วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ศรัทธา คือสะพานก้าวข้ามไปหาปัญญา


คนที่มีศรัทธาต่อพระครูบาอาจารย์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาปฏิบัติก็จะได้อารมณ์เร็ว คนไหนเหมือนคนป่าและมีมิจฉาทิฐิก็จะยากแต่ในกรณีที่เป็นคนซื่อ ๆ ตรง ๆ มีอะไรก็พูดตรง ๆ ตามที่รู้สึกมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็พูดตามความเป็นจริงคนแบบนี้เขาอาจจะดื้อก็จริง แต่เขาเป็นคนซื่อ คือจิตมันซื่อตรงถ้าตั้งใจทำสักหน่อยจะได้อารมณ์เร็ว พอทำไปสักพัก ก็จะสัมผัสภาวะต่าง ๆ ที่ไม่เคยเข้าใจได้ เพียงแต่ว่าอาจจะมีความแยบคายที่น้อยไปหน่อยถ้าเป็นคนซื่อ ๆ ตรง ๆ ในทางพุทธศาสนา ก็เท่ากับว่ามีสมาธิอยู่ในตัว แต่ถ้าจิตมันคิดพิสดารในเรื่องต่าง ๆ มีเหตุผลเยอะเกินไปจิตแบบนี้มันเป็นจิตที่คด การรู้ธรรมก็จะยาก แต่เมื่อใดที่รู้สึกเฉย ๆ ไม่คิดอะไรก็จะสามารถรู้ได้เร็ว ที่มีคนกล่าวไว้ว่า"รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ สู้ไม่รู้อะไรเลย ทำไปด้วยจิตเปล่า ๆ ว่าง ๆ ไม่ต้องมีอะไร แล้วจะรู้ได้ไว"ซึ่งมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ

ขอบคุณ: ลานธรรมจักร


หลักหัวใจพรหมจรรย์


หลักที่จะต้องสังวรและปฏิบัติ 23 ประการ ๑. จะต้องอดทนข่มอินทรีย์อย่างยิ่ง ๒. จะต้องไม่ตกเป็นทาสของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสใดๆ ทั้งสิ้น ๓. จะต้องสำรวมกาย วาจา ใจ ไม่ให้ฟุ้งซ่าน ๔. จะต้องไม่หลงใหลในวัตถุอันเป็นเหตุตัณหากามคุณ ๕. จะต้องถือสันโดษไม่หลงอำนาจ ลาภ ยศ สิ่งสักการบูชา ๖. จะต้องไม่หลงระเริงยึดติดอยู่กับการยกย่องสรรเสริญ ๗. จะต้องพิจารณาตนไม่ประพฤติให้เกิดความเสื่อมเสียเป็นอันขาด ๘. จะต้องพิจารณาโดยแยบคายก่อนแล้วบริโภคปัจจัยสี่ ๙. จะต้องพิจารณาเห็นความไม่งามและโทษภัยของร่างกาย ๑๐. จะต้องเห็นโทษภัยของตัณหากามคุณกิเลสเป็นภัยอันใหญ่หลวง ๑๑. จะต้องพิจารณาให้เห็นชีวิตนี้ถูกไฟเผาไหม้อยู่ตลอดเวลา ๑๒. จะต้องพิจารณาให้เห็นความตายอยู่แค่ปลายจมูก ๑๓. จะต้องมองเห็นเกียรติยศชื่อเสียงเหมือนเสี้ยนหนาม ๑๔. จะต้องมองเห็นเกียรติยศชื่อเสียงคือภัยทำลายความสงบสุข ๑๕. จะต้องมองเห็นลากสักการะเหมือนกองอุจจาระ ๑๖. จะต้องมองเห็นทรัพย์สมบัติใดๆ ในโลกเป็นเพียงภาพลวงตา ๑๗. จะต้องมองเห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สุดของโลกคือความเป็นอนิจจัง ๑๘. จะต้องมองเห็นมรดกอันยิ่งใหญ่ของโลกคือความว่างเปล่า ๑๙. จะต้องสงบนิ่งและเรียบง่ายที่สุด ๒๐. จะต้องทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องใสอยู่เสมอ ๒๑. จะต้องพิจารณามรณานุสติ (นึกถึงความตาย) เป็นอารมณ์ ๒๒. จะต้องมองชีวิตและโลกเป็นของว่าง ๒๓. จะต้องมีเมตตาธรรม เสียสละเพื่อประโยชน์สุขเกื้อกูลแก่ชนทั้งหลาย

