วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ღ จงสร้างใจ ให้ช่วยตัวเอง ღ



เราเกิดมาทุกคนไม่มีใครต้องการความทุกข์ความลำบากเลย

ไม่ว่าทางร่างกายและจิตใจ แต่ต้องการความสุขความสบายความสมหวังทุกสิ่ง
สิ่งใดที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรา ขอให้เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาด้วยกันทั้งนั้น
แต่ทำไมไม่เป็นไปตามใจหวัง! ก็เพราะแม้แต่ใจเราเองยังไม่เป็นไปตามใจหวังนั้นเอง
ไม่ใช่สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นไปตามใจหวังโดยถ่ายเดียว
คือจิตใจไม่เป็นไปตามความหวัง
มีความบกพร่องในตัวเอง จึงต้องการสิ่งนั้น ต้องการสิ่งนี้
เมื่อต้องการแบบไม่เข้าหลักเข้าเกณฑ์ สิ่งที่ไม่พึงหวัง เช่น ความหิวโหยโรยแรง
ก็เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นมาจนได้ ใครๆ ก็หลีกไม่พ้นต้องโดนอยู่โดยดี!


“ยมฺปิจฺฉํ น ลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ” ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นก็เกิดความทุกข์

คนเรามีความบกพร่องจึงต้องมีความปรารถนา จึงต้องการ
เมื่อไม่ได้ดังใจหวังก็เป็นทุกข์ นี่เป็นทุกข์ประเภทหนึ่ง
เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น?
เพราะเรื่องของกิเลส ความต้องการสิ่งนั้นๆ ด้วยความอยาก ด้วยอำนาจของกิเลส
เวลาได้มาก็ได้มาด้วยอำนาจของกิเลส รักษาด้วยอำนาจของกิเลส
สูญหายไปด้วยอำนาจของกิเลส มันก็เกิดทุกข์กันทั้งนั้น



ถ้าเรียน “ธรรม” รู้ธรรมเป็นหลักใจแล้ว
ได้มาก็ตาม ไม่ได้มาก็ตาม หรือเสียไปก็ตาม ก็ไม่เป็นทุกข์
ผิดกันตรงนี้ จิตที่มีธรรมกับจิตที่ไม่มีธรรมผิดกันอยู่มาก
ฉะนั้นธรรมกับโลกแม้อยู่ด้วยกัน จำต้องต่างกันอยู่โดยดี
ความสมบูรณ์ของจิตกับความบกพร่องของจิต จึงต่างกันคนละโลก
แม้จะชื่อว่า “จิต” ด้วยกันก็ตาม



จิตดวงหนึ่งเป็นจิตที่สมบูรณ์ด้วยธรรม แต่จิตดวงหนึ่งเต็มไปด้วยความบกพร่อง
ทั้งสองอย่างนี้ความเป็นอยู่และการทรงตัวต่างกันอยู่มาก
ดวงหนึ่งทรงตัวอยู่ไม่ได้ ต้องเอนเอียงต้องวุ่นวาย
คว้านั้นมาเกาะคว้านี้มายึด อาศัยยุ่งไปหมด
แทนที่จะอยู่สะดวกสบายตามที่อาศัยโน้นอาศัยนี้
แต่กลับเป็นทุกข์ เพราะจิตนี้เป็นความบกพร่องอยู่แล้ว
จะอาศัยอะไรก็บกพร่องในตัวของมันอยู่นั่นแล



ไม่เหมือนจิตที่มีธรรมเป็นเครื่องยึด หรือจิตที่มีธรรมสมบูรณ์ในใจแล้ว
อยู่ที่ไหนก็ปกติสุข ไม่ลุกลี้ลุกลนขนทุกข์ใส่ตัว


คัดย่อ : สารส่องใจ > จงสร้างใจ ให้ช่วยตนเอง > พระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว


ที่มา :  http://www.dlitemag.com
เครดิตภาพ : Google

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ღ อภัยทานღ



“ อภัยทานัง อามิสทานัง ชินาติ " แปลว่า การให้อภัยทานย่อมชนะเสียซึ่งการให้ทั้งปวง พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า ธรรมทานอีกอย่างหนึ่งที่ถือว่าสำคัญที่สุด และจัดเป็นปรมัตถทาน อันเป็นปัจจัยนำไปสู่พระนิพพานได้นั้นคืออภัยทาน นั่นเอง (ปรมัตถ์ แปลว่า ความหมายสูงสุด, ประโยชน์อย่างยิ่ง)


