วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ღ เบจญขันธ์ ღ

เบจญขันธ์
โดย..ท่านพุทธทาสภิกขุ

การจำแนกโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย
คือที่เป็นฝ่ายวัตถุ เรียกว่า รูป อย่างหนึ่ง.
ฝ่ายที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ฝ่ายที่เป็นจิตใจ
เรียกว่า นามธรรม อีกอย่างหนึ่ง.
ถ้าเราฟังคนโบราณพูด
หรืออ่านข้อความในหนังสือโบราณ ๆ
เราจะได้ยินคำว่า “รูปธรรม นามธรรม” นี้บ่อย ๆ .
นั่นแหละ ขอให้เข้าใจว่า
การใช้คำว่า รูปธรรม นามธรรม นั้น
ก็คือการที่ท่านแบ่งโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย;
หรือแบ่งสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ออกเป็น ๒ ประเภท
คือประเภทที่เป็นรูปธรรมได้แก่วัตถุ, หรือส่วนที่ไม่ใช่จิตใจ
ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นส่วนที่เป็นจิตใจ หรือรู้สึกได้ทางใจ
ท่านรวมเรียกว่า นามธรรม.
แต่เพื่อให้ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นอีก
ท่านได้แบ่งส่วนที่เป็นนามธรรมหรือจิตใจนี้
ออกเป็น ๔ ส่วน
เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
คำว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็เป็นคำที่ใช้กันดื่นในวงพุทธบริษัท
เชื่อว่าคงได้ยินได้ฟังกันอยู่มากแล้ว.
เมื่อเอาส่วนที่เรียกว่า “รูป” อีกหนึ่ง
ซึ่งเป็นประเภทรูปธรรม
มารวมเข้ากับ ๔ ส่วนที่เป็นนามธรรม หรือเป็นจิตใจ
ก็ได้เป็น ๕ ส่วน;
ท่านเลยนิยมเรียกว่า “ส่วน ๕ ส่วน”.
ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า
เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ห้า
แปลว่า ส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก
โดยเฉพาะก็คือเป็นสัตว์เป็นคนเรานี้เอง.

ในคนคนหนึ่ง ๆ นั้น มีการจำแนกเป็น ๕ ส่วน
ส่วนที่เป็นร่างกาย เป็นวัตถุ
เรียกว่า รูป หรือ รูปขันธ์ -ส่วนที่เป็นรูป.
ส่วนที่เป็นจิตใจอีก ๔ ส่วนนั้น
อาจจำแนกออกไปได้ คือ :-

ส่วน ๑ เรียกว่า “เวทนา” นั้น
หมายถึงความรู้สึกที่เป็นความสุข
หรือเป็นความทุกข์
หรือรู้สึกที่ยังไม่อาจจะเรียกว่าสุขหรือทุกข์.
ความรู้สึกที่คนเราจะรู้สึกกันได้โดยทั่ว ๆ ไป
ที่จะทำให้เป็นผล หรือที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่าง ๆ ขึ้นนั้น
ย่อมมีเพียง ๓ ประการนี้
คือสุขหรือพอใจอย่างหนึ่ง,
ทุกข์หรือไม่พอใจอย่างหนึ่ง,
อีกอย่างหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าสุขหรือทุกข์
คือเป็นเรื่องที่ยังเฉย ๆ อยู่ แต่ก็เป็นความรู้สึกเหมือนกัน.
ความรู้สึกทั้งหมดนี้
ย่อมมีประจำอยู่ในคนเราเป็นปรกติ.
วันหนึ่ง ๆ ย่อมเต็มไปด้วยความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
อย่างนี้เท่านั้น.

ส่วนที่ ๒ ถัดไป เรียกว่า “สัญญา” คำว่า สัญญา นี้
ตามตัวหนังสือแปลว่า รู้พร้อม; เป็นความรู้สึกเหมือนกัน
แต่ไม่ใช่รู้สึกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น.
รู้สึกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น
รู้ไปในทางที่ว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์,
ส่วนสัญญานี้ เป็นความรู้สึกตัวอยู่
เหมือนอย่างว่าเรากำลังรู้สึกตื่นอยู่
คือไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย
หรือเรียกว่ามีสมปฤดี มีสติสมปฤดี.

