จิตนี้อยู่กับตัว คือความรู้ รู้อยู่กับตัว กิเลสก็แทรกอยู่กับความรู้นี้
และคอยกระซิบความรู้นี้ให้เป็นไปต่างๆ ในแง่ที่เป็นไปในทางต่ำเสมอ
สติปัญญาเป็นเครื่องกำจัด เป็นเครื่องกั้นกางกีดขวางสิ่งเหล่านี้ ที่เป็นของไม่ดี
ให้ผ่านพ้นออกไปได้ จิตใจจะได้สว่างกระจ่างแจ้งเด่นดวงขึ้นโดยลำดับๆ
มองเห็นอรรถเห็นธรรม มองเห็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ มองเห็นสุขว่าเป็นสุข
มองเห็นสาระว่าเป็นสาระ มองเห็นสิ่งที่ไร้สาระว่าเป็นของไร้สาระโดยความจริง
และประสบพบเห็นความสุขความเจริญภายในใจ
นี่เป็นหลักใหญ่แห่งการประพฤติธรรม
ท่านเคยประพฤติมาอย่างนี้ เราก็ต้องประพฤติอย่างนี้
เพราะทางดำเนินเพื่ออรรถเพื่อธรรม ก็ต้องเหยียบย่ำทำลายหรือฝ่าฝืนกิเลส
คำว่า “กิเลส” ก็เหมือนขวากหนาม ต้องคอยทิ่มแทงเราอยู่เสมอ
การแก้ไขกิเลสจึงเป็นการลำบากบ้างเป็นธรรมดา
แต่ไม่ควรจะถือเอามาเป็นอุปสรรค
“ความตาย” นั้นน่ะ “ขวางหน้า” อยู่แล้วด้วยกันทุกคน!
เราอยู่ด้วยกัน เฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ก็ล้วนมีความตายเต็มตัวด้วยกัน
ไม่มีใครยิ่งหย่อนกว่ากัน ความตายเต็มร่างกาย
และทุกวินาทีที่เรามานั่งอยู่ที่นี่ ก็เรียกว่า “ก้าวไปทุกชั่วโมง”
กาลเวลากินเข้าไปเรื่อยๆ เป็นวินาที เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี
เข้าไป เข้าไปจนถึงจุดแห่งความตาย แล้วก็ตายได้ด้วยกัน
อยู่ด้วยกัน แม้จะรักชอบกันขนาดไหน ความตายมันก็ไม่ได้ไว้หน้าใครทั้งนั้น
ถึงกาลแล้วก็ต้องพลัดพรากจากกันไป
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า
สพฺเพ สตฺตา อันว่าสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น
อเวรา โหนฺตุ จงอย่าได้คาดเวร จงอย่าได้มีเวรแก่กันและกัน
อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุ จงอย่าได้พยาบาท อาฆาต อย่าได้เบียดเบียนกัน
อนีฆา โหนฺตุ สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ
จงอย่าได้เกลียดหน่าย ชังกัน จงทำตนไปสู่ความสุขโดยทั่วกันเทอญฯ
คัดย่อจากพระธรรมเทศนาหลวงตามหาบัว "พุทธบริษัทพึงรู้และปฏิบัติตนอย่างไร"
ที่มา : http://www.dlitemag.com
เครดิตภาพ : Google
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น