วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

♠ วิปัสสนาคืออะไร ♠


วิปัสสนาก็คือ การเอาสติเข้าไปตามดูตามสังเกต เข้าไปจดจ่อ เข้าไปใส่ใจ ต่อสภาวะลักษณะที่ปรากฏในขณะนั้น และต่อความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงและความเป็นไปต่าง ๆ ทั้งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของรูปของนาม หรือของร่างกายของจิตใจ หรือของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สะสมข้อมูลที่สังเกตได้นั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำข้อมูลที่ได้จากการตามดูตามสังเกตนั้น มาพินิจพิเคราะห์ พิจารณาโดยแยบคาย ให้เห็นว่ารูปนามนั้นเที่ยงหรือไม่เที่ยง เป็นสุขหรือทุกข์ หรือความสุขที่ได้มานั้นคุ้มกับความทุกข์ที่ต้องเผชิญหรือไม่ อยู่ในอำนาจหรือไม่ เป็นไปตามความปรารถนาหรือไม่ ควรค่าแก่การยึดมั่นหรือไม่ ควรหรือไม่ที่จะถือว่าเป็นเรา เป็นของของเรา เป็นตัวเป็นตนของเรา ( ถ้าจะถือว่าสิ่งใดเป็นเราแล้วสิ่งนั้นก็ควรจะอยู่ในอำนาจ และเป็นไปตามความปรารถนาของเราอย่างแท้จริง ) ทั้งนี้ก็เพื่อทำการศึกษา ให้เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนามทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปนามภายใน ภายนอก ในอดีต ปัจจุบัน อนาคต คือให้รู้แจ้งเห็นจริงอย่างชัดเจนด้วยปัญญาของตนเองอย่างทะลุปรุโปร่ง โดยไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยใด ๆ และไม่ต้องอาศัยความเชื่อผู้อื่นอีกต่อไป ( เพราะรู้ด้วยปัญญาของตนเองแล้ว ) จนกระทั่งเห็นแจ้งว่าภายในเป็นอย่างไรภายนอกก็เป็นอย่างนั้น ปัจจุบันเป็นอย่างไรอดีตและอนาคตก็เป็นอย่างนั้น ไม่ว่ารูปนามใด ๆ ในเวลาไหน ๆ ก็เป็นอย่างนั้น ทั้งนี้ควรทำประกอบกันทั้งการตามดูตามสังเกต และการพิจารณาโดยแยบคาย ไม่ใช่ทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะการตามดูตามสังเกตแล้วไม่นำข้อมูลที่ได้นั้น มาพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากข้อมูลนั้นอย่างเต็มที่ ส่วนการตั้งหน้าตั้งตาพิจารณาโดยแยบคาย โดยไม่มีข้อมูลจากการตามดูตามสังเกตอย่างมากพอ การพิจารณานั้นก็อาจผิดพลาดได้ ดังนั้นจึงควรตามดูตามสังเกตไปเรื่อย ๆ แล้วนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาโดยแยบคายเป็นระยะ ๆ สลับกันไปเมื่อพิจารณาอะไรไม่ออกแล้ว ก็แสดงว่าข้อมูลที่สังเกตได้มานั้นยังไม่มากพอที่จะพิจารณาต่อไป ก็พักการพิจารณาเอาไว้ก่อนอย่าท้อใจเพราะเป็นธรรมดาของการปฏิบัติ ใช้สติตามดูตามสังเกตรูปนามกันต่อไป เมื่อข้อมูลมากขึ้นก็จะพิจารณาต่อไปได้เอง หรือบางครั้งเมื่อข้อมูลมากพอแล้ว แม้จะไม่ได้ตั้งใจพิจารณาจิตก็จะแล่นไปได้เอง คือถึงไม่ได้ตั้งใจพิจารณาก็เหมือนพิจารณา เมื่อเห็นธรรมชาติที่แท้จริงชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว ในที่สุดก็จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาจากส่วนลึกที่สุดของจิตใจของตนเอง เป็นความรู้สึกเบื่อหน่ายในรูปนามทั้งปวงอย่างแรงกล้า เมื่อเบื่อหน่ายก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นในรูปนามทั้งปวงลงไป เมื่อคลายความยึดมั่นถือมั่นมากเท่าไร กิเลสทั้งหลายที่อยู่ในระดับความหยาบ / ความประณีตเดียวกันกับความยึดมั่นถือมั่นนั้น ก็จะถูกทำลายลงไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการทำลายที่ต้นตอของกิเลสนั้นโดยตรง จึงไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นมาได้อีกเลย และความรู้สึกนี้จะแผ่ซ่านไปทั่วทุกอณูของร่างกาย ( คล้ายกับเวลาที่ประสบกับความตกใจ ความกลัว หรือความเสียใจอย่างสุดขีด จนกระทั่งความรู้สึกเหล่านั้นแผ่ซ่านไปทั่วทุกรูขุมขน ฉัน นั้น ) สำนวนในพระไตรปิฎกจะใช้คำว่า เมื่อเบื่อหน่ายก็จะคลายกำหนัด เมื่อคลายกำหนัดก็จะหลุดพ้น . ที่กล่าวมานี้เป็นการเกิดขึ้นของปัญญาขั้นมรรคผล ซึ่งเป็นปัญญาขั้นสูงสุด จนมีอิทธิพลไปถึงจิตใต้สำนึกที่อยู่ลึกที่สุด แต่ถ้าเห็นธรรมชาติของรูปนามยังไม่ชัดเจนพอ หรือยังไม่มากพอ ก็จะเกิดความรู้สึกคลายความยึดมั่นถือมั่นขึ้นมาได้เช่นเดียวกัน แต่ความรู้สึกนั้นจะอยู่แค่ระดับจิตสำนึก หรือลงไปถึงจิตใต้สำนึกบางส่วน จะทำให้เกิดการละกิเลสได้ชั่วคราว ที่เรียกว่าตทังคประหาร ผู้ปฏิบัติบางคนเมื่อปฏิบัติมาถึงขั้นนี้แล้ว ก็อาจจะเข้าใจผิด คิดว่าตนเองบรรลุมรรคผลแล้วก็ได้ ดังนั้นผู้ปฏิบัติทั้งหลายพึงระวัง และพิจารณาให้ดี เพราะตทังคประหารนั้นนานวันไปก็จะเสื่อมลงไปได้ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยมากพอ กิเลสก็จะฟูขึ้นมาได้อีก การทดสอบ / ตรวจสอบกิเลสที่เหลืออยู่ และคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัวของมรรคผลแต่ละขั้น ( เช่น ความบริบูรณ์ของศีล ความบริบูรณ์ของสมาธิ ความบริบูรณ์ของสติ ) จะเป็นเครื่องตัดสินที่ดีที่สุด สำหรับกิเลสที่ละได้แล้วนั้น จะต้องละได้เพราะความบริสุทธิ์ของจิตจริง ๆ คือกิเลสนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นอีกอย่างสิ้นเชิง ไม่ใช่ละได้ด้วยการข่มไว้ด้วยสติ ข่มไว้ด้วยสมาธิ หรือการคอยพิจารณาเพื่อข่มไว้ การทดสอบก็ควรทำในสิ่งแวดล้อมที่บีบคั้นและยาวนาน เพื่อกระตุ้นให้กิเลสข้อนั้นเกิดขึ้น ( ควรใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการทดสอบ แต่ถ้าให้ดีก็ควรใช้เวลาให้มากกว่านี้ )
ที่มา : http://www.dhammathai.org/