ส่วนที่ถัดไป ส่วนที่ ๓ เรียกว่า “สังขาร”.
คำว่าสังขารนี้ มีความหมายมากที่สุด จนมันปนเปกันยุ่งไปหมด.
คำว่า สังขาร ๆ นั้น มีอยู่หลายคำด้วยกัน
ฉะนั้นอย่าเพ่อไปพูดไปนึกกันถึงคำว่าสังขารในพวกอื่น หรือหมู่อื่น.
เราพูด สังขาร ในที่นี้กันก่อน.
สังขารในส่วนที่เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของพวกนามธรรมในที่นี้
ได้แก่ตัวความคิด,
คำว่า สังขาร ๆ นี้แปลว่าปรุง.
คำว่า ปรุง ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจได้ว่า
มันต้องหลาย ๆ อย่างมารวมกันเข้าด้วยกัน
แล้วเกิดเป็นผลอันใดอันหนึ่งขึ้น จึงเรียกว่าปรุง.
คำว่าสังขารนี้ ตัวหนังสือแปลว่า ปรุง
แต่กิริยาอาการของมัน ที่เป็นอยู่หรือเป็นไปในคน ๆ หนึ่งนั้น
ได้แก่การคิดหรือความคิด.
ความรู้สึกส่วนที่เป็นความคิด
เช่นคิดจะทำนั่น คิดจะพูดนี่
คิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้
ซึ่งจัดแบ่งเป็นคิดดี คิดเลว คิดชั่วร้าย
คิดในทางไหนก็ตาม เหล่านี้จัดเป็นความคิดทั้งนั้น.
ความรู้สึกที่เป็นความคิดพลุ่งขึ้นมาจากการปรุงแต่งในภายใน
นี้เราเรียกว่าสังขาร, จำกัดความลงไปว่าเป็นความคิด.

ทีนี้ ส่วนที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของฝ่ายนามธรรม
เรียกว่า “วิญญาณ”.
วิญญาณในที่นี้หมายถึงตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้สึก
ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายทั่ว ๆ ไป
และตลอดถึงที่มโนทวาร คือที่ใจเองด้วย.
ศัพท์ว่า วิญญาณ นี้ แปลว่า รู้แจ้ง ก็จริง
แต่ในที่นี้หมายถึงเท่าที่รู้ตามธรรมชาติ
ไม่ได้หมายความว่ารู้ถูกต้องก็หามิได้.
เพียงแต่รู้ชนิดที่เมื่อมีอะไรมากระทบทางตา
ก็มารับอารมณ์ทางตา
จนรู้สึกว่ามันเป็นรูปนั้นรูปนี้.
เมื่ออะไรกระทบทางหู
จะรู้สึกว่าเป็นเสียงนั้นเสียงนี้ขึ้นมา,
ถ้ากระทบทางจมูก
ก็รู้สึกว่าเป็นกลิ่นขึ้นมาดังนี้เป็นต้น,
จิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ตลอดจนถึงทางใจ นี้เอง
เรียกว่า วิญญาณ.

เมื่อได้แยกดูทีละส่วน ๆ ทั้ง ๕ ส่วน
ว่าไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน
คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ ส่วน
ก็ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน ดังนี้แล้ว
ก็จะถอนความเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนเสียได้ในสิ่งทั้งปวง.
คำว่าในสิ่งทั้งปวงก็คือว่าในคนทุกคนนั่นเอง.
โลกทั้งโลกอาจแยกได้เป็น ๕ ส่วน อย่างนี้ :
ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับจิตใจ เป็นวัตถุล้วน ๆ ก็เป็นพวกรูปไป,
แต่ถ้ามันมีเรื่องของจิตแทรกแซงอยู่
ก็จัดเป็นของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนใดส่วนหนึ่ง
การรู้จักส่วนทั้ง ๕ ส่วนนี้
คือการรู้จักโลกทั้งหมดว่าไม่ใช่ตัวตน.
การรู้จัก ในที่นี้หมายถึง การรู้แจ้ง
อย่างที่เคยอธิบายมาแล้ว
ว่ามันเป็นคนละอย่างกับ ความเข้าใจ.

ถ้าพิจารณาไปในทางเห็นแจ้ง
ชนิดที่อาจจะถอนความยึดถือว่าเป็นตัวตนเสียได้แล้ว
ต้องมีการวัดกันตรงที่ว่า
ไม่เกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งในสิ่งเหล่านั้น
คือไม่เกิดความรักหรือความเกลียดในสิ่งเหล่านั้น
จึงจะเรียกว่าเห็นแจ้งสิ่งทั้งปวง ว่าไม่ใช่ตัวตน.
ฉะนั้นการคิดเอาตามการใช้เหตุผล จึงถอนตัวตนไม่ได้.
การพิสูจน์กันตามทางเหตุผล หรือการคิดกันตามทางเหตุผล
ก็พอที่จะทำให้เกิดความเชื่อว่าไม่ใช่ตัวตนได้
แต่มันก็เป็นเพียงแต่ความเชื่อ
ไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งชนิดที่จะตัดความยึดถือว่าตัวตนได้อย่างเด็ดขาด.
โดยเหตุนี้เอง
จึงต้องศึกษาพิจารณากันตามหลักแห่งสิกขา ๓ ประการ
ดังที่ได้บรรยายไว้แล้วในวันก่อน
จึงจะถึงขนาดที่ถอนการยึดถือเป็นตัวตนในสิ่งทั้งปวงได้.

