วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554

ღ พุทธสุภาษิตเรื่องปัญญา ღ


ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก

แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี

ปัญญาย่อมทำให้บุคคลเป็นผู้ฉลาด

ชีวิตของบุคคลอยู่ด้วยปัญญาย่อมประเสริฐสุด



ปัญญาทำให้คนบริสุทธิ์

ทำให้บุคคลไม่ประมาท

ทำให้บุคคลเจริญด้วยประการทั้งปวง



คนพาลย่อมมีปัญญาทราม

ย่อมประกอบแต่ความประมาท

ย่อมเศร้าโศก สิ้นกาลนาน ,

ผู้ประมาทอุปมาดังบุคคลที่ตายแล้ว





บัณฑิตไม่พึงคบกับบุคคลผู้ประมาท

ผู้ฉลาดพึงเห็นสุขอันไพบูลย์

จึงยอมเสียสละสุขส่วนน้อย

ย่อมเข้าถึงสุขอันไพบูลย์ ฯ




คัดลอกจากหนังสือ มหัศจรรย์แห่งมหาพุทธานุภาพ

โดย พระราชรัตนรังษี (ว.ป.วีรยุทฺโธ)

วันอังคารที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_ความฉลาดมองเห็นความจริงของชีวิต_♠_


แม้ว่าเราจะมีฉลาดรอบรู้มากมายหลายด้านอย่างใดก็ตาม แต่ความฉลาดรอบรู้นั้นจะหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลยหากยังไม่สามารถนำมาใช้ดับทุกข์ของเราได้ ดังนั้นความรู้เรื่องสัจธรรมความเป็นจริงของชีวิต จึงเป็นความรู้ที่มีค่าและสำคัญยิ่งที่ทุกคนสมควรรู้ นั่นคือ อริยสัจสี่ ได้แก่



* ทุกข์ ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พลัดพราก... ไม่สมหวัง ไม่ได้ดังใจ เป็นทุกข์



* สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ เพราะมีตัณหา คือปรารถนาใน รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ความอยากมีอยากเป็น และความไม่อยากมีไม่อยากเป็น



* นิโรธ การดับทุกข์ ด้วยการปล่อยวาง การละ การเลิก ไม่พัวพันกับตัณหา และไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น



* มรรค ทางดับทุกข์ ประกอบด้วย



อริยมรรค ๘ ประการ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และสิ่งที่ทุกคนขาดเสียไม่ได้ ไม่ว่าหญิงหรือชาย ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ควรหมั่นพิจารณาอยู่เสมอถึง อภิณหปัจจเวกขณ์ ๕ ประการ คือ



๑.ชราธัมมตา เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความแก่ไปได้



๒.พยาธิธัมมตา เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้



๓.มรณธัมมตา เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้



๔.ปิยวินาภาวตา เราจักต้องพลัดพรากจากของที่รักที่ชอบใจไปทั้งหมดทั้งสิ้น



๕.กัมมัสสกตา เรามีกรรมเป็นของตน ทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม จักต้องได้รับผลของกรรมนั้น




เมื่อหมั่นพิจารณาอยู่เสมออย่างนี้ ก็จะช่วยป้องกันความมัวเมา ในความเป็นหนุ่มสาว ในทรัพย์สมบัติ และในชีวิต ฯลฯ บรรเทาความลุ่มหลง ความยึดมั่นถือมั่น และป้องกันการทำทุจริต ทำให้เร่งขวนขวายกระทำแต่สิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์ตลอดไป



ที่มา : larnbuddhism.com

วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_คำคม_♠_

_♠_คำคมโดยท่าน ว.วชิรเมธี_♠_


1. คนธรรมดาทำบุญก็อยากได้บุญ คนมีปัญญาทำบุญหวังจะเกิดในภพใหม่ที่ดีกว่าเดิม แต่ชาวพุทธแท้ทำบุญเพื่อการปล่อยวางกิเลสอย่างสิ้นเชิง


2. สิ่งที่ตาเห็นอย่าเพิ่งสรุปว่ามี สิ่งที่คนยอมรับว่าดีอย่าเพิ่งบอกว่าเห็นด้วย



3. ผู้ทรงธรรมนั่นแหละคือผู้ทรงเกียรติ ผู้มีความดีนั่นแหละคือผู้มีทรัพย์ ผู้รู้จักพอนั่นแหละคือมหาเศรษฐี