จากหนังสือประวัติพระครูบาศรีวิชัย สิริวิชโยนักบุญแห่งลานนาไทย

ส่องกล้องมองคำว่า"ทุกข์"


"ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน""ยังไม่สนใจธรรมะ เพราะชีวิตยังไม่มีทุกข์"คนจำนวนมากคิดเช่นนี้ เพราะคำว่า "ทุกข์" นั้นฟังดูเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสในชีวิต ทั้งที่ความจริงแล้ว ความหมายของคำนี้ในธรรมะของพุทธศาสนามีความละเอียดอ่อนยิ่งนัก หากศึกษาจริงๆ แล้วจะรู้สึกทึ่งและอัศจรรย์ใจในอัจฉริยภาพของตัวผู้ค้นพบยิ่งนักจะรู้สึกอย่างไรหากบอกว่าในทุกๆ จังหวะและท่วงทำนองของการดำเนินชีวิตมีทุกข์แฝงอยู่ทุกขณะไม่รู้จัก-อย่ารีบบอกว่าไม่มีอย่าเพิ่งเถียงถ้ายังไม่ได้คำอธิบายในเรื่องนี้ของ ดร.ระวี ภาวิไล ที่ส่องกล้องมองดูคำว่าทุกข์ได้ละเอียดไม่แพ้การส่องกล้องดูดาวบนท้องฟ้าเลย "คำว่าปัญหากับความทุกข์ในทางพระพุทธศาสนาใช้แทนกันได้ คำว่าปัญหาเป็นคำสมัยใหม่ เราจะพิจารณาได้ว่าสิ่งที่เราเรียกว่าปัญหานี้คือ ความทุกข์นั่นเอง แต่เวลาพูดความทุกข์จะดูเหมือนหนัก พูดคำว่าปัญหาเป็นเรื่องทันสมัย แล้วเราจะพบว่าสิ่งที่เราต้องแก้ก็คือ ความไม่สะดวกสบายที่ทนได้ยากนั่นเอง"ตามที่บอกว่าชีวิตเป็นความทุกข์เป็นปัญหานั้น ไม่ใช่ว่าการกล่าวเช่นนั้นเป็นการมองโลกในแง่ร้าย แต่เป็นการกล่าวถึงสภาวะที่เป็นจริงในชีวิตของเรา"ไม่เชื่อลองฟังต่อไปได้"นับตั้งแต่เรารู้สึกตัวลืมตาขึ้นวันหนึ่งๆ จะพบปัญหาที่ต้องแก้ถัดกันไป แก้ปัญหานั้นปัญหาใหม่ก็เข้ามาเรื่อย ถ้าจะสังเกตตั้งแต่เช้า ปัญหาทำอย่างไรเราจะมาถึงที่ทำงานได้โดยเรียบร้อย แม้เมื่อถึงที่ทำงานเราจะพบปัญหารออยู่บนโต๊ะ จะต้องแก้อันนั้นอันนี้เรื่อยไป ชีวิตก็จะเป็นอย่างนี้"ปัญหาหรือความทุกข์ทางกายนี้เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่งที่น่าจะสังเกตได้ก็คือว่า ส่วนใจมันพลอยไปกับกายมากน้อยแค่ไหน ทั้งที่ส่วนใจก็มีความทุกข์ทางใจอยู่แล้ว คือความเศร้าโศก ความคับแค้นใจ ซึ่งส่วนของจิตใจนี้อาจจะเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ทางกายทำให้เกิด หรืออาจเกิดแม้ความทุกข์ทางกายไม่มีก็ได้"นับเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนในสาเหตุ และสาเหตุเหล่านี้ทางพฤติกรรมสามารถวิเคราะห์ได้ว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร แล้วก็รู้หนทางที่จะบรรเทามันลงไป"ในบรรดาความทุกข์ที่แบ่งออกเป็นทางกายและทางใจนั้น อ.