หน้าที่สำคัญอันพึงจะปฏิบัติในเรื่องเบญจขันธ์นี้
อยู่ที่จะต้องทำให้วิชชา คือความรู้แจ้งตามที่เป็นจริงเกิดขึ้น
เพื่อจะกำจัดอวิชชาเสีย.
เมื่อรู้แจ้งตามที่เป็นจริงแล้ว
มันก็จะเห็นเองว่า
ไม่มีส่วนไหนเป็นตัวเป็นตนที่น่าหลงใหลยึดถือ,
เมื่อนั้นอุปาทานการยึดถือก็แตกสลายลงเอง,
แม้ที่เคยยึดถือมาแต่สันดาน แต่กำเนิด แต่ชาติก่อน
หรือแต่ไหนก็ตาม มันต้องสลายออกไปทันที
เพราะว่าเดี๋ยวนี้
มันได้เห็นแจ้งความจริงว่า
สิ่งที่มันเคยหลงยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น
มันไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนเลย.

ทีนี้ เรามาถึงปัญหาที่ว่า
ทำไมเราตามปกติจึงมองส่วน ๕ ส่วนนี้
ไม่ออกตามที่เป็นจริง ? เพราะเหตุใด ?
เพราะเหตุว่าเมื่อเราเกิดมาจากท้องมารดา
ลืมตาขึ้นมาในโลกนี้นั้น
เราก็ไม่อาจจะมีปัญญาของเราเอง.
เราได้แต่รับการศึกษาแวดล้อมมาตามที่เขาจะสอนให้อย่างไร.
สิ่งแวดล้อมเราที่สอนเรานี้
สอนด้วยปากตรง ๆ ก็มี สอนด้วยทำให้ดูก็มี
หรือเป็นสิ่งที่กระทบด้วยตนเองแล้วเข้าใจได้เองก็มี;
ล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้นที่สอนเรา
แต่ว่าสิ่งทั้งหมดนั้นล้วนแต่สอนเราไปในทางให้เข้าใจว่า
ทุกสิ่งเป็นตัวเป็นตนไปเสียทั้งนั้น.
ทั้งนี้ก็เพราะอำนาจสัญชาตญาณดั้งเดิม
คือสัญชาตญาณแห่งการยึดถือด้วยวาทะว่าตัวตน
ที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน
ซึ่งอาตมาได้อธิบายมาแล้ว
ในวันที่กล่าวถึงเรื่อง อุปาทานสี่
อัตตวาทุปาทาน นี้มันมีติดมาตั้งแต่เราเกิดมา
และพอกพูนให้หนายิ่งขึ้นทุกวัน.
เรามีการพูดจากับบิดามารดา เพื่อนฝูงทั้งหลาย
ก็ล้วนแต่พูดเป็นมึง-เป็นกู เป็นเขา-เป็นเรา เป็นผู้นั้น-ผู้นี้
ผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำ ผู้ได้-ผู้เสีย,
ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นการย้ำความคิด ความรู้สึก
หรือความเข้าใจว่ามีตัวตนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.

นี้ เมื่อดูกันในแง่ปรมัตถ์ที่ลึกลงไปอีก
มันจะปรากฏเป็นความจริงว่า
แม้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม;
ธาตุอ๊อกซิเจน ธาตุไฮโดรเจน หรืออะไรก็ตาม
จะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตาม,
ดูให้ลึกแล้ว ก็จะพบลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันหมด
คือ “ความว่าง”.
ว่างจากอะไร ? ว่างจากตัวตนนั่นเอง.
คำว่าว่างในที่นี้ ก็คือ ว่างจากสิ่งที่เราเรียกว่าตัวตน
อย่าไปดูมันตรงที่เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม
ดูมันตรงที่มันไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน.
ดูที่ตรงไหน ๆ มันก็ไม่มีตัวตน,
พบแต่ความว่างจากตัวตน,
ซึ่งถ้าเรียกอย่างภาษาศาสนา
ก็เรียกว่า “สุญญตา” แปลว่า ความเป็นของว่าง,
และเล็งถึงความว่างจากความมีตัวตน
ว่างจากความหมายที่ควรถือว่ามีตัวตนโดยเฉพาะ.
ความว่างจากตัวตนนี้ มีปรากฏอยู่ในทุก ๆ สิ่ง ไม่ว่าสิ่งใดหมด
เพียงแต่ดูไม่เป็น ก็ไม่มีทางที่จะเห็นเท่านั้นเอง.