4. นักปราชญ์ตะวันตกกล่าวว่า อำนาจทำให้คนเสีย ยิ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งเสียคนแบบเบ็ดเสร็จ



5. ดาบที่ดีต้องมีฝัก ความสามารถที่ดีต้องมีจริยธรรม



6. พ่อแม่ที่ดีต้องมีพรหมวิหาร 4 หน้า หน้า 1 เมตตา หน้า 2 คือ กรุณา หน้า 3 คือ มุทิตา หน้า 4 คือ อุเบกขา



7. ยามปกติเลี้ยงลูกด้วยเมตตา ยามมีปัญหาคอยช่วยเหลือด้วยกรุณา ยามลูกทำดีคอยส่งเสริมด้วยมุทิตา ยามลูกทำผิดปล่อยให้รับกรรมด้วยตัวเอง คือ อุเบกขา



8. รอยเท้าแรกที่เหยียบบนดวงจันทร์ไม่ใช่รอยเท้าของมนุษย์ แต่เป็นรอยเท้าแห่งจินตนาการ



9. การแก้กรรมคือการแก้ที่ความหลงผิด การแก้กรรมคือการเลิกทำความชั่ว ดังนั้นการแก้กรรมจึงไม่ใช่สำเร็จที่การสะเดาะเคราะห์หรือทำพิธีจากเกจิ



10. คนที่รู้เรื่องกรรมดีที่สุดคือตัวเราเอง คนที่แก้กรรมได้ดี่ที่สุดคือตัวของเรา การแก้กรรมต้องทำด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ใช่ด้วยพิธีกรรมแปลกๆ



11. คนขุดบ่อน้ำก็ลงต่ำอยู่ในดิน คนก่อกำแพงก็ขึ้นสูงตามกำแพงที่ก่อ ฉันนี้ฉันใดคนทั้งหลายก้เป็นเช่นนั้น จะสูงจะต่ำขึ้นอยู่กับการกระทำของตน




12. คนฉลาดชอบแกล้งโง่ คนโง่ชอบเสแสร้งว่าฉลาด ส่วนนักปราชญ์เรียนรู้ที่จะฉลาดและเรียนรู้ที่จะโง่




13. กฎแห่งกรรมไม่ต้องวีซ่า กฎแห่งกรรมไม่ยกเว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม กฎแห่งกรรมไม่มีวันหยุด กฎแห่งกรรมเที่ยงธรรมตลอดกาล






14. บิล เกตต์ เรียนไม่จบแต่พบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่เพราะเป็นคนใฝ่เรียนรู้ด้วยตนเอง ปัญญาไม่ได้อยู่ในมหาวิทยาลัยแต่อยู่ในจิตใจที่ใฝ่รู้



15. อย่ายึดติดกับความหลัง อย่าฟังเสียงปาปมิตร (มิตรชั่ว) อย่ามัวคิดริษยา อย่าเสียเวลากับคนเลวทราม



16. คนส่วนใหญ่เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่คนมีปัญญาเรียกร้องสิทธิที่จะไม่ทุกข์



17. ความไม่รู้เป็นยอดแห่งมลทิน ปัญญาเป็นยอดแห่งสิริมงคลความถ่อมตนเป็นยอดแห่งเสน่ห์



18. รถทุกคันล้วนมีเบรก รถทุกคันล้วนมีท่อไอเสีย คนทุกคนต้องมีเบรกคือสติ ต้องมีท่อไอเสียคือการปล่อยวาง



19. ความทุกข์ไม่เคยยึดติดเรา มีแต่เราต่างหากที่ยึดติดความทุกข์ ความสุขไม่เคยไปจากใจเรา มีแต่เราต่างหากที่ไม่เคยถนอมมันไว้ในใจของเรา



20. ยศ ทรัพย์ อำนาจเป็นเพียงมรรควิธีที่ทำให้ชีวิตนี้มีประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ โปรดอย่าเข้าใจผิดว่าเป็นเป้าหมายในการเกิดเป็นมนุษย์



21. ทำผิดแล้วรู้สึกผิดต่อไปจะเป็นคนดี ทำผิดแล้วรู้สึกว่าเป็นความดีกาลกิณีจะเกิดขึ้นในไม่ช้า



22. ที่สุดของความรักคือรักโดยไม่ครอบครอง ที่สุดของการให้คือให้โดยไม่หวังผล ที่สุดของทานคืออภัยทาน ที่สุดของคนคือการเป็นคนธรรมดาที่มีความสุข



