วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2554

ღ แนวทางปฏิบัติธรรมღ

แนวทางปฏิบัติธรรม
โดย...ท่าน ก.เขาสวนหลวง

ผู้ปฏิบัติควรจะศึกษาให้เข้าใจเป็นลำดับไปดังนี้

การศึกษาที่เรียนรู้ได้ง่าย ทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกกาละ ทุกขณะ ได้ผลทันที ไม่ต้องรอรับผลข้างหน้า ก็คือ ศึกษาในโรงเรียน กล่าวคือ ในร่างกายยาววาหนาคืบมีสัญญาใจครอง ในร่างกายนี้มีสิ่งที่น่าเรียนรู้ ตั้งแต่ขั้นหยาบจนถึงขั้นละเอียด

ขั้นของการศึกษา

ก. เบื้องต้น ให้รู้ว่ากายนี้ประกอบขึ้นด้วยธาตุต่างๆ ส่วนใหญ่ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ลม ส่วนย่อยได้แก่ ส่วนที่จับติดอยู่กับส่วนใหญ่ เป็นต้นว่า สี กลิ่น ลักษณะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีลักษณะไม่คงทน (ไม่เที่ยง) เป็นทุกข์ เต็มไปด้วยของปฏิกูล พิจารณาให้ลึกก็จะเห็นไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร มีแต่สภาพธรรมล้วนๆ ไม่มีสภาวะที่ควรเรียกว่า “ตัวเราของของเรา” เมื่อตามเห็นกายอยู่อย่างนี้ชัดเจน ก็จะคลายความกอดรัดยึดถือในกายว่าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นนั่นเป็นนี่เสียได้

ข. ขั้นที่สอง ในส่วนนามธรรม (คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) กำหนดให้รู้ตามความเป็นจริง ล้วนเป็นเองในลักษณะเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือเกิดๆ ดับๆ เป็นธรรมดา พิจารณาเห็นจริงแล้วจะคลายความยึดถือในนามธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นเขา เป็นนั่น เป็นนี่ เสียได้

ค. การศึกษาขั้นปฏิบัติ มิได้หมายเพียงการเรียน การฟังการอ่านเท่านั้น ต้องมีการปฏิบัติให้เห็นประจักษ์แจ้งด้วยจิตใจตนเอง ด้วยการ

(๑) ปัดเรื่องภายนอกทั้งหมดทิ้งเสียก่อน มองย้อนเข้าดูจิตใจตนเอง (จนรู้ว่ามีความแจ่มใส หรือมัวหมองวุ่นวายอย่างไร) ด้วยการมีสติสัมปชัญญะกำกับ รู้กายรู้จิตใจอบรมจนจิตทรงตัวเป็นปกติ

(๒) เมื่อจิตทรงตัวเป็นปกติได้ จะเห็นสังขารหรืออารมณ์ทั้งหลาย เกิดดับเป็นธรรมดา จิตจะว่างวางเฉย ไม่ยินดียินร้ายและเห็นรูปนามเกิดดับเองตามธรรมชาติ

(๓) ความรู้ว่าไม่มีตัวตน แจ่มชัดเมื่อใด จึงจะพบเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ภายใน เป็นสิ่งที่พ้นทุกข์ ไม่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลง เป็นอมตะ ไม่มีความเกิด ความตาย สิ่งที่มีความเกิดย่อมมีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นธรรมดา

(๔) เมื่อเห็นความจริงชัดใจแล้ว จิตจะว่าง ไม่เกี่ยวเกาะอะไร แม้ตัวจิตเองก็ไม่สำคัญว่าเป็นจิต หรือเป็นอะไร คือ ไม่ยึดถือตัวเองว่าเป็นอะไรทั้งหมด จึงมีแต่สภาพธรรมล้วนๆ เท่านั้น

(๕) เมื่อบุคคลมองเห็นสภาพธรรมล้วนๆ อย่างแจ่มแจ้ง ย่อมเบื่อหน่าย ในการทนทุกข์ซ้ำๆ ซากๆ เมื่อรู้ความจริงฝ่ายโลกและฝ่ายธรรมตลอดแล้วจะเห็นผลประจักษ์เฉพาะหน้าว่า สิ่งที่หลุดพ้นจากทุกข์นั้นมีอยู่อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องเชื่อตามใคร ไม่ต้องถามใครอีก เพราะพระธรรมเป็นปัจจัตตังคือรู้เฉพาะตนจริงๆ ผู้ที่มองเห็นความจริงด้านในแล้ว จะยืนยันความจริงอันนี้ได้เสมอ

หมายเหตุ

สรุปแนวการปฏิบัติธรรมนี้ ท่าน ก. เขาสวนหลวงได้เรียบเรียงเขียนขึ้นด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2497 เพื่อพิมพ์ในหนังสือ “อ่านใจตนเอง” ท่าน ก. ได้สังเกตพิจารณาศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ตามแนวนี้มาด้วยตนเอง และเป็นแนวทางที่ท่านได้ย้ำอธิบายแก่ผู้ปฏิบัติธรรม ณ เขาสวนหลวง เสมอมา

คัดลอกมาจาก :: ผู้จัดการออนไลน์

"อย่าลืมตัว อย่าลืมปัจจุบัน อย่าลืมปฏิบัติ"

ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=1902
เครดิตภาพ : google

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ღ ควบคุมใจ ღ

ควบคุมใจ...
พระธรรมเทศนา หลวงปู่ขาว อนาลโย

พระพุทธเจ้าว่าเราตถาคตเป็นผู้แนะนำสั่งสอนทาง ทางออกจากโลก ทางไปสวรรค์ก็ดี ทางไปนิพพานก็ดี เราตถาคตเป็นผู้แนะนำสั่งสอนให้เท่านั้นแหละ ตนนั่นแหละ พวกอุบาสก-อุบาสิกาทั้งหลายต้องทำเอาเอง แม้พระพุทธเจ้าทั้งหลายพระสาวกทั้งหลาย ก็ทำเอาเองทั้งนั้น ตนแหละทำให้ตน ตนจะออกจากโลกก็แม่นตนตั้งอกตั้งใจทำใส่ตน ตนจะติดอยู่ในโลกก็แม่นใจของตนไม่อยากไป เพราะหลงตนหลงตัว ทางปฏิบัติน่ะเราก็ได้ยินได้ฟังมาแล้ว แล้วก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติเอา

พระพุทธเจ้าแนะนำสั่งสอนหรือครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน ก็ไม่หนึจากกายคตา คือปัญจกรรมฐาน นี่แหละ ต้องพิจารณา เราจะพิจารณานอกมันไปก็เป็นนอกไปเสีย ไกลไปเสีย เพื่อให้จิตให้ใจนั่นแหละรู้จักสกนธ์กายอันนี้ รู้จักก้อนอันนี้ ว่ามันเป็นอย่างหนึ่ง มันเป็นของกลาง ไม่ใช่ของใครสักคนเรานี้ได้สมบัติอย่างดีคือสกนธ์กายนี้ มีตา หู จมูก ลิ้น กายดี มีใจดี ได้สมบัติอันดีมาใช้ เราจะใช้สอยมัน เราจะเดินทางไปสวรรค์ก็ดี จะเดินทางไปพระนิพพานก็ดี ต้องอาศัยอันนี้ จะมีแต่ดวงจิตอย่างเดียว ก็ไม่สำเร็จอะไรหมดทั้งสิ้น

พระพุทธเจ้าได้เทศน์ไว้ว่า มโนปุพพังคมาธ์มังมา มโสเสฎฐา มโนมยา ธรรมทั้งหลาย จะทำดี ทำกุศลดีก็ใจนี่แหละ เป็นผู้ถึงก่อน เป็นผู้ถึงพร้อม จะทำบาปอกุศลก็ใจนี่แหละ จะผ่องแผ้วแจ่มใสเบิกบาน ก็ใจนี่แหละ จะเศร้าหมองขุ่นมัวก็ใจนี่แหละ ใจเศร้าหมองขุ่นมัวแล้วก็ไม่มีความสุขอยู่ในโลก จะอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุข ครั้นใจผ่องแผ้วละก็

พระพุทธเจ้าท่านว่า มนะสาเจ ปสันเนนะ บุคคลผุ้มีใจผ่องแผ้วดีแล้ว แม้นจะพูดอยู่ก็มีความสุข แม้นจะทำอยู่ก็มีความสุข ตโตนะ สุขมะเนวติ อยู่ที่ไหน ๆ ก็มีความสุข มีความสุขเหมือนกะเงาเทียมตนไป

ฉายา วะอนุปายินี เหมือนเงาเทียมตนไป ไปสวรรค์ก้ดี มามนุษย์ก็ดี เพราะเหตุนั้นแหละให้เราพากันตั้งใจอบรม ตั้งสติไว้ที่ใจ ควบคุมใจให้มีสติมีสัมปชัญญะ มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ การทำการพูดการคิดก็อย่าให้มันผิดมันพลาดไป ควบคุมให้มันถูก ครันมันผิดมันพลาดเราก็มีสติยั้งไว้ ละ ปล่อยวาง ไม่เอามันทางมันผิดน่ะ