ท่านผู้ใดเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ในลักษณะที่เป็นของว่าง เป็นสุญญตา ดังนี้แล้ว
ความยึดถือหรืออุปาทานย่อมไม่มีทางที่จะเกิดได้,
ที่เกิดแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเหลืออยู่ได้
มันจะสูญหายละลายไปหมด
ปราศจากอุปาทานโดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นอุปาทานข้อไหนใน ๕ ข้อนั้นก็ตาม
มันจึงไม่มีสัตว์ ไม่มีคน ไม่มีธาตุ ไม่มีขันธ์ ไม่มีอายตนะ
ไม่มีอะไรทั้งหมด อีกชั้นหนึ่ง.
นี่แหละเป็นความว่างจากการยึดถือว่าตัวตนจนสิ้นเชิงแล้ว
จนกระทั่งความทุกข์ก็ไม่มีที่เกิด และเกิดไม่ได้.

แต่เมื่อใด มองเห็นความว่างของสิ่งทั้งปวง
คือของโลกทั้งหมด
หรือจะเรียกว่าของสัตว์หรือคน หรือของอะไรก็ตาม
โดยการเพิกถอนความยึดถือมาตามลำดับ ๆ
คือชั้นแรกทีเดียว ก็เพิกถอนสมมติที่ว่า
เป็นนาย ก. นาย ข. นาย ง.;
เป็นลูก เป็นพ่อ เป็นผัว เป็นเมีย เป็นบ่าว เป็นนาย
เป็นอะไรเหล่านี้
จนหมดสมมติก็มาเหลืออยู่ที่บัญญัติว่า
เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
แล้วมองบัญญัติเหล่านั้นให้ละเอียดยิ่งลงไปอีก
จนเห็นว่าเป็นแต่ละบัญญัติ ๆ
แล้วเพิกถอนบัญญัติให้เป็นของว่าง เป็นความว่าง
คือว่างจากส่วนใดส่วนหนึ่งที่จะเรียกว่าตัวตน อีกต่อหนึ่งดังนี้แล้ว;
เมื่อนั้นเขาจะไม่ตกเป็นทาสของกิเลสอีกต่อไป
และความทุกข์ก็ไม่มีที่เกิดทุก ๆ ชนิด และทุกวิถีทาง
ใครจะเรียกเขาว่า
คนดี คนชั่ว, คนสุข คนทุกข์ หรืออะไรก็ตาม ไม่เป็นของแปลก.
ทั้งหมดนี้เป็นผลเกิดมาจาก
การมีความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นแจ้ง ในความจริงของเบญจขันธ์
จนถอนอุปาทานทั้ง ๔ ประการเสียได้นั่นเอง.

สรุปความว่า
สิ่งทั้งปวงในโลก หรือโลกทั้งหมด
สรุปรวมอยู่ในคำว่า “เบญจขันธ์”
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.
แต่ละส่วนเป็นมายา ไร้ตัวตน.
แต่ก็มีเหยื่อล่อให้เกิดอุปาทานการยึดถือ
จนเป็นที่ตั้งของ
ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากไม่ให้มีไม่ให้เป็น
ซึ่งล้วนแต่จะทำให้เกิดทุกข์ ไม่อย่างเปิดเผย ก็อย่างเร้นลับ.
ทุกคนจะต้องอาศัยข้อปฏิบัติที่เรียกว่าไตรสิกขา
ทำการถอนอุปาทานในเบญจขันธ์เสียให้สิ้นเชิง
จึงจะไม่ตกเป็นทาสของเบญจขันธ์ และไม่มีทุกข์อีกต่อไป.
โลกหรือสิ่งต่าง ๆ
จะอยู่ในลักษณะที่อำนวยความผาสุกสะดวกสบายให้แก่ผู้นั้น
ไม่มีเรื่องต้องร้อนใจเพราะสิ่งใด ๆ ;
เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงไปจนตลอดชีวิต.
นี้แล
เป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องของเบญจขันธ์


ที่มา : http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2011/08/13/entry-1
เครดิตภาพ : google





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น