วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ღ หัวใจแห่งธรรม ღ

สติปัฏฐานสี่หัวใจแห่งการเจริญสมาธิ


สติปัฏฐานคือธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติเป็นข้อปฏิบัติที่มีสติเป็นประธาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง เป็นการมีสติกำกับดูสิ่งต่างๆ และความเป็นไปทั้งหลาย โดยรู้เท่าทันตามสภาวะของมัน ไม่ถูกครอบงำด้วยความยินดียินร้ายที่ทำให้มองเห็นเพี้ยนไปตามอำนาจกิเลส มี 4 อย่างคือ

1. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการตั้งสติกำหนดพิจารณากาย การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันกายและเรื่องทางกาย ประกอบด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

■อานาปานสติ คือ ไปในที่สงัด นั่งขัดสมาธิตั้งสติกำหนดลมหายใจเข้าออกโดยอาการต่างๆ


■กำหนดอิริยาบถ คือ เมื่อยืน เดิน นั่ง นอน หรือร่างกายอยู่ในอาการอย่างไรๆ ก็รู้ชัดในอาการที่เป็นอยู่นั้นๆ

■สัมปชัญญะ คือ การสร้างสัมปชัญญะในการกระทำทุกอย่างและความเคลื่อนไหว เช่น การก้าวเดิน การเหลียวมอง การเหยียดมือ การนุ่งห่มผ้า การกิน การดื่ม การเคี้ยว การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การตื่น การหลับ การพูด การนั่ง เป็นต้น

■ปฏิกูลมนสิการ คือ การพิจารณาร่างกายของตน ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า ซึ่งมีส่วนประกอบที่ไม่สะอาดต่างๆ มากมายมารวมๆ อยู่ด้วยกัน


■ธาตุมนสิการ คือ การพิจารณาร่างกายของตนโดยให้เห็นแยกประเภทเป็นธาตุ 4 แต่ละอย่างๆ


■นวสีถิกา คือ มองเห็นศพที่อยู่ในสภาพต่างๆ กันโดยระยะเวลา 9 ระยะ ตั้งแต่ตายใหม่ๆ ไปจนถึงกระดูกผุแล้ว ในกรณีนั้นให้ย้อนมานึกถึงร่างกายของตนว่าจะต้องเป็นเช่นนั้นเหมือนกัน

2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือ การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันเวทนา หมายถึงว่า การตามดูรู้ทันเวทนา คือ เมื่อเกิดความรู้สึกสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี เฉยๆ ก็ดี ก็รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันจิตหรือสภาพและอาการของจิต หมายถึง การตามดูรู้ทันจิต คือ จิตของตนในขณะนั้นๆ เป็นอย่างไร เช่น มีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิหลุดพ้น ยังไม่หลุดพ้น ฯลฯ ก็รู้ชัดตามที่จิตเป็นอยู่ในขณะนั้นๆ

4. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม การมีสติกำกับดูรู้เท่าทันธรรม เรียกสั้นๆ ว่า กาย เวทนา จิต ธรรม หมายถึง การตามดูรู้ทันธรรมคือ

■นิวรณ์ (สิ่งที่กีดกั้นขัดขวางการทำงานของจิต) ได้แก่ การรู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า นิวรณ์ 5 แต่ละอย่างคือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ (ความหดหู่ง่วงเหงา) อุทธัจจกุกุกจจะ (ความฟุ้งซ่านกังวลใจ) วิจิกิจฉา (ความสงสัยแคลงใจ) ที่มีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว ละเสียได้อย่างไร เมื่อละได้แล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร รู้ชัดตามที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ


■ขันธ์ คือ กำหนดรู้ว่า ขันธ์ 5 แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร


■อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่างๆ รู้ชัดในสังโยชน์ที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยอายตนะนั้นๆ รู้ชัดว่า สังโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้ว ไม่ให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไปอย่างไร


■โพชฌงค์ (องค์แห่งการตรัสรู้ คือ สติ ธรรมวีจียะ วิริยะ ปีติ มัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา) โดยรู้ชัดในขณะนั้นๆ ว่า โพชฌงค์แต่ละอย่างๆ มีอยู่ในจิตใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดแล้วเจริญให้เต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร


■อริยสัจ คือ รู้ชัดอริยสัจ 4 แต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร และจะทำให้รู้แจ้งเห็นจริงได้เมื่อใด

ซึ่งการเจริญสติปัฏฐานสี่นี่เราสามารถที่จะนำมาพิจารณาได้อยู่เนื่องๆ ทุกๆ วัน ทุกๆ อริยาบถ ไม่จำเป็นเฉพาะในขณะที่เรานั่งสมาธิ เราสามารถใช้หลักสติปัฏฐานสี่นี้พิจารณา กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมได้ตลอดเวลาทุกลมหายใจเข้าออก เท่าที่เราจะมีสติกำหนดพิจารณา การหมั่นเจริญสติปัฏฐานสี่นี้ทำให้เรามีสติระลึกรู้สภาวะของจิต สภาวะของธรรมที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ทำให้จิตของเราสามารถรู้อยู่เป็นอยู่ เมื่อเรามีสภาวะทุกข์ผ่านเข้ามาในชีวิต ผู้ที่พิจารณาอยู่เนื่องๆ จะสามารถที่จะอยู่กับทุกข์ได้โดยไม่ทุกข์ เข้าใจในสัจจะธรรมและมีสติเข้าไปช่วยแก้ปัญหาในชีวิตที่เกิดขึ้น เป็นของดีของแท้ที่พระพุทธองค์ท่านได้วางแนวทางไว้ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามเพื่อความหลุดพ้นแห่งกองทุกข์

ด้วยเหตุนี้จึงสรุปองค์อริยมรรคแห่งสมาธิในที่นี้คือ สติปัฏฐานสี่ ที่เป็นพื้นฐานแห่งการชำระพฤติกรรมทุกอย่าง ทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม ให้บริสุทธิ์ อิสระ ไม่ตกเป็นทาสแห่งอำนาจตัณหา อุปาทาน ใช้สัมปชัญญะทำให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพที่เรียกได้ว่าเป็นตัวของตัวเอง ผ่อนคลาย รู้สึกเป็นสุข พร้อมที่จะเผชิญหน้ากับสิ่งต่างๆ ได้อย่างได้ผลดีแล้วควบคุมรักษาสภาวะจิตนี้ให้อยู่ในสภาวะปกติ อันเรียกได้ว่าจิตเป็นสมาธิ โดยการยึดหรือจับอารมณ์ที่เป็นวัตถุแห่งการพิจารณาวางไว้ต่อหน้า แล้วจึงพิจารณาวิเคราะห์ให้เห็นจริงตามสภาพข้อเท็จจริง ดังนั้น การตั้งสติเข้าไปตั้งอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลดีที่สุด

ที่มา : http://kaewariyah.com
เครดิตภาพ : Google

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น