พระพุทธเจ้าแสดงไว้ ทางไปนรก ทางไปสวรรค์ ทางไปพรหมโลก ทางไปพระนิพพาน พระองค์ก็บอกไว้แล้ว ให้วางกายให้เป็นสุจริต วาจาให้บริสุทธิ ใจให้บริสุทธิ์ นี้ทางไปสวรรค์ ทางมามนุษย์ ทางไปพระนิพพานให้บริสุทธิ์อย่างนี้ ทางไปนรกนั่นเรียกว่าทุจริตนั้น ทางกาย ทางวาจา ทางใจ อันนี้ทางไปนรก เราจะเว้นเสียไม่ไปละ รู้จักแล้ว เราจะไปแต่ทางที่ราบรื่น ทางสบาย การเดินก็ทางกายวาจาใจเท่านั้นแหละ ผู้ที่จะเที่ยวเอาภพเอาชาติ นับกัปป์ นับกัลป์ไม่ได้ตั้งแต่โลกเป็นโลกมา คือดวงจิตของเรานี่เอง ดวงจิตของเรานี่เอง เป็นผู้ก่อกรรมก่อเวรแล้วก่อเล่า ไม่เบื่อสักที ก็แม่นดวงจิตของเรานี่แหละ

เพราะเหตุนั้นเราจึงต้องอบรมจิตใจของเราให้ดี ให้ใจรู้เสีย ใจนี่แหละมันเป็นผู้หลงจนนับภพนับชาติไม่ได้ ภพน้อยภพใหญ่ เที่ยวอยู่ในสังสารจักร์นี่ จึงให้เข้าใจเสียว่าเจ้ากรรมนายเวรคือใจ ตัวกรรมแม่นใจ ดวงใจอันเดียว วิญญาณอันเดียวเป็นตัวกรรม แต่งกรรมเสียแล้วให้เวียนตายเวียนเกิดที่นี่ ไม่เลิก เรารู้จักแล้วเราต้องควบคุมใจ แนะนำสั่งสอนใจ ทำใจของเราให้ผ่องแผ้ว ว่าเอาย่อ ๆ นี่แหละ กว้างขวางก็ได้ยินมาพอแล้ว เอาย่อ ๆ ควบคุมใจเท่านั้นและเดี๋ยวนี้ ใจนี้ เจ้าของนรกก็แม่นใจนี่แหละ ม่าง(เลิก, ทิ้ง) นรกก็แม่นใจนี่แหละ ครั้นมันไม่ดีละก็ร้อนเป็นทุกข์เหมือนใจจะขาด ครั้นใจไม่ดีละมันกลุ้มใจเป็นทุกข์จนฆ่าตัวตายนี่แหละ ถือว่าเราเป็นเรา นี่ก็เพราะใจนี่แหละไม่ใช่อื่นดอก

เราะมันไม่รู้ ท่านเรียกว่า อวิชชา ตัวใจนี่แหละอวิชชา เราจึงควรสดับตรับฟัง แล้วก็ค้นคว้าพิจารณาใคร่ครวญหาเหตุผล ทุกข์มันมาจากไหน ให้พิจารณาทุกข์ก่อน ทุกข์เป็นของจริงอันประเสริฐ มันมาจากไหนค้นขึ้นไปซิ เห็นแต่มาจากโง่นั่นแหละ ดวงจิตเป็นผู้โง่ มันต้องเป็น มันต้องเดือดร้อน มันถึงใคร่ มันถึงปรารถนา มันถึงอยากเป็นนั่นเป็นนี่ มันไม่อยากเป็นนั่นเป็นนี่ เพราะเกลียดเพราะชัง มันชังมันก็บ่อยากเป็น แล้วก็หาของมาแก้ไข หาคิดอีหยังมาทา หนังเหี่ยวก็เอามาทาลอกหนังออก มันได้กี่วัน มันก็เหี่ยวอย่างเก่า นี่หาทางแก้ดู

ท่านว่าวิภวตัณหา มันเป็นกับดวงใจ เราสดับรับฟังอยู่ อบรมอยู่ทุกวันนี้ ทำความเพียรอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะอยากรู้จักใจของเรา ครั้นรู้แล้ว ก็คุมเอาแต่ใจนี่ขัดเกลาเอาแต่นี่ สั่งสอนเอาแต่นี่ ให้มันรู้เท่าสังขารนี่แหละ มันไม่รู้ เพราะมันโง่ว่าแม่นหมดทั้งก้อนนี้เป็นตัวเรา เป็นผู้หญิง ผู้ชาย ยึดถือไป ยึดถือออกไปรอบ ๆ แผ่นดิน ยึดในตัวยังไม่พอ ยึดแผ่นดินออกไปอีก นี่แหละเพราะความหลง ก็ยึด ทั้งการทำการงานทุกสิ่งทุกอย่าง เรียนวิชาศิลปะทุกสิ่งทุกอย่าง ก็เพื่อจะบำรุงบำเรอครอบครัวของตน บำรุงบำเรอตนให้เป็นสุข บำรุงพระศาสนา ค้ำจุนพระศาสนาก็เป็นการดี ขอให้รู้เท่าแล้วอย่าไปยึดมันเท่านั้นแหละ

ในปฏิจสมุปปบาทท่านว่า อวิชชาให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป ท่านว่าให้ดับความโง่อันเดียวเท่านั้น ผลดับหมด เพราะธรรมทั้งหลายไหลมาแต่เหตุ ธรรมทั้งหลายคือ ดีก็ดี ชั่วก็ดี ไหลมาแต่เหตุคือความโง่ ความไม่เข้าใจ คิดว่าเป็นตัวตน ก็ได้รับผลเป็นสุขเป็นทุกข์สืบไป ท่านเรียกว่า วัฎฎะ การวน วนไม่มีที่สิ้นสุด เราท่องเที่ยวอยู่นี่ตั้งแต่แผ่นดินเป็นแผ่นดินมาแล้ว ทุกคนนี่แหละ คุณหมอก็ดี คุณหญิงก็ดี เกิดมาชาตินี้นับว่าบุญบารมีอันพวกท่านทั้งหลายได้อบรม ศีลห้า ศีลแปด รักษาอุโบสถ รักษากรรมบทสิบ จึงเป็นผู้สมบูรณ์บริบูรณ์ เกิดมาก็ไม่เป็นผู้เกียจคร้าน ไม่เป็นผู้มีหน่าย มีความพอใจแสวงหาวิชาศิลปะ จนได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นสูง นี่ก็เพราะบุญกุศลของเราได้สร้างสมอบรมมา จึงว่า

ปุพเพจะ กตุปุญญะตา คือบุญได้สร้างสมไว้แล้วแต่กาลก่อน แล้วก็ได้เกิดในประเทศอันสมควร ประเทศอันสมควรก็หมายเอาสกนธ์กายอันนี้ หรือจะหมายเอาแผ่นดิน ฟ้า อากาศก็ได้ หรือจะหมายเอาประเทศที่มีพระพุทธศาสนาตั้งมั่นถาวร และมีอาจารย์ นักปราชญ์แนะนำสั่งสอนได้ อันนี้ก็ว่าประเทศอันสมควร
ปุพเพจะ กตะปญญะตา พวกเราได้เคยอบรมสร้างสมบุญกุศลมาหลายภพหลายชาติแล้ว จึงเป็นผู้บริบูรณ์สมบูรณ์ แล้วก็ได้เกิดในประเทศอันสมควร

ประเทศ เราได้นับถือพระพุทธศาสนาตั้งแต่บรรพบุรุษจนตราบเท่าทุกวันนี้ เราก็ได้นับถือพระพุทธศาสนา แล้วก็ได้ตั้งตนไว้ในที่ชอบ คือตั้งตนไว้ในการสดับตรับฟัง ทราบทุกสิ่งทุกอย่าง ในทางโลกก็ดี เกื้อกูลอุดหนุนโลกให้เจริญ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำอัตตประโยชน์ ประโยชน์ของตนก็ได้แล้ว ประโยชน์ของผู้อื่น ของโลก ก็ได้อยู่ นี่แหละชื่อว่าตั้งตนไว้ในที่ชอบ แล้วก็ตั้งตนอยู่ในศีล ในการภาวนา ตั้งตนอยู่ในการสดับรับฟัง นี่เรียกว่า อัตตสัมมาปนิธิ ตั้งตนในที่ชอบท่านกล่าวว่าเป็นมงคลอันประเสริฐสุด ให้มีสติควบคุมใจของตน อันนี้ก็ชื่อว่าตั้งตนไว้ในที่ชอบอย่างสูงสุด นี่แหละ ให้ควบคุมดวงจิตของเราให้รู้จักเสีย

