วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

_ღ_มนุษย์กับธรรมชาติ_ღ_



ธรรมชาติสอนเราอยู่ตลอดเวลา…เรามักพูดประโยคทำนองนี้กันเสมอๆ
เวลาใบไม้ปลิดปลิวร่วงหล่น…เราก็บอกว่า "อนิจจังนะ"
มันไม่เที่ยง…
ใบไม้เกิดขึ้น…สดใส…เติบโต…เขียวชอุ่ม
ไหวไปตามแรงลม…แห้งเหี่ยวโรยรา…แล้วก็ปลิดปลิวลงสู่ดิน
ชีวิตผู้คน…ที่จริงก็ปลิดปลิวตลอดเวลา
เหมือนใบไม้…ดอกไม้…ผลไม้…ต้นไม้
ชีวิตหนึ่งเกิดขึ้น…ชีวิตหนึ่งร่วงหล่น หมดเวลาลง
ชีวิตก็ปลิดปลิวเฉกเช่นใบไม้
กาลเวลาไม่เคยให้บัตรคิวกับสรรพสัตว์
ไม่เคยบอกว่า วันนั้น เวลานี้
ชีวิตใดจะปลิดปลิวร่วงหล่น
มนุษย์มักมองสิ่งรอบตัวทั้งหลาย
ต้นไม้ ภูเขา ก้อนหิน ดิน ลำธาร ต้นหญ้า
ว่าเป็นธรรมชาติ
ที่จริง…มนุษย์มักลืมไปหรือเปล่า
ว่าตัวเอง…ก็เป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติเหมือนกัน
เป็นเพียงอีกส่วนเสี้ยวอันเล็กน้อยของธรรมชาติ…ก็เท่านั้น
ฉะนั้น…
นอกจากจะได้คิดได้สติ
ถึงความไม่เที่ยงของสิ่งทั้งหลาย ชีวิตทั้งหลาย
ด้วยการมองดอกไม้ใบหญ้าร่วงหล่นแล้ว
ยังมีอีกวิธีและเป็นวิธีสำคัญที่สุดด้วย
เป็นวิธีที่เราไม่ต้องไปหาดูที่ไหนอื่นไกลออกไปจากตัวเราเลย
เพราะมนุษย์เอง
ก็คือธรรมชาติอันหนึ่ง
กายใจมนุษย์แต่ละเราท่าน
ล้วนดำเนินไปตามสัจธรรมแห่งธรรมชาติทั้งปวง
อยู่ทุกขณะจิตอยู่แล้ว
มนุษย์ก็เหมือนกับต้นไม้
เหมือนกับปลา กบ เขียด สิงโต ช้าง หยดน้ำ หนอง บึง
เกิดขึ้นมาแล้วก็เติบโตมีพัฒนาการไปตามธรรมชาติ
หิวโหยก็หากินไปตามธรรมชาติ
ท้องหิว กายก็ออกแสวงหาอาหารมาบำรุงกาย ตามธรรมชาติ
พยายามปรับตัว…วิวัฒนาการเพื่อให้เข้าได้อยู่ทนกับธรรมชาติ
ป่วยไข้…ร่วงโรย…ตามธรรมชาติ
และวันหนึ่งที่ไม่รู้ล่วงหน้า
วินาทีใดก็ตามที่ไม่เคยรู้ก่อน
ก็ปลิดปลิวไปตามธรรมชาติ
ธรรมชาติล้วนๆ
เกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป
ใบไม้ - นกกา - สัตว์ทั้งหลาย - คน - สรรพสิ่ง - จักรวาล ฯลฯ
เมื่อบัตรคิวไม่มีเลย
คิวป่วย…ก็ไม่บอกล่วงหน้า
คิวทุกข์…ก็ไม่เคยแจ้งล่วงหน้า
คิวแห่งมรณะกาล…ก็ไม่เคยติดประกาศ
ให้ได้รู้ตัวล่วงหน้า…เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้…
หากมนุษย์ทั้งหลายพึงระลึกอยู่เนืองๆ
ว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
ว่าตัวเองก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง
เหมือนๆ กับธรรมชาติอื่นๆ ทั้งหลาย
แล้วกลับมามองดูตัวเอง
พินิจพิจารณา
สังเกตความเป็นไปในกลไกของธรรมชาติ
ที่มีพร้อมมูลแล้วในตัว
นั่นคือ…กายกับใจ…ของตนๆ
'ธรรมชาติ' ทั้งหลายทั้งปวง
ก็จะค่อยๆ คลี่แผ่…แสดงความเป็นจริงทั้งปวง
ตามความเป็นจริง
ออกมาให้ปรากฏแก่บุคคลนั้น
มนุษย์คนใดก็ตาม
หมั่นเพียรเพ่งเฝ้ามอง
พินิจพิจารณาการดำเนินไป
แห่งกายและใจตน
ในฐานะที่เป็นธรรมชาติชนิดหนึ่ง
ดูเพื่อให้ได้รู้จัก 'ตัวตนที่แท้จริง'
ของกายและใจตน…
มนุษย์ผู้นั้น
ก็นับได้ว่า
"ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท"
ด้วยการ
"ยังความเพียร" ในการมีสติสัมปชัญญะ
ให้รู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เนืองๆ
ใครทำได้เช่นนี้
บุคคลนั้น
ย่อมหวั่นไหวน้อยนิด
หรือไม่หวั่นไหวเลย
ต่อความเจ็บไข้ได้ป่วย
ต่อทุกข์ทางกายก็ตาม ทุกข์ทางใจก็ตาม…
ทั้งย่อมหวาดหวั่นน้อยหรือไม่หวาดหวั่นใดๆ
ต่อเวลาที่จะปลิดปลิว…อันไม่รู้ล่วงหน้า
เพราะว่าได้ฝึกกายฝึกใจไว้
จนมีสติที่เฉียบคม
เป็นสติที่ฉับไว
พร้อมจะรับ
กับการเกิดขึ้น - ตั้งอยู่ - ดับไป
พร้อมจะรับ
สุขทุกข์ทั้งปวง
เย็นร้อนอ่อนแข็งทั้งปวง
อย่างรู้เท่าทัน
อยู่เนืองๆ แล้ว
_ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _ _
เจริญในธรรม :)
ที่มา : http://board.dserver.org/e/easydharma/00000016.html

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

_ღ_เวลาที่สำคัญที่สุด_ღ_






มีเวลาที่สำคัญที่สุดเวลาเดียว คือ ปัจจุบัน ช่วงขณะปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นเวลาที่เราเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง บุคคลที่สำคัญที่สุดก็คือ คนที่เรากำลังติดต่ออยู่ คนที่อยู่ต่อหน้าเรา เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตเราจะมีโอกาสได้ติดต่อกับใครอีกหรือไม่
และภารกิจที่สำคัญที่สุดก็คือ การทำให้คนที่อยู่กับเราขณะนั้นๆ มีความสุขเพราะนั่น…เป็นภารกิจอย่างเดียวของชีวิต




เราจะทำอย่างไรจึงจะสามารถอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับคนรอบข้างเรา ช่วยลดความทุกข์และเพิ่มความสุขแห่งชีวิตเหล่านั้น คำตอบก็คือ เราจะต้องฝึกสติ

ท่าน ติช นัท ฮันต์ จากหนังสือ ปาฎิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ

วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2554

ღ ใจเป็นภาชนะแห่งธรรม ღ

ใจเป็นภาชนะแห่งธรรม
โดย....หลวงปู่ขาว อนาลโย


คำว่าธรรมมีอยู่ตลอดอนันตกาลนั้นพึงทราบว่าธรรม มิใช่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อวกาศมิใช่สิ่งทั้งมวลในแดนสมมุติ ...ธรรม คือธรรม มิใช่สิ่งดังกล่าวเครื่องพิสูจน์ธรรมก็มิใช่ตา หู จมูก ลิ้น กายซึ่งเป็นวิสัยเพียงดูรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรสสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ซึ่งอยู่ในฐานะของตนที่จะรับรู้สัมผัสได้เท่านั้น มิได้ลึกซึ้งกว้างขวางพอจะสามารถหยั่้งรู้เห็นธรรมดังกล่าวนั้นได้สิ่งที่สามารถสัมผัสรับรู้ธรรมทุกขั้นทุกภูมิได้มีใจดวงเดียวนี้เท่าันั้น ใจจึงเป็นของคู่ควรแก่ธรรมทั้งหยาบ กลาง ละเอียด จนถึงวิมุตติธรรมนอกนั้นไม่มีอะไรสามารถสัมผัสรับรู้ธรรมได้พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระสาวกของพระพุทธเจ้าทุกๆองค์ ทรงรู้ธรรม เห็นธรรมด้วยใจ ใจจึงเป็นภาชนะอันเหมาะสมกับธรรมทุกขั้นทุกภูมิอย่างยิ่ง เมื่อได้รับการปรับปรุงแก้ไขและการบำรุงรักษาโดยถูกทางเช่นการปฏิบัติจิตภาวนา เป็นต้น ฯ

วันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2554

ღ สัจธรรมแห่งกายนี้ ღ


รูปที่เป็นอยู่ เป็นของสกปรกทั้งนั้น ไม่ว่ารูปหญิง รูปชาย รูปพระ รูปฆราวาส เป็นเหมือนกันหมด เหตุใดมันจึงเป็นอย่างนั้น ของที่เราขบฉันรับประทานลงไปเป็นของเน่า ของเหม็น ของเสียทั้งนั้น ไม่ใช่ของดิบของดีอะไร เป็นต้มเป็นแกง เป็นผัดเป็นทอดต่างๆ ถ้าเราทิ้งเอาไว้ ของเหล่านั้นจะเน่า จะเหม็น จะเสีย อยู่ไปคืนสองคืนมีกลิ่นแล้ว นี่ร่างกายของเราที่เอาของเน่าของเหม็น มาบำรุงบำเรอ มันก็เป็นก้อนของเน่า ของเหม็นปฏิกูล ไม่ใช่ของสวยงามอะไร เพราะเหตุนั้น ในร่างกายของเราทั่วไป ไหลออกทางทวารใดก็มีแต่ของสกปรกเน่าเหม็น ไม่เป็นของดิบของดี ของหอมหวาน มีแต่ของเน่า เพียงแต่ลมออกมาเท่านั้น มันก็ยังมีกลิ่น แสดงว่ามันเน่าทั้งตัว มันเหม็นทั้งตัว ไม่มีอะไรที่จะดีวิเศษ ฯ


(พระอาจารย์สิงห์ทอง ธัมมวโร) วัดป่าแก้ว จ.สกลนคร