♠ ความยึดมั่นถือมั่น ♠

"ความยึดมั่นถือมั่น" โดย....หลวงพ่อชา สุภัทโท

การกระทำทุกวัน การประพฤติทุกวัน การพิจารณาทุกเวลา จึงเป็นปัญญาที่จะแก้ปัญหาให้รู้จักตัวว่าเราหรือไม่ใช่ของเราออก ถ้ายังมีตัวเราอยู่อย่างอุปาทาน ก็มีของเราตลอดไป เมื่อมีของเรา ก็มีของหาย มีของได้ เมื่อมีได้เมื่อมีเสีย ก็มีสุขก็มีทุกข์ เมื่อมีสุขเมื่อมีทุกข์ก็มีเหตุมีปัจจัยหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่มีที่สิ้นสุดที่จบลงได้ ฉะนั้นพระพุทธเจ้าของเราท่านจึงเน้น เน้นข้อประพฤติ เน้นข้อปฏิบัติให้เห็นตามเป็นจริง เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้วก็สบาย แต่เราไม่ค่อยเห็นตามเป็นจริงได้ง่าย สมัยก่อนศีล สมาธิ ปัญญาไม่ค่อยมี มีแต่ว่าบรรลุธรรมะไปฟังธรรมก็ภาวนาไปด้วย เมื่อรู้จักธรรมความละอายก็เกิดขึ้นมาไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดทางกาย วาจา ใจ เพราะได้ฟังธรรมะ รู้เรื่องตามความเป็นจริงแล้วจึงมีความละอาย ความละอายท่านเรียกว่า"ศีล" จิตที่มั่นอยู่กับความละอายว่าจะเป็นบาปอยู่นั้น ความมั่นในอารมณ์ที่ว่ามันเป็นบาปอันเดียวนั้นเรียกว่า "สมาธิ" ก็ได้ เมื่อสมาธิความมั่นอยู่ในอารมณ์ ไม่กระทำบาป ทำใจให้สุขุม "ปัญญา" ความรู้เท่าทั้งหลายก็เกิดขึ้นมา บรรลุถึง "สนติธรรม"เห็นตัวเราของเราตามความเป็นจริงว่ามิใช่เราขึ้นมา เป็นตัวปัญญาเกิดขึ้นมาพ้นจากวัฏฏะสงสารอันนี้ได้ ฉะนั้นในครั้งพุทธกาลท่านว่า เมื่อมีการฟังธรรมก็บรรลุธรรมเท่านั้นเอง เมื่อมีศีล สมาธิแล้ว ปัญญาก็เกิดขึ้นมา

