ความสงบขั้นศีล
คราวนี้มาถึงสันติคือความสงบ
อุปสมะ ความสงบระงับอันเป็นธรรมปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้นไปอีกตามภูมิตามชั้น
ฉะนั้น จึงสมควรที่จะตรวจดูความสงบที่เป็นขั้นศีล คือเมื่อตั้งใจปฏิบัติศีลโดยตั้งใจงดเว้นจากภัยเวรนั้น ๆ หรือ จากความประพฤติที่ทรงห้ามไว้จากสิกขาบทนั้น ๆตั้งแต่ศีลห้าขึ้นไป ว่าได้รับผลเป็นความสงบอย่างไรบ้าง
ถ้าไม่พิจารณา ก็อาจจะมองไม่เห็นผลถนัดนัก และ บางทีกลับจะมองเห็นความเดือดร้อนของศีล คือมองเห็นว่าศีลเป็นเครื่องกำจัดอิสรภาพเสรีภาพของความประพฤติ ต้องเว้นจากสิ่งนั้นต้องเว้นจากสิ่งนี้ คือ จะทำอย่างนี้ก็ไม่ได้จะทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ได้จะพูดอย่างนี้ก็ไม่ได้ มีศีลห้าข้อก็เท่ากับว่ามีเครื่องจำกัดอยู่ห้าอย่าง มีศีลแปดก็มีเครื่องจำกัดอยู่แปดอย่าง ศีลยิ่งขึ้นไปเป็นศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็มีเครื่องจำกัด ๑๐ อย่าง ๒๒๗ อย่าง จนถึงรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นรั้วล้อมหรือเป็นห้องขัง ศีลยิ่งมากก็ยิ่งถูกขังจนอึดอัด จะทำอะไรก็ไม่ได้จะพูดอะไรก็ไม่ได้ เป็นต้น เป็นการหมดอิสระเสรีภาพ เมื่อมองอย่างนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกไม่สงบ ใจก็ฟุ้งซ่านอยากจะแหวกศีลออกไป คือว่าศีลเหมือนอย่างเป็นคอกขังเอาไว้ จึง ไม่พบความสงบไม่พบผลของศีล
แต่ ถ้าพิจารณาอีกด้านหนึ่งว่า ความรู้สึกที่เป็นดั่งนั้น อะไร ทำให้รู้สึกดั่งนั้น
ก็จะพบว่า ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง เป็นเหตุ ให้มีความรู้สึกอย่างนั้น
เพราะ ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ตัณหาไปในทางกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจบ้าง เป็นตัณหาไปในทางความอยากเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง เป็นตัณหาไปในทางที่อยากจะให้สิ่งที่ไม่ชอบภาวะที่ไม่ชอบทั้งหลาย หมดสิ้นไปบ้าง ถูกทำลายไปบ้าง เพราะ ความอยากเหล่านี้เอง เมื่อความอยากมี ๑๐ อย่างก็ดิ้นรนไป ๑๐ อย่าง ความอยากมี ๒๐ อย่างก็ดิ้นรนไป ๒๐ อย่าง…
คัดลอกจาก...ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน-หน้า ๑๓๕-๑๓๖
พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก
ที่มา : http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2009/04/25/entry-1
เครดิตภาพ : google
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น