วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

จิตเป็นอิสระ






ถ้ารู้สึกตัวขึ้นมาได้ 
จิตใจจะเป็นอิสระ 
ว่างจากสิ่งรบกวนได้เรื่อยๆ 
แม้จะมีเครื่องกระทบ ก็ไม่เอาใจใส่ 
คงเฉยและปล่อยวางออกไปได้ 
ในที่สุดก็จะเป็นผู้ชนะ 

- ท่าน ก.เขาสวนหลวง - 

ธรรมะในใจอยู่ใกล้แค่เอื้อม




ธรรมะในคัมภีร์อยู่ไกล... ธรรมะในใจอยู่ใกล้แค่เอื้อม
ถ้าเราไปอ่านเรื่องธรรมะในคัมภีร์ ก็ดูเหมือนกับว่าธรรมะนี้อยู่ไกลสุดเอื้อม แต่เมื่อเราจะมาศึกษาและเรียนให้รู้ธรรมะในตัวของเรานี่ เราจะรู้สึกว่าธรรมะที่จะต้องเรียนรู้และจำเป็นต้องรู้ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็คือเรื่องของกายกับใจของเรานั่นเอง
กายกับใจเป็นที่เกิดของความสุขและความทุกข์ ความดีและความชั่วเกิดที่กายกับใจ บุญและบาปเกิดที่กายกับใจ มรรค ผล นิพพาน ความดีเกิดที่กายกับใจ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้ธรรมะ เราควรจะได้เรียนรู้เรื่องกายกับใจของเรา มากกว่าที่จะไปเรียนในคัมภีร์ให้มันมีความรู้มากๆ เป็นการส่งเสริมทิฐิมานะให้มันเกิดมากขึ้นๆ แล้วก็เที่ยวแบกเอาคัมภีร์ไปขัดคอกัน
ผู้ปฏิบัติธรรมที่จะสำเร็จมรรคผล นิพพานกันจริงๆ ต้องเรียนรู้เรื่องของโลก ในหลักธรรมะท่านสอนให้เรียนรู้ เรื่องกาย เรื่องจิต
รู้อะไรก็ไม่สู้รู้ใจตนเอง
ถ้าเราพิจารณาธรรมะ เราพิจารณาที่ใจเรา น้อมเข้ามาที่ใจ มารู้อยู่ที่ใจ นึกแต่เพียงว่าสิ่งภายนอกเป็นแต่เพียงอารมณ์ สิ่งรู้ของจิต สิ่งระลึกของสติเท่านั้น
รู้นอกเป็นสมุทัย รู้ในเป็นมรรค ถ้าไปรู้นอก เป็นเหตุให้สร้างบาปสร้างกรรม ถ้ารู้เข้ามาในเป็นเหตุให้ละวาง

ความรู้ที่จำเป็นที่สำคัญที่สุด ก็คือรู้จิตรู้ใจของเราเอง ว่าปัจจุบันนี้สภาพจิตใจของเราเป็นอย่างไร เศร้าหมองหรือผ่องใส มีกิเลสตัวไหนอยู่ในใจเราบ้าง เมื่อเรารู้ความจริงของตัวเราแล้ว เราจะแก้ไขดัดแปลงอย่างไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเรา
อ่านจริตของเราให้รู้ว่า เราเป็นราคะจริต โทสจริต โมหะจริต วิตกจริต พุทธิจริต ศรัทธาจริต อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อจะดูให้รู้แจ้ง เพื่อจะเป็นพื้นฐานที่เราจะแก้ไขดัดแปลงจิตของเรา เมื่อเรารู้ชัดลงไปแล้ว เรามีกิเลสตัวไหน เป็นจริตประเภทไหน เราจะได้แก้ไขดัดแปลง ตัดทอนสิ่งที่เกินแล้วเพิ่มสิ่งที่หย่อนให้อยู่ในระดับพอดีพองาม เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

- หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


วันพุธที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2558

การฝึกสติ


 

