วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ คนเก่งและดีต้องมีความสุข ღ

คนเก่งและดีต้องมีความสุข
โดย..พระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)

มีธรรมะของพระพุทธเจ้าอีกหมวดหนึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นนักบริหารที่เก่ง ดีและมีสุข ธรรมะที่ว่านั้นได้แก่ พละหรือกำลังภายใน ๔ ประการ คือ

๑. ปัญญาคือความฉลาดรอบรู้
๒. วิริยะคือความขยันขันแข็ง
๓. อนวัชชะคือการทำงานดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
๔. สังคหะคือการผูกใจคนด้วยมนุษยสัมพันธ์

ธรรมะ ๒ ข้อแรกทำให้เป็นคนเก่ง ความเก่งเกิดจากความฉลาดบวกกับความขยัน นักบริหารแบ่งคนออกเป็น ๔ ประเภทตามส่วนผสมของความฉลาดและความขยัน นั่นคือ
ประเภททื่ ๑ ทั้งฉลาดและขยัน
ประเภททื่ ๒ ฉลาดแต่เกียจคร้าน
ประเภทที่ ๓ โง่และขยัน
ประเภทที่ ๔ ทั้งโง่และเกียจคร้าน

คนที่ทำงานกับท่านมี ๔ ประเภท แต่ท่านจะโชคดีหรือโชคร้ายขึ้นอยู่กับว่า ท่านมีลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงานประเภทไหนมากกว่ากัน
พวกแรกฉลาดและขยันได้เกรด A ดีมาก ทำงานไปนานได้เลื่อนขั้นเป็นผู้บริหาร เพราะเป็นคนฉลาด อ่านคนออก ตีแผนออกและสนองงานได้ถูกใจผู้ใหญ่ จึงเป็นลูกน้องเราไม่นานก็ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้บริหาร ส่วนคนที่เหลือเป็นลูกน้องเรานานๆมักเป็น ๓ ประเภทที่เหลือ คือพวกฉลาดแต่เกียจคร้าน พวกโง่และขยัน และพวกที่ทั้งโง่และเกียจคร้าน
ขอถามสักนิดว่าถ้าท่านจะเลือกลูกน้องสักคน ท่านจะเลือกประเภทไหน ระหว่างคนฉลาดแต่เกียจคร้าน กับคนที่โง่และขยัน ท่านผู้ว่าเลือกคนฉลาดแต่เกียจคร้าน ท่านอื่นว่าอย่างไร? หรือ จะเลือกตามท่านผู้ว่าฯ

ที่ว่ามานี้เป็นการเลือกลูกน้อง ทีนี้ถ้าให้เลือกคนมาเป็นสามีหรือภรรยา ท่านชอบประเภทไหน ระหว่างคนฉลาดแต่เกียจคร้านกับคนโง่และขยัน ส่วนใหญ่ในที่นี้ยกมือเลือกคนโง่และขยัน เพราะคนประเภทนี้ไม่เรื่องมากดีใช่ไหม? ทำไมเวลาท่านเลือกลูกน้องจึงชอบพวกฉลาดแต่เกียจคร้าน?

ถ้าท่านมีลูกน้องครบทั้งสี่ประเภทคือฉลาดและขยัน ฉลาดแต่เกียจคร้าน โง่และขยัน โง่และเกียจคร้าน ท่านจะใชัคนแต่ละประเภททำงานอะไร

สำหรับแต่ละคนมีวิธีใช้งานต่างกัน กองทัพสมัยก่อนมีวิธีใช้ทหารทำงานคนละแบบ ทหารมีครบทั้ง ๔ ประเภท ทหารคนไหนฉลาดและขยัน กองทัพจะตั้งให้เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้บัญชาการคุมกำลัง เพราะวางแผนเก่งและปลุกระดมเก่ง ทหารคนไหนฉลาดแต่เกียจคร้าน กองทัพจะตั้งให้ทำงานด้านวางแผนเป็นเสนาธิการ ถ้าเป็นคนทั่วไปก็ให้เป็นที่ปรึกษา ทหารคนไหนโง่แต่ขยันเป็นหัวหน้าใหญ่ไม่ได้ ประเดี้ยววางแผนพลาดยิงพวกเดียวกันเพราะคำนวณพลาด กองทัพจะตั้งพวกนี้เป็นพวกคุมกำลังระดับล่าง เป็นหน่วยจรยุทธ์ หรือหน่วยทะลวงฟันเป็นพวกแรมโบ้ ทหารที่โง่และเกียจคร้าน กองทัพก็มีวิธีใช้ คือให้เป็นหน่วยลาดตระเวน มีกับระเบิดตรงไหน ส่งคนพวกนี้ล่วงหน้าไปก่อน

เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้นำระดับบริหารต้องเป็นคนประเภทแรก คือฉลาดและขยัน บางคนฉลาดและขยัน เก่ง แต่ก็ไม่ได้ขึ้นสูง เป็นบอนไซอยู่แค่นั้น ไปถามผู้ใหญ่ว่าทำไมคนนี้ไม่ได้ขึ้นทั้งที่เก่งและดี ผู้ใหญ่บอกว่าอะไรๆ เขาก็ดีนะท่าน แต่เสียอย่างเดียวคือ เลว เขาฉลาดโกง ขยันโกง อยู่ใกล้เงินไม่ได้ เสกหายหมด

การเป็นผู้บริหารที่มีสมรรถภาพ นอกจากความฉลาดขยันแล้ว ต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย ความซื่อสัตย์เรียกว่า อนวัชชะ ทำงานไม่มีที่ติ ไม่มีโทษ ประวัติดี

ธรรมะของพระพุทธเจ้าต้องไปด้วยกัน เหมือนกับยาเป็นชุดต้องทานทุกเม็ด ธรรมะ ๔ ข้อนี้จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ บางคนซื่อแต่โง่ เรียกว่าเซ่อ ซื้อบื้อโดนลูกน้องหลอกอยู่เรื่อย หัวหน้าจึงต้องซื่อและฉลาดด้วย บางคนฉลาดแต่เกียจคร้าน เรียกว่าขลาด ไม่ทำงานเพราะกลัวมีปัญหา บางคนขยัน แต่โง่เรียกว่าบ้าบิ่น คนที่เป็นวีรบุรษจะฉลาด รู้ว่ามีปัญหา แต่ฉันก็จะขยันและก็ตั้งใจจริงด้วย วีรบุรุษมีน้ำใจต่อคนอื่นและวีรบุรุษจะมีธรรมครบ ๔ ข้อเลย

บางคนฉลาด ขยัน ซื่อสัตย์ แต่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง คนก็ไม่ยกย่อง เป็นฮีโร่กับเขาไม่ได้ ทั้งที่เป็นคนตรง เป็นคนซื่อ แต่คนไม่ชอบไม่ยกย่อง เขาเป็นวีรบุรุษ ผู้ใหญ่ก็ไม่ยกย่อง ไปถามผู้ใหญ่ว่า คนนี้เขาก็ดีนี่ ทำไมไม่ยกย่อง หัวหน้าหรือผู้ใหญ่ก็บอกว่าเขาดี แต่สงสัยจะเป็นคนดีที่โลกไม่ด้องการ ไปอยู่ที่ไหนก็เป็นคนตรง ทะเลาะกับเขาไปทั่วหมด ผู้ทะเลาะสิบทิศ โหงวเฮ้งไม่ดี ดูหมอนี่ซิ คิ้วอย่างกับคิ้วราชสีห์ จมูกสิงโต นัยน์ตาเหยี่ยว เสียอย่างเดียวที่ปากสุนัข เพราะไม่มีสังคหวัตถุข้อ ๒ คือ ปิยวาจา
ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา หมายถึง โอบอ้อมอารี วาจาไพเราะ สงเคราะห์ประชาชน วางตนพอดี คือ สังคหวัตถุ หรือมนุษยสัมพันธ์นั้นเอง

คนเก่งและดีเข้ากับใครๆได้ มีมนุษยสัมพันธ์ทำงานดี นับว่าลดปัญหาไปครึ่งหนึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในชีวิต แต่คนที่เก่งและมีคนรักบางคนอาจจะเป็นคนที่มีปัญูหา อาจเป็นคนที่ท้อถอยเพราะขาดธรรมไปข้อหนึ่ง คือ ขาดวิริยะ วิริยะมาจาก วีระ แปลว่ากล้าเจอปัญหาฉันก็จะบุก คนขาดวิริยะก็หมดกำลังใจแล้ว คนดีๆอาจคิดฆ่าตัวตายเพราะขาดวิริยะ คนที่สุขภาพจิตดีไม่กระทบกันง่าย เหมือนคนสุขภาพกายดีจะมีความอดทน นักมวยที่แข็งแรงโดนต่อยเข้าไปจะทนได้ ดังนั้นถ้าท่านมีธรรมะทั้ง ๔ ข้อ คือ ปัญญา วิริยะ อนวัชชะ และสังคหวัตถุ ก็จะทำให้ท่านมีสุขภาพจิตที่ดีนั่นเอง


ที่มา : http://www.mongkoltemple.com/page02/articles026.htmlเครดิตภาพ : google
เครดิตภาพ : google