เจ้ากรรมนายเวรก็คือดวงจิตของเรานี่แหละ ผีนรกก็เป็นดวงจิตอันนี้ สวรรค์ก็เป็นดวงจิตอันนี้ พรหมโลกก็ดวงจิตอันนี้ ครั้นรู้จักแล้ว ก็ทำความเพียรต่อไปจนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายในอัตตภาพของตนที่เป็นมาหลายภพหลายชาติ การเกิดเวียนไปเวียนมาก็ไม่ได้อะไร มีแต่การสดับรับฟัง มีแต่การบริจาคให้ทาน มีแต่ศีลของตนเท่านี้เป็นอริยทรัพย์ ทรัพย์ภายในติดตามไปกับดวงจิตของเราทุกภพทุกชาติจิตเมื่อมันทำความชั่วไว้แล้วก็ไม่ลืม ใครไม่ต้องการสักคนหมดทั้งนั้นความชั่วบาปกรรม ให้คิดดู แต่นักโทษเขาลักเขาปล้นสะดมแล้ว เขาก็หลบหนีไปซ่อนอยู่ตามป่าเขาตามถ้ำตามดง เพราะเขาไม่ปรารถนาจะให้พวกตำรวจไปจับเขา อันนั้นมันก็ไม่พ้นดอกบาปน่ะ ฉันใดก็ดี ครั้นทำลงแล้ว ทำบาปอกุศลจิตก็เป็นผู้จำเอา ไปตกนรกก็แม่นดวงจิตนั่นแหละเป็นผู้ไปตก อัตตภาพคือร่างกายของเรานี้มันก็นอนทับดิน ส่วนดินมันก็เป็นดิน ส่วนน้ำมันก็เป็นน้ำ ส่วนลมส่วนไฟ มันก็เป็นลมเป็นไฟของเก่ามัน ครั้นพ่นแล้วก็กลับมาถือเอาดินเอาน้ำของเก่าอีกเท่านั้นแหละ แล้วก็มาใช้ดินน้ำไฟลมนี่แหละครบบริบูรณ์ เอามาใช้ในทางดีทางชอบ ก็เป็นเหตุให้ได้สำเร็จมรรคผลพระนิพพาน พระพุทธเจ้าสร้างบารมีก็อาศัยดินอันนี้แหละ

ประเทศอันสมควรอันนี้แหละ สาวกจะไปพระนิพพานตามพระพุทธองค์ก็อาศัยอัตตภาพอันนี้ ครั้นไม่อาศัยอัตตภาพอันนี้มีแต่ดวงจิตหร้อมีแต่ร่างซื่อ ๆ ก็ไม่สำเร็จอะไรหมดทั้งนั้น เหมือนกันทั้งนั้น พวกเทพยดาได้ชมวิมานชมความสุขอยู่ตลอดชีวิต ชมบุญชมกุศล ก็ทำเอามาแต่เมืองมนุษย์ ครั้นจุติแล้วก็ได้ไปเสวยผลบุญกุศลของตน ครั้นหมดบุญแล้วก็ลงมาเมืองมนุษย์มาสร้างอีกแล้วแต่จะสร้างเอา อันชอบบุญ ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเอาบุญ อันชอบบาป ก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเอาบาป เหมือนพระเทวทัตนั่น ต่างคนต่างไปอย่างนั้น อาตมาบอกไว้เท่านั้นว่าให้มีสติคุมดวงจิต สัตว์นรกก็แม่นจิต สัตวอเวจีแก็แม่นจิต พระอินทร์พระพรหมก็แม่นจิต ที่เข้าพระนิพพานก็แม่นจิต ไม่ใช่ใคร จิตไม่มีตนมีตัว จิตเหมือนวอก(ลิง) นี่แหละ แล้วแต่มันจะไป บังคับบัญชามันไม่ได้ แล้วแต่มันจะปรุงจะแต่ง บอกไม่ได้ ไหว้ไม่ฟัง

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้วางมันเสีย อย่าไปยึดถือมัน ก็จิตนั่นแหละมันถือว่าตัวกู อยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง ก็แม่นจิตนั่นแหละเป็นผู้ว่า มันไม่มีตนไม่มีตัวดอก แล้วพระพุทธเจ้าว่าให้วางเสีย ให้ดับวิญญาณเสีย ครั้นดับวิญญาณแล้ว ไม่ไปก่อภพก่อชาติอีก ก็นั่นแหละพระนิพพานหละ แน่ะพระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้นมันไม่อยู่ที่อื่น นรกมันก็อยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่น นรกมันก็อยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่ อย่าไปค้นที่อื่น อ่านไปพิจารณาที่อื่น ให้ค้นที่สกนธ์กายของตน ให้มันเห็นเป็นอสุภะอสุภัง ให้เห็นเป็นของปฏิกูลให้เกิดนิพพานความเบื่อหน่ายมันนั่นแหละ แต่กี้มันเห็นว่าเป็นขอสวยของงามของดี ดวงจิตนั่นเมื่อมีสติควบคุม มีสัมปชัญญะ ค้นหาเหตุผล ใคร่ครวญอยู่มันเลยรู้เห็นว่าอัตตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูล ของเน่าเปื่อยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย จิตนั่นแหละเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้ว เรียกว่า จิตหลุดพ้น ถึงวิมุตติ์

วิมุตติ์ คือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจากอุปาทานความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภพจากชาติ


ที่มา : http://www.gmwebsite.com
เครดิตภาพ : google

ღ โอวาทสุดท้าย…พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ღ


"...ผู้ถือไม่มีบาป ไม่มีบุญ ก็มากมายเข้าแล้ว แผ่นดินนับวันแคบ มนุษย์แม้จะถึงตาย ก็นับวันมากขึ้น นโยบายในทางโลกีย์ใดๆ ก็นับวันประชันขันแข่งกันขึ้น พวกเราจะปฏิบัติลำบากในอนาคต เพราะเนื่องด้วยที่อยู่ไม่เหมาะสม เป็นไร่เป็นนา จะไม่วิเวกวังเวง

ศาสนาทางมิจฉาทิฐิ ก็นับวันจะแสดงปาฏิหาริย์ คนที่โง่เขลาก็จะถูกจูงไปอย่างโคและกระบือ ผู้ที่ฉลาดก็เหลือน้อย ฉะนั้นพวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรม ให้สมควรแก่ธรรม ดังไฟที่กำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลันเถิด ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร ทั้งโลกภายในหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ทั้งโลกภายนอกที่รวมเป็นสังขารโลก ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด

ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์ ก็จะต้องได้รับแบบเย็นๆ และแยบคายด้วย จะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณะอันถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก

พระธรรมเหล่านี้ไม่ล่วงไปไหน มีอยู่ ทรงอยู่ในปัจจุบัน จิตในปัจจุบัน ที่เธอทั้งหลายตั้งอยู่ หน้าสติ หน้าปัญญา อยู่ด้วยกัน กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ..."

บันทึกโดย..พระอาจารย์หล้า เขมปตฺโต
จากหนังสือ “เพชรน้ำหนึ่ง"

ที่มา : http://www.gmwebsite.com
เครดิตภาพ : google

วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2554

ღ เธอจงระวัง ღ

คำสอนหลวงพ่อชา สุภัทโท

เธอจงระวังความคิดของเธอ
เพราะความคิดของเธอ
จะกลายเป็นความประพฤติของเธอ

เธอจงระวังความประพฤติของเธอ
เพราะความประพฤติของเธอ
จะกลายเป็นความเคยชินของเธอ

เธอจงระวังความเคยชินของเธอ
เพราะความเคยชินของเธอ
จะกลายเป็นอุปนิสัยของเธอ

เธอจงระวังอุปนิสัยของเธอ
เพราะอุปนิสัยของเธอ
จะกำหนดชะตากรรมของเธอชั่วชีวิต

ที่มา : http://board.palungjit.com
เครดิตภาพ : google

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

ღ หัวงู-หางงู ღ

หัวงู-หางงู
ธรรมคำสอนหลวงพ่อชา สุภัทโท

มนุษย์เราทั้งหลายไม่ต้องการทุกข์ ต้องการแต่สุขความจริงสุขนั้นก็คือ ทุกข์อย่างละเอียดนั่นเอง ส่วนทุกข์ก็คือ ทุกข์อย่างหยาบ พูดอย่างง่ายๆ สุขและทุกข์นี้ก็เปรียบเสมือนงูตัวหนึ่ง ทางหัวมันเป็นทุกข์ ทางหางมันเป็นสุข เพราะถ้าลูบทางหัวมันมีพิษ ทางปากมันมีพิษ ไปใกล้ทางหัวมัน มันก็กัดเอา ไปจับหางมันก็ดูเหมือนเป็นสุข แต่ถ้าจับไม่วาง มันก็หันกลับมากัดได้เหมือนกัน เพราะทั้งหัวงูและหางงู มันก็อยู่ในงูตัวเดียวกัน คือ ตัณหา ความลุ่มหลงนั่นเอง

ฉะนั้น บางทีเมื่อมีสุขแล้วใจก็ยังไม่สบาย ไม่สงบ ทั้งที่ได้สิ่งที่พอใจแล้ว เช่น ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ได้มาแล้วก็ดีใจก็จริง แต่มันก็ยังไม่สงบจริงๆ เพราะยังมีความเคลือบแคลงใจ ว่ามันจะสูญเสียไป กลัวมันจะหายไป ความกลัวนี่แหละเป็นต้นเหตุให้มันไม่สงบ บางทีมันเกิดสูญเสียไปจริงๆ ก็ยิ่งเป็นทุกข์มาก นี่หมายความว่าถึงจะสุขก็จริงแต่ก็มีทุกข์ดองอยู่ในนั้นด้วย แต่เราไม่รู้จักเหมือนกันกับว่าเราจับงู ถึงแม้ว่าเราจับหางมันก็จริง ถ้าจับไม่วางมันก็หันกลับมากัดได้