ระวีบอกว่า"ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น แล้วเราจะพบว่ามนุษย์ได้สร้างกลไกขึ้นทั้งในตัวเองและสังคม ทำให้เกิดความกดดันและความทุกข์ทางใจขึ้น โดยคนส่วนใหญ่อาจจะมองข้ามไป หรืออาจจะมองไม่เห็น มันก็กลายเป็นปัญหาหรือเป็นทุกข์ ความทุกข์ทางใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่การอบรมและการฝึกฝนใจสามารถทำให้มันระงับไปได้"ความทุกข์ทางใจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น-เป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นวันหนึ่งๆ คนเราทุกข์ทางใจไปโดยสิ้นเปลืองไม่ใช่น้อยบอกแค่นี้คงไม่ทำให้คิ้วที่ขมวดอยู่คลายออกไปได้ ต้องรับรู้การแจกแจงปฏิบัติการของสิ่งที่เรียกว่าทุกข์เสียก่อนทุกข์กาย-ทุกข์ใจแน่กายไม่ทุกข์-ใจทุกข์ไปล่วงหน้า"ตัวอย่างความพัวพันระหว่างทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจที่อาจจะได้พบกันในชีวิตประจำวัน สมมุติว่าเราเป็นเด็กไม่สบายแล้วไปหาหมอ หมอบอกว่าเราเป็นไข้หวัด ต้องฉีดยา ถ้าเด็กคนนั้นเคยฉีดยามาหนหนึ่งแล้ว พอบอกต้องฉีดยาอีกมันเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที ความทุกข์ที่ได้รับฟังว่าต้องเอาเข็มมาแทงลงไปในเนื้อ ในขณะนั้นทุกข์ทางกายยังไม่ได้เกิด แต่ทุกข์ทางใจเกิดขึ้นแล้ว อาจจะเริ่มมีอาการเป็นทุกข์ เริ่มน้ำตาคลอ พอหมอเอาเข็มฉีดยาดูดยาออกมาจากหลอดก็เริ่มจะมีความทุกข์ทางกายบ้าง แต่ไม่เจ็บ น้ำตาไหลได้"เราเป็นผู้ใหญ่รู้สึกแต่คงไม่ถึงกับน้ำตาไหล เห็นหมอทำอย่างนั้นเราก็เริ่มรู้สึก หมอเอาเข็มฉีดยามาบีบยาให้ยามันไล่ แล้วก็เอามาจรดลง แล้วลองนึกทบทวนดูว่าเรารู้สึกอย่างไร จะรู้สึกไม่สบายใจ หมอเริ่มกดเข็ม บางครั้งเราก็มอง บางครั้งเราก็ไม่อยากมอง ลองมองดูและลองพิจารณาดูตอนที่เข็มมันจรด ความทุกข์ทางกายยังไม่เกิดขึ้น แต่เรามีความไม่สบายใจ พอหมอกดเข็มเข้าไปในเนื้อเรา นึกว่าเราเจ็บ แต่ที่จริงถ้าเราเพ่งใจลงไปในขณะเข็มกดลงไปในเนื้อ จะพบว่ามันยังไม่เจ็บ ความทุกข์ทางกายยังไม่มี แต่เมื่อเข็มมันลงไปลึกพอประมาณแล้ว และเมื่อหมอเริ่มกดยาเข้าไป ความเจ็บมันจะมี"ถ้ามีสติอยู่กับปัจจุบัน เจ็บที่แล้วไปอย่าไปนึกถึงมันอีก เจ็บที่กำลังเจ็บดูมัน เจ็บที่ยังไม่มา อย่าเพิ่งไปเจ็บก่อน เราจะพบว่าความเจ็บได้เป็นทุกข์ก้อนใหญ่ที่เราจะต้องแบกไว้ แต่ความเจ็บนั้นมันเป็นชั่วขณะๆ พอหมอถอนเข็มออกแล้วขยี้ตอนนั้นเราจะเจ็บมากชั่วขณะ แล้วก็จะชา แต่ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นจะรู้สึกว่าความเจ็บจริงๆ กับความที่ใจเราเป็นทุกข์มันปนเปกันไปหมด ไม่รู้ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางกาย ส่วนไหนเป็นทุกข์ทางใจ"ถ้าเป็นเด็ก เด็กจะร้องก่อนเข็มจะถูก เมื่อถูกเข็มแทงก็ร้องลั่น พอหมอถอนเข็มออกก็ยังร้องอยู่ เพราะโกรธหมอ นี่คือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาเพื่อให้เห็นกลไกของสิ่งที่เรียกว่าความทุกข์""ความทุกข์ทั้งหลายที่เป็นความทุกข์ทางใจนี้ เป็นเพราะว่าเรามองดูปรากฏการณ์ในชีวิตด้วยความไม่ชัดเจน ทำอย่างไรจะเห็นสภาวะชัดเจน ทำอย่างไรจะรู้ทัน"