ღ รักตนอย่างยิ่ง ღ


เพราะรักตนอย่างยิ่งนั่นเอง
จึงเป็นผู้ประพฤติ ปฏิบัติดี เพื่อให้ตนเป็นคนดี

การสามารถรักษาจิตใจ รักษาวาจา รักษาการกระทำ ให้เป็นไปเพื่อไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการทำเพื่อผู้อื่น ไม่เรียกว่าเป็นการถือว่าผู้อื่นเป็นที่รักของตน แต่เป็นการทำเพื่อตนเอง เป็นการถือว่าตนเป็นที่รักของตนอย่างยิ่ง ไม่มีความรักอื่นเสมอด้วยความรักตน ผู้ที่สามารถรักษากาย วาจา ใจ ตนให้ดีได้นั้นก็คือ "ผู้ที่รักตนอย่างยิ่ง" นั่น เอง เพราะรักตนอย่างยิ่งจึงประพฤติดีปฏิบัติดีเพื่อให้ตนเป็นคนดี ผู้ที่ถือเอาการได้มากด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่เลือกสุจริต ทุจริต ไม่ใช่คนรักตนเอง ผู้ที่มีกิริยาวาจาหยาบคายก้าวร้าว ทิ่มแทงหลอกลวง ไม่ใช่คนรักตนเอง ไม่ใช่คนที่จะทำให้ตนเองสวัสดีได้ ตรงกันข้ามที่ทำเช่นนั้นเป็นการไม่รักตนเอง แม้คนจะคิดว่าการที่ทำเพราะไม่รักผู้อื่นก็ตาม แต่ความจริงแท้เป็นการไม่รักตน เป็นการทำให้ตนต่ำทราม เมื่อจะคิดชั่วพูดชั่วทำชั่วเมื่อใด ขอให้นึกถึงตนเอง นึกว่าตนเป็นที่รักของตน จึงไม่ควรทำลายตนเหมือนตนเป็นที่รังเกียจเกลียดชังอย่างยิ่ง จนถึงต้องทำลายเสีย การคิดชั่วพูดชั่วทำชั่ว เป็นการทำลายตนอย่างแน่แท้


ที่มา : http://96dharma.makewebeasy.com
เครดิตภาพ : google

ღ ฆราวาสธรรม ღ


ฆราวาสธรรม สี่ข้อ

ข้อหนึ่ง : สัจจะ จะเป็นคนดีเราต้องมีสัจจะต้องซื่อสัตย์ ซื่อตรงพูดอะไรกับใครไว้ก็ต้องทำให้ได้อย่างที่พูด

ข้อสอง : ทมะ เราต้องรู้จักข่มใจ ต้องฝึกฝนปรับทั้งตัวปรับทั้งใจ ใช้สติปัญญาแก้ไขข้อบกพร่องแล้วสร้างความเจริญก้าวหน้าให้ตัวเอง

ข้อสาม : ขันติ ต้องอดทนไม่หวั่นไหวไม่ท้อถอย มีหน้าที่อย่างไรก็ให้ทำไปยึดจุดหมายปลายทางของเราเองไว้ให้มั่น ต้องเข้มแข็งทนทานกับความยากลำบาก

ข้อสี่ : จาคะ ได้แก่ความเสียสละ สละความสุขสบายและผลประโยชน์ของเราเพื่อผู้อื่นได้ใจกว้าง ช่วยเหลือเผื่อแผ่ เอื้อเฟื้อไม่เห็นแก่ตัว


ที่มา : http://www.sdd.psd.ku.ac.th/tammalife.htm

เครดิตภาพ : google

ღ ธรรมะกับชีวิต ღ

ธรรมะกับชีวิต
วาทะธรรมเพื่อการพัฒนาตน ของ พระธรรมปิฎก

“เครื่องพิสูจน์การพัฒนาของมนุษย์อย่างหนึ่งก็คือ ความสามารถที่จะมีความสุข ขอให้ดูว่าเมื่อเราอยู่ในโลกไปนานๆ เข้าเราสุขง่ายขึ้นหรือสุขยากขึ้น ถ้าถามตัวเองแล้วต้องตอบว่าเราสุขยากขึ้นก็แสดงว่าเดินผิดทางแล้ว เราสูญเสียอิสรภาพลงไปทุกทีๆ เราไม่เก่งจริง เพราะถ้าเก่งจริง เราต้องเป็นคนที่สุขได้ง่ายขึ้น”

ที่มา : http://www.sdd.psd.ku.ac.th/tammalife.htm
เครดิตภาพ : google

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ การทำจิตให้บริสุทธิ์ ღ

การทำจิตให้บริสุทธิ์
โดย...ท่านพุทธทาสภิกขุ

การทำจิตให้บริสุทธิ์
สะอาด ปราศจากสิ่งเศร้าหมองนั้น
หมายความว่า

ทำจิตให้เป็น.....อิสระ....จากสิ่งทั้งปวง
จิตที่ว่าง...จากความยึดมั่นถือมั่นว่า
ตัวตน.....ของตนเท่านั้น
ที่มั่นคงเป็นสมาธิได้อย่างแท้จริงและสมบูรณ์

ที่มา : http://www.dhammathai.org

เครดิตภาพ : google

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ..จิตสงบ.. ღ

จิตสงบ
คำสอนท่านก.เขาสวนหลวง

จิตสงบ แม้จิตว่างมีความสงบ ก็ไม่ใช่อยู่เฉยๆ ต้องมีสติรอบรู้อยู่ ประคับประคองอยู่ เป็นการทรงตัวได้ เมื่อมีการกระทบกับอะไร ก็ไม่ก่อรูปก่อเรื่องรุนแรง เพราะฉะนั้นการรักษาจิต ต้องมีอุบาย ต้องแยกคายหลายอย่าง ต้องมีความชัดอยู่กับใจ เพราะจิตเป็นของเปลี่ยนแปลง เกิดดับ และมีตัวอวิชชาความไม่รู้เป็นอาสวะคือสิ่งที่นอนเนื่องหมักหมมอยุ่ภายใน เป็นตัวสำคัญที่จะก่อเรื่องต่างๆ ขึ้นมามากมาย ต้องพิจารณาอยู่เสมอเป็นประจำจึงจะพอรู้ พอเข้าใจขึ้น มีการเผลอ การเพลินน้อยลง แต่กลับมีความรู้ในเรื่องความไม่ใช่ตัวตนชัดใจยิ่งขึ้น จนกระทั่งจิตมีความเป็นอิสระภายในตัวมันเองได้เกลี้ยงเกลาไปจากทุกข์ที่ผันแปรทั้งมวล ทุกอย่างก็หมดความหมาย ไม่มีทุกข์ ไม่มีโทษ สะอาด สว่าง เย็น เข้าสู่ความสงบสนิท ในที่สุด สงบ แต่ก็รู้ตัว สว่าง แต่ก็ร่มเย็น สนิท แต่ก็ชัดเจน สะอาด แต่ก็เฝ้าดู!...

ที่มา : http://jantatip.exteen.com/20101022/entry
เครดิตภาพ : Veera เหลืองชมพูเหนือหัวชาวไทย-Dha5

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ เหตุให้เกิดทุกข์ ღ

เหตุให้เกิดทุกข์
โดย...หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ

วัฏจักร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักแรมของจิตวิญญาณ
ไม่มีกาลสมัย เมื่อใด ใจยังมีตัณหาคือ ความอยาก
เมื่อนั้นจิตวิญญาณยังต้องการอยู่ในสามภพนี้ตลอดไป
มีทั้งสมหวังและผิดหวังมีทั้งสุขและทุกข์
ทั้งหัวเราะและร้องไห้ปนกันไป
ในสามภพนี้เป็นสถานที่พักชั่วคราวเท่านั้น
จิตวิญญาณจะไปอยู่แบบถาวรตายตัว
ตลอดไปไม่ได้ จะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไป
ตามเหตุปัจจัยที่สร้างเอาไว้ จะอยู่ใน ภพนั้นบ้าง
อยู่ในภพนี้บ้าง แล้วก็ผ่านไปไม่คงที่
จะมีความพอใจยินดีอยากจะอยู่
เป็นหลักฐานตลอดกาลไม่ได้
หรือจะไปที่ไหนอยู่ที่ไหนเอาตามใจชอบก็ไม่ได้ เช่นกัน
เหมือนกับบุคคลอยู่ในแพกลางมหาสมุทร
จะกำหนดทิศทางให้แก่ตัว เองไม่ได้เลย
จะไปตกค้างอยู่ที่ไหนอย่างไรก็จะเป็นไปตามกระแส
ของลม ฉันใด ผู้จะไปเกิดในภพชาติใดจะมีกรรม
เป็นตัวกำหนดให้ไปเกิดในที่นั้น ๆ ผู้ทำกรรมดี
เอาไว้ก็จะได้ไปเกิดในภพชาติที่ดี
ผู้ทำกรรมที่ไม่ดีเอาไว้ก็จะได้ไปเกิดในภพชาติ ที่ไม่ดี
กรรมจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุก ๆ คน
แต่บุคคลไม่ยอมรับผลของกรรมชั่วที่ตัวเองทำเอาไว้
แต่ก็หนีไม่พ้นจะต้องได้รับผลของกรรมชั่วแน่นอน
คำว่า กรรมดีและกรรมชั่วนั้นมันเป็นกฎของธรรมชาติ
เป็นผลตอบแทนให้แก่เหตุอย่าง ตรงไปตรงมา
จะเรียกว่าศาลโลกที่ตัดสินคดีให้แก่มนุษย์ทั้งหลายก็ว่าได้
ผู้ที่ เวียนว่ายเกิดตายอยู่ในภพทั้งสาม
จะต้องถูกศาลวัฏจักรตัดสินชี้ขาดให้ทั้งหมด
ฉะนั้นจิตวิญญาณที่ชอบเที่ยวเร่ร่อนไปตามวัฏฏะ
จะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎ แห่งกรรมด้วยกันทั้งนั้น
ผู้ที่นับถือในศาสนาอะไร หรือผู้ที่ไม่นับถือศาสนาอะไร
จะต้องอยู่ในอำนาจกฎแห่งกรรมด้วยกัน
ไม่มีจิตวิญญาณใดอยู่เหนือกรรมนี้ไปได้เลย ฯ

ที่มา : www.baanjomyut.com
เครดิตภาพ : google

ความน่ากลัวของสังสารวัฏ

บางครั้งในหมู่คนที่มีความสุขสบายในชีวิต เกิดความขี้เกียจเจริญสติ บางครั้งในหมู่คนที่ มีความสุขสบายในชีวิต พรั่งพร้อมด้วย ทรัพย์สินเงินทอง รูปร่างหน้าตา และสติปัญญา ครั้งแรกๆ ก็สนใจ ใคร่รู้ในการปฏิบัติธรรม แต่เมื่อปฏิบัติไปสักระยะหนึ่ง สมใจอยากแล้ว บางครั้งก็ละเลย เบื่อและเกียจคร้าน ในการปฏิบัติ ขอให้ท่านฉุกคิดขึ้นมาว่า โลกมีสิ่งที่ไม่น่ารัก ไม่น่าพอใจ มากมาย เรามีสิ่งที่เราเกลียด เช่น แมลงสาบ หนูสกปรก หมาขี้เรื้อน .... "ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้เลยว่าเราไม่ต้องไปเกิดเป็นสิ่งเหล่านั้น"

เว้นเรื่องชาตินี้ ชาติหน้าไปเสีย บางครั้งเราพบเห็นคนที่ประสบอุบัติเหตุ หน้าตาเละ เสียโฉม ตาบอด พิกลพิการ หรือบางคนยากจนค่นแค้น พ่อแม่หรือลูกเมียสร้างหนี้สินภาระไว้ให้มากมายมหาศาล บางคนพลั้งพลาด ถูกหลอกลวง เจ็บแค้นเจ็บปวด ทรมานแสนสาหัส ......"ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้เลยว่า เราไม่ต้องประสบพบเจอกับเหตุการณ์เหล่านั้น"เว้นเรื่อง ไกลตัวที่ยังไม่มีไม่เกิด มาดูสิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่เช่น ...บ้านอันแสนอบอุ่น ...ครอบครัวที่เรามีอยู่ ...เครื่องใช้อำนวยความสะดวกสบายและบันเทิงทั้งหลายทั้งปวง ...คอมตัวโปรดที่ใช้เล่นเนต หรือแม้แต่ลมหายใจแห่งชีวิตของเรา เมื่อวันใดวันหนึ่งมาถึง สิ่งเหล่านี้ก็ต้องพลัดพรากจากเราไป หรือเราเองนี่แหละที่ต้องพลัดพรากจากมันไป ......"ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้เลยว่า ความพลัดพรากใดๆ จะไม่เกิดขึ้น"เว้นเรื่องชีวิต มนุษย์ ไปเสีย ด้วยจิตที่มีกำลังบุญอย่างใหญ่ หรือตั้งมั่นในฌานสมาบัติอันแก่กล้า มีความมั่นใจในอนาคตของตน ที่เห็นสุขคติและความสุข รออยู่เบื้องหน้า

แต่ด้วยพระปัญญาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง ได้ทรงสอนไว้แล้วว่าแม้แต่เทวดา หรือ พรหม ใดๆ ก็มีความเสื่อมและต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้ ไม่พ้นไปได้ นี่ไม่ใช่การคิดหรือเห็นโลกในแง่ร้าย แต่นี่คือความจริงของโลกที่เรามิอาจปฏิเสธ เราอาจจะพยายามหลีกเลี่ยง ไม่คิดถึง ไม่พูดไม่นึก พร้อมทั้งสร้างสิ่ง ที่จะสามารถรักษาสิ่งที่ดีดี เหล่านี้ไว้ให้มี นานที่สุด

แต่ความเป็นจริงที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเราพยายามจะ หลีกเลี่ยงไม่นึกถึงนั้น ก็ยังคงเป็นความจริงอย่างที่สุด ที่เรามิอาจหลีกเลี่ยง เป็นโชคอันมหาศาลอย่างที่สุดที่มี มหาบุรุษผู้เจนโลก ผู้หยั่งรู้แล้วซึ่งความเป็นไปทั้งปวง มาช่วยเหลือเรา ให้พ้นจากวงจรแห่งความไม่แน่นอน จากความมีความเป็น แล้วเราจะเสียเวลา และประมาทอยู่ทำไม???

"ในทางโลก เขาแข่งกันมี แต่ทางธรรม เรามุ่งที่ความไม่มี"

ที่มา : www.dhammajak.net



วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ..เตือนตน..ღ


ผู้ใด ย่อมปรารถนาสุขเพื่อตน
เพราะก่อทุกข์ในผู้อื่น,

ผู้นั้น เป็นผู้ระคนด้วยเครื่องระคน คือ เวร
ย่อมไม่พ้นจากเวรได้.

*********************

คาถานี้ โพสต์ไว้ ใช้เตือนตน
เพื่อให้พ้น เวรกรรม จะนำหนุน
เพื่อรีบสร้าง กุศลกรรม นำเป็นทุน
อย่าไปหนุน ความชั่ว มั่วอบาย

ต้องการสุข บนความทุกข์ ผู้อื่นเขา
นั่นความเขลา จริงแน่ แท้สหาย
อย่าสร้างทุกข์ มาเปลื้องทุกข์ ให้จางคลาย
มอบความสุข ทั้งใจกาย ให้นรชน

************************************

เจริญในธรรมเจ้าค่ะ _/\_

ที่มา : Hinghoi Noi (www.facebook.com)

ღ..เมตตาตนเอง..ღ


เมตตาตนเอง
โดย...หลวงปู่บุญจันทร์ จนฺทวโร

ความยินดีนี่แหละมันทำลายศีล
เดี๋ยวก็ยินดีในการรักษาศีล เดี๋ยวก็ไปยินดีในการทำเลว กลับไปกลับมา
อันนี้ความยินดีมันทำให้จิตใจ กลับกลอกไปมา จิตใจไม่แน่นอนมั่นคง
รักษาศีล ไม่ได้เจริญ ไม่เข้าถึงอธิศีล ก็เพราะตัณหาความยินดี
ฉะนั้น เรารักษาศีลมุ่งหวังจะเลิกละตัณหา
ความอยาก ความยินดีภายในดวงจิตดวงใจให้หมดไป สิ้นไป
เนี่ยการรักษาศีลเพื่อต้องการความหลุดพ้นจากอำนาจของตัณหา
ไม่ใช่รักษาศีลเพื่อตัณหา รักษาศีลแล้วอยาก อยากได้อานิสงส์มัน
ถ้าเรารักษาศีลแล้ว เมื่อตายแล้วขอให้เราได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม
อันนี้เรียกว่ารักษาศีลด้วยความอยาก ความปรารถนา
หรืออยากได้โภคทรัพย์สมบัติในพื้นภูมิมนุษย์
เมื่อไปเกิดในชาติใดภพใด ก็ขอให้เป็นผู้มั่งคั่ง บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สมบัติ
อันนั้นท่านเรียกว่ารักษาศีลด้วยตัณหา ความอยาก ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
ได้อยู่ อานิสงส์แห่งศีลนั้นได้อยู่ เมื่อเรายังท่องเที่ยวไปในวัฏสงสาร
แต่วัตถุที่เราได้มานั้น มันก็เป็นวัตถุที่ตั้งทุกข์นั่นแหละ
ความมั่ง ความมี ความร่ำ ความรวย เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี
เวลาตายลง สตางค์เดียวเอาไปไม่ได้ เราก็เห็นกันอยู่อย่างนั้นแหละ
สมบัติโลก เครื่องใช้ของโลกชั่วคราว
มุ่งหวังน่ะ รักษาศีลน่ะมุ่งหวังจะละเลิกตัณหา ความอยากในสิ่งใดๆ ทั้งหมด
ให้จิตใจมันหลุดพ้นจากอำนาจของตัณหา
เพื่อบรรลุพระนิพพานเป็นจุดหมายปลายทางที่พ้นจากทุกข์

นี่เมื่อเราพิจารณาศีล ชำระศีลของเราให้บริสุทธิ์ผ่องใสขึ้นดีแล้ว
ในระดับต่อไปนั้นก็ให้เจริญเมตตา ให้นึกขึ้นภายในใจของตน
เมตตา เมตตาจิต เมตตาใจ อย่าไปสร้างความอยาก
ความอยากมันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์
อยากในสิ่งใดๆ ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น
ถ้าต้องการความสุขสงบเยือกเย็นสบาย
ก็ต้องเลิก ละตัณหา ความอยากออกจากใจ
อันนั้นท่านเรียกว่าเมตตาใจ ตนเมตตาตน

