยาแห่งจิตก็ได้ ทั้งในภาคสมถะและวิปัสสนาตามลำดับ ย่อมต้องถือว่าเป็นของภายนอก เป็นสิ่งแปลกปลอมปรุงแต่ง ไม่ควรยึดถือเอาเป็นแก่นสารสาระ แม้แต่ฌานสมาบัติก็เป็นเพียงของประจำโลกเท่านั้น มิใช่เป็นหนทางวิเศษแต่อย่างใดเลย จะเห็นได้จากการบำเพ็ญเพียรของสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ พระองค์ทรงละเสียซึ่งลักษณะธรรมเหล่านี้โดยสิ้นเชิง คือ

เมื่อพระองค์ออกจาก จตุถฌาน ละเวทนาขาดสิ้น สภาวะจิตถึงการดับรอบตัวเองแล้ว ภวังคจิตขาดแล้วไม่สืบต่ออีกเลย สิ้นสุดสังสารวัฏ ณ ขณะนั้นเลย เรียกว่า นิพพาน

ฉะนั้น ไม่ว่าแสง สี ฌานสมาบัติใดๆ หรือแม้แต่ภวังคจิตเองก็ไม่น่าจะไปกำหนดรู้เพื่อการถืออะไร เพราะเป็นของเกิดๆ ดับๆ เป็นของปรุงแต่งขึ้น เป็นของประจำโลก จิตที่กล่าวถึงนี้แลแท้จริงก็มีการเกิดๆ ดับๆ อยู่ร่ำไป จึงกล่าวได้ว่า ตัวจิตเองก็ไม่คงทนถาวรอะไร ถึงซึ่งการดับรอบ โดยสิ้นเชิงเช่นกัน เมื่อกล่าวเป็นธรรมเป็นจริงแล้ว แม้พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ยังหมายถึง สมมติบัญญัติอยู่นั่นเอง

สมเด็จพระบรมศาสดา จึงตรัสว่า พระองค์ได้ทำลายเรือน หรืออาณาจักรของตัณหาแล้ว ตัณหาไม่สามารถสร้างเหย้าเรือนให้เป็นภพเป็นชาติ แม้ตัวจิตเองยังสภาพเดิม คือ ฐีติจิต ฐีติธรรม อันเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้เอง ภิกษุทั้งหลายพึงสังวรอย่างยิ่งยวด ไม่พึงปรับอาบัติหรือโทษต่างๆ แก่พระอรหันต์ ก็อย่าว่าแต่ความผิดบาปเลย แม้ความดี พระอรหันต์ท่านก็ละได้เด็ดขาด ท่านอยู่เหนือความดีความชั่วทั้งหลายแล้วโดยสิ้นเชิง อย่าถือพระสูตรบางอย่างที่ว่า มีการปรับโทษพระอรหันต์เช่น ความผิดที่ไม่ร่วมสมาคม หรือสังฆกรรมกับหมู่สงฆ์ดังนี้

เมื่อจักปฏิบัติธรรมแล้วก็ไม่ควรวุ่นวายกับชาดกนิทาน ของแปลกของปลอมอะไรนั่น มุ่งพิจารณาจิตไม่ว่าพบเห็น ได้ยิน ได้ฟัง สิ่งใดให้ย้อนเข้ามาในจิตให้ได้จนสามารถรู้จิต เห็นจิต เข้าถึงสภาวะความรู้แจ้งแทงตลอดในธรรม จนถึงความดับรอบของจิตใจในขั้นสุดท้าย

การพ้นสมมติบัญญัติย่อมหมายรวมไปถึงธรรมด้วย เช่นอายตนะทั้งหลาย ซึ่งเปรียบเสมือนฉายา หรือแม้ตัวจิตเองก็ตาม มิว่าจะพูดกันครั้งใด ก็ไม่พ้นสมมติบัญญัติไปได้

การหยุดคิดลึก นั่นก็หมายถึง หยุดพูด หยุดเคลื่อนไหว หยุดกิริยาแห่งจิต ซึ่งหมายถึง หยุดสังสารวัฏฏ์นั่นเอง เพราะไม่ว่าเราจะกำหนดจิตคิดถึงสิ่งใดๆ สิ่งนั้นก็ยังเป็นสิ่งภายนอก เป็นของปรุงแต่งขึ้นในโลก เช่น การกำหนดรู้ ย่อมมีสิ่งที่ต้องกำหนด (อาจจะเป็นรูปก็ดี นามก็ดี) เสื่อมสลาย เพราะเป็นของปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

ฉะนั้น สภาวะของอุเบกขาสัมโพชญงค์ (ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามเป็นจริง) จึงเป็นของยากที่จะแสดงออกเป็นคำพูด มีแต่ความนิ่งวางเฉย พร้อมกับรู้ชัดเลยทีเดียวว่า สรรพสิ่งทั้งหลายเสมอกันสิ้น ไม่ว่าสัตว์ บุคคล เรา เขา หรือแม้พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และสัตว์โลกทั้งหลาย ก็มีสภาพอันเดียวกันเสมอกัน แต่ที่เห็นแตกต่างกัน เพราะการยึดถือในสิ่งที่แตกต่างกันคือ ผิดไปจากสัจธรรมแท้เท่านั้น ความประพฤติปฏิบัติและจริยธรรมก็แลดูผิดแผกกันไปต่างๆ นานา

การที่บุคคลใดสามารถปฏิบัติเข้าถึงสภาวะที่จะตัดสินใจได้ว่าสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งภายนอกกับตัวเรานี้ แท้จริงเป็นของสิ่งเดียวกันโดยแท้ (นี่คือสภาวะของความเป็นอยู่ของผู้บรรลุพระนิพพาน) จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า สภาวะเป็นจริง หรือที่เรียกว่าสัจธรรมนั้นมีอยู่ตลอดกาล หากไม่ท้อถอยหรือละความเพียรเสียก่อน ย่อมมีโอกาสเข้าถึงสัจธรรมได้เป็นที่แน่นอน


ที่มา : www.dannipparn.com
เครดิตภาพ : Google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น