ที่มา : http://www.isangate.com/

♠ ทางสายกลาง ♠


ทางสายกลางอยู่บนย่างก้าวแห่งสติปัญญา การที่เราดำรงชีวิตอยู่อย่างคนที่ตระหนักรู้ ว่าเรามีความคิดเห็นที่ถูกต้อง มีความใฝ่ฝันที่ดีงาม ใช้วาจาของเราเป็นไปอย่างคนที่เกิดประโยชน์สูงสุด เลี้ยงดูชีวิตของเราอย่างคนที่ไม่ทำอะไรที่เป็นบาปกรรม ดำรงอย่างคนที่ไม่เบียดเบียน มีความเพียรที่จะเจริญสติปัญญาของเราจนกระทั่งมีสติต่อเนื่อง มีความมั่นคงแห่งจิต ทั้งหมดนี้คืออริยมรรคมีองค์ 8 รวมกันเป็นศีล สมาธิ ปัญญา ถ้าย่างก้าวนั้นของเราดำรงอยู่อย่างคนมีศีล สมาธิ และปัญญา เราก็จะอยู่บนหนทางของทางสายกลาง ไม่ได้อยู่อื่นไกลเลย ขอให้ระมัดระวังย่างก้าวของเรา ที่มีความใฝ่ฝันทีดีงามในการใช้ชีวิตของเราที่ได้มาครั้งหนึ่ง อย่างคนที่กตัญญูสูงสุดต่อธรรมชาติ มีชีวิตอย่างคนที่รู้ว่า ถ้าเราเห็นสิ่งใดเป็นเหตุแห่งทุกข์ เราต้องเข้าไปวิเคราะห์ทุกข์ ว่าเราเข้าไปอย่างคนที่ประมาทขาดสติในเหตุแห่งทุกข์ตรงไหน แล้วตั้งหลักให้ดี ถอนตัวเองออกมาด้วยความไม่ประมาทขาดสติ ย่างก้าวที่เรากำลังเดินอยู่นี้ มันจะส่งเสริมให้ชีวิตของเรามีคุณค่าอย่างแท้จริงกับที่ได้เกิดมาแล้ว คืนสู่ธรรมชาติอย่างคนที่สง่างามที่สุด

ที่มา : เสถียรธรรมสถาน

♠ เห็นทุกข์จะไม่ทุกข์ ♠


เห็นสิ่งใด จะไม่เป็นสิ่งนั้น เหมือนคุณเห็นไฟ คุณจะไม่มีวันเป็นไฟ เพราะรู้ว่ามีตัวคุณเป็นผู้มองไฟอยู่ คุณเป็นต่างหากจากไฟ ไฟเป็นเพียงสิ่งถูกมอง
แล้วคุณเป็นอะไร? คุณเป็นจิตดวงหนึ่ง ที่เล็งแลไฟด้วยแก้วตา ชั่วขณะที่มีสติเต็มตื่น รู้ตัวว่ากำลังนั่งหรือยืนท่าไหน คุณจะไม่มีทางหลงเข้าใจไปว่าไฟเป็นอันเดียวกับคุณเลย
เช่นกัน… หากคุณเห็นความทุกข์ คุณจะไม่มีทางรู้สึกว่าตัวเองเป็นทุกข์
ชั่วขณะแห่งการมีสติเต็มตื่น รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก คุณจะไม่มีอุปสรรคขวางความเห็น ทุกข์จะปรากฏเป็นสภาพต่างหากจากตัวคุณ
แต่เพราะพวกเราเคยชินที่จะขาดสติ เมื่อไม่มีสติยอมรับความจริงตรงหน้า ก็ย่อมอยากจะมองเห็น อยากยอมรับแต่ความสุข และเมื่ออยากเห็นในสิ่งที่ไม่มีอยู่เดี๋ยวนั้น ใจย่อมกระวนกระวาย ที่เป็นทุกข์อยู่แล้วก็ทุกข์เกินจริงยิ่งขึ้น
เป็นทุกข์เพราะไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นทุกข์จะเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป…
ต่อเมื่อคุณเกิดสติ เกิดความเข้าใจที่จะตั้งมุมมองดีๆ ไม่ปล่อยให้ตัวเองทอดอาลัยตายอยาก ไม่ยอมไหลร่วงลงสู่ทรายดูดแห่งทุกข์ หัดถามตัวเองง่ายๆว่าความร้อนรนกระวนกระวายเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ความโศกเศร้าอาลัยเสียดายสุดซึ้งเที่ยงหรือไม่เที่ยง? ความเสียดแทงปวดแสบปวดร้อนเที่ยงหรือไม่เที่ยง