เราเมตตาเราไม่ได้ ใครจะเมตตา
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้ทำทั้งนั้นแหละ
ถ้าเราไม่ทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้วทีนี้ เราก็ไม่ได้เมตตาเป็นที่พึ่ง
เมตตาเพียงปาก เมตตาอยู่นอกใจ เมตตาคนนู้น คนนี้
แต่ใจตัวเองไม่เมตตา สร้างตัณหาความอยากให้เกิดขึ้น มันก็เดือดร้อนเป็นทุกข์
เพราะตัณหาเป็นฝ่ายสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ไม่ใช่เหตุให้เกิดสุข
เมตตาแหละเป็นเหตุให้เกิดสุข ท่านว่าอย่างนั้น
เมตตาเจโตวิมุต จิตใจพ้นจากอำนาจของตัณหาด้วยเมตตาใจจริงๆ
ต้องการให้ใจมีความสุข สงบ เยือกเย็น สบาย
นตฺถิ สนฺติ ปรํ สุขํ สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี
เมื่อใจมันสงบจากตัณหา เลิกละตัณหาออกจากจิตใจเสียได้
จิตใจก็มีความสุขสงบ อันนั้นเรียกว่าเมตตาใจจริงๆ
ใจเมตตาใจ ใจต้องทำเมตตาให้มีขึ้นในใจ ใจจะได้พึ่งเมตตา
อย่าไปคอยแต่เมตตาคนอื่น เมตตาใจตัวเองได้ไหม ต้องดูดีๆ
ดูให้มันถูกต้อง ให้มันเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง ในเหตุในผล

เมื่อเราทำเมตตาให้มีภายในดวงจิตดวงใจของตนแล้ว
ท่านก็ให้แผ่เมตตาจิตออกไปทั่วทุกทิศทุกทาง
ว่าขอสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในโลก จงเป็นสุขเป็นสุขทุกถ้วนหน้าเถิด
ความสุขนี่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานเขาก็ปรารถนา
ฉะนั้นท่านถึงว่าให้แผ่เมตตาจิต อย่าได้มีความเบียดเบียนซึ่งกันและกัน
อย่าได้ทำลายล้างผลาญกันและกัน จงอยู่เป็นสุขเป็นสุขเถิด....

ที่มา : http://dlitemag.com


วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ธรรมะกับการทำงาน


ปรับธรรมะเข้ากับชีวิตการทำงานอย่างไร

ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่า"ธรรมะคือการปฏิบัติงาน"

ชีวิตของมนุษย์เราส่วนใหญ่อยู่กับการทำงาน ถ้าเราคิดว่าจะเอาเวลาว่างมาปฏิบัติธรรมวันละ 1-2 ชั่วโมง หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ค่อยปฏิบัติธรรมแล้ว ยังน้อยไป

ชีวิตของมนุษย์นั้นน้อยนักเปรียบได้ดั่งน้ำค้างบนยอดหญ้ายามเช้า....เมื่อถูกแสงแดดย่อมระเหยแห้งไป......ดังนั้นจึงไม่ควรดำรงชีวิตอยู่อย่างประมาท

ชีวิตที่อยู่อย่างประมาทคือชีวิตอย่างไร

ก็คงต้องตอบว่าชีวิตที่อยู่อย่างปราศจากธรรมะนั้นช่างประมาทเสียนี่กระไร เปรียบดังผู้ที่ตายแล้ว ดั่งคำกล่าวว่า ธรรมะคือชีวิต ชีวิตคือธรรมะ

แต่ชีวิตเราส่วนใหญ่อยู่กับงาน ไม่ว่างานส่วนตัวหรืองานส่วนรวม ดังนั้นจึงควรใช้ชีวิตส่วนใหญ่ให้คุ้มค่ามีธรรมะอยู่ด้วยเสมอ นั่นคือ ชีวิต....งาน....ธรรมะ..ควรไปด้วยกันเสมอ จึงจะได้ชื่อว่าอยู่ด้วยความไม่ประมาท

สมดั่งปัจฉิมโอวาทบางตอนกล่าวไว้ว่า "จงยังประโยชน์แห่งตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

การปฏิบัติงานคือการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นอย่างไรก็ขอสรุปสั้นๆเป็นข้อๆดังนี้

1.เมื่อทำงานอะไรอยู่ให้มีสติอยู่กับงานที่ทำเสมอ เมื่อสติตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดสมาธิในการทำงาน งานมักไม่ผิดพลาด เมื่อสมาธิตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมเกิดปัญญา งานที่ทำก็เจริญก้าวหน้าอยู่เสมอ

2.เมื่อประสบปัญหา โลกธรรมแปด เราต้องใช้ มรรคแปด เป็นหนทางแก้ไข
เมื่ออยู่ในโลก ในสังคม ย่อมหลีกเลี่ยง โลกธรรมแปด ไม่ได้ อย่าไปยึดมั่นถือมั่น
พระพุทธเจ้าของเราสอนให้อยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด บุคคลที่นึกถึงอดีตที่ผ่านมา หรืออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ย่อมหาความสุขไม่ได้เลย

3.อาศัยธรรมะแห่งการอยู่ร่วมกัน คือ พรหมวิหารสี่ คือธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ, ธรรมประจำใจอันประเสริฐ, หลักความประพฤติที่ประเสริฐบริสุทธิ์, ธรรมที่ต้องมีไว้เป็นหลักใจและกำกับความประพฤติ จึงจะชื่อว่าดำเนินชีวิตหมดจด และปฏิบัติตนต่อมนุษย์สัตว์ทั้งหลายโดยชอบได้แก่

***เมตตา คือปรารถนาเห็นผู้อื่นพ้นทุกข์ ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข มีจิตอันแผ่ไมตรีและคิดทำประโยชน์แก่มนุษย์สัตว์ทั่วหน้า

***กรุณา คือช่วยให้ผู้อื่นได้พ้นทุกข์ ความสงสาร คิดช่วยให้พ้นทุกข์ ใฝ่ใจในอันจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ยากเดือดร้อนของปวงสัตว์

***มุทิตา คือยินดีเมื่อผู้อื่นมีความสุข มีจิตผ่องใสบันเทิง กอปรด้วยอาการแช่มชื่นเบิกบานอยู่เสมอ ต่อสัตว์ทั้งหลายผู้ดำรงในปกติสุข พลอยยินดีด้วยเมื่อเขาได้ดีมีสุข เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป

***อุเบกขา คือวางเฉยเมื่อเราช่วยแล้ว หรือช่วยไม่ได้ แล้วเค้ายังไม่พ้นทุกข์ ความวางใจเป็นกลาง อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา คือมีจิตเรียบตรงเที่ยงธรรมดุจตราชั่ง ไม่เอนเอียงด้วยรักและชัง พิจารณาเห็นกรรมที่สัตว์ทั้งหลายกระทำแล้ว อันควรได้รับผลดีหรือชั่ว สมควรแก่เหตุอันตนประกอบ พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม รวมทั้ง รู้จักวางเฉยสงบใจมองดู ในเมื่อไม่มีกิจที่ควรทำ เพราะเขารับผิดชอบตนได้ดีแล้ว เขาสมควรรับผิดชอบตนเอง หรือเขาควรได้รับผลอันสมกับความรับผิดชอบของตน


ที่สำคัญคือการให้อภัย....
หิริ โอตตัปปะ ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป
ทมะ และ ขันติ คือการรู้จักข่มใจและอดทน

**************************************************************
เมื่อเรามีธรรมะอยู่ตลอดแล้วคงหนีไม่พ้นคำกล่าวว่า ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม
**************************************************************

ที่มา : http://larndham.org

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ..ทุกข์เพราะยึด..ღ


เพราะรัก...จึงยึด...เพราะยึด...จึงทุกข์

ความรัก...คือสิ่งที่คนไม่มี พยายามที่จะมี
คือสิ่งที่คนมี พยายามที่จะรักษาไว้

แต่.........ทุกคน ก็ไม่สามารถรักษาไว้ได้ ด้วยเหตุใด เหตุหนึ่ง
เพราะ.....สิ่งทั้งหลายทั้งปวง...รวมไปถึงความรัก เป็นสังขารที่ถูกปรุงแต่ง
ความรักจึงเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง
ความรักจึงเป็น ทุกขัง ทนอยู่ในสภาพเดิม...มิได้
ความรักจึงเป็น อนัตตา ไม่ใช่ตัว...ไม่ใช่ตนที่แท้จริง

สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ควร...หรือมิควร...ที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น

มิใช่...ห้ามให้มีรัก แต่อยากให้รู้จักความจริงของ...รัก
ความรัก...มิได้ทำให้ใครทุกข์ได้...ถ้าหากไม่ยึด
เพราะความยึดมั่นถือมั่น...ถึงจะเป็นความรัก...ก็ทุกข์

ที่มา : ธรรมวลี ศรีแช่ม (https://www.facebook.com)

บางครั้ง...เข้าใจผิด


~ บางครั้ง...เข้าใจผิด ~

บางครั้งเราก็เข้าใจผิดคิดว่า "การรักตัวเอง" คือ "การเห็นแก่ตัว"
ซึ่งความจริงเป็นคนละเรื่องกันเลย สำหรับความเข้าใจแบบนั้น

การรักตัวเอง คือ การไม่เบียดเบียดผู้อื่น เป็นกุศลเจตนา ได้แก่รักษาศีล ความเห็นแก่ตัว คือ การเบียดเบียนผู้อื่น เป็นอกุศลเจตนา ได้แก่การผิดศีล

ทั้งสองสิ่งมีอย่างเดียวที่เหมือนกันคือ...ให้ผลในอนาคตเหมือนกันแน่นอน แต่ผลที่ได้รับในอนาคตย่อมไม่เหมือนกัน...ขึ้นอยู่กับผลของการกระทำของคุณ...ว่า คุณรักตัวเอง หรือ คุณเห็นแก่ตัว เพราะทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกรรมเสมอ...