ฉะนั้น หัวงูก็ดี หางงูก็ดี บาปก็ดี บุญก็ดี
อันนี้อยู่ในวงวัฏฏะ หมุนเวียนเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น ความสุข ความทุกข์ ความดี ความชั่ว ก็ไม่ใช่หนทาง

ที่มา : http://www.dhammajak.net
เครดิตภาพ : google

ღ เบจญขันธ์ ღ

เบจญขันธ์
โดย..ท่านพุทธทาสภิกขุ

การจำแนกโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย
คือที่เป็นฝ่ายวัตถุ เรียกว่า รูป อย่างหนึ่ง.
ฝ่ายที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่ฝ่ายที่เป็นจิตใจ
เรียกว่า นามธรรม อีกอย่างหนึ่ง.
ถ้าเราฟังคนโบราณพูด
หรืออ่านข้อความในหนังสือโบราณ ๆ
เราจะได้ยินคำว่า “รูปธรรม นามธรรม” นี้บ่อย ๆ .
นั่นแหละ ขอให้เข้าใจว่า
การใช้คำว่า รูปธรรม นามธรรม นั้น
ก็คือการที่ท่านแบ่งโลกออกเป็น ๒ ฝ่าย;
หรือแบ่งสิ่งทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ออกเป็น ๒ ประเภท
คือประเภทที่เป็นรูปธรรมได้แก่วัตถุ, หรือส่วนที่ไม่ใช่จิตใจ
ส่วนอีกพวกหนึ่งเป็นส่วนที่เป็นจิตใจ หรือรู้สึกได้ทางใจ
ท่านรวมเรียกว่า นามธรรม.
แต่เพื่อให้ละเอียดยิ่งไปกว่านั้นอีก
ท่านได้แบ่งส่วนที่เป็นนามธรรมหรือจิตใจนี้
ออกเป็น ๔ ส่วน
เรียกว่า เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.
คำว่า เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ก็เป็นคำที่ใช้กันดื่นในวงพุทธบริษัท
เชื่อว่าคงได้ยินได้ฟังกันอยู่มากแล้ว.
เมื่อเอาส่วนที่เรียกว่า “รูป” อีกหนึ่ง
ซึ่งเป็นประเภทรูปธรรม
มารวมเข้ากับ ๔ ส่วนที่เป็นนามธรรม หรือเป็นจิตใจ
ก็ได้เป็น ๕ ส่วน;
ท่านเลยนิยมเรียกว่า “ส่วน ๕ ส่วน”.
ถ้าเรียกเป็นภาษาบาลีก็เรียกว่า
เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ห้า
แปลว่า ส่วน ๕ ส่วนที่ประกอบกันขึ้นเป็นโลก
โดยเฉพาะก็คือเป็นสัตว์เป็นคนเรานี้เอง.

ในคนคนหนึ่ง ๆ นั้น มีการจำแนกเป็น ๕ ส่วน
ส่วนที่เป็นร่างกาย เป็นวัตถุ
เรียกว่า รูป หรือ รูปขันธ์ -ส่วนที่เป็นรูป.
ส่วนที่เป็นจิตใจอีก ๔ ส่วนนั้น
อาจจำแนกออกไปได้ คือ :-

ส่วน ๑ เรียกว่า “เวทนา” นั้น
หมายถึงความรู้สึกที่เป็นความสุข
หรือเป็นความทุกข์
หรือรู้สึกที่ยังไม่อาจจะเรียกว่าสุขหรือทุกข์.
ความรู้สึกที่คนเราจะรู้สึกกันได้โดยทั่ว ๆ ไป
ที่จะทำให้เป็นผล หรือที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่าง ๆ ขึ้นนั้น
ย่อมมีเพียง ๓ ประการนี้
คือสุขหรือพอใจอย่างหนึ่ง,
ทุกข์หรือไม่พอใจอย่างหนึ่ง,
อีกอย่างหนึ่งอยู่ในลักษณะที่ไม่อาจจะเรียกได้ว่าสุขหรือทุกข์
คือเป็นเรื่องที่ยังเฉย ๆ อยู่ แต่ก็เป็นความรู้สึกเหมือนกัน.
ความรู้สึกทั้งหมดนี้
ย่อมมีประจำอยู่ในคนเราเป็นปรกติ.
วันหนึ่ง ๆ ย่อมเต็มไปด้วยความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์
อย่างนี้เท่านั้น.

ส่วนที่ ๒ ถัดไป เรียกว่า “สัญญา” คำว่า สัญญา นี้
ตามตัวหนังสือแปลว่า รู้พร้อม; เป็นความรู้สึกเหมือนกัน
แต่ไม่ใช่รู้สึกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น.
รู้สึกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น
รู้ไปในทางที่ว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์,
ส่วนสัญญานี้ เป็นความรู้สึกตัวอยู่
เหมือนอย่างว่าเรากำลังรู้สึกตื่นอยู่
คือไม่หลับ ไม่สลบ ไม่ตาย
หรือเรียกว่ามีสมปฤดี มีสติสมปฤดี.

ส่วนที่ถัดไป ส่วนที่ ๓ เรียกว่า “สังขาร”.
คำว่าสังขารนี้ มีความหมายมากที่สุด จนมันปนเปกันยุ่งไปหมด.
คำว่า สังขาร ๆ นั้น มีอยู่หลายคำด้วยกัน
ฉะนั้นอย่าเพ่อไปพูดไปนึกกันถึงคำว่าสังขารในพวกอื่น หรือหมู่อื่น.
เราพูด สังขาร ในที่นี้กันก่อน.
สังขารในส่วนที่เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่งของพวกนามธรรมในที่นี้
ได้แก่ตัวความคิด,
คำว่า สังขาร ๆ นี้แปลว่าปรุง.
คำว่า ปรุง ท่านทั้งหลายคงจะเข้าใจได้ว่า
มันต้องหลาย ๆ อย่างมารวมกันเข้าด้วยกัน
แล้วเกิดเป็นผลอันใดอันหนึ่งขึ้น จึงเรียกว่าปรุง.
คำว่าสังขารนี้ ตัวหนังสือแปลว่า ปรุง
แต่กิริยาอาการของมัน ที่เป็นอยู่หรือเป็นไปในคน ๆ หนึ่งนั้น
ได้แก่การคิดหรือความคิด.
ความรู้สึกส่วนที่เป็นความคิด
เช่นคิดจะทำนั่น คิดจะพูดนี่
คิดอย่างนั้นคิดอย่างนี้
ซึ่งจัดแบ่งเป็นคิดดี คิดเลว คิดชั่วร้าย
คิดในทางไหนก็ตาม เหล่านี้จัดเป็นความคิดทั้งนั้น.
ความรู้สึกที่เป็นความคิดพลุ่งขึ้นมาจากการปรุงแต่งในภายใน
นี้เราเรียกว่าสังขาร, จำกัดความลงไปว่าเป็นความคิด.

ทีนี้ ส่วนที่ ๔ ซึ่งเป็นส่วนสุดท้ายของฝ่ายนามธรรม
เรียกว่า “วิญญาณ”.
วิญญาณในที่นี้หมายถึงตัวจิตที่ทำหน้าที่รู้สึก
ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กายทั่ว ๆ ไป
และตลอดถึงที่มโนทวาร คือที่ใจเองด้วย.
ศัพท์ว่า วิญญาณ นี้ แปลว่า รู้แจ้ง ก็จริง
แต่ในที่นี้หมายถึงเท่าที่รู้ตามธรรมชาติ
ไม่ได้หมายความว่ารู้ถูกต้องก็หามิได้.
เพียงแต่รู้ชนิดที่เมื่อมีอะไรมากระทบทางตา
ก็มารับอารมณ์ทางตา
จนรู้สึกว่ามันเป็นรูปนั้นรูปนี้.
เมื่ออะไรกระทบทางหู
จะรู้สึกว่าเป็นเสียงนั้นเสียงนี้ขึ้นมา,
ถ้ากระทบทางจมูก
ก็รู้สึกว่าเป็นกลิ่นขึ้นมาดังนี้เป็นต้น,
จิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย
ตลอดจนถึงทางใจ นี้เอง
เรียกว่า วิญญาณ.

เมื่อได้แยกดูทีละส่วน ๆ ทั้ง ๕ ส่วน
ว่าไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน
คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๕ ส่วน
ก็ไม่มีส่วนไหนที่เป็นตัวตน ดังนี้แล้ว
ก็จะถอนความเข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนเสียได้ในสิ่งทั้งปวง.
คำว่าในสิ่งทั้งปวงก็คือว่าในคนทุกคนนั่นเอง.
โลกทั้งโลกอาจแยกได้เป็น ๕ ส่วน อย่างนี้ :
ส่วนที่ไม่เกี่ยวกับจิตใจ เป็นวัตถุล้วน ๆ ก็เป็นพวกรูปไป,
แต่ถ้ามันมีเรื่องของจิตแทรกแซงอยู่
ก็จัดเป็นของเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ส่วนใดส่วนหนึ่ง
การรู้จักส่วนทั้ง ๕ ส่วนนี้
คือการรู้จักโลกทั้งหมดว่าไม่ใช่ตัวตน.
การรู้จัก ในที่นี้หมายถึง การรู้แจ้ง
อย่างที่เคยอธิบายมาแล้ว
ว่ามันเป็นคนละอย่างกับ ความเข้าใจ.

