"ทำดี"แล้ว"ดีจริง" ต้องทำแบบไหน??
โดย...สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
ทำความดีด้วยใจว่างจากกิเลส
ทำความดีอย่างสบาย ๆ อย่างมีอุเบกขา
คือ ทำใจเป็นกลางวางเฉย ไม่หวังผลอะไรทั้งสิ้น
การตั้งความหวังในผลของการทำดีเป็นธรรมดาของสามัญชนทั่วไป ซึ่งก็ไม่ผิด
แต่ก็จะถูกต้องกว่าหากจะไม่ตั้งความหวังเลย
เมื่อรู้ว่าเป็นความดีก็ทำเต็มความสามารถของสติปัญญา
ไม่เดือดร้อนให้เกินความสามารถ ไม่มุ่งหวังให้ฟุ้งซ่าน
ไม่ผิดหวังให้เศร้าเสียใจ การทำใจเช่นนี้ไม่ง่าย แต่ก็เป็นสิ่งทำได้
ถ้าทำไม่ได้พระพุทธเจ้าก็จะไม่ทรงสั่งสอนไว้
ทำดีด้วยความโลภและหลง
จักไม่อาจให้ผลสูงสุด
การทำดีหรือทำบุญกุศลที่จะส่งผลสูงสุด
ต้องเป็นการทำด้วยใจว่างจากกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง
ความผูกพันในผลที่จะได้รับเป็นทั้งความโลภและความหลง
ความผูกพันในผลที่จะได้รับเป็นทั้งความโลภและความหลง
จึงไม่อาจให้ผลสูงสุดได้ แม้จะให้ผลตามความจริงที่ว่า ทำดีจักได้ดี
แต่เมื่อเป็นความดีที่ระคนด้วยโลภและหลง ก็ย่อมจะได้ผลไม่เท่าที่ควร
มีความโลภหลงมาบั่นทอนผลนั้นเสีย
ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่นอนเสมอไป
ทำดีไม่ได้ดี ไม่มีอยู่ในความจริง
มีอยู่แต่ในความเข้าใจผิดของคนทั้งหลายเท่านั้น
ทำดีแล้วต้องได้ดีแน่นอนเสมอไป
ที่มีเหตุการณ์ต่าง ๆ นานาปรากฏขึ้น เหมือนทำดีไม่ได้ดีนั้น
เป็นเพียงการปรากฏของความสลับซับซ้อนแห่งการให้ผลของกรรมเท่านั้น
เพราะกรรมนั้นไม่ได้ให้ผลทันตาทันใจเสมอไป
แต่ถ้าเป็นเรื่องภายในใจแล้ว กรรมให้ผลทันทีที่ทำแน่นอน
เพียงแต่ว่า บางทีผู้ทำไม่สังเกตด้วยความประณีตเพียงพอจึงไม่รู้ไม่เห็น
ขอให้สังเกตใจตนให้ดี แล้วจะเห็นว่าทันทีที่ทำกรรมดี
ผลจะปรากฏขึ้นในใจเป็นผลดีทันทีทีเดียว
ทำกรรมดีแล้วจิตใจจักไม่ร้อนเร่า
ทำกรรมดีแล้วใจจักไม่ร้อน เพราะไม่ต้องวิตกกังวลว่าจะได้รับผลไม่ดีต่าง ๆ
ความไม่ต้องหวาดวิตกหรือกังวลไปต่าง ๆ นั้น
นั่นแหละเป็นความเย็น เป็นความสงบของใจ
เรียกได้ว่าเป็นผลดีที่เกิดจากกรรมดี ซึ่งจะเกิดขึ้นทันตาทันใจทุกครั้งไป
เป็นการทำดีที่ได้ดีอย่างบริสุทธิ์แท้จริง
ส่วนผลปรากฏภายนอกเป็นลาภยศสรรเสริญต่าง ๆ นั้น
มีช้า มีเร็ว มีทันตาทันใจ และไม่ทันตาทันใจ
จนเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจผิดกันมากมาย
ว่าทำดีไม่ได้ดีบ้าง ทำชั่วได้ดีบ้าง
ควรทำดีโดยทำใจให้เป็นกลาง ไม่มุ่งหวังสิ่งใด
ทำดีได้ดี แน่นอนอยู่แล้ว บรรดาผู้ทำความดีทั้งหลายซาบซึ้งในสัจจะ
คือ ความจริงนี้ ดังนี้ก็ไม่น่าจะลำบากนักที่จะเชื่อด้วยว่า
ควรทำดีดโดยทำใจเป็นกลางวางเฉลยไม่มุ่งหวังอะไร ๆ ทั้งนั้น
การที่ยกมือไหว้พระด้วยใจที่เคารพศรัทธาในพระรัตนตรัยสูงสุดเพียงเท่านี้
ได้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าจะยกมือไหว้พร้อมกับอธิษฐาน
ปรารถนาสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไปด้วยมากมายหลายสิ่งหลายอย่าง
หรือการจะบริจาคเงินสร้างวัดวาอาราม
ด้วยใจที่มุ่งให้เป็นการบูชาคุณพระรัตนตรัยเพียงเท่านี้ ก็ได้ผลดีแก่จิตใจ
ยิ่งกว่าจะปรารถนาวิมานชั้นฟ้า หรือบ้างช่องโอ่อ่าทันตาเห็นในชาตินี้
หรือการจะสละเวลากำลังกาย กำลังทรัพย์เพื่อช่วยเหลืองานพระศาสนา
โดยมุ่งเพื่อผลสำเร็จของงานนั้นจริง ๆ
เพียงเท่านี้ก็ได้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าปรารถนาจะได้หน้าได้ตาว่าเป็นคนสำคัญ
เป็นกำลังใจให้เกิดความสำเร็จ หรือการคิดพูดทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด
เพื่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
ด้วยใจที่มุ่งเทิดทูนรักษาอย่างเดียวเช่นนี้
ให้ผลดีแก่จิตใจยิ่งกว่าหวังได้ลาภยศหน้าตาตอบแทน
ทำความดีอย่างบริสุทธิ์ สะอาดจริงเถิด
ทุกวัน เรามีโอกาสทำดีด้วยกันทุกคน ดังนั้นจึงขอให้พยายามตั้งสติให้ดี
ใช้ปัญญาให้ควร อย่าโลภ อย่าหลง อย่าทำความดีอย่างมีโลภมีหลง
ให้ทำความดีอย่างบริสุทธิ์สะอาดจริงเถิด
มีวิธีตรวจใจตนเองว่า ทำความดีด้วยใจปราศจากเครื่องเศร้าหมอง
คือ กิเลส โลก โกรธ หลง หรือไม่ ก็คือให้ดูว่าเมื่อทำความดีนั้น
ร้อนใจที่จะแย่งใครเขาทำหรือเปล่า กีดกัดใครเขาหรือไม่
ฟุ้งซ่านวุ่นวายกะเก็งผลเลิศในการทำหรือเปล่า
ต้องการจะทำทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถจะทำได้ แล้วก็น้อยเนื้อต่ำใจ
หรือโกรธแค้นอาฆาตพยาบาทอุปสรรคหรือเปล่า
ถ้าเป็นคำตอบปฏิเสธทั้งหมดก็นับว่าดี
เป็นการทำดีอย่างมีกิเลสห่างไกลจิตใจพอสมควรแล้ว สบายใจ
เย็นใจในการทำความดีใด ๆ
ก็นับว่ามีกิเลสห่างไกลใจในขณะนั้นอย่างน่ายินดียิ่ง
จะเป็นเหตุให้ผลอันเกิดจากรรมดีนั้นบริสุทธิ์ สะอาด และสูงส่งจริง
ทำให้ไม่มีตัวเราของเราได้...วิเศษสุด
ไม่มีตัวเราของเราแล้วไม่มีความทุกข์
เพราะไม่ถูกกระทบ ไม่มีอะไรให้ถูกกระทบ
เหมือนคนไม่มีมือ ก็ไม่เจ็บมือ, คนไม่มีขา ก็ไม่เจ็บขา
ดังนั้น การทำให้ไม่มีตัวเราของเราได้จึงวิเศษสุด
แต่ก็ยากยิ่งนักสำหรับบุถุชนคนสามัญทั้งหลาย
ฉะนั้นขอให้มีเพียงเราเล็ก ๆ มีเราน้อย ๆ ก็ยังดี
ดีกว่าจะมีเราใหญ่โตมโหฬาร มีของเราเต็มบ้านเต็มเมือง
เมื่อบุถุชนไม่สามารถทำตัวเราให้หายไปได้
ยังหวงแหนห่วงใยตัวเราอยู่ ของเราจึงยังต้องมีอยู่ด้วย
ของเราจะหมดไปก็ต่อเมื่อตัวเราหมดไปเสียก่อน นี้เป็นธรรมดา
ถ้ายังมีตัวเราของเราอยู่ ยังต้องกระทบกระทั่งอยู่
ยังหวงแหนรักษาตัวเราของเราไว้
ก็ควรอย่างยิ่งที่จะหวงแหนรักษาให้ถูกต้อง
จะได้ไม่ต้องรับโทษทุกข์ของการมีตัวเราของเรามากเกินไปอย่างเดียว
แต่มีโอกาสที่จะได้รับคุณรับประโยชน์บ้างจากการมีตัวเราของเรา
นั่นก็คือต้องระวังรักษาปฏิบัติต่อตัวเราของเราให้ดี ให้เป็นตัวเราของเราที่ดี
ที่มา : http://www.zazana.com/dhamma/id9357.aspx
เครดิตภาพ : Google
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น