การที่เราสามารถสร้างอภัยทานให้เกิดมีขึ้นในตัวได้นั้น ถือเป็นการชำระจิตใจของเราได้เป็นอย่างดี เพราะในแง่ของการปฏิบัติแล้ว ทำได้ยาก หากไม่เคยฝึกฝนให้เป็นปกติวิสัย ถ้าเราไม่รู้จักให้อภัยแล้วยังเก็บความขุ่นข้องหมองใจนั้นไว้ในหัวใจตลอดเวลา นับได้ว่าเรากำลังสร้างความอาฆาตพยาบาทให้มีขึ้นในใจตน ในพระพุทธศาสนาที่เราได้รับการเรียนรู้มานั้น มนุษย์เราไม่ได้เกิดมาแต่เพียงชาตินี้ชาติเดียว กว่าจะมาเป็นตัวเราอย่างในทุกวันนี้ ต้องผ่านมาแล้วไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ ขณะเดียวกัน เรื่องของกรรมเวรนั้นก็มีจริง เราจึงต้องทำความเข้าใจให้ได้ว่า การที่เราไม่ยอมอภัยให้กับใครก็ตามที่ทำไม่ดีกับเรานั้น หมายความว่าเราจะไม่ยอมสิ้นสุดกรรมเวรกับคนคนนั้นหรือ แต่ถ้าเราสามารถอภัยให้เขาได้ กรรมระหว่างเรากับเขาก็จะสิ้นสุดแต่ในเพียงชาตินี้ภพนี้ ส่วนตัวเขานั้น จะคิดเลิกจองเวรกับเราหรือไม่ อันนั้นเป็นเรื่องของเขา เราไปบังคับเขาไม่ได้



สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ตรัสไว้ว่า “ โกรธแล้วหายโกรธเอง กับโกรธแล้วหายโกรธเพราะให้อภัย ไม่เหมือนกัน โกรธแล้วหายโกรธเองเป็นเรื่องธรรมดา ทุกสิ่งเมื่อเกิดแล้วต้องดับ ไม่เป็นการบริหารจิตแต่อย่างใด แต่โกรธแล้วหายโกรธเพราะคิดให้อภัย เป็นการบริหารจิตโดยตรง จะเป็นการยกระดับของจิตให้สูงขึ้น ดีขึ้น มีค่าขึ้น “

คัดย่อ: bloggang > พรหมญาณี > อภัยทาน


ที่มา : http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=prommayanee&month=08-2010&date=11&group=3&gblog=44

เครดิตภาพ : Google

ღ ชนะกิเลส ღ




 
ภายนอก...คือกิเลสของผู้อื่น

ที่มากระทบกับกิเลสภายใน


ภายใน...คือกิเลสของเราเอง

ที่รับกระทบกับทั้ง...


กิเลสภายนอก-ของผู้อื่นและกิเลสภายใน-ของเราเอง


ถ้าจิตชนะกิเลสภายในของเราได้


กิเลสภายนอกของผู้อื่นก็เป็นเรื่องไม่ลำบากเลย


ที่เราจะมองเห็นเป็นเช่นนั้นเอง


ด้วยใจที่สงบนิ่ง.



คัดย่อ : ภูเขาหิน > อักษราภรณ์




ที่มา : http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2007/10/10/entry-1


เครดิตภาพ : Google

ღ สติ สัมปชัญญะღ









สติและสัมปชัญญะ ธรรมคู่นี้เป็นเครื่องมือเยี่ยมที่สุด ซึ่งธรรมชาติให้เรามา เพื่อรบทัพจับศึกกับกิเลสผู้ทรงพลัง


ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อทีเดียว การทำความเข้าใจกับธรรมคู่นี้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเราใช้สติสัมปชัญญะปฏิบัติ


เจริญวิปัสสนา ตามแบบ มหาสติปัฏฐาน ๔



สติ ทำหน้าที่ระลึกรู้อารมณ์ที่ปรากฏ กับจิตต่อหน้าต่อตา เช่นรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ รู้สึกกังวล รู้สึกกลัว รู้สึกสงสัย


รู้สึกรัก รู้สึกชัง เป็นต้น



สัมปชัญญะ เป็นตัวปัญญา ทำหน้าที่รู้ชัดเห็นชัดใน อารมณ์นั้นๆ ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน


คือเห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกายและจิตมีแต่ความแปรเปลี่ยน ไปทั้งนั้น พระองค์สอนไม่ให้ยึดมั่นในสิ่งไม่แน่นอน


มีอารมณ์อะไรผ่านมาผ่านไปก็ระลึกรู้อยู่เสมอ ผู้ปฏิบัติแค่สังเกตดูความเกิดดับเท่านั้น อะไรที่เกิดมา ก็ปล่อยวางไป


จิตที่ปล่อยวางอารมณ์คือจิตที่พ้นจากทุกข์


โบราณาจารย์ท่านเปรียบการเจริญสติสัมปชัญญะเหมือนชาว นาเกี่ยวข้าว คือสติทำหน้าที่ รวบรวมข้าวเข้ามาไว้ในกำมือ


(ดูอารมณ์) และสัมปชัญญะทำหน้าที่เอาเคียวตัดรวงข้าวนั้น (วางอารมณ์)


 
ที่มา :  http://www.saradhamlanna.com/index.php
 
เครดิตภาพ :  Google