วันจันทร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554

หยุดหนีทุกข์ เพื่อ "พ้นทุกข์..."


จิตเดิมแท้เป็นจิตแห่งการพ้นทุกข์ การภาวนาหาจิตเดิมแท้นั้นเป็นการภาวนาเพื่อทำให้เกิดแสงสว่างออกมา มิใช่วิ่งแสวงหา การวิ่งแสวงหาความสุขนั้นเปรียบเสมือนการ “หนีทุกข์” แต่การภาวนาเพื่อให้จิตปลดเปลื้องความทุกข์นั้นคือการสู้เพื่อ “พ้นทุกข์”

นับชาติต่อชาติที่กิเลส ตัณหา อันเป็นมิจฉาทิฐิ ห่อหุ้ม ปกคลุมดวงจิตอันเป็นจิตเดิมแท้หนี
กิเลส ตัณหา นำพาให้เราต้องวิ่งวุ่น แสวงหา เงิน ทรัพย์ ชื่อเสียง เกียรติยศ และมิเว้น “ความสงบ” หลากหลายครั้งเรา “หนีความทุกข์โดยการวิ่งหาความสงบ” ต้องลำบาก ตรากตรำ เดินทางไปไกลแสนไกลตามที่ใคร ๆ เขาบอกว่า “สงบ” แต่แม้หากว่าเราไปแค่ไหน แต่ลืมนึกไปถึงการกระทำซึ่งจักทำให้จิตดวงนี้ปราศจากทุกข์จากกิเลสและตัณหาที่ปกคลุมอยู่แล้ว การหนีทุกข์นั้นย่อมไม่เกิดประโยชน์เท่ากับสิ่งที่คาดหวัง เมื่อคาดหวังแล้วมิได้สุขตามความสงบที่คาดหวังย่อมนำความเจ็บปวด ทุกข์ ทรมานมาให้กับทั้งกายและจิตใจอย่างมิรู้จบ

การชำละล้างกิเลส ตัณหา อันนำมาซึ่งความโลภ ความโกรธ ความหลงของทุกย่างก้าวในชีวิตประจำวันนี้ประเสริฐแท้ เรียนรู้ทุกข์ เพื่อขจัดปัดเบาเมฆหมอกที่เปรียบเสมือนเงามืดที่บดบังดวงตาที่จะนำพาให้เห็น “จิตเดิมแท้” จะอยู่ที่ใด ไปที่ไหน หรือจะไม่ไปที่ใด ที่ไหน ๆ ก็ล้วนแต่มีจิตเดิมแท้ ที่นี่ เวลานี้ เราก็มี “จิตเดิมแท้”

ท่านทั้งหลายโปรดใช้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ากระทบอารมณ์ให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง เป็นเครื่องภาวนาให้เกิดปัญญาเพื่อให้เห็นจิตเดิมแท้เถิด ทำใจให้ว่าง มองดูปัญหา แล้วปล่อยวางปัญหาโดยมีธรรมะเป็นสรณะหรือที่พึ่งเถิด ได้โปรดใช้ธรรมะเป็นยานพาหนะนำพาตนเองไปถึงจิตเดิมแท้ซึ่งจากกันมานานแสนนาน จิตเดิมแท้แน่แท้มิได้อยู่ไกล อยู่ใกล้ ๆ แม้ในขณะนี้
ปล่อยวางการวิ่ง การแสวงหา แล้วภาวนาเพื่อเข้าหาความจริงในธรรมชาติแห่งจิตเดิมแท้เถิด

ท่านทั้งหลายจักรู้จักทุกข์ เห็นทุกข์ แล้วสิ่งนี้จะเป็นเหตุปัจจัยให้ท่านประสบสุขอันเป็นศานติสุขหรือสุขแท้อย่างฉับพลัน...

