วันอังคารที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2555

ღ ดูจิต เห็นจิต ღ

การปฏิบัติธรรม คือการทำให้ตนเองมีความรู้สึกตัวอยู่เนือง ความรู้สึกนั้นคือตัวสติ ตามรู้กาย ตามรู้ใจไปอย่างธรรมดา ๆ คำว่า ‘ตามรู้’ ตัวนี้ หมายถึง ความรู้ตามความเป็นจริง คือกายมีอาการอย่างไรก็รู้ จิตมีอาการอย่างไรก็รู้ การตามรู้นี้ตรงกับคำว่า ‘อนุปัสสนา’ ในมหาสติปัฏฐานสูตร รู้อย่างเป็นเหตุเป็นผล ไม่ใช่ถลำไปตามสิ่งที่ถูกรู้ ยกตัวอย่างเช่น เวลาได้ยินเขาด่าว่าติเตียน...รู้สึกโกรธ...ให้รู้ตามว่าโกรธ...พร้อมคำถามที่ตามด้วยสติ

โกรธ...ได้อะไร...? คำตอบคือได้ความทุกข์ร้อนใจ

ไม่โกรธได้อะไร? คำตอบคือความสบายไม่ทุกข์ร้อน

ในจิตใจ...ลงท้ายคือ...ไม่รู้จะไปโกรธไปทำไม

การตามรู้อันเป็นอนุปัสสนานี้เมื่อทำไปเรื่อย ๆ ในที่สุดจะเห็นตามความจริงว่า กายไม่ใช่เรา จิตไม่ใช่เรา แล้วจิตจะค่อย ๆ คลายความยึดถือกายและจิตไปตามลำดับ จนเข้าถึงความว่างด้วยการปล่อยวาง จิตผ่องใสไร้ขอบเขตพ้นจากการปรุงแต่งจนสามารถพ้นทุกข์ได้ในที่สุด



ในมุมกลับกัน ถ้าการปฏิบัติที่ไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ตามรู้กาย ไม่ตามรู้ใจ ค้นคิดหาแต่วิธีการปฏิบัติ หรือพยายามแต่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ วนอยู่กับการหาหนทางก็จะเหน็ดเหนื่อย ท้ายสุดคือความรู้สึกว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อแสวงหาความพ้นทุกข์เป็นเรื่องยากเข็ญอย่างที่กล่าวมาข้างต้น

จิตของอริยบุคคลบังเกิดได้ด้วยการเจริญสติ...สติเป็นบาทแรกและบาทสุดท้ายของมรรคผลและนิพพาน ฉะนั้นผู้แสวงหาความพ้นทุกข์ต้องรู้จักการเจริญสติ

การเจริญสติมิได้มีเฉพาะเวลานั่งขัดสมาธิภาวนาเท่านั้น หากเราท่านทั้งหลายสามารถเจริญสติได้ตลอดเวลา ด้วยการใช้สติกำกับกายใจอย่าให้ไหลไปตามอารมณ์...ตามสิ่งเร้าภายนอกที่เข้ามากระทบอายตนะทั้งหก...ทำไปเรื่อย ๆ ทำให้เคยชินก็จะเห็นผลในไม่ช้า

ผลที่ตามมาก็ไม่ต้องถามใคร...ไม่ต้องมีนิมิตบอก แต่เราจะรู้ได้ด้วยตนเองอย่างชัดเจน...กายจะเบาจิตจะเบา เพราะความโกรธจะค่อยจางหาย ความโลภก็จะบางเบาลง

ทั้งปวงก็เพราะจิตแนบแน่นอยู่กับสติที่ประกอบด้วย...เหตุผลแห่งความจริงที่เรียกว่า ‘ธรรม’ อยู่ทุกเมื่อ อยู่ทุกขณะ

จิตเบา...กายก็เบา จิตสงบกายก็สงบ ฉะนั้นอย่าประหลาดใจที่เราจะเห็นว่า ผู้ปฏิบัติธรรมจะมีวรรณะผ่องใส น่าเคารพนับถืออย่างที่เห็นอยู่โดยทั่วไป



การดูจิต...ตามรู้จิต อย่าดูด้วยความอยาก ไม่ต้องตั้งท่า ไม่ต้องแสวงหา เพียงให้มีความรู้สึกตัว (สติ) แล้วตามรู้ไปธรรมดา...รู้แล้ววาง รู้แล้ววางไปเรื่อย ๆ ดูเฉพาะที่เป็นเรื่องปัจจุบันที่กำลังเกิดขึ้นในจิต

ต้องดูบ่อย ๆ หรือตามรู้อยู่เสมอ ๆ ยิ่งรู้ได้ถี่มากขึ้นโดยไม่ตั้งใจมากเท่าไหร่ยิ่งดีเรียกว่าสติรู้ทันเร็วขึ้นก้าวหน้าขึ้น

เหตุผลที่การตามดูจิตดูกายควรงดเว้นความอยาก...การตั้งท่าเพ่งเล็งก็เพราะนัยเดียวกับการนั่งบริกรรมภาวนาทำสมาธิ ถ้าทำอย่างตั้งอกตั้งใจมากเกินไปก็จะกลายเป็นการปรุงแต่ง เป็นการก้าวสู่ความเคร่งเครียด จนยากจะเห็นธรรมชาติจริง ๆ ของจิต

ซึ่งจะทำให้บรรลุผลช้า!



บทสรุปเกี่ยวกับการตามดู...ตามรู้จิตที่กล่าวมาทั้งหมด ก็เพื่อการเห็นว่าตัวความรู้สึกทั้งหลายนั้นเป็น ‘นามธรรม’ ไม่ใช่ตัวเรา นามธรรมจะแสดงธรรมให้ดู แสดงให้เห็นความจริงที่ว่า เมื่อเกิดขึ้นจะตั้งอยู่ท้ายสุดก็ดับไปเสมอ...เมื่อเห็นมากขึ้นเห็นบ่อยครั้ง ความรู้ที่ได้จะซึมซับจนจิตเริ่มปล่อยวางความรู้สึกต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ตัวเราลงได้ คือเมื่อสุขก็ไม่หลงยินดี เมื่อทุกข์ก็ไม่ยินร้าย...อยู่กับภาวะกลาง ๆ อันเป็นภาวะแห่งความพ้นทุกข์ในที่สุด


ที่มา : www.dhamma5minutes.com
เครดิตภาพ : Google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น