ที่มา : ธรรมวลี ศรีแช่ม (https://www.facebook.com)

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ..อัปปนาสมาธิ..ღ


อัปปนาสมาธิ


เป็นสมาธิใหญ่ มีอารมณ์มั่นคง เข้าถึงระดับฌานตั้งแต่ฌานที่หนึ่งถึงฌานที่สี่ ฌาน อารมณ์ที่สังเกตได้ คือ

๑.รู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกคำภาวนาทรงตัว ไม่ลืมไม่เผลอไม่ฟุ้งไปสู่เรื่องอื่นนอกเหนือจากที่คิดจะภาวนา มีอารมณ์เต็มเปี่ยมด้วยกำลังใจไม่อิ่มไม่เบื่อไม่อยากลุกออกจากที่มีความสุขหรรษาเป็นพิเศษ ซึ่งไม่เคยมีความสุขใดในชีวิตที่เคยพบมาก่อนเลยมีอารมณ์ตั้งมั่นดิ่งอยู่ในที่เดียวเป็นพิเศษ หูได้ยินเสียงทุกอย่างชัดเจนมากที่เข้ามากระทบประสาทหู เสียงคนหรือเสียงสัตว์ธรรมดาไม่ใช่เสียงทิพย์ แม้แต่เสียงเครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังมาก ตอนนี้ได้ยินทุกอย่างชัดเจนตามปกติแต่ไม่รำคาญในเสียงนั้นเลยคงภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติเหมือนไม่มีเสียงรบกวนลมหายใจจะเบากว่าเวลาปกติจนสังเกตได้ชัดอาการอย่างนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน คือฌานที่หนึ่ง

๒.เมื่อจิตเป็นสมาธิในฌานที่สองมีความรู้สึกดังนี้คือจะรู้สึกว่าคำภาวนาหายไป บางท่านหรือหลายท่านควรจะพูดว่า มากท่านก็คงไม่ผิดเมื่ออารมณ์เข้าถึงฌานที่สองใหม่ๆ อารมณ์ยังไม่ชิน เมื่อขณะที่จิตทรงอยู่ในฌานนี้ จะมีความอิ่มเอิบสุขสบาย จะเผลอตัว เมื่อจิตมีสมาธิลดลง เพราะกำลังจิตถอยสมาธิ จะลดลงอยู่ที่อุปจารสมาธิตอนนี้อารมณ์คิด คือความรู้สึกก็เกิดขึ้น เมื่อจิตตั้งอยู่ในฌานจะไม่สามารถคิดอะไรได้ เพราะเอกัคคตารมณ์คืออารมณ์เป็นหนึ่งไม่มีอารมณ์คิดจะทรงตัวเฉยอยู่และไม่มีคำภาวนา คำภาวนานี้ตั้งแต่ฌานที่สองถึงฌานที่สี่จะไม่มีคำภาวนาเมื่อรู้สึกตัวว่าไม่ได้ภาวนาก็จะคิดว่าตนเองหลับไปหรือเผลอไป ความจริง
ไม่ใช่ ซึ่งเป็นอาการของฌานที่สอง

๓.เมื่อจิตมีสมาธิเข้าถึงฌานที่สามตอนนี้จะรู้สึกว่า ลมหายใจเบาลงมาเกือบไม่รู้สึกว่าหายใจ แต่ความจริงยังรู้สึกถนัดอยู่แต่เบามากนั่นเอง อาการทางร่างกายจะรู้สึกเหมือนเกร็งไปทั้งร่าง แต่ความจริงร่างกายเป็นปกติ แต่ที่มีความรู้สึกอย่างนั้นเป็นอาการของสมาธิ เสียงภายนอกที่เข้ามากระทบหูเกือบไม่ได้ยินเสียงนั้นเลยได้ยินแต่เบามาก จิตทรงอารมณ์เป็นหนึ่งสงัดดีมากเป็นพิเศษ อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่สาม

๔.อาการของฌานที่สี่เมื่อจิตเข้าถึงฌานที่สี่ ฌานสี่นี้มีสองขั้นคือ หยาบ กับ ละเอียด เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่หยาบตอนนั้นจะมีความรู้สึกว่า ลมหายใจหายไป ไม่รู้สึกว่าหายใจแต่ที่จริงแล้วลมหายใจยังมีตามปกติ แต่ทว่าจิตไม่รับทราบว่าร่างกายทำอะไร หายใจหรือไม่ จิตใจย่อมไม่รับรู้ตามท่านพูดว่าจิตกับประสาทแยกกันเด็ดขาด แต่ตอนฌานสี่หยาบนี้จิตแยกออกจากประสาทจริงแต่ยังไปไม่ไกลนัก ฉะนั้นเมื่อมีเสียงดังขนาดเครื่องขยายเสียงที่ดังมากๆ ตั้งอยู่ใกล้หูยังพอได้ยินแว่วๆ เหมือนอยู่ไกลกันมาก

เมื่อจิตเข้าถึงฌานสี่ละเอียด ตอนนี้สบายมาก เพราะไม่รู้อะไรเลย (ไม่ใช่หลับ) ภายในกำลังของจิตเข็มแข็งมาก มีความสว่างโพลง แต่จิตไม่ยอมรับรู้เรื่องของประสาทเลย ไม่ว่าเสียงหรือการกระทบกาย จิตไม่ยอมรับทราบด้วยประการทั้งปวง อาการของฌานสี่ที่ละเอียดเป็นอย่างนี้

ที่มา : http://board.palungjit.com

ღ..มุมมองชีวิตเท่านั้นเอง..ღ

ชีวิตมีหลายมุมมอง เราควรเข้าใจ..โลก..ให้ได้ทุกมุมแห่งความคิด
กรุณา....อย่าเอามุมความคิดของเราที่คิดว่าถูกเพียงมุมเดียว....ตัดสินผู้อื่น
เพราะ....ทุกชีวิตกำลังเดินอยู่บนเส้นทางแห่งการเรียนรู้....
ไม่มีคำว่าผิดในการเรียนรู้...มีแต่ถูกมาก...ถูกน้อย ในการค้นพบสัจธรรม
ตลอดทั้งชีวิตความผิดและความถูกที่เกิดขึ้นล้วนเป็นครู...ของเรา
ซึ่งเป็นเพียงบทเรียนในชีวิต...บนเส้นทางแห่งวัฏฏะ...เท่านั้นเอง

ที่มา : ธรรมวลี ศรีแช่ม (www.facebook.com)

วันอาทิตย์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ..นิพพานธรรม..ღ



คาธาธรรม : นิพพานธรรม

ท่านทั้งหลายทั้งปวงทุกคน ล้วนแต่ประสงค์ดี มาดี ใฝ่เอาความดี ความดีที่ว่านี้ มีพระธรรม ของพระพุทธองค์เป็นที่สุด พระธรรมมีทั้งคำสอน มีทั้งสิ่งที่จะประพฤติ ปฏิบัติ ทดสอบ พิสูจน์ และมีทั้งสิ่งที่จะเกิดเป็นผล ผลดังกล่าวนั้น คือ วิมุติธรรม อมตธรรม นิพพานธรรม

ในวิมุติธรรม คือ การหลุดพ้น อมตธรรม คือ ธรรมะที่เรากำหนดรู้ สามารถดับ สามารถเกิด อยู่ได้ นิพพานธรรม คือ ความสมบูรณ์ ความสงบสนิท ไปปราศจากแล้ว ซึ่งราคะ โทสะ โมหะ สิ้นอาสวะ

ผู้กระทำตนด้วยความพากเพียร ขยัน รู้จักทิศทางแห่งการปฏิบัติ ประพฤติอันถูกตรง ได้อุตสาหะ วิริยะ ขะมักเขม้น ไม่ท้อถอย มีสติ และสัมปชัญญะ ประพฤติ ปฏิบัติอยู่ ทุกเวลา มีกุศล กุศลอันพึงได้พึงเป็นนั้น เป็นผล อันจะเกิดอยู่ทุกขณะ ลมหายใจเข้าออก ของผู้พึงเพียร อกุศลใดบกพร่องอยู่ ก็รู้อยู่ และพึงปรับปรุงให้เป็นกุศล ทุกเวลา มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ เกิดดี เป็นปีติ เป็นปัสสัทธิ สั่งสมลงตั้งมั่นเป็นสมาธิ และยอดสุด เป็นอุเบกขา อยู่เสมอๆ ผู้เดินด้วยก้าว ๗ ก้าว แห่งพระพุทธองค์พาเป็นพาไป ผู้ใดกระทำอยู่ อย่างขะมักเขม้น ไม่ท้อถอย มีสติ และสัมปชัญญะ ผู้นั้น พึงหวังได้ ซึ่งเป้าประสงค์ ที่ตนปรารถนานั้นแล


ที่มา : www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Book/gatha/2525-04-10.html

ღ..ผู้อยู่เหนือ..ღ


คาธาธรรม : ผู้อยู่เหนือ

ผู้ก้าวหน้า ผู้เจริญ ต้องเป็นผู้ที่มีจิตอันแยบคาย มีความละเอียดในสิ่งที่เรารู้เท่าทัน อยู่เหนือ ทำจิตเป็นผู้ที่ชนะได้เสมอ รู้ และอยู่เหนือเป็นปรัชญาของศาสนาพุทธ เราไม่ได้หนี แต่เราอยู่เหนือ เรารู้ว่า...สิ่งนั้นตามความเป็นจริง ว่าดีกว่านั้นได้ เราทำให้ ดีกว่านั้นขึ้น และ ปล่อยสิ่งที่เราได้ไปเป็นทาส ทำจิตของเราแปรปรวน ไม่มีอำนาจ ไม่มีความอยู่เหนือ การอยู่เหนือ ไม่ใช่ข่ม แต่เป็นผู้วางได้ เป็นผู้เกื้อกูลกันได้ เป็นผู้ช่วยเหลือได้ หรือ เป็นผู้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียว เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งนั้น สิ่งนั้น และ เป็นผู้ช่วยเหลือสิ่งนั้น พัฒนาเจริญได้ นั่นเอง