ที่มา : http://portal.in.th/i-dhamma/pages/5674/

วันอาทิตย์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ღ..ความตื่น..ღ


ความตื่น
โดย..ท่าน ก.เขาสวนหลวง

ความเอ๋ย ความตื่น
จิตสดชื่น แจ่มใส ไกลตัณหา
ตื่นอยู่ด้วย สติ ผลิปัญญา
มีดวงตา เห็นธรรม รู้ความจริง

ตื่นอยู่ด้วย โมหะ อกุศล
จิตร้อนรน วุ่นวาย คล้ายผีสิง
คิดฟุ้งซ่าน หวั่นไหว ไปชังชิง
ตื่นสองสิ่ง ตรวจดู ให้รู้เอย

ผู้ชนะ มีพระ ในตัวเอง
ไม่ไปเพ่ง ภายนอก หลอกหลงใหล
ผู้เข้าถึง องค์พระ รัตนตรัย
จิตผ่องใส บริสุทธิ์ วิมุติเอย

ที่มา : www.khonmuangchon.com

ღ..จิตที่เปลื้องกิเลส..ღ


เมื่อเรายั้งและหยุดกาย วาจา ใจ ที่นอกศีล ผิดศีล จิตก็เกิดสมาธิเป็น “ธรรมดา”
จิตที่มีสมาธิ จะเปลื้องความคิดแบบเหลือก ๆ ที่ฉาบทาด้วยกิเลส
เมื่อจิตเปลื้องจากกิเลส จิตเดิมหรือจิตประภัสสรสามารถผุดขึ้นมาและผ่องถ่ายเป็นกาย วาจา และใจ ที่ใครเมื่อพบ เห็น ก็สามารถบอกได้ว่าคนผู้นั้น “มีปัญญา”
ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการปัดกิเลสที่หุ้มห่อจิตโดยตัดส่วนของความคิด
ปล่อยให้จิตแท้ได้เปิดเผยและทำงาน คือสิ่งที่สวดสดและงดงาม
ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษยชาติจำเป็นต้องมีและต้องการให้เกิดและทรงอยู่ตลอดไป...

ที่มา : www.portal.in.th

ღ..ธรรมะก่อนนอน..ღ


กลางคืนเป็นควัน นี้ หมายความว่า ธรรมชาติของควันที่มันเกิดจากไฟที่สุมขอน ฤดูนี้เป็นฤดูที่ชาวนา กำลังเผานากัน บางทีก็เผาป่า เราจะพบว่า ขอนไม้ที่ชาวนาโค่นลงมาแล้วก็ ถูกเผานากัน บางทีก็ เผาป่า เราจะพบว่า ขอนไม้ที่ชาวนาโค่นลงมาแล้วก็ถูกไฟเผานั้น ตอนกลางคืนมันจะคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา ที่ใดมีควันปรากฏเกิดขึ้น ก็แสดงให้เห็นว่า ที่นั่นจะต้องมีไฟ

คำว่า กลางคืนเป็นควันนี้ ท่านไม่ใช่ หมายถึงไฟมาลุกขึ้น ไม่ใช่ หมายถึง ไฟภายนอกที่ไหม้ไม้หรอก แต่ท่าน หมายถึง ไฟ คือ กิเลส มันเผารนจิตใจของเราให้เร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา คือ ตอนนอนนี้ ก็ อดที่จะคิดคุกรุ่นถึงเรื่องต่างๆ สาระพัดอย่างไม่ได้

เช่น อาจจะคิดว่า เมื่อเช้านี้เราทำอะไรไปบ้างอะไรต่างๆ สารพัดอาจจะคิดว่า เมื่อเช้านี้เราทำอะไรไปบ้างอะไรต่างๆ สาระพัดอาจจะ คิดถึงเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ในอดีต แล้วก็คิดถึงเรื่องอนาคต ตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป ว่าเราจะต้องไปทำอะไรมีกิจมีหน้าที่ๆ เราจะต้องปฏิบัติอย่างไร เอามาคิดตอนที่ก่อนเราจะนอนได้อย่างไร บางคนคิดเกือบสว่างก็มี

ลักษณะของจิตที่คิดอย่างนี้ เป็นลักษณะของจิตที่เป็นอกุศลเป็นเหตุทำให้จิตเกิดความเร่าร้อนขึ้น คุกรุ่นอยู่ในในเสมอ เหมือนกับไฟที่ทำให้เกิดควันแต่ว่าต่างกันตรงที่ไฟที่เผารนจิตใจของเราอยู่นี่น่ะ เป็นกิเลสอาจจะเป็นความโลภ อาจจะเป็นความโกรธ อาจจะเป็นความหลง หรือความริษยาพยาบาทอะไรต่างๆ ก็ ได้ แต่ว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ทำให้จิตใจที่หมกมุ่นครุ่นคิดอยู่ เหมือนกับควันที่มันคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา

ที่ว่า กลางวันเป็นไฟ นั้น คือกลางวัน พอรุ่งขึ้นเช้า ชีวิตของคนเราก็ต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนกันไม่สิ้นสุดเราอยู่นิ่งไม่ได้แล้ว จะต้องดิ้นรนในการทำมาหากิน ประกอบกิจการงานต่างๆ สารพัดอย่างที่เราจะต้องกระทำ ระหว่างที่เราดิ้นรนขวนขวายกันอยู่นี้ เหมือนกับมีไฟมันมาเผาเราอยู่ ถ้าหากว่าเราจะนั่งเก้าอี้ ก็เหมือนกับมีไฟมาเผารนเก้าอี้ ที่เรานั่งให้เกิดความเร่าร้อนนั่งไม่ติดที่ จะต้องลุกพลุกพล่านไปมาวิ่งไปมาทางโน้นวิ่งมาทางนี้ อย่างนี้เรียกว่า กลางวันเป็นไฟ เหมือนกับไฟมาเผารนเรา มิให้เรานี้นั่งอย่างสงบหรือว่าเกิดความเยือกเย็นขึ้น

ชีวิตปุถุชนธรรมดา ที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบันมักจะเป็นอย่างนี้แหล่ะ อยู่ในฐานะที่กลางคืนเป็นควันกลางวันเป็นไฟ เกิดความดิ้นรนขวนขวายกันอยู่ไม่สิ้นสุด ถ้าหากว่าเราไม่รู้จักปรับปรุงชีวิตของเราให้เข้าจังหวะ หรือการจักควรและไม่ควรแล้ว บางทีตลอดชีวิตนี่ก็หาความสุขไม่ได้เหมือนกัน

ธรรมดาก่อนนอนนี้ แม้ว่าจิตนี้จะต้องนึกถึงสิ่งใดก็ตาม เราควรจะนึกถึงสิ่งที่เป็นกุศลนั้น เป็นเหตุทำให้จิตใจของเรานี้เกิดความเยือกเย็นลง ไม่เร่าร้อนดังที่ได้กล่าวมา ถ้าหากว่าเราไม่คิดถึงเรื่องกุศลแล้ว จิตใจก้อาจจะเกิดความเร่าร้อน เกิดความเศร้าหมองขึ้นก็ได้

เพราะฉะนั้น ก่อนนอนคืนนี้ แม้ความรู้สึกนึกคิด จะประดังเข้ามาสู่ความนึกคิด ของเรามากมาย สักเพียงใดก็ตาม เราต้องกำจัดออกไปว่าเวลานี้ เป็นเวลาที่เราจะต้องทำใจของเราให้เป็นสุข เราจะหลับอย่างคนที่มีสติ เพื่อตื่นขึ้นอย่างคนทีมีสติต่อไป

การที่หลับอย่างมีสติก็คือ ใช้สติระลึกนึกถึงคุณงามความดีบุญกุศลที่เราท่านทั้งหลาย ได้ประกอบมาวันนี้ ถ้าเป็นจาคานุสติ นึกถึงทานที่พวกเราบริจาค นึกถึงคุณงามความดีที่พวกเราได้ทำ แม้แต่นิดหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นความดีในครอบครัวในเพื่อนบ้าน ในหน้าที่การงาน ที่พวกเราได้กระทำอยู่หรือในศาสนา ในประเทศชาติ พวกเราก็นึกถึงความดีที่เราทำไว้ ให้เราหลับเป็นสุขโดยทั่วกัน อันนี้เป็นสิ่งที่ควรนึกควรคิดแล้ว พวกเราจะมีความรู้สึกว่าแม้เราจะหลับแม้แต่เราจะตื่น พวกเราก็จะเยือกเย็นใจได้ มีความสุขใจได้แม้ชั่วขณะหนึ่ง

ที่มา : www.dhammajak.net