23. ความรักไม่เคยทำให้ใครทุกข์ การไม่รู้จักธรรมชาติของความรักต่างหากที่ทำให้เกิดทุกข์ ธรรมชาติของความรักคือเกิดขึ้นในเบื้องต้น ดำรงอยู่ในท่ามกลาง และแตกดับไปในที่สุด



24. โลกนี้มีผี 6 ตัวที่น่ากลัวกว่าผีไหนๆ 1 ผีสุรา 2ผีเที่ยวกลางคืน 3. ผีมหรสพ (ติดใจในความบันเทิงจนเกินพอดี) 4 ผีการพนัน 5 ผีคบคนชั่วเป็นมิตร (คนชั่วอยู่ไหนชอบเถลไถลไปสนิทสนม) 6 ผีขี้เกียจ ผี 6 ตัวนี้ต้องปราบด้วยปฏิบัติธรรม

_♠_อารมณ์ที่ไม่ต้องการ_♠_


นักปฏิบัติธรรม เมื่อได้เข้ามาศึกษาธรรมะ ได้ปฏิบัติธรรมะ
พิจารณาอยู่ซึ่ง สติปัฏฐาน เฝ้าดูอารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของตนอยู่
จากอายตนะภายนอก อันมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ทั้งที่เป็น อดีตปัจจุบัน และอนาคต ที่มากระทบ หรือเกิดขึ้นเองทางมโนทวารนั้น

สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นจากการเฝ้าดูจิตของตนนั้น
นักปฏิบัติบางท่านอาจความรู้สึกว่า..

"ตนเองเป็นคนที่ไม่ดี มีความคิดที่ไม่ดี "

....มีแต่ ราคะ โลภะ โทษะ โมหะ...
มีจิตที่คิดในกามารมณ์ มีจิตคิดโลภอยากได้ต้องการ
มีความโกรธแวบเกิดขึ้นอยู่ ในทันทีที่กระทบ ไม่ว่าทางตา หรือ หู

ทั้งๆที่อารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการให้เกิด
เป็นสิ่งที่ตนเองนั้นรู้ว่า ไม่ดี เป็นอารมณ์ที่ตนเองนั้นไม่ต้องการ..
แต่อารมณ์ต่างๆเหล่านั้นก็มักเกิดอยู่เสมอๆ
จนรู้สึกว่า " เรานั้นช่างแย่เหลือเกิน ช่างเลวเหลือเกิน "
...จิตใจหดหู่ เศร้าหมอง เพราะความรู้สึกนั้นๆ ...

ที่เราท่านทุกข์อยู่นั้น..
เพราะเราท่านคิดว่า..ความคิดนั้นๆนั่น
....เป็นความคิดของเรา....
....เป็นเราที่คิด....
...เป็นเราที่ไม่ดี....
....เป็นจิตของเรา เป็นเราที่เลว....


ขอท่านนักปฏิบัติ ระลึกถึงหลักในพระธรรมคำสอน
ในพระไตรลักษณ์เพื่อใช้ในการพิจารณาสภาวธรรม

นั่นคือ " อนัตตา " ความไม่ใช่ตัวตนของเรา "
ความที่เรานั้นไม่สามารที่จะควบคุมได้

สมเด็จพระพุทธองค์ทรงสอนไว้ให้พิจารณาว่า
" ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ควรยึดถือเอา "

ไม่ควรยึดถือเอาซึ่ง ขันธ์ ๕ ประการ
คือ รูป เวทนาสัญญา สังขาร และวิญญาณ
เพราะสิ่งใดก็ตามที่เราเข้าไปยึดถือ สิ่งนั้นนำมาซึ่งความทุกข์

ความคิดของเราก็เช่นเดียวกัน
มันเกิดการกระทบ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วมันก็จะดับไปของมันเอง
มันคิดก็เป็นเรื่องของความคิด ความปรุงแต่ง เป็นเรืองของมัน
ขอเราเป็นแต่เพียงผู้รู้ ผู้ดู เพราะแท้จริงจิตที่เราคิดว่าเรานั้น ก็เป็น " อนัตตา "

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_ เชื่ออย่างไรถึงจะเกิดปัญญา_♠_



เชื่ออย่างไรถึงจะได้ปัญญา
โดย...หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