ที่มา : www.asoke.info/09Communication/DharmaPublicize/Book/gatha/2525-04-10.html

วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ღ..อย่าหลงแต่จงรู้..ღ


อย่าหลงแต่จงรู้
โดย...หลวงปู่สิม พทฺธาจาโร

ดวงใจอันเดียวนี้แหละ มันเป็นได้ทั้งรู้ มันเป็นได้ทั้งหลง
เมื่อปล่อยให้มันหลงใหลไปตาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ แล้ว
ใจอันนี้ จิตอันนี้ มันก็หลงมากระทั่งวัน กระทั่งคืน
ตลอดตั้งแต่เกิดจนแก่ ตั้งแต่แก่จนตาย
หลงใหลมาอย่างนี้ นับภพนับชาติไม่ถ้วนแล้ว
เมื่อภาวนาทำความเพียร เพียรแผดเผากิเลสในหัวใจอันนี้
ให้มันเบาบางหมดสิ้นไป ก็คือว่าเพียรเพ่งอยู่จำเพาะดวงจิตอันนี้
เตือนบอกดวงจิต ดวงที่มีความรู้สึกอยู่ภายในนี้ว่า
นอกจากจิตที่รู้อยู่ ตั้งอยู่ในขณะปัจจุบันนี้ออกไป
จะเป็นอดีต อนาคต ร้ายดีอย่างไร ไม่ต้องไปสนใจ เพราะไม่เที่ยงทั้งหมด
ไม่มีอะไรที่เป็นของเที่ยงมั่นถาวรอยู่ได้เลยในโลกนี้ เป็นทุกข์เปล่าๆ
นอกจากที่รู้อยู่นี้เป็นทุกข์ นอกจากที่รู้อยู่นี้ไม่ใช่ตัวตนของเรา

แม้ที่รู้อยู่นี้ก็ยังไม่แน่ เพราะยังมีอาสวกิเลสต่างๆ ห่อหุ้มเต็มดาษดื่นอยู่
จำเป็นต้องทำความเพียรแผดเผากิเลสในที่นี้
บำเพ็ญทาน รักษาศีล ภาวนา ในที่นี้
ในดวงจิตที่มีความรู้อยู่เดี๋ยวนี้ ขณะนี้ เวลานี้
คอยระวังเสียงเข้ามาทางหู อย่าได้ไปตามมัน
รูปผ่านทางสายตา อย่าได้ตามมันไป
กลิ่นมาทางจมูก อย่าได้หลง
รสอาหารผ่านลิ้น อย่าได้หลงไป
เย็นร้อนอ่อนแข็งมาทางผิวกาย อย่าได้หลงไป
ความนึกคิดปรุงแต่งดีชั่วประการใด อย่าได้หลงไปตามอาการเหล่านั้น

ทำไมพระองค์จึงไม่ให้หลง พระองค์ให้รู้
ท่านว่าให้รู้อยู่ หนึ่ง เดี๋ยวนี้
ท่านทั้งหลายรู้ไปรู้มาพอแรงแล้ว รู้ไปโน้น รู้ไปนี้
จะเอาอย่างโน้น จะเอาอย่างนี้
มันได้อะไร ก็ได้แต่ชาติ ชรา มรณะ
ตายเกิด ตายเกิด ตายอยู่ในโลกนี้ เห็นไหม
เพราะทุกคนเกิดตาย เกิดตาย อยู่เหมือนกับเสียง ตั้งขึ้นก็ดับไป
รูปตั้งขึ้นมันก็ดับไป มีความเกิดขึ้นที่ไหน ย่อมมีความดับไปในที่นั้น

ท่านให้รู้ธาตุรู้อันนั้น
มันเป็นคำบอกคำสอนของพระพุทธเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหลาย
เมื่อท่านเตือนว่าท่านให้รู้ จิตของผู้ใด ผู้นั้นก็ให้รู้สึกตัว
อย่าไปมัวเมาตามอารมณ์ของจิต ตามสังขารของจิต ตามตัณหาของจิต
ตัณหา ท่านว่ากามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา
คือตัณหาอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด
มันมีอยู่ในดวงใจนั่นแหละ
ที่จะเลิกได้ ละได้ อยู่ที่ความเพียรเพ่งอยู่
ความเพียรเพ่งอยู่ไม่หลงใหลไปตามตัณหาทั้งหลาย
แผดเผาตัณหาเหล่านี้ให้หมดไป สิ้นไป
ก็คือว่าไม่ตามตัณหา ความอยาก ความปรารถนา
อันบังเกิดในดวงจิตดวงใจนั่นเอง
มันจะมีความดิ้นรนวุ่นวายไปตามตัณหา อย่างใดก็ตาม
ให้สงบอยู่ ให้รู้อยู่ ให้แจ่มแจ้งอยู่ ณ ภายในดวงใจ

ท่านให้เห็นแจ้งลงไปในใจอันนี้
แล้วก็นอกใจออกไปก็ให้เห็นแจ้งในทุกสิ่ง
มันไม่มีอะไรเที่ยงมั่นถาวรอยู่อย่างนั้นตลอดไป ไม่มีเลย
แล้วก็ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นสุขกายสบายใจตลอดเวลา ไม่มีเลย
มีแต่ทุกข์นั่นแหละ นั่งเป็นทุกข์ในนั่ง นอนเป็นทุกข์ในนอน
ยืนเป็นทุกข์ในยืน เดินไปมา เป็นทุกข์ในการเดินไปมา
พูดจาปราศรัย แสดงธรรม มันก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นสุข
ที่เราสมมุติว่าอันนั้นเป็นสุข อันนี้เป็นสุข ไม่จริงทั้งนั้น
ถ้ามันสุขจริง ตายแล้วทำไมมันมาเกิด
มันไม่มีหรอกเรื่องสุข สุขนั้นมันเป็นความหลงของปุถุชนคนใบ้
พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านเห็นว่าเป็นเรื่องของความ ทุกข์
เป็นเรื่องของความไม่รู้ต่างหาก

คัดจากพระธรรมเทศนา ในหนังสือรวมธรรมเทศนา ๑๐๘ กัณฑ์

ที่มา : www.dlitemag.com

ღ..สุขจิต-จิตสุข..ღ


สุขดวงจิต คิดดี มีแต่ให้
สุขใดเล่า ที่ควรจะ แสวงหา
สุขที่จิต คิดที่สุข ชื่นอุรา
สุขนำมา ให้จิต คิดทำดี
********************
สุขจากการงานเบิกบานจิต
สุขใกล้ชิดสติ ปัญญาบารมี
สุขกับกาลเวลาผ่านนาที
สุขยินดีพอใจในการงาน
สุขเกิดจากวิริยะมาประสาน
สุขร่วมงานกับจิตตะกันเต็มที่
สุขจากวิมังสาร่วมพิจารณาคดี
สุขอิทธิบาท4 มาร่วมทุนหนุนสินติ
**************************
ที่มา : www.dhammathai.org

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

หมดหวังท้อแท้ในชีวิต..คิดอย่างไรให้ใจสู้


ในช่วงเวลาที่ผ่านมาของชีวิต..
หลายคนคงผ่านบทเรียนแห่งชีวิตมานับไม่ถ้วน..
ทั้งบทเรียนแห่งความผิดหวัง..
บทเรียนแห่งความท้อแท้..แพ้ชีวิต..
บทเรียนแห่งความสำเร็จ..

ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนใด ๆ ก็ตาม..
เมื่อเราเกิดความผิดหวัง...ท้อแท้..ในชีวิต..
เราต้องพยายามปรับใจ..วางใจให้ถูก..
ด้วยวิธีการคิดที่จะปรับเปลี่ยน..ชีวิตของเรา..
ให้มีกำลังใจ..สู้ต่อไป..

๔ วิธีคิดที่จะสร้างพลังใจให้สู้ คือ..

วิธีที่ ๑ คิดแบบตรงกันข้ามกับความรู้สึกในขณะนั้น เช่น
* ถ้าทุกข์ ก็คิดสร้างสุข
* ถ้ายากก็คิดแบบง่าย...
* ถ้าเกิดปัญหา ก็คิดแก้ปัญหา..

วิธีที่ ๒ คิดแบบสร้างกำลังใจ เช่น
* ปลุกปลอบใจตนเอง...ทุกครั้งที่เกิดความท้อแท้..ผิดหวัง
* บอกตนเองเสมอว่า..เราต้องทำได้..เราต้องทำได้อย่างแน่นอน..
* ท่องไว้ในใจว่า..ไม่มี ไม่เป็น ไม่เหนื่อย...
* ไม่ทุกข์ ไม่ท้อ ไม่หนี ไม่มีปัญหา

วิธีที่ ๓ คิดแบบมีเป้าหมายในชีวิตที่แน่นอน มุ่งมั่น เด็ดเดี่ยว..
* ก็จะไม่เลิก ลด ละ ความเพียรพยายาม..
* จงสู้ต่อไปจนกว่าจะประสบความสำเร็จ..
* แม้จะเป็นวินาทีสุดท้ายของลมหายใจก็ตาม..

