วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

ღ รู้เมื่อใด ละเมื่อนั้น ღ


ไม่ว่าอารมณ์จะหมักหมมเรื้อรังเพียงใด ก็ไม่เกินวิสัยที่จะปล่อยไปจากใจ ขอเพียงมีสติระลึกรู้ทันว่ากำลังหลงยึดมันอยู่ อย่าลืมว่ามันค้างคาในใจเราได้ เพราะใจเรานั่นแหละที่ไปยึดมันเอาไว้ไม่ยอมปล่อย ทันทีที่ใจปล่อย มันก็หลุด แต่เผลอเมื่อไร ใจก็อาจไปยึดมันเอาไว้อีก ถ้าจะไม่ให้เผลอ ก็ต้องมีสติระลึกรู้อยู่เสมอ สติจึงมีความสำคัญอย่างมากในการปลดเปลื้องอารมณ์เหล่านี้

ที่จริงหากมีสติหรือความรู้ตัวตั้งแต่แรกที่ประกายแห่งความไม่พอใจเกิดขึ้น มันก็ดับไปตั้งแต่ตอนนั้น เพราะใจจะไม่เผลอไปเก็บเอามาคิดหรือเติมเชื้อให้มันลุกลามกลายเป็นกองเพลิง กลางใจหรือคุคั่งอยู่ภายใน แต่คนทั่วไป สติค่อนข้างงุ่มง่าม รู้ตัวได้ช้า อารมณ์เลยลุกลามไปได้เร็ว ดังนั้นจึงควรฝึกสติให้มีความว่องไวรวดเร็ว รู้ทันความไม่พอใจที่เกิดขึ้น หรืออย่างน้อยก็รู้ทันเมื่อมันปะทุเป็นอารมณ์น้อย ๆ ขึ้นมา

เราสามารถฝึกสติได้โดยเริ่มต้นจากการเข้าคอร์สสมาธิภาวนาซึ่งมีอยู่มากมายใน ปัจจุบัน แต่เท่านั้นยังไม่พอ ต้องบ่มเพาะสติในชีวิตประจำวัน ด้วยการหมั่นดูจิตมองตนอยู่เสมอ รวมทั้งใส่ใจกับงานทุกอย่างที่ทำ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ กายทำอะไรก็ตาม ใจก็รับรู้สิ่งที่ทำด้วย ด้วยวิธีนี้สติจะว่องไวและเข้มแข็ง จนรู้ทันอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับใจ ไม่ว่าบวกหรือลบ ฟูหรือแฟบ ยินดีหรือยินร้าย นิสัยใจลอยก็จะลดลงไปด้วย

สตินั้นสามารถใช้รับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ทุกชนิด โดยเพียงแต่รู้เฉย ๆ ว่ามีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ใจก็ปล่อยมันหลุดไปเอง โดยไม่จำเป็นต้องไปขับไสไล่ส่งมันเลย บางคนคิดว่าจะต้องเข้าไปเล่นงานมัน เช่น กดมันเอาไว้ หรือไล่มันไป แต่ยิ่งทำ ก็ยิ่งเป็นการเติมเชื้อให้มันมีพลังมากขึ้น หรือกลายเป็นการติดกับดักมัน เหมือนกับไก่ป่าที่คิดไล่ไก่ต่อที่นายพรานเอามาล่อไว้ แต่สุดท้ายก็ติดกับดักของนายพราน

คัดย่อจาก : รักษาใจให้ปลอดพิษ โดย..พระไพศาล วิสาโล

ที่มา : www.visalo.org/article/healthRaksaJai.htm
เครดิพภาพ : www.facebook.com/wat sawat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น