ถ้าพิจารณาไปในทางเห็นแจ้ง
ชนิดที่อาจจะถอนความยึดถือว่าเป็นตัวตนเสียได้แล้ว
ต้องมีการวัดกันตรงที่ว่า
ไม่เกิดความอยากอย่างใดอย่างหนึ่งในสิ่งเหล่านั้น
คือไม่เกิดความรักหรือความเกลียดในสิ่งเหล่านั้น
จึงจะเรียกว่าเห็นแจ้งสิ่งทั้งปวง ว่าไม่ใช่ตัวตน.
ฉะนั้นการคิดเอาตามการใช้เหตุผล จึงถอนตัวตนไม่ได้.
การพิสูจน์กันตามทางเหตุผล หรือการคิดกันตามทางเหตุผล
ก็พอที่จะทำให้เกิดความเชื่อว่าไม่ใช่ตัวตนได้
แต่มันก็เป็นเพียงแต่ความเชื่อ
ไม่ใช่เป็นการรู้แจ้งชนิดที่จะตัดความยึดถือว่าตัวตนได้อย่างเด็ดขาด.
โดยเหตุนี้เอง
จึงต้องศึกษาพิจารณากันตามหลักแห่งสิกขา ๓ ประการ
ดังที่ได้บรรยายไว้แล้วในวันก่อน
จึงจะถึงขนาดที่ถอนการยึดถือเป็นตัวตนในสิ่งทั้งปวงได้.

หน้าที่สำคัญอันพึงจะปฏิบัติในเรื่องเบญจขันธ์นี้
อยู่ที่จะต้องทำให้วิชชา คือความรู้แจ้งตามที่เป็นจริงเกิดขึ้น
เพื่อจะกำจัดอวิชชาเสีย.
เมื่อรู้แจ้งตามที่เป็นจริงแล้ว
มันก็จะเห็นเองว่า
ไม่มีส่วนไหนเป็นตัวเป็นตนที่น่าหลงใหลยึดถือ,
เมื่อนั้นอุปาทานการยึดถือก็แตกสลายลงเอง,
แม้ที่เคยยึดถือมาแต่สันดาน แต่กำเนิด แต่ชาติก่อน
หรือแต่ไหนก็ตาม มันต้องสลายออกไปทันที
เพราะว่าเดี๋ยวนี้
มันได้เห็นแจ้งความจริงว่า
สิ่งที่มันเคยหลงยึดถือว่าเป็นตัวเป็นตนนั้น
มันไม่ใช่เป็นตัวเป็นตนเลย.

ทีนี้ เรามาถึงปัญหาที่ว่า
ทำไมเราตามปกติจึงมองส่วน ๕ ส่วนนี้
ไม่ออกตามที่เป็นจริง ? เพราะเหตุใด ?
เพราะเหตุว่าเมื่อเราเกิดมาจากท้องมารดา
ลืมตาขึ้นมาในโลกนี้นั้น
เราก็ไม่อาจจะมีปัญญาของเราเอง.
เราได้แต่รับการศึกษาแวดล้อมมาตามที่เขาจะสอนให้อย่างไร.
สิ่งแวดล้อมเราที่สอนเรานี้
สอนด้วยปากตรง ๆ ก็มี สอนด้วยทำให้ดูก็มี
หรือเป็นสิ่งที่กระทบด้วยตนเองแล้วเข้าใจได้เองก็มี;
ล้วนแต่เป็นสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้นที่สอนเรา
แต่ว่าสิ่งทั้งหมดนั้นล้วนแต่สอนเราไปในทางให้เข้าใจว่า
ทุกสิ่งเป็นตัวเป็นตนไปเสียทั้งนั้น.
ทั้งนี้ก็เพราะอำนาจสัญชาตญาณดั้งเดิม
คือสัญชาตญาณแห่งการยึดถือด้วยวาทะว่าตัวตน
ที่เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน
ซึ่งอาตมาได้อธิบายมาแล้ว
ในวันที่กล่าวถึงเรื่อง อุปาทานสี่
อัตตวาทุปาทาน นี้มันมีติดมาตั้งแต่เราเกิดมา
และพอกพูนให้หนายิ่งขึ้นทุกวัน.
เรามีการพูดจากับบิดามารดา เพื่อนฝูงทั้งหลาย
ก็ล้วนแต่พูดเป็นมึง-เป็นกู เป็นเขา-เป็นเรา เป็นผู้นั้น-ผู้นี้
ผู้กระทำ-ผู้ถูกกระทำ ผู้ได้-ผู้เสีย,
ซึ่งทั้งหมดนั้นล้วนแต่เป็นการย้ำความคิด ความรู้สึก
หรือความเข้าใจว่ามีตัวตนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น.

นี้ เมื่อดูกันในแง่ปรมัตถ์ที่ลึกลงไปอีก
มันจะปรากฏเป็นความจริงว่า
แม้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม;
ธาตุอ๊อกซิเจน ธาตุไฮโดรเจน หรืออะไรก็ตาม
จะเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็ตาม,
ดูให้ลึกแล้ว ก็จะพบลักษณะอันหนึ่ง ซึ่งเหมือนกันหมด
คือ “ความว่าง”.
ว่างจากอะไร ? ว่างจากตัวตนนั่นเอง.
คำว่าว่างในที่นี้ ก็คือ ว่างจากสิ่งที่เราเรียกว่าตัวตน
อย่าไปดูมันตรงที่เป็นดิน เป็นน้ำ เป็นไฟ เป็นลม
ดูมันตรงที่มันไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน.
ดูที่ตรงไหน ๆ มันก็ไม่มีตัวตน,
พบแต่ความว่างจากตัวตน,
ซึ่งถ้าเรียกอย่างภาษาศาสนา
ก็เรียกว่า “สุญญตา” แปลว่า ความเป็นของว่าง,
และเล็งถึงความว่างจากความมีตัวตน
ว่างจากความหมายที่ควรถือว่ามีตัวตนโดยเฉพาะ.
ความว่างจากตัวตนนี้ มีปรากฏอยู่ในทุก ๆ สิ่ง ไม่ว่าสิ่งใดหมด
เพียงแต่ดูไม่เป็น ก็ไม่มีทางที่จะเห็นเท่านั้นเอง.

ท่านผู้ใดเห็นสิ่งทั้งหลายทั้งปวง
ในลักษณะที่เป็นของว่าง เป็นสุญญตา ดังนี้แล้ว
ความยึดถือหรืออุปาทานย่อมไม่มีทางที่จะเกิดได้,
ที่เกิดแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเหลืออยู่ได้
มันจะสูญหายละลายไปหมด
ปราศจากอุปาทานโดยสิ้นเชิง
ไม่ว่าจะเป็นอุปาทานข้อไหนใน ๕ ข้อนั้นก็ตาม
มันจึงไม่มีสัตว์ ไม่มีคน ไม่มีธาตุ ไม่มีขันธ์ ไม่มีอายตนะ
ไม่มีอะไรทั้งหมด อีกชั้นหนึ่ง.
นี่แหละเป็นความว่างจากการยึดถือว่าตัวตนจนสิ้นเชิงแล้ว
จนกระทั่งความทุกข์ก็ไม่มีที่เกิด และเกิดไม่ได้.

แต่เมื่อใด มองเห็นความว่างของสิ่งทั้งปวง
คือของโลกทั้งหมด
หรือจะเรียกว่าของสัตว์หรือคน หรือของอะไรก็ตาม
โดยการเพิกถอนความยึดถือมาตามลำดับ ๆ
คือชั้นแรกทีเดียว ก็เพิกถอนสมมติที่ว่า
เป็นนาย ก. นาย ข. นาย ง.;
เป็นลูก เป็นพ่อ เป็นผัว เป็นเมีย เป็นบ่าว เป็นนาย
เป็นอะไรเหล่านี้
จนหมดสมมติก็มาเหลืออยู่ที่บัญญัติว่า
เป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
แล้วมองบัญญัติเหล่านั้นให้ละเอียดยิ่งลงไปอีก
จนเห็นว่าเป็นแต่ละบัญญัติ ๆ
แล้วเพิกถอนบัญญัติให้เป็นของว่าง เป็นความว่าง
คือว่างจากส่วนใดส่วนหนึ่งที่จะเรียกว่าตัวตน อีกต่อหนึ่งดังนี้แล้ว;
เมื่อนั้นเขาจะไม่ตกเป็นทาสของกิเลสอีกต่อไป
และความทุกข์ก็ไม่มีที่เกิดทุก ๆ ชนิด และทุกวิถีทาง
ใครจะเรียกเขาว่า
คนดี คนชั่ว, คนสุข คนทุกข์ หรืออะไรก็ตาม ไม่เป็นของแปลก.
ทั้งหมดนี้เป็นผลเกิดมาจาก
การมีความรู้ ความเข้าใจ และความเห็นแจ้ง ในความจริงของเบญจขันธ์
จนถอนอุปาทานทั้ง ๔ ประการเสียได้นั่นเอง.

สรุปความว่า
สิ่งทั้งปวงในโลก หรือโลกทั้งหมด
สรุปรวมอยู่ในคำว่า “เบญจขันธ์”
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.
แต่ละส่วนเป็นมายา ไร้ตัวตน.
แต่ก็มีเหยื่อล่อให้เกิดอุปาทานการยึดถือ
จนเป็นที่ตั้งของ
ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากไม่ให้มีไม่ให้เป็น
ซึ่งล้วนแต่จะทำให้เกิดทุกข์ ไม่อย่างเปิดเผย ก็อย่างเร้นลับ.
ทุกคนจะต้องอาศัยข้อปฏิบัติที่เรียกว่าไตรสิกขา
ทำการถอนอุปาทานในเบญจขันธ์เสียให้สิ้นเชิง
จึงจะไม่ตกเป็นทาสของเบญจขันธ์ และไม่มีทุกข์อีกต่อไป.
โลกหรือสิ่งต่าง ๆ
จะอยู่ในลักษณะที่อำนวยความผาสุกสะดวกสบายให้แก่ผู้นั้น
ไม่มีเรื่องต้องร้อนใจเพราะสิ่งใด ๆ ;
เป็นผู้มีจิตใจอยู่เหนือสิ่งทั้งปวงไปจนตลอดชีวิต.
นี้แล
เป็นผลของการรู้แจ้งแทงตลอดในเรื่องของเบญจขันธ์


ที่มา : http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2011/08/13/entry-1
เครดิตภาพ : google





ღ อุปสมานุสสติ ღ

ความสงบขั้นศีล

คราวนี้มาถึงสันติคือความสงบ
อุปสมะ ความสงบระงับอันเป็นธรรมปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมเป็นสิ่งที่ละเอียดขึ้นไปอีกตามภูมิตามชั้น

ฉะนั้น จึงสมควรที่จะตรวจดูความสงบที่เป็นขั้นศีล คือเมื่อตั้งใจปฏิบัติศีลโดยตั้งใจงดเว้นจากภัยเวรนั้น ๆ หรือ จากความประพฤติที่ทรงห้ามไว้จากสิกขาบทนั้น ๆตั้งแต่ศีลห้าขึ้นไป ว่าได้รับผลเป็นความสงบอย่างไรบ้าง

ถ้าไม่พิจารณา ก็อาจจะมองไม่เห็นผลถนัดนัก และ บางทีกลับจะมองเห็นความเดือดร้อนของศีล คือมองเห็นว่าศีลเป็นเครื่องกำจัดอิสรภาพเสรีภาพของความประพฤติ ต้องเว้นจากสิ่งนั้นต้องเว้นจากสิ่งนี้ คือ จะทำอย่างนี้ก็ไม่ได้จะทำอย่างนั้นก็ไม่ได้ จะพูดอย่างนั้นก็ไม่ได้จะพูดอย่างนี้ก็ไม่ได้ มีศีลห้าข้อก็เท่ากับว่ามีเครื่องจำกัดอยู่ห้าอย่าง มีศีลแปดก็มีเครื่องจำกัดอยู่แปดอย่าง ศีลยิ่งขึ้นไปเป็นศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ก็มีเครื่องจำกัด ๑๐ อย่าง ๒๒๗ อย่าง จนถึงรู้สึกเหมือนกับว่าเป็นรั้วล้อมหรือเป็นห้องขัง ศีลยิ่งมากก็ยิ่งถูกขังจนอึดอัด จะทำอะไรก็ไม่ได้จะพูดอะไรก็ไม่ได้ เป็นต้น เป็นการหมดอิสระเสรีภาพ เมื่อมองอย่างนี้แล้วก็ทำให้รู้สึกไม่สงบ ใจก็ฟุ้งซ่านอยากจะแหวกศีลออกไป คือว่าศีลเหมือนอย่างเป็นคอกขังเอาไว้ จึง ไม่พบความสงบไม่พบผลของศีล

แต่ ถ้าพิจารณาอีกด้านหนึ่งว่า ความรู้สึกที่เป็นดั่งนั้น อะไร ทำให้รู้สึกดั่งนั้น
ก็จะพบว่า ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง เป็นเหตุ ให้มีความรู้สึกอย่างนั้น
เพราะ ตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากนั้นเอง ตัณหาไปในทางกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าปรารถนาน่าพอใจบ้าง เป็นตัณหาไปในทางความอยากเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง เป็นตัณหาไปในทางที่อยากจะให้สิ่งที่ไม่ชอบภาวะที่ไม่ชอบทั้งหลาย หมดสิ้นไปบ้าง ถูกทำลายไปบ้าง เพราะ ความอยากเหล่านี้เอง เมื่อความอยากมี ๑๐ อย่างก็ดิ้นรนไป ๑๐ อย่าง ความอยากมี ๒๐ อย่างก็ดิ้นรนไป ๒๐ อย่าง…

คัดลอกจาก...ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน-หน้า ๑๓๕-๑๓๖
พระนิพนธ์สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/Aug-saraporn/2009/04/25/entry-1
เครดิตภาพ : google

ღ มรรคปฏิปทา ღ

มรรคปฏิปทา
โดย..หลวงหลวงพ่อชา สุภัทฺโท

เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ธรรม
ทรงเทศน์เป็นปฐมเทศนาเลยตรงนี้
ทางหนึ่งเป็นทางสุขของกาม
ทางหนึ่งเป็นทางทุกข์ทรมานตน
สองทางนี้ไม่ใช่ทางที่สงบ ท่านพูดว่าไม่ใช่ทางของสมณะ
สมณะนี้คือ ความสงบ
สงบจากสุขทุกข์ ไม่ใช่มีความสุขแล้วมันสงบ
ไม่ใช่มีความทุกข์แล้วมันสงบ
ต้องปราศจากสุขหรือทุกข์ มันจึงเป็นเรื่องความสงบ
ถ้าเราทำอย่างนั้นแล้ว มีสุขใจเหลือเกิน
อันนี้ก็ไม่ใช่ธรรมะที่ดีนะ
แต่ต้องวางสุขหรือทุกข์ไว้สองข้าง
ความรู้สึกต้องไปเป็นกลางๆ เดินผ่านมันไปกลางๆ
เราก็มองดู สุขก็เห็น ทุกข์ก็เห็น
แต่เราไม่ปรารถนาอะไร เดินมันเรื่อยไป
เราไม่ต้องการสุข เราไม่ต้องการทุกข์
เราต้องการความสงบ
จิตใจของเราไม่ต้องแวะไปหาความสุข
ไม่ต้องแวะไปหาความทุกข์ ก็เดินมันไปเรื่อย
เป็นสัมมาปฏิปทา มีมรรค มีองค์แปด
มีสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบเกิดขึ้นแล้ว
สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริ วิตกวิจารมันก็ชอบทั้งนั้น
อันนี้เป็นสัมมามรรคเป็นมรรคปฏิปทา

ที่มา : http://pongphoto.multiply.com/reviews/item/7
เครดิต : google

ღ การทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิ ღ

การทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิ
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระพุทธเจ้าผู้ทรงไม่หวั่นไหวทั้งพระกายพระจิตทุกเวลา ทุกสถานการณ์ที่ทรงเผชิญ ได้ทรงแสดงธรรมเหตุแห่งความไม่หวั่นไหว ปรากฏในพุทธภาษิตที่แปลความว่า “สติกำหนดลมหายใจเข้าออก อันผู้ใดอบรมบริบูรณ์ดีแล้ว ทั้งกายทั้งจิตของผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว”

จิตนั้นเป็นความสำคัญ การปฏิบัติธรรมทั้งสิ้นต้องปฏิบัติให้ถึงจิต จึงจะเป็นผลสำเร็จ ศีลสมาธิปัญญา ก็ต้องปฏิบัติให้ถึงจิต จึงจะเป็นศีลสมาธิปัญญา แม้จะเรียกเป็นอย่างอื่น เช่น สติ สัมปชัญญะ ขันติ โสรัจจะ ก็ต้องปฏิบัติให้ถึงจิต จึงจะเป็นสติสัมปชัญญะ เป็นต้น

การปฏิบัติธรรมจะต้องปฏิบัติให้ถึงจิต และการจะปฏิบัติธรรมให้ถึงจิตได้นั้น จิตจะต้องตั้ง ถ้าจิตไม่ตั้ง คือจิตดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย กุศลธรรมทั้งหลายก็ไม่สามารถจะตั้งอยู่ในจิตได้ เหมือนมือที่แกว่งไปมา ของย่อมตั้งอยู่ในฝ่ามือไม่ได้ ต้องหล่นตกไป ต่อเมื่อมือนิ่งอยู่ ของบนฝ่ามือจึงจะตั้งอยู่ได้ จิตสามัญนั้นไม่นิ่ง จึงจำเป็นต้องปฏิบัติทำจิตให้นิ่ง คือให้ตั้ง หรือให้เป็นสมาธินั่นเอง ไม่ให้ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย

ในการทำจิตให้ตั้งเป็นสมาธิต้องอาศัยสติ สำหรับระลึกกำหนดอยู่ในที่ตั้งข้อใดข้อหนึ่ง ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน อานาปานสติ คือความระลึกกำหนดข้อหนึ่ง อานาปานสติเป็นสติกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออก นั่นก็คือ ลมหายใจเข้าลมหายใจออกเป็นที่ตั้งของสติ เป็นที่ระลึกกำหนด เมื่อจิตตั้งกำหนดอยู่ได้ ความที่กำหนดนั้นก็เป็นตัวสติ ความที่ตั้งอยู่ได้นั้นก็เป็นตัวสมาธิ ดังนี้ที่เรียกว่าจิตตั้ง ดังนั้นจิตจะตั้งเป็นสมาธิได้จึงต้องมีทั้งสมาธิมีทั้งสติประกอบกันอยู่ สติเป็นตัวกำหนด สมาธิเป็นตัวตั้ง จะตั้งได้ก็ต้องกำหนดในที่ตั้ง และจะกำหนดในที่ตั้งได้ก็ต้องมีความตั้งจิต สติและสมาธินี้จึงต้องอาศัยกัน

ในการปฏิบัติให้มีสติมีสมาธิต้องมีความเพียรพยายาม ต้องไม่ละความเพียรพยายามและต้องมีความรู้คุมตัวเองอยู่เสมอ อันความรู้ที่คุมตัวเองนี้เรียกว่าสัมปชัญญะ ซึ่งหมายถึงความรู้ในอิริยาบถความเคลื่อนไหวทั้งของกาย และทั้งของใจ รู้อิริยาบถของกายก็คือยืนก็รู้ว่ายืน เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งหรือนอนก็รู้นั่งหรือนอน รู้อิริยาบถของจิต ก็คือจิตคิดไปอย่างไรก็รู้ จิตหยุดคิดเรื่องอะไรก็รู้ จิตสงบก็รู้ จิตไม่สงบก็รู้ ในการทำจิตให้ตั้ง ต้องมีสติมีสมาธิและมีสัมปชัญญะพร้อมดังนี้ และต้องคอยกำจัดคือคอยสงบความยินดีความยินร้ายๆ ต่างๆ ที่เข้ามาดึงจิตไม่ให้กำหนดอยู่ในที่ตั้ง เช่นที่ลมหายใจเข้าลมหายใจออก

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออกคือ มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก หายใจเข้าหายใจออกยาว ก็รู้ว่าหายใจเข้าหายใจออกยาว หายใจเข้าหายใจออกสั้น ก็รู้ว่าหายใจเข้าหายใจออกสั้น ศึกษาคือสำเหนียกว่าเราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจเข้า เราจักรู้ทั่วถึงกายทั้งหมดหายใจออก ศึกษาว่าเราจักสงบรำงับกายสังขาร เครื่องปรุงกาย หายใจเข้า เราจักสงบรำงับกายสังขาร คือเครื่องปรุงกาย หายใจออก เราจักสงบรำงับกายสังขาร คือเครื่องปรุงกาย ดั่งนี้

นี้เป็นหัวข้อการปฏิบัติทำอานาปานสติที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ส่วนวิธีปฏิบัติที่ใช้ส่าหรับประกอบเข้าเป็นคำสอนของเกจิอาจารย์ คืออาจารย์บางพวก ซึ่งการจะพอใจในวิธีปฏิบัติของอาจารย์พวกไหน ก็ควรต้องให้อยู่ในหลักแนวที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เพื่อการปฏิบัติทำสมาธิในพุทธศาสนาจะได้เป็นไปโดยถูกต้อง
หลักที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นั้น เริ่มต้นแต่แสวงหาที่สงบสงัด จะเป็นป่าเป็นโคนไม้เป็นเรือนว่างก็ตาม หรือไม่ก็ต้องสร้างป่าสร้างโคนไม้สร้างเรือนว่างขึ้นในใจ คือทำจิตให้ว่าง ไม่ใส่ใจถึงบุคคล เสียง หรือสิ่งอื่นที่อยู่โดยรอบ การทำจิตให้ว่างได้ดังนี้ก็จะสามารถทำจิตให้เป็นสมาธิได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สำคัญกว่าไปอยู่ป่าอยู่โคนไม้ อยู่ในที่สงบสงัดแต่จิตยังวุ่นวาย ซึ่งจักทำสมาธิไม่ได้ เพราะฉะนั้นแม้จะได้ที่ว่างข้างนอก ก็ต้องสร้างที่ว่างข้างในด้วย หรือแม้ไม่มีที่ว่างข้างนอก สร้างที่ว่างข้างในได้ก็ได้เหมือนกัน

ดังนี้ก็ปฏิบัติทำสมาธิได้ คือทำสติรวมเข้ามากำหนดลมหายใจเข้าออก หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ยาวก็รู้ สั้นก็รู้ ทำเพียงเท่านี้ก่อน และเมื่อจิตรวมเข้ามาได้ ยาวหรือสั้นจะปรากฏขึ้นเอง คือยาวหรือสั้นปรากฏขึ้นก็แปลว่าจิตรวมเข้ามาแล้ว คือจิตรวมเข้ามาที่กายนี้แหละ ไม่ใช่รวมเข้าที่ไหน เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นมา เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงไป มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ ให้จิตรวมอยู่ในขอบเขตนี้และเมื่อจิตรวมอยู่ในขอบเขตนี้ สติก็จะกำหนดได้ว่าหายใจเข้าอยู่ หายใจออกอยู่ และจะรู้อิริยาบถของกายได้ รู้อิริยาบถของใจได้ เมื่อเป็นดังนี้แล้วก็เป็นอันว่าได้เริ่มรู้กายทั้งหมด คือกายเนื้อกายใจนี่แหละ

ความรู้ในกายทั้งหมดเป็นความรู้ตามที่กายและใจเป็นไป ไม่ใช่การปรุง ต้องระวังไม่ให้ปรุง ไม่ให้เกิดตัณหา ไม่ให้ความดิ้นรนทะยานอยากอย่างใดอย่างหนึ่งเกิด ต้องไม่อยากหายใจให้แรง ไม่อยากหายใจให้เบา ความอยากเป็นตัณหา อยากได้สมาธิเร็วก็เป็นตัณหา อยากเลิกทำสมาธิเร็วก็เป็นตัณหา เมื่อยขบเจ็บปวดที่นั่นที่นี่ ยึดอยู่ในความรู้สึกนั้นก็เป็นตัณหา อยากเห็นนั่นเห็นนี่ก็เป็นตัณหา จิตส่งออกนอกกายก็เพราะตัณหาดึงออกไป ตัณหาเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องปรุงทั้งนั้น รวมเข้าในคำว่ากายสังขาร เครื่องปรุงกาย จึงต้องคอยสงบคือสงบตัณหานั่นเอง ทำจิตให้เป็นอุเบกขา คือเข้าไปเพ่งเข้าไปรู้ แต่ไม่ยึดอยู่ในสิ่งที่รู้ ทำความรู้อยู่เท่านั้น กายเป็นอย่างไรก็รู้ จิตเป็นอย่างไรก็รู้ หายใจเข้าหายใจออกเป็นอย่างไรก็รู้ ให้รวมจิตไว้ข้างใน ไม่ให้ออกไปข้างนอก

ดั่งนี้เป็นการสงบกายสังขาร เครื่องปรุงกาย จิตก็จะสงบยิ่งขึ้น กายก็จะสงบยิ่งขึ้นจนถึงเหมือนอย่างไม่หายใจ เช่นทีแรกนั้นการหายใจเป็นปกติเช่นที่เรียกกันว่าหายใจทั่วท้อง คือหายใจลงไปจนถึงท้อง ท้องพองขึ้นยุบลงในขณะหายใจเข้าออกก็เป็นปกติ แต่เมื่อจิตและกายสงบขึ้นๆ อิริยาบถที่หายใจนี้ก็จะละเอียดเข้า จนเหมือนอย่างว่าหายใจอยู่เพียงทรวงอก ไม่ลงไปถึงท้อง ท้องเป็นปกติ ไม่พองไม่ยุบ และเมื่อละเอียดเข้าอีกๆ ก็เป็นเหมือนอย่างว่าหายใจอยู่เพียงปลายจมูก ไม่ลงไปถึงทรวงอก แผ่วๆ อยู่เพียงปลายจมูกเท่านั้น และเมื่อสงบเข้าอีก แผ่วๆ นั้นก็จะไม่ปรากฏ เหมือนหายไปเลย ไม่หายใจ อันที่จริงนั้นไม่ใช่ไม่หายใจ หายใจ แต่การหายใจนั้นละเอียดเข้า ละเอียดเข้า ละเอียดเข้า ไม่ควรต้องเกิดความกลัวว่าจะตายเพราะไม่หายใจ

ดังที่บางคนแสดงว่าเคยได้ถึงจุดนี้ เกิดกลัวขึ้นมา ก็เลยต้องเลิกทำ เมื่อจิตสงบตั้งอยู่ภายใน กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอันว่าจิตได้สมาธิชั้นกายานุปัสสนา พิจารณากาย ในการปฏิบัตินี้ต้องอาศัยวิตกกับวิจาร , วิตก ความตรึก คือนำจิตให้ตั้งอยู่ในที่ตั้งของสมาธิ หรือที่เรียกว่าอารมณ์ของสมาธิ คือลมหายใจเข้าออก , วิจาร ความตรอง คือประคองจิตให้ตั้งอยู่ ไม่ให้ตกจากอารมณ์ของสมาธิ โดยที่จิตเต็มไปด้วยนิวรณ์ อันหน่วงจิตให้ออกจากที่ตั้งคืออารมณ์สมาธิ การทำสมาธิแรกๆ จึงเหมือนจับปลาขึ้นจากน้ำ ใครๆ ก็เป็นเช่นนี้ในการปฏิบัติทำสมาธิทีแรก ที่ยังไม่ได้ผล