วิธีที่ ๔ คิดใหญ่ไม่คิดเล็ก..
* มองปัญหาออก..แก้ปัญหาเป็น..
* คิดการใหญ่...ใช้คนเป็น..รู้เห็นตามความถูกต้อง..
* ปรองดอง...รักษาน้ำใจ..สร้างมิตรภาพ..
* อย่าลืมว่า.. ยิ่งสูงยิ่งหนาว ...
* ต้องคิดดี..ทำดี..พูดดี..ทุกที่ทุกเวลา...

ดังนั้น..

ถ้าท้อแท้..หมดหวังในชีวิต..
จงพยายามคิดให้ใจสู้...

อย่าเชื่อว่า...เราทำไม่ได้..ถ้ายังไม่ได้ลงมือทำ..
อย่าท้อแท้..ตราบใดที่เรายังไม่ได้พยายาม..

อย่าสิ้นหวัง...ตราบใดที่เรายังมีกำลังใจ..
อย่าแพ้ชีวิต...ตราบใดที่ใจของเรายังมีหวัง..

จงอย่าทำลายความหวัง...เพียงเพราะ....
การดูหมิ่นตนเองว่า... ทำไม่ได้...


ที่มา : www.dhammathai.org

credit : yayee ศรัทธาธรรม (www.facebook.com)

ღ..พระคุณแม่..ღ



พระคุณแม่...นั้นประมาณ...ไม่สิ้นสุด
แม้สมมติ...เอาแผ่นดิน...สิ้นแห่งหน
เป็นหมึกก้อน...ผ่อนละลาย...ในสายชล
ให้ทั่วหน...แห่งสมุทร...สุดนที
แล้วเอาเขา...พระสุเมรุ...ที่เด่นหล้า
เอาปากปา...จุ่มหมึก...บันทึกที่
เอาท้องฟ้า...เป็นกระดาษ...วาดคดี
แล้วเขียนชี้...ชมบุญ...คุณมารดา
เขียนจนสิ้น...ดินฟ้า...มหาสมุทร
เขียนจดสุด...พระเมรุ...ที่เด่นหล้า
แต่ไม่สุด...สิ้นบุญ...คุณมารดา
จึงนับว่า...ใหญ่ยิ่ง...สิ่งทั้งปวง

ที่มา : http://www.kammatan.com

ღ..สำนึกพระคุณแม่..ღ


พระคุณแม่...เลิศฟ้า...มหาสมุทร
พระคุณแม่...สูงสุด...มหาศาล
พระคุณแม่...เลิศกว่า...สุธาธาร
ใครจะปาน...แม่ฉัน...นั้นไม่มี

...อันพระคุณ...ใคร ๆ ...ในพิภพ
...ยังรู้จบ...แจ้งคำ...มาพร่ำขาน
...พ่อแม่มี...คุณต่อบุตร...สุดประมาณ
...ขอกราบกราน...ระลึกถึง...ซึ่งบุญคุณ

เจ้าข้าเอ๋ย...ใครหนอใคร...ให้กำเนิด
จึงก่อเกิด...เติบใหญ่...ด้วยไออุ่น
ทั้งกล่อมเกลี้ยง...เลี้ยงลูกมา...ด้วยการุณย์
ช่วยค้ำจุน...ให้รอดพ้น...เป็นคนมา

...ถึงลำบาก...ร่างกาย...ให้ห่วงลูก
...ด้วยพันผูก...ดวงใจ...ให้ห่วงหา
...หัวอกใคร...จะอุ่นเท่า...อีกเล่านา
...คอยปลอบเช็ด...น้ำตา...คราระทม

เป็นแดนใจ...ใสสะอาด...ปราศกิเลส
เป็นสรรเพชญ...ของบุตร...พิสุทธิ์สม
เปี่ยมความรัก...เมตตา...น่านิยม
ประดุมลม...โชยเย็น...ใครเห็นดี

...หอบสังขาร...ทำงาน...เลี้ยงลูกน้อย
...เกรงจะด้อย...ใจทราม...ต่อศักดิ์ศรี
...จึงส่งให้...ได้ศึกษา...วิชามี
...ให้ได้ดี...กว่าแม่พ่อ...ได้รอคอย

เหมือนนกกา...หาเหยื่อ...มาเพื่อลูก
เปรอความสุข...หาทรัพย์ไว้...ให้ใช้สอย
ยามไกลพราก...จากอุรา...ตั้งตาคอย
ใจละห้อย...นอนสะอื้น...ขื่นขมทรวง

...กว่าลูกลูก...จะสำนึก...พระคุณท่าน
...ช่างเนิ่นนาน...บ้างชีวา...มาลับล่วง
...บ้างก็ป่วย...จนแทบ...สิ้นแดดวง
...ลูกจึงห่วง...เอาใจใส่...ในกายา

อย่าให้รอ...ใกล้ตาย...จึงกรายใกล้
เป็นศพไป...จึงรู้บุญ...คุณท่านหนา
ยามท่านอยู่...ควรรู้ชัด...ด้วยปัญญา
ตอบแทนคุณ...มารดา...บิดาเอย

...ขอน้อมนอบ...หมอบกราบเท้า...พระแม่แก้ว
...สำนึกแล้ว...ความเลว...เคยเหลวไหล
...รู้ซึ้งแล้ว...แนววิถี...ที่เป็นไป
...แม่ช้ำใจ...เพราะลูกมา...จนชาชิน

ลูกสร้างกรรม...ทำบาป...กราบเท้าแม่
ซึ้งใจแท้...แม่อภัย...ให้หมดสิ้น
น้ำตาแม่...แต่ละหยด...ที่รดริน
ลูกถวิล...ดั่งน้ำกรด....ที่รดใจ

...แม่สละสวย...สละสาว...คราวอุ้มท้อง
...แม่ไม่ร้อง....แม่ไม่บ่น...แม่ทนได้
...แม่ถนอม...จนครรภ์แก่...แม่เต็มใจ
...จะหาใคร...เหมือนแม่....แพ้ทุกคน

ครบเก้าเดือน...เคลื่อนคลอด...รอดชีวิต
แม้ใกล้ชิด...ลูกน้อย...คอยฝึกฝน
แม่ลำบาก...อย่างไร...ใจแม่ทน
สายเลือด...เต้าแม่กลั่น...ปันลูกกิน

...แม่ป้องริ้น...ป้องไร...ไม่ให้ผ่าน
...แม่สงสาร...หวงลูกยา...กว่าทรัพย์สิน
...แม่เห่กล่อม...ยามนิทรา...เป็นอาจิณ
...แม่ไม่ผิน...แม่ไม่ผัน....ทุกวันมา

ยามลูกสุข...แม่สุขสม...อารมณ์ชื่น
ยามลูกขื่น...แม่ขม...ระทมกว่า
ยามลูกไข้...แม่อดนอน...ร้อนอุรา
ยามลูกยา...อับโชค...แม่โศกใจ

...คราลูกหิว...แม่หิวกว่า...น้ำตาร่วง
...แม่เป็นห่วง...ดิ้นรนหา...เอามาให้
...แม้แม่อด...หมดข้าวปลา...ไม่ว่าไร
...แม่สละได้...ลูกอิ่มแปล้...แม่ทนเอา

ใครไหนเล่า...เฝ้าอบรม...บ่มนิสัย
แม้เติบใหญ่...ไม่ย่อท้อ...คอยนั่งเฝ้า
พระคุณเลิศ....ลูกโศกศัลย์...แม่บรรเทา
ใครไหนเล่า...รักมั่นแท้...แม่ฉันเอง

คัดลอกจาก ดูเฉย ๆ หนึ่งพรรษา
โดย...พ.วิมโลภิกขุ และ พ.อาภัสสโรภิกขุ

ที่มา : Dewboony Techa (www.facebook.com)

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การตอบแทนพระคุณบิดามารดาในพระพุทธศาสนา


การตอบแทนพระคุณบิดามารดาในพระพุทธศาสนา
โดย...อ.หิ่งห้อยน้อย

๐ วันที่เรา รักแม่ ใช่วันเดียว
วันที่เหลียว หาแม่ ชะแง้หา
ใช่วันหนึ่ง ในแต่ละปี ที่ผ่านมา
ทำทุกวัน ให้มารดา นั้นสุขใจ

๐ แม่ของใคร ยังไม่มี สัทธามั่น
รีบรังสรรค์ ให้เกิด ประเสริฐใส
แม่ของใคร ไม่มีศีล ปลูกทันใด
ให้เกิดขึ้น ในใจ หน้าที่เรา

๐ แม่ของใคร ยังไม่มี ที่จักให้
จาคะไซร้ รีบสร้างไว้ อย่าให้เขลา
แม่ผู้ใด ที่มี ปัญญาเบา
รีบเร่งเร้า ก่อให้เกิด ประเสริฐเอย

***********************
ส่วนบุตรคนใด
ยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธา
ให้สมาทานตั้งมั่นใน ศรัทธาสัมปทา

ยังมารดาบิดาผู้ทุศีล
ให้สมาทานตั้งมั่นใน ศีลสัมปทา

ยังมารดาบิดาผู้มีความตระหนี่
ให้สมาทานตั้งมั่นใน จาคสัมปทา

ยังมารดาบิดาทรามปัญญา
ให้สมาทานตั้งมั่นใน ปัญญาสัมปทา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล
การกระทำอย่างนั้น ย่อมชื่อว่าอันบุตรนั้นทำแล้ว
และทำตอบแทนแล้ว แก่มารดาบิดา ฯ

*************************
จากจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต
*************************************
เจริญในธรรมเจ้าค่ะ

ที่มา : Hinghoi Noi ( www.facebook.com)

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

~..น่าคิด..~


น่าคิด
ธรรมคำสอน ท่าน ก. เขาสวนหลวง

ที่จะเอาอะไรตามใจของตัวเอง
ใจมันพาเราไปตกหล่มจมปลักกันอยู่หรือเปล่า?
เห็นแก่ตัวของตัวอยู่ฝ่ายเดียว
ไม่นึกถึงเพื่อนร่วมทุกข์เกิด แก่ เจ็บ ตาย

คิดเอาแต่ได้ประโยชน์ส่วนตน
ใครเป็นอย่างไรไม่ว่า
ข้าเอาของข้าไว้ก่อน
จะเสียหายแก่ส่วนรวม ไม่นึกถึง

ตกลงนั่นก็คือ ความเห็นแก่ตัวจัดนั่นเอง
จะคิดถึงประโยชน์ส่วนกลางสักหน่อยจะได้ไหม
จะกอดสมบัติ อัตตกรรมทำเวรใส่ตน
ขนบาปใส่ใจไปใช้ในชาติหน้ากันหรืออย่างไร?

