วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2554

พระในใจศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

ใครจะทำอะไรให้แก่เราในทางร้าย เรายิ้มรับด้วยหน้าชื่นตาบาน เราไม่โกรธ แต่เราสงสารว่า แหม ทำไมจึงปล่อยจิตปล่อยใจให้ตกต่ำอย่างนั้น ทำไมจึงให้กิเลสครอบงำอย่างนั้น ทำไมมีความคิดความอ่านปล่อยตัวปล่อยใจให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลส ทำอย่างไรหนอจึงจะช่วยยกจิตใจคนนั้นให้มันสูงขึ้นสักหน่อย คิดไปในรูปอย่างนั้น ไม่โกรธไม่เคืองใคร ไม่ก่อความร้าวรานให้เกิดขึ้นแก่ใครๆ



นี่เรียกว่าเรามีพระ เราไปกับพระ จะทำอะไรก็ต้องทำอย่างคนมีพระ จะต้องคิดว่าสิ่งที่เราจะทำนี้จะเกิดอะไรบ้าง กระทบกระเทือนใครบ้าง ใครจะเดือดร้อนเพราะการกระทำของเราบ้าง เราไม่ได้อยู่เพื่อให้ใครเดือดร้อน เราคิดไว้ในใจอย่างนี้ตลอดเวลา อย่างนี้ก็เรียกว่า เรามีพระอยู่ตลอดเวลา พระกรุณาฝังแน่นอยู่ในจิตใจ คนมีน้ำใจกรุณาอย่างนี้ไม่โกรธใครเลย ไม่เกลียดไม่ริษยาใครเลย ไม่อยากจะได้ของอะไรๆ ของใครๆ เขา เราทำอะไรของเราเอง เป็นคนคิดช่วยตัวเอง พึ่งตัวเองมันดีหรือไม่



ถ้่าเรามีพระถูกต้องก็มีอยู่ในรูปอย่างนี้ เราจะไม่ลำบากใจ เราสร้างพระขึ้นไว้ข้างใน พระุข้างในไม่หนัก ไม่ต้องผูกคอ ไม่ต้องใช้สายสร้อยเส้นละสิบสลึง ถ้าเราผูกพระไว้ในใจแล้วขโมยเอาไปไม่ได้ ขโมยยิ่งเอาไม่ได้ใหญ่ เพราะใจมันไม่รู้จักพระ มันจะเอาไปได้อย่างไร เราสบายใจดี ไม่มีอันตราย

(ปาฐกถาธรรมเรื่อง “พระที่แท้จริง” พ่อปัญญานันทภิกขุ)

ที่มา : http://www.tamboon.net
เครดิตภาพ : Google

ความรักที่บริสุทธิ์

เอกลักษณ์ของความรักที่บริสุทธิ์ คือ

๑. ไม่มีเงื่อนไข
๒. ไม่มีขอบเขต เป็นความหวังดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๓. ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
๔. มีปัญญาและอุเบกขาคอยกำกับ

การที่ความรักประเภทนี้มีจริง และการที่มนุษย์เราทุกคนสามารถพัฒนาความรักนี้ได้เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เมื่อดูข่าวเห็นความโหดเหี้ยม ความไม่เอาไหนของเพื่อนร่วมโลก การระลึกถึงศักยภาพของมนุษย์ข้อนี้ สามารถละลายความกลุ้มใจและความสิ้นหวังได้ มนุษย์แย่อย่างนี้ก็จริง แต่ดีกว่านี้ก็ได้…

แนวทางปฏิบัติต่อความรัก จึงอยู่ที่การน้อมนำไปในทางเมตตาให้มากที่สุดที่เราทำได้ คือ
๑. ให้ความรักของเรามีเงื่อนไขน้อยลง
๒. มีขอบเขตน้อยลง ลำเอียงน้อยลง
๓. เป็นเหตุให้เกิดทุกข์น้อยลง
๔. มีปัญญาและอุเบกขาคอยกำกับมากขึ้น..

(จากหนังสือ “หลักรัก” โดยพระอาจารย์ ชยสาโร ภิกขุ )

ที่มา : http://www.tamboon.net/featured-stories/0001-pure-love
เครดิตภาพ : Goole

อย่าปล่อยโอกาสให้ผ่านไปในชาตินี้

ธรรมคำสอน..หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

คำสอนทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น
เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง
คำสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสเรามีมากมาย
แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว คือพระนิพพาน

การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก
หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไป
เราจะหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้
แล้วจะต้องหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อจะพบธรรมอันเดียวกันนี้

ดังนั้นเมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้หลุดพ้นเสีย
มิฉะนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป
เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม
ความมืดมนย่อมครอบงำปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน.....

(จากหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้” บันทึกคติธรรมและธรรมเทศนาของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล)

ที่มา : http://www.tamboon.net
เครดิตภาพ : Google

ธรรมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

ชีวิตมีทั้งวันวาน วันนี้ และวันพรุ่งนี้
เมื่อปัจจุบันธรรม เป็นสิ่งสำคัญของชีวิต

ชีวิตในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ควรคำนึงถึงมากกว่ากาลใดๆ

วันนี้มีไว้สำหรับแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว
แก้ตัว คือไม่ยอมรับความจริงในการทำผิดของตน
พยายามผลักความผิดไปให้ผู้อื่น หรือ...สิ่งแวดล้อม

แก้ไข คือยอมรับความจริง
หากมีอะไรผิดพลาดบกพร่อง ก็ยอมรับผิด
แล้วพยายามแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาตนเอง

คนดี ชอบหาดูจุดบกพร่องของตน
มีหิริโอตตัปปะ ละอายแก่ใจ กลัวบาป

คนชั่ว ชอบหาดูจุดบกพร่องของคนอื่น จับผิดคนอื่น
และคิดไปว่า ...เราดี เขาไม่ดี...
เมื่อเขาดีกว่า ก็คิด อิจฉา ริษยา น้อยใจ

ถ้าดีกว่าเขา ก็คิด ถือตัวถือตน ดูถูกดูหมิ่นเขา
เป็นสภาวะที่เกิด อัตตา เกิดตัวตน

อัตตาตัวตน และทุกข์ เป็นบริษัทเดียวกัน
อัตตาตัวตน สร้างขึ้นใช้เวลานานแสนนาน
เป็นเวลาหลายภพหลายชาติ

ด้วยอำนาจของอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน
คิดผิดและสำคัญผิด…..

ที่มา : http://forum.108prageji.com
เครดิตภาพ : Google

วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ธรรมคำสอนหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี


ตามกระแสพระธรรมเทศนาของสัมนาสัมพุทธเจ้าว่า ทุกข์เป็นของไม่ควรละ แต่เป็นของที่ควรต่อสู้ ความทะยานอยากได้สุข หรือไม่อยากให้มีทุกข์ ต่างหากเป็นของควรละ ผู้ที่จะพ้นทุกข์ได้ในโลกนี้ ก็ล้วนแล้วแต่ยกทุกข์มาเป็นเหตุทั้งนั้น

ทุกข์กับความเพียรที่มีค่ามากในโลกใบนี้ หากไม่มีทุกข์กับความเพียรเสียแล้ว ใครๆในโลกนี้จะไม่ทำความดีเพื่อพ้นทุกข์ในโลกนี้และโลกหน้า ตลอดถึงพระนิพพาน

แท้จริงความนึกคิดไม่ใช่ทุกข์ แต่การไปยึดความนึกคิดมาเป็นของตน จึงเป็นทุกข์

ที่มา : http://larndham.org
เครดิตภาพ : Google