กล่าวโดยสรุปคือหาคำตอบเอาจากความจริงตรงหน้า ว่าทุกข์ทางใจทั้งปวงเที่ยงหรือไม่เที่ยง เดี๋ยวร้อนมาก เดี๋ยวเย็นลง เดี๋ยวบาดลึก เดี๋ยวเหลือแปลบเสียวนิดเดียว เดี๋ยวระส่ำหนัก เดี๋ยวลดระดับลงสู่ความกระเพื่อมเพียงน้อย
สภาวะทั้งหลายไม่โกหกคุณ ขอเพียงคุณไม่หลอกตัวเอง แล้วติดตามดูพวกมันด้วยใจซื่อเท่านั้น เกิดก็ยอมรับว่าเกิด ยังตั้งอยู่ก็ยอมรับว่าตั้งอยู่ แปรไปก็ยอมรับว่าแปรไป ง่ายๆซื่อๆเท่านี้เอง การสังเกตความจริงอันเป็นปรากฏการณ์ทางจิตของตัวเองเรื่อยๆ จะทำให้คุณตาสว่างขึ้นมาแวบหนึ่ง และได้ข้อสรุปใหม่ที่อาจเปลี่ยนชีวิตคุณแบบหักศอกหรือกลับหลังหัน นั่นคือ…

เห็นทุกข์ ไม่จำเป็นต้องเป็นทุกข์!

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่ากายนี้เองเป็นทุกข์ ใจนี้เองเป็นทุกข์ เพราะรู้สึกนึกคิดอยู่ เพราะจำได้หมายรู้อยู่ และเพราะเจตนาทำดีทำชั่วอยู่ จึงชื่อว่ามีเหตุแห่งรูปนาม และสืบสายต่อเนื่องไปเรื่อยไม่รู้จักสิ้นสุด
ต่อเมื่อตั้งสติ ‘เห็น’ กายใจนี้ ยกจิตขึ้นสู่ระดับความเป็นปกติที่จะไม่สำคัญว่ากายใจนี้เป็นตัวตน นั่นเองจึงเป็นยอดแห่งการเห็น เพราะเห็นแล้วหลุดพ้นจากวังวนทุกข์ พ้นแล้วพ้นเลย ไม่ต้องเป็นทุกข์อีกเลย

เมื่อเห็นกายใจได้
เหมือนเห็นก้อนหินและสายน้ำอยู่ห่างๆ
คุณจะรู้สึกเบาและแห้งสบาย
เหมือนที่ไม่แบกก้อนหินและสายน้ำไว้กับตัว