การฝึกสติของเรา นานๆ นึกขึ้นได้ก็ตั้งสติเสียทีหนึ่ง
เราก็จะมีสติที่ขาดเป็นช่วงๆ เหมือนหยดน้ำ
ถ้าเราพยายามระลึกรู้อยู่เสมอ
มีสติในทุกการที่ทำ คำที่พูด และความรู้สึกนึกคิด
เราก็จะเป็นผู้มีสติตลอดเวลา ไม่เผลอ...
เหมือนหยดน้ำที่ต่อกันเป็นสายน้ำ

- หลวงปู่ชา สุภัทโท -

วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์


บุคคลใดปฏิบัติชอบแล้ว บุคคลนั้นย่อมพิจารณาความเป็นไปแห่งสังขารทั้งหลาย ย่อมเห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีน้อยหนึ่งในสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ไม่เห็นซึ่งอะไรๆ ในเบื้องต้น ท่ามกลาง หรือที่สุดในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นซึ่งจะเข้าถึงความเป็นของไม่ควรถือเอา

อุปมา เหมือนบุรุษไม่เห็นซึ่งที่แห่งใดแห่งหนึ่ง ในเบื้องต้น ท่ามกลาง หรือที่สุด ในก้อนเหล็กแดงอันร้อนอยู่ตลอดวัน ที่เข้าถึงความเป็นของควรจับถือสักแห่งเดียวฉันใด บุคคลพิจารณา เห็นความเกิด ความแก่ ความเจ็บไข้ และความตายในสังขารทั้งหลายนั้น ย่อมไม่เห็นความสุข ความยินดีในสังขารเหลานั้นแม้น้อยหนึ่งฉันนั้น เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นว่าเป็นของร้อนพร้อม ร้อนมาแต่ต้นตลอดโดยรวบ มีทุกข์มากมีคับแค้นมาก

ถ้าใครมาเห็นได้ซึ่งความไม่เป็นไปแห่ง สังขารทั้งหลายไซร้ ธรรมชาตินี้คือธรรมชาติเป็นที่ระงับแห่งสังขารทั้งปวง ธรรมชาติเป็นที่สลัดคืนแห่งอุปธิทั้งปวง ธรรมชาติเป็นที่สิ้นแห่งตัณหา ธรรมชาติเป็นที่ปราศจากเครื่องย้อม ธรรมชาติเป็นที่ระงับความกระหาย ธรรมชาติเป็นที่ดับทุกข์

ธรรมชาตินั้นเป็นที่สงบ เป็นของประณีตดังนี้ ฐานที่ตั้งแห่งธรรมอันอุดมนี้คือ ศีล บุคคลตั้งมั่นในศีลแล้ว เมื่อกระทำในใจโดยชอบแล้ว จะอยู่ในที่ใดๆ ก็ตามปฏิบัติชอบแล้ว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานด้วยประการฉะนี้

- หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต -

วันอาทิตย์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2558

พุทโธคือผู้เบิกบาน

 
พุทโธตัวจริง คือ พุทธะ
พุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
พุทโธตัวจริง มิใช่คำบริกรรม
พุทโธตัวจริงจะเกิดขึ้นได้
เนื่องจากสติปัญญา สัมมาทิฏฐิ
พุทโธ คือ..... ผู้รู้ - รู้ความจริงด้วยปัญญา
ผู้ตื่น - ตื่นจากความหลับ ความมืดบอด
ตื่นตัวจากความเห็นผิด
ว่าเป็นเรา และของของเรา
พุทโธคือ ผู้เบิกบาน - ไม่มีความทุกข์เดือดร้อนใจ


- หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ -

รสแห่งธรรม


อดีตก็รู้เท่า อนาคตก็รู้ทัน  ปัจจุบันก็ไม่ยึดติด  ในสิ่งที่เราได้ สิ่งที่เรามี สิ่งที่เราเป็นนั้น ซึ่งเป็นผลงานของจิตสร้างสรรค์ปั้นแต่งขึ้นด้วยอำนาจของกรรมดี หรือกรรมชั่ว บุญหรือบาป จึงมีผลเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ความยินดีในธรรมชนะความยินดีทั้งปวง รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง เมื่อมีฐานแห่งธรรมเป็นเครื่องรองรับภายในใจอยู่แล้ว...

- หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน -