วันอังคารที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ღ หัวใจแท้ของพระพุทธศาสนา ღ

 

จิตว่าง หมายถึง จิตที่ว่างจากกิเลสตัณหา ไม่เจือด้วย โลภะ โทสะ โมหะ เป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่น
จิตที่บริสุทธิ์ จิตที่มีสติ

จิตวุ่น เป็นคำตรงกันข้ามกับจิตว่าง การปรุงแต่งเป็นเหตุให้จิตวุ่น นั่นเอง และทำให้เป็นทุกข์

คนเราธรรมดามีจิตว่างอยู่เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ไม่ใช่จิตวุ่นเป็นพื้นฐาน
การทำงานด้วยจิตว่าง หมายถึง การทำงานด้วยความมีสติ จิตใจไม่วอกแวก เหม่อลอย ปราศจากกิเลสตัณหา มีความมุ่งมั่นในการทำงานให้ประสบผลสำเร็จ

การที่คนเราชอบนำไปปรุงแต่งนั้น ก็เพราะความหลงอยู่ในของที่เป็นคู่กัน เช่นเรื่อง ดีเรื่องชั่ว, เรื่องบุญเรื่องบาป, เรื่องสุขเรื่องทุกข์, ความมีความจน, ได้ลาภ เสื่อมลาภ, ความเป็นผู้แพ้ผู้ชนะ, การได้การเสีย, ความรักความเกลียด, ความพอใจความไม่พอใจ, ของไพเราะของไม่ไพเราะ, ของสวยของไม่สวย, ของหอมของเหม็น เป็นต้น

บรรดาของคู่กันข้างต้นนั้น อาจสรุปให้เหลือเพียงคู่เดียวก็ได้ ก็คือ คุณและโทษ ของทุกอย่าง มีทั้งคุณและโทษเสมอ คนโง่เท่านั้นที่จะไปเห็นมันแต่เพียง ด้านเดียว ว่าเป็นคุณอย่างเดียว หรือเป็นโทษอย่างเดียว ยกตัวอย่าง ถ้าไม่มีดี ความชั่วก็ไม่มีความหมายอะไร เพราะมีความชั่วมา เทียบเคียง ความดีจึงเป็นของมีค่าขึ้นมา

ความสุขกับความทุกข์ก็เหมือนกัน เพราะมีทุกข์มาเทียบ ความสุขจึงกลายเป็นของดีของแพง

เพราะเหตุที่เป็นคู่ ๆ จึงเท่ากับมาเสนอให้เราเลือกเกลียดข้างหนึ่ง แล้วเลือกรัก ข้างหนึ่ง นั่นแหละคือความหลง คือกิเลสตัณหา

ถ้าเมื่อใด เราเกิดความฉลาดขึ้นมา ไม่เอามันเสียทั้งสองอย่าง เมื่อนั้นแหละ เราจึงจะว่าง

ดีเราก็ไม่รัก ชั่วเราก็ไม่เกลียด เราอยู่เฉย ๆ ก็เป็นความว่าง สุขเราก็ไม่อยาก ทุกข์เราก็ไม่เกลียด เราอยู่เฉย ๆ มันก็เป็นสันติ หรือเป็นความว่าง หรือเป็นนิพพาน

ผู้ที่ลุถึงนิพพาน มีจิตใจไม่หลงใหลอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ แต่อยู่เหนือความเป็นคู่ คือ ความว่าง นั่นเอง

แต่ถ้าเราไปหลงใหลในความสุข ซึ่งที่แท้ไม่ใช่ความสุข หมายถึง โลกียสุข ยังเป็นของลวง เป็นของคู่กับความทุกข์ หาใช่นิพพานไม่

พระพุทธองค์แม้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ยังทรงอยู่ด้วยความว่าง การทรงอยู่ด้วยความว่างชนิดนั้นของพระพุทธองค์ นั้น เรียกว่า “สุญญตาวิหาร”

ความว่างนั่นแหละเป็นหัวใจแท้ของพระพุทธศาสนา !!

 

ที่มา : http://www.oknation.net/blog/surasakc/2011/09/23/entry-1
เครดิตภาพ : http://pantip.com/topic/30615929

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น