ที่มา : คิดจากความว่างเล่ม 3 ดังตฤณ

วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

♠ ธรรมะในการทำงาน ♠



ผู้ที่จะปฏิบัติเพื่อระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงย่อมเป็นผู้ที่ตรง นั่นหมายความว่า ในการทำงาน ถึงแม้เราจะเจอคนรอบข้างที่ชอบแสดงสภาวธรรมที่ไม่ตรง ไม่ซื่อสัตย์ พูดต่อหน้าอย่างหนึ่งพูดลับหลังอย่างหนึ่ง แต่เราก็จะต้องเป็นผู้ที่ตรง ไม่ว่าจะเกิดผลพูด เสียต่อเรา ถูกต้องหรือไม่……
ความเป็นผู้ตรง หมายถึง ตรงตามหลักพระธรรมคำสอน เป็นผู้ที่มีสัจจะ จริงใจที่จะศึกษาเพื่อการละกิเลส สำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน กับครอบครัว ผู้ร่วมงานและสังคม ก็เช่นเดียวกัน คือ เป็นผู้มีปกติเจริญกุศลทุกประการ สิ่งใดที่ดีมีประโยชน์ต่อผู้อื่นหรือส่วนรวม ควรกระทำ แต่สิ่งใดที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ไม่ควรกระทำ ทางวาจา คำพูดก็เช่นเดียวกัน เป็นผู้รู้จักกาลเทศะ สิ่งใดที่ไม่มีประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น ไม่ควรพูด ที่สำคัญ คือ เราไม่สามารถแก้ไขคนอื่นให้ดีได้ทั้งหมด ธรรมะในการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถ้าเราไม่มีธรรมะในการทำงานเราจะทุกข์มาก เพราะการมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เราสามารถเห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริงทุกขณะ เห็นความโกรธ ความเสียใจ ความไม่พอใจต่างๆ มากมาย ถ้าเราเข้าใจธรรมะ เราสามารถอยู่กับสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้โดยไม่ทุกข์ หรือทุกข์น้อยลง ต้องอาศัยความ เข้าใจและมองโลกตามความเป็นจริง ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น
การดำเนินชีวิตประจำวัน ย่อมพบปะผู้คน ดังนั้น การอยู่ร่วมกับบุคลต่างๆ ที่ดี ก็ต้องอาศัยความเข้าใจพระธรรม ว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควร พระพุทธจ้าสอนให้ทำดี ละชั่วแต่ต้องไม่ลืมว่าต้องเป็นหน้าที่ของปัญญา ไม่ใช่เรา เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็มีเหตุให้เกิดกิเลสระดับต่างๆ ไม่ว่าจะที่ทำงาน และที่ไหนเพราะปัญญาเรายังน้อย ก็ต้องเป็นผู้ตรงว่า ปัญญายังน้อยจริงๆ และปัญญาขั้นการฟัง ทำอะไรอนุสัยกิเลสที่เป็นพืชเชื้อของกิเลสต่างๆ ไม่ได้เลย จึงเป็นที่มาให้เรายังโกรธ ยังโลภ อยู่ จึงต้องเป็นผู้ตรงว่า การจะดับกิเลสเริ่มจากการรู้ว่า เป็นธัมมะไม่ใช่เรา ดับความเห็นผิดก่อน ดังนั้น จึงไม่มีคำว่า จะเอาธัมมะไปใช้ในชีวิตประจำวันได้เลยหรือที่ทำงาน เพราะไม่มีใครเอาธัมมะไป
ใช้ได้ แต่เป็นหน้าที่ของธัมมะ เมื่อฟังพระธรรมมากขึ้นและเข้าใจมากขึ้น สภาพธัมมะที่เป็นฝ่ายดี ย่อมเกิดบ่อยขึ้นตามระดับปัญญา ไม่ว่าจะอยู่ที่ทำงานหรือที่ไหนก็ตามอย่าลืมว่าบังคับบัญชาธัมมะไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องมีเหตุ แม้สภาพธัมมะที่เป็น ฝ่ายดี(ขันติ เมตตา) ที่จะเกิด ก็มีเหตุ จากการฟังพระธรรมนั่นเอง เราใช้คำว่าเป็น
ผู้ตรงบ่อยๆ มาดูความหมายของคำว่า ตรง ซึ่งก็มีหลายระดับ จนถึงขั้นที่เป็นผู้ตรงด้วยการอบรมสมถภาวนา (อารัมมณูปนิชฌาน) และอบรมสติปัฏฐาน(ลักขณูปนิชฌาน) แม้อบรมสติปัฏฐานก็ชื่อว่าเป็นผู้ตรง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑- หน้าที่ 340 ข้อความบางตอนจากอรรรถกถา เมตตสูตร หรือว่าชื่อว่า ตรง (อุชุ) เพราะทำด้วยความไม่อวดดี ชื่อว่า ตรงดี (สุหุชู)เพราะ ไม่มีมายา. หรือว่า ชื่อว่า ตรง เพราะละความคดทางกายและวาจา ชื่อว่าตรงดี เพราะละความคดทางใจ. หรือชื่อว่า ตรง เพราะไม่อวดคุณที่ไม่มีจริง ชื่อว่าตรงดี เพราะไม่อดกลั้นต่อลาภที่เกิดเพราะคุณที่ไม่มีจริง. พึงชื่อว่าเป็นผู้ตรงและตรงดีด้วยอารัมมณูปนิชฌานและลักขณูปนิชฌาน

_/\_ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ที่มา : บ้านธัมมะ