บางคนก็ว่านึกถึงความตายบ่อยๆเข้า กลัวอายุมันจะสั้น มันจะตายเร็ว
ผู้ที่ยุยงส่งเสริมอย่างนั้นก็มี คนหูเบา คนปัญญาอ่อน
ก็ไปเชื่อเอาเลย ไม่อยากนึกถึงความตาย กลัวจะอายุสั้น
แท้ที่จริงหาเป็นอย่างนั้นไม่
ถ้าเป็นเช่นนั้น พระศาสดาไม่ได้ทรงสอนให้เราไปนึกถึงความตายหรอก
ความจริงน่ะ เพราะว่าชีวิตนี้ อัตภาพร่างกายอันนี้มันมีบุญและบาปเป็นเครื่องรักษาอยู่
บุญบาปที่บุคคลทำมาแต่ชาติก่อนหนหลัง มันตามมารักษาไว้อยู่
ถ้าบุญกรรมนั้นยังไม่หมด ตราบใดแล้ว
ต่อเมื่อผู้นั้นจะนึกถึงความตาย วันละร้อยวันละพันครั้ง มันก็ไม่ตาย
อายุมันก็ไม่สั้นหรอก ด้วยเหตุผลกลใดเล่า
เพราะว่ามันมีหลักฐานอยู่ มันมีหลักฐานยืนยันอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นคนเราต้องศึกษาให้เข้าใจ ให้เห็นตามเป็นจริง
อย่าไปเชื่อปรัมปรา คนที่เห็นผิดมีอยู่มากในโลกนี้
ตนเห็นผิดแล้วยังไปหลอกลวงคนอื่นให้ตามไปด้วย อย่างนี้มีอยู่ถมไป
บางคนตนเห็นผิดก็ไม่รู้หรอกว่าตนเห็นผิด ยังเข้าใจว่าตนเห็นถูกอยู่อย่างนั้นแหละ
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ บุคคลไม่ควรเชื่อในอาการ ๑๑ อย่าง
ที่ท่านแสดงไว้ในกาลามสูตร
ข้อหนึ่งนั้นว่า ไม่ควรเชื่อโดยสำคัญว่า ผู้นี้เคยเป็นครูเป็นอาจารย์ของตนมา
พระศาสดาทรงสอนถึงขั้นนั้น ถึงแม้ผู้นั้นเป็นครูอาจารย์เคยสอนตนมาอยู่บ่อยๆก็ช่างนะ
ถ้าหากว่าตนยังวินิจฉัยคำสอนที่ท่านแนะนำนั้น
ยังไม่เห็นแจ่มแจ้งขึ้นมา ก็ไม่ควรที่จะไปเชื่อไปเลยทีเดียว
พระองค์เจ้าหมายเอาอย่างนั้น
ต้องค้นคว้า ต้องพิจารณาคำสอนที่ท่านแนะนำมานั้น มันเป็นความจริงหรือไม่
ถ้าตนคิดไม่ออกก็นำไปถามท่านผู้รู้ทั้งหลายดู
ถ้าท่านผู้รู้ท่านรู้จริง ท่านจะได้แสดง ท่านจะได้ชี้แจงให้ฟังพร้อมด้วยเหตุด้วยผล
จนเจ้าของปัญหาหายสงสัย นั่นแหละจึงค่อยเชื่อหายสงสัยว่า ครูอาจารย์ที่ท่านแนะนำสั่งสอนมานี้ท่านสอนถูกทางจริงๆ
เป็นทางพ้นทุกข์จริงไม่ผิด เพราะว่าตนก็พิจารณาเห็นแจ้งด้วยตนเองขึ้นมาแล้ว


ไม่ว่าเรื่องใดๆ เมื่อเราได้ยินได้ฟังมา
ก็ควรที่จะน้อมเข้าไปวินิจฉัยให้มันเห็นแจ้งประจักษ์ด้วยตนเองทุกอย่าง
ถ้าไม่สามารถเห็นแจ้งด้วยตนเองก็ไปเรียนถามท่านผู้รู้ทั้งหลาย
อย่างว่านั้นแหละ ให้ท่านชี้แจงแนะนำให้เข้าใจ
อันนี้ได้ชื่อว่าเป็น บ่อเกิดแห่งปัญญาอย่างหนึ่ง
ไม่มีเขาไม่มีเราอยู่ในขันธ์ห้านี้เลย
เมื่อมันเห็นว่างจากสัตว์จากบุคคล ตัวตน เรา เขา ไปอย่างนี้
การที่มันจะไปสร้างกรรมดีกรรมชั่ว พาตัวให้ไปเกิดอีกนั้นไม่เอาแล้ว
ทำความดีก็ทำเพื่อขจัดกิเลสตัณหาออกจากจิตใจเท่านั้

วันอังคารที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_ ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไม่เที่ยง_♠_


ชีวิต คือ อนัตตา ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตไม่เที่ยงเกิดมาแล้วก็ตายจากโลกนี้ไป ชีวิตแล้วชีวิตเล่าไม่ว่าจะเป็นสัตว์เดียรัจฉาน คน หรือภพภูมิอื่น ๆ ก็ตามวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้ไม่รู้อีกเท่าไร?