เมื่ออาศัยวิตกวิจารจับจิตตั้งไว้ในอารมณ์สมาธิ และคอยประคองไว้ให้อยู่ด้วยความพยายาม จิตก็จะตั้งอยู่ได้นานขึ้นเป็นลำดับ อันเครื่องที่จะจับจิตมาตั้งและเครื่องสำหรับประคองไว้ คือสติ ความกำหนด ความระลึกรู้ ใช้สติ ทำสติ เมื่อเผลอสติ จิตตก ได้สติ ก็ตั้งขึ้นใหม่ ประคองไว้ เผลอสติอีก จิตตกอีก ก็จะตั้งขึ้นอีก ประคองต่อไปอีก สมาธิที่ได้รับทีละเล็กละน้อยจะขับไล่นิวรณ์ออกจากจิตไปทีละเล็กละน้อยพร้อมกัน ปีติจะเกิดเมื่อเริ่มตั้งตัวในสมาธิได้ ขับไล่นิวรณ์ออกไปได้โดยลำดับ

เมื่อเกิดปีติ ก็ให้กำหนดปีติหายใจเข้าหายใจออก ปีตินี้เป็นเวทนา เป็นสุข ก็ให้รู้ รู้ในความสุข จิตเป็นสุข จิตก็จะตั้งอยู่ในอารมณ์ของสมาธิได้มากขึ้น ความทุกข์ในอันที่จะต้องคอยระวังรักษาสติไม่ให้เผลอ ไม่ให้จิตตก ก็น้อยลง ความทุกข์ที่จะต้องคอยประคองจิตไว้ก็น้อยลง เพราะจิตอยู่ตัวแล้ว มีความดูดดื่มในสมาธิแล้ว เหมือนอยู่ที่ไหนสบายก็ไม่อยากจากไปจากที่นั่น แต่อยู่ที่ไหนไม่สบายก็ไม่อยากอยู่ที่นั่น คิดแต่จะไปที่อื่นต่อไป ในทำนองเดียวกัน เมื่อพบที่เย็นคือสมาธิ ได้ปีติ ได้สุข จิตก็ตั้งอยู่ ไม่ดิ้นรนไปไหนอีก

กายและจิตไม่หวั่นไหว ที่ปรากฏในพุทธภาษิตเป็นเช่นนี้ แต่กายและจิตจะไม่หวั่นไหวมั่นคงอยู่ตลอดไปได้ ก็ต่อเมื่อการอบรมสติกำหนดลมหายใจเข้าออกได้แล้วบริบูรณ์ดี ถ้ายังไม่บริบูรณ์ดีจริง ก็ยังต้องมีหวั่นไหวเป็นครั้งคราวเป็นบางกรณี ผู้เห็นความสุขสงบอันเกิดจากกายและจิตไม่หวั่นไหวว่าเป็นความสำคัญ จึงพากเพียรอบรมสติ กำหนดลมหายใจเข้าออก หรืออบรมสมาธินั่นเอง ให้บริบูรณ์ดี เมื่ออบรมสมาธิบริบูรณ์ดีแล้ว ย่อมไม่มีเหตุการณ์ใดมาทำให้กายและจิตหวั่นไหวได้ ความทุกข์ทั้งปวงอันเกิดแต่ความอ่อนแอหวั่นไหวของกายและจิตย่อมไม่มี

ที่มา : http://sites.google.com/site/smartdhamma/hlwng-pu-fak-wi
เครดิตภาพ : google

วันศุกร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2554

ღ จิต มาร กิเลส ღ

จิต มาร กิเลส
โดย..หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

จิตไปเร็วมาก เจ้าของตามไม่ทันไปทุกขณะ ดังนั้น คนเลยทำชั่ว
ปล่อยให้กิเลสพาไป ไปฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
พูดจาหยาบคาย ส่อเสียดให้คนอื่นเดือดร้อน ดื่มสุรา

ความชั่วมี ความดีมี จิตมีสิทธิ์ที่จะเลือก
ถ้าจิตฉลาด ก็เลือกเอาบุญกุศล ถ้าไม่ฉลาด ก็เลือกเอาเรื่องชั่ว พอใจทำชั่ว
จิตไม่ฉลาด ไม่สามารถสร้างหรือหาข้าวของ ของตัวเอง
ก็ไปฉกฉวยเมื่อเห็นของของผู้อื่น
ในโลกสมมุตินี้ กลับเห็นผู้ฉกฉวย หลอกคนอื่นได้ เป็นคนฉลาด
โลกก็เป็นอย่างนี้

แต่ในทางธรรมะ ถ้าไปทำให้คนอื่นทุกข์เดือดร้อน
กรรมนั้นก็จะตามสนอง ให้ต้องถูกหลอก โดนต้มตุ๋น ต้องเสียใจ
คับอก คับใจ เกิดชาติใดก็จะเป็นอย่างนั้น

พระพุทธองค์ทรงสอนให้คนฉลาด มีปัญญา ไม่สอนให้โง่เขลาเบาปัญญา
คำสอนล้วนแต่ทำให้เกิดปัญญา แนะนำให้คนฝึกตน
อย่าปล่อยตนให้ไหลไปตามอำนาจของกิเลส

“ทูรังคะมัง เอกะจะรัง คูหาสะยัง…ฯลฯ”
ปกติของจิตนั้น เที่ยวไปไกล มีถ้ำคือร่างกายเป็นที่อาศัย
ใครสำรวมจิตใจตนให้ดีก็จะพ้นจากบ่วงแห่งมาร

สิ่งที่ยิ่งทำให้โลภ โกรธ หลง ก็คือ “มาร”
เมื่อพิจารณารู้แล้วต้องไม่หลงใหลไปตามมายาของกิเลสนั้น
เมื่อมีอะไรมากระทบก็อย่าวู่วาม ให้มีสติสัมปชัญญะสกัดกั้นจิตใจไว้

มีอะไรมากระทบใจ ก็ “อดทน” ก่อน ถ้าไม่อดทนก็จะมีเรื่อง
อย่างมีคดีกัน ฟ้องกัน เสียเงิน เสียเวลา ไปศาลทีไรก็เสียเงินทุกที ไม่ฉลาด
ถ้าฉลาดโจทก์กับจำเลยควรมาพูดคุยกัน
ตกลงกัน สมยอมกัน ยอมสละกันบ้าง
การว่าความในโรงศาลไม่ใช่ของดี ทำให้เสียเงินทอง เสียเกียรติยศชื่อเสียง

พระพุทธองค์จึงสั่งสอนให้สำรวมจิต ซึ่งจะทำให้มาร
คือ ความชั่วทั้งหลายมาหลอกลวงยั่วยวนไม่สำเร็จ
เพราะว่าจิตรู้เท่าทัน เมื่อจิตตั้งมั่น ก็เกิดปัญญา

ดังนั้น อย่าปล่อยให้จิตไหลไปตามกระแสโลก จะยืน เดิน นั่ง นอน
ก็ใช้สติสัมปชัญญะพิจารณาก่อน จะทำ จะพูด จะคิด ก็สำรวมจิต
รักษาจิตให้ดี มารหรือความชั่ว ก็มาลบล้างหรือทำให้จิตใจเศร้าหมองขุ่นมัวไม่ได้

ขอให้เข้าใจว่า ความชั่วทั้งหลาย (โลภ โกรธ หลง) คือตัวมาร
ใครล่วงความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เข้าใจผิด เดินทางผิด เห็นผิดเป็นชอบไป
การขอหวย รวยเบอร์ บนบาน ไม่ได้อะไร นี่เรียกว่า ความหลง

ดังนั้น สำรวมตัวเองให้ดี ไม่ปล่อยให้ความชั่วจูงจิตใจไป
เท่านี้ก็มีแต่ความดี ไม่มีความชั่ว

ก่อนนอนควรสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกฝนตน อย่าแค่กราบ ๓ ที แล้วนอนเลย
เพราะพวกเรากำลังฝึกตนอยู่ พระพุทธองค์ทรงวางระเบียบไว้อย่างไร
ก็ให้ฝึกตนอย่างนั้น ทำบุญทำทาน ขยันทำงานขยันทำบุญ ควบคุมใจให้อยู่ในความดี
อย่าให้โลภ โกรธ หลง มาครอบงำใจให้ไปทำไม่ดีกับคนอื่น
อันจะเป็นบาปเป็นเวรต่อไป ทำความดีให้เกิดในใจตน ด้วยการพยุงจิตให้แน่วแน่

จิตมีปกติเที่ยวไปไกล แต่ไม่มีรูปร่าง มีถ้ำคือกายเป็นที่อาศัย
ผู้ใดสำรวมจิตใจให้ดี ก็จะพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง นั่นเอง

ที่มา : http://dlitemag.com
เครดิตภาพ : google