โง่แกมหยิ่งนี้รู้สึกตัวยากแท้
มันก็ล้วนแต่โง่เง่าหาเรื่องเผาตัวเอง
จะเอา จะเป็นทั้งนั้น
งมงายไปจนหมดอายุ

ยิ่งแก่ ยิ่งหลง
อยากได้หนักขึ้น
กิเลสหนาหนักเข้า

วันเวลาของชีวิตเหลือน้อยเข้าไป
วันเวลาแห่งความตายใกล้เข้ามา

น่าสังเวชเหลือเกิน
สุขที่เคยคิดอยากได้เก็บไว้นั้น
มันกำลังจะกลับกลายเป็นทุกข์ไปทั้งสิ้น...

ที่มา : http://www.thaifwd.com/thread-2886-1-1.html

วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำไมเราจำชาติที่แล้วไม่ได้


สัญญา แปลว่า ความทรงจำ, จำความได้
ในทางพระพุทธศาสนาถือว่าสัญญานั้นย้อนกลับไปได้ไม่สิ้นสุด
เช่นเราลองนึกถึงตัวเราในอดีตที่กำลังเศร้ากับการกระทำที่ผิดพลาดของตนในอดีต
ในสัญญาของตัวเราในอดีตก็มีเหตุการณ์ที่ตัวเราในอดีตขณะนั้น
มีภาพตัวเราที่ เป็นอดีตของอดีตตัวเราทำความผิดพลาดซ้อนอีก

ดังนั้นสัญญาจะมีลักษณะซ้อนทับ กับไปเรื่อยๆไม่สิ้นสุด
แต่ที่เราจำเหตุการณ์ในอดีตไม่ได้ เพราะแค่ปีที่แล้วยังยังจำไม่ค่อยได้เลย
เพราะอำนาจสติมีกำลังน้อย

อีกทั้งที่เราจำชาติก่อนไม่ได้เพราะ กฎแห่งวัฏฏะ
( คือกิเลส ทำให้เกิดกรรมคือการกระทำ
และรับผลการกระทำนั้นเมื่อรับผลก็ทำให้เกิดกิเลสไม่สิ้นสุด )
1. เรามีอวิชชา เป็นกิเลสวัฏฏะ
2.ทำให้เกิดมโนกรรมคือมิจฉาทิฐิ
3.ทำให้เกิดวิบากกรรม(ผลกรรม)คือจำชาติที่แล้วไม่ได้
เนื่องจากขณะจิตที่ดับจิตเป็นมิจฉาทิฐิ
(ไม่รู้ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์คือดับกิเลสและทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์คือมรรคมีองค์ ๘)

ชนกกรรมที่นำไปเกิดทำให้สันตติความจำขาดจำชาติที่แล้วไม่ได้
ดังนั้นถ้าแม้ใครไม่บรรลุธรรมจนละอวิชชาได้
แต่หากขณะจิตที่จะตายจิตมีมโนกรรมเป็นสัมมาทิฐิย่อมจำชาติภพที่แล้วได้ชาติหนึ่ง
ดังที่มีตัวอย่างที่เป็นเด็กๆจำชาติที่แล้วได้ แต่โตมาลืมเป็นต้น


ทำไมเราจำชาติที่แล้วไม่ได้งั้นหรือ?
สำหรับคำถามนี้ สามารถอธิบายได้โดยอาศัยสมมุติฐานเกี่ยวกับการจำอดีตชาติได้และการจำอดีตชาติไม่ได้ที่ว่า การที่บางคนสามารถจำอดีตชาติได้นั้น อาจมีสาเหตุมาจากการที่ความทรงจำในอดีตชาตินั้นถูกระลึกถึงอยู่เสมอ ถูกทบทวนอยู่บ่อยๆ มีความฝังใจ มีเจตนาที่แรงกล้า มีความหนักแน่นมั่นคง หรือขณะเสียชีวิตและหลังจากเสียชีวิตมีสติรู้สึกตัวตลอดเวลา ทำให้ความทรงจำในอดีตชาติถูกยกขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกันหรือในระดับใกล้เคียงกับวิถีจิต(จิตสำนึก Conscious) และเมื่อตอนขณะที่สืบชาติมาเกิดใหม่ก็มีสติครบถ้วน เมื่อสืบชาติมาเกิดใหม่จึงทำให้สามารถจำอดีตชาติได้ด้วยความทรงจำปกติตั้งแต่เด็ก

ส่วนผู้ที่จำอดีตชาติไม่ได้นั้น อาจมีสาเหตุมาจากการที่ความทรงจำในอดีตชาตินั้นไม่ได้ถูกระลึกถึงอยู่เสมอ ไม่ได้ถูกทบทวนอยู่บ่อยๆ ไม่มีความฝังใจ ไม่มีเจตนาที่แรงกล้า ไม่มีความหนักแน่นมั่นคง หรือขณะเสียชีวิตและหลังจากเสียชีวิตขาดสติไม่รู้สึกตัว ทำให้ความทรงจำในอดีตชาติถูกเก็บไว้ในระดับของภวังคจิต(จิตใต้สำนึก Unconscious)ที่ลึกลงไป และเมื่อตอนขณะที่สืบชาติมาเกิดใหม่ขาดสติรู้สึกไม่ครบถ้วนหรือไม่รู้สึกตัว เมื่อสืบชาติมาเกิดใหม่จึงทำให้ไม่สามารถจำอดีตชาติได้ ด้วยความทรงจำปกติตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อมีการสะกดจิตหรือมีการฝึกสมาธิจิตทำให้สามารถเข้าถึงภวังคจิตที่อยู่ลึกลงไป จึงสามารถระลึกชาติได้ สำหรับวิธีการสะกดจิตซึ่งเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยของจิตแพทย์ในปัจจุบันนี้นั้น อาจทำให้สามารถระลึกชาติได้มากกว่าหนึ่งชาติ(ส่วนใหญ่จะไม่เกินสองชาติ) แต่วิธีการฝึกสมาธิจิตจนได้บุพเพนิวาสานุสติญาณนั้น จะสามารถระลึกชาติได้มากจนนับชาติไม่ถ้วน เช่นเดียวกันกับพระอริยสงฆ์ทั้งหลายและพระพุทธเจ้า


ที่มา : ที่มา : http://atcloud.com/stories/97500

ღ..สม่ำเสมอดั่งสายน้ำ..ღ



สม่ำเสมอดั่งสายน้ำ
โดย...หลวงพ่อชา สุภัทโท

เหมือนอย่างน้ำในขวดนี่แหละ
ครั้นเรารินมันทีละน้อย มันก็จะหยด
นิด..นิด พอเราเร่งรินให้เร็วขึ้น
มันก็จะไหลติดต่อเป็นสายน้ำเดียวกัน
ไม่ขาดตอนเป็นหยดเหมือนเวลาที่เรารินทีละน้อย ๆ
"สติ"ของเราก็เหมือนกัน ถ้าเราเร่งมันเข้า
คือ ปฏิบัติให้สม่ำเสมอแล้ว มันก็จะติดต่อกัน
เป็นสายน้ำไม่เป็นน้ำหยด หมายความว่า
ไม่ว่าเราจะยืน จะเดิน จะนั่ง จะนอน
ความรู้อันนี้มันไม่ขาดจากกัน
มันจะไหลติดต่อกันเป็นสายน้ำ


การปฏิบัติจิตนี่ก็เป็นอย่างนั้น เดี๋ยวมันคิดนั่น
คิดนี่ ฟุ้งซ่านไม่ติดต่อกัน มันจะคิดไปไหนก็ช่างมัน
ให้เราพยายามทำไปเรื่อยเข้าไว้
แล้วมันจะเหมือนหยดแห่งน้ำ
มันจะทำความห่างให้ถี่ ครั้นถี่เข้า ๆ
มันก็จะติดกันเป็นสายน้ำ ทีนี้ความรู้ของเรา
มันก็จะเป็นความรู้รอบ จะยืนก็ตาม
จะนั่งก็ตาม จะนอนก็ตาม จะเดินก็ตาม
ไม่ว่าจะทำอะไรสารพัดอย่าง
มันก็มีความรู้อันนี้รักษาอยู่ ..
ถ้ามัวนั่งคอยดูว่ามันจะเป็นอย่างไรละก็
มันไม่ได้เรื่องหรอก แต่ให้ระวังด้วยนะว่า
ตั้งใจมากเกินไป ก็ไม่เป็น
ไม่ตั้งใจเลย ก็ไม่เป็น

ที่มา : www.thammasatu.com