ดังนั้น หากเราไม่เริ่มศึกษาพระธรรมให้เข้าใจเราก็จะไม่มีวันรู้ความจริงของชีวิต ก็ตายไปด้วยความไม่รู้สะสมความไม่รู้อีก ชาติแล้วชาติเล่าไม่รู้ว่า จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้ฟังธรรมอีกหรือไม่

ที่มา : http://www.dhammahome.com/

วันจันทร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_ ความดับไม่เหลือ_♠_


ความดับไม่เหลือ

โดย...ท่านพุทธทาสภิกขุ



ในเวลาจวนเจียนจะดับจิตนั้นอยากจะกล่าวว่ามันง่าย…เหมือนตกกระไดแล้วพลอยกระโจนมันยาก…อยู่ตรงที่ไม่กล้าพลอยกระโจนในเมื่อพลัดตกกระไดมันจึงเจ็บมากเพราะตกลงมาอย่างไม่เป็นท่าเป็นทางไหนๆ เมื่อร่างกายนี้มันอยู่ต่อไปอีกไม่ได้แล้วจิตหรือเจ้าของบ้านก็พลอยกระโจนตามไปเสียด้วยก็แล้วกันให้ปัญญากระจ่างแจ้งขึ้นมาว่าไม่มีอะไรที่น่าจะกลับมาเกิดใหม่ เพื่อเอา เพื่อเป็นเพื่อหวังอะไรอย่างใดต่อไปอีกหยุด สิ้นสุด ปิดฉากสุดท้ายกันเสียทีเพราะไปแตะเข้าที่ไหนมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นไม่ว่าจะไปเกิดเป็นอะไรเข้าที่ไหน หรือได้อะไรที่ไหนมาจิตหมดที่หวังหรือความหวังละลายไม่มีที่จอดมันจึงดับไปพร้อมกับกายอย่างไม่มีเชื้อเหลือมาเกิดอีกสิ่งที่เรียกว่าเชื้อ ก็คือความหวัง หรือความอยากหรือความยึดมั่นถือมั่น อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั่นเอง



สมมติว่า ถูกควายขวิดจากข้างหลัง หรือรถยนต์ทับหรือตึกพังทับ ถูกลอบยิง หรือถูกระเบิดชนิดไหนก็ตามถ้ามีความรู้สึกเหลืออยู่ แม้สักครึ่งวินาทีก็ตามจงน้อมจิตไปสู่ความดับไม่เหลือหรือทำความดับไม่เหลือเช่นว่านี้ให้แจ่มแจ้งขึ้นในใจเหมือนที่เราเคยฝึกอยู่ทุกค่ำเช้าเข้านอนตื่นขึ้นมาในขณะนั้นทำให้จิตดับไป ก็เป็นการเพียงพอแล้วสำหรับการ“ตกกระไดพลอยโจน” ไปสู่ความดับไม่มีเชื้อเหลือถ้าหากจิตดับไปเสีย โดยไม่มีเวลาเหลืออยู่สำหรับให้รู้สึกได้ดังนั้นก็แปลว่า ถือเอาความดับไม่เหลือที่เราพิจารณาและมุ่งหมายอยู่เป็นประจำใจทุกค่ำเช้าเข้านอนนั่นเองเป็นพื้นฐานสำหรับการดับไปมันจะเป็นการดับไม่เหลืออยู่ดีไม่เสียท่าเสียทีแต่ประการใด อย่าได้เป็นห่วงเลย




จิตที่มีสติสัมปชัญญะ รู้อยู่ ศึกษาอยู่ที่จิตเป็นจิตที่ไม่ทำบาปทั้งปวง ทำกุศลให้ถึงพร้อม และทำจิตให้ผ่องแผ้วจิตชนิดนี้ เป็นจิตที่สามารถรู้สภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริงอันเป็นทางสายเดียวที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นได้.....

วันพฤหัสบดีที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_ จิตที่มีสติ_♠_


จิตนั้นโดยธรรมชาติที่ขึ้นรับอารมณ์นั้น เขารู้ได้เพียงอารมณ์เดียวแล้วดับไป ฉะนั้น จิตที่มีสติเกิดร่วม จะไม่มีความหลง(โมหะ) เกิดร่วมในจิตดวงเดียวกัน
...ฉะนั้น ถ้ามีการสร้างความเคยชินในการเจริญสติ (ระลีกรู้สึกตัว) นั่นก็เท่ากับสภาพแห่งความหลง "โมหะ" ถูกบังคับไม่ให้เกิดโดยปริยาย
"มีสติและบังคับจิต" จริงๆ มิได้มีการบังคับจิตโดยการตั้งใจทำ แต่เป็นสภาพแห่งธรรมที่เกิดตามเหตุปัจจัย เป็นตัวบังคับไม่ให้โมหะเกิด.....
โดยการเอาเหตุปัจจัยอันไม่เกื้อหนุนโมหะไว้ในจิต นั่นคือ สติ โมหะจึงโดนบังคับไม่ให้เกิด......
สติ เป็น กุศล ให้ผลเป็นสุขโมหะ เป็น อกุศล ให้ผลเป็นทุกข์
สภาพแห่งจิตที่ขึ้นทำกิจของปุถุชนนั้น มีปกติเกิดร่วมกับความไม่รู้ (หลง = โมหะ) จึงมีปกติไหลไปสู่การปรุงแต่งยังให้เกิดสภาวะนานาขึ้น ยังในเกิดทุกข์ เกิดสุข
การหมั่นระลึกรู้สึกตัวเนืองๆ ในชีวิต เป็นการทำให้จิตสร้างความเคยชินขึ้นมาใหม่ ในการที่จะเกิดร่วมกับสติ แม้ชาตินี้ยังไม่ได้รู้เห็น "ธรรมหนึ่ง" ก็จะเป็นเหตุปัจจัยสั่งสมไปในชาติต่อๆ ไป ให้ได้เห็นสัจจะธรรม..... อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้ตนเองได้พ้นจากอบายภูมิ และมีโอกาสที่จะได้สุขคติภพเป็นที่ไปในโลกหลังความตาย......

วันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_ชีวิตที่ดำรงอยู่ได้ด้วยปัญญา_♠_


๑. ธรรมะ... คือระบบการปฏิบัติที่ถูกต้องแก่ความเป็นมนุษย์ของตน ทุกขั้นตอนแห่งวิวัฒนาการ ตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งเพื่อประโยชน์ตนและผู้อื่น เรียกสั้นๆว่า ... หน้าที่... นั้นแหละคือ... พระเป็นเจ้า... ผู้ช่วยให้รอดอย่างแท้จริง


๒. ธรรมะมีไว้ช่วยให้อยู่ในโลก อย่าง...ชนะโลก... หรือ ...เหนือโลก... มิใช่ให้...หนีโลก... แต่อยู่เหนืออิทธิพลใดๆ ของโลก ไม่ใช่จมอยู่ในโลก มักสอนให้เข้าใจผิดๆ ว่า ต้องหนีโลก ทิ้งโลก สละโลก อย่างไม่มีประโยชน์อะไรแก่ใครเลย


๓. ในร่างกายและจิตใจ มีสิ่งที่อาจเรียกว่า... พระไตรปิฎก ที่แท้จริงให้ศึกษาชนิดที่ไม่อาจเติมเข้าหรือชักออก แม้แต่อักขะเดียว ขอให้พยายามอ่านพระไตรปิฎกเรื่องทุกข์ เรื่องเหตุให้เกิดทุกข์ เรื่องความดับทุกข์จากพระไตรปิฎกเล่มนี้ กันทุกคนเถิด



๔. การศึกษาที่เปรียบด้วย..."สุนัขหางด้วน" ของทั้งโลก นั้นคือ ... ให้เรียนกันแต่หนังสือกับวิชาชีพ ไม่เรียนธรรมะหรือศาสนา ที่สอนให้รู้ว่า ... ให้เป็นมนุษย์กันให้ถูกต้องได้อย่างไรกันเสียเลย ขอให้รีบลืมตา และแก้ไขปัญหากันเสียก่อน...ก่อนที่โลกจะเกิดมัคสัญญี


๕. ชาวพุทธแท้...ไม่กินสิ่งที่หมายมั่นว่าเป็นเนื้อหรือผัก แต่