ขอขอบคุณ : ลานธรรม



วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรให้จิตใจผ่องใส


ความดี ละเว้นความชั่ว และทำจิตใจให้ผ่องใสสองอย่างแรกนี่อาจทำได้ไม่ยากแต่ทำจิตใจให้ผ่องใสนี่สิครับ จะทำอย่างไรเพราะบางทีความคิดและความรู้สึกร้ายๆต่างๆของเราก็ผุดขึ้นมาโดยไม่รู้ตัวและบังคับไม่ได้จิตที่ผ่องใส คือจิตที่ไม่ยืดมั่นถือมั่นทั้งสุขและทุกข์ครับ เพราะตราบใดที่ยังยึดในสุขอยู่ก็ต้องมีทุกข์ตามมาเป็นเรื่องธรรมชาติการจะไม่ยึดมั่นในสิ่งทั้งปวงได้ ก็อย่างที่กระทู้นึงเพื่อนๆบอกไว้ว่าต้องมี"ศีล สมาธิ ปัญญา"การจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งปวงได้ก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไปพิจารณาถอดถอน ทุกสิ่งทุกอย่างคือพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างลงสู่ความเป็นไตรลักษณ์ครับ(ว่าเป็นทุกข์ ไม่เที่ยงและไม่สามารถคงอยู่ได้)จิต กับ ความทุกข์ ความสุข เป็นคนละตัวกันตราบใดที่พิจารณาจนเห็นความเป็นจริงทุกอย่างจะทราบได้ว่า แม้ในเวลาที่เกิดความทุกข์จิตก็ผ่องแผ้วได้เช่นกัน เนื่องจากจิตและความทุกข์ความสุขนั้น ไม่เกี่ยวข้องซึ่งกันและกันแล้ว


ขอบคุณบทความจาก ธรรมจักร

ความสุขฉับพลัน


ความเป็นจริงของธรรมชาติ ไม่มีตัวตน แต่เราไปยึดมั่นในตัวตน ในตัวกู-ของกู ชีวิตมันจึงขบกัดและเกิดความทุกข์ การเข้าถึงความจริงมีหลายวิธี ในที่นี้จะกล่าวเพียง 3 วิธี คือ
๑. สัมผัสความทุกข์ยากของคนอื่น มีความเมตตา กรุณา เมื่อเรานึกถึงคนอื่น ก็แปลว่าเราออกจากความคับแคบในตัวตน นึกถึงคนอื่น ทำเพื่อเพื่อนมนุษย์ จะเกิดความสุขทันที
๒. เจริญสติ จะทำให้สัมผัสความจริง และมีความสุขอย่างยิ่ง
๓. เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ธรรมชาติรอบตัวเรา เช่น อากาศ สายลม แสงแดด ท้องฟ้า ต้นไม้ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ล้วนเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งจักรวาลหรือใหญ่กว่าจักรวาล ถ้าฝึกเข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติทั้งหมดบ่อย ๆ จะพบความสุข และถ้าเราฝึกบ่อย ๆ ก็จะเข้าถึงความจริงตามตลอดเวลา และมีความสุขตลอดเวลา เป็น Happiness at Low Cost หรือ Happiness at No Cost คือความสุขราคาถูก หรือความสุขที่ไม่ต้องเสียอะไรเลย
ถ้า ความสุขราคาแพงก็เป็นของทุกคนไม่ได้ และมักไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง แต่ถ้าเป็นความสุขราคาถูกก็เป็น ของทุกคนได้ขอให้ทุกคนมีความสุขจากการเข้าถึงความจริง


ขอขอบคุณ : ศ.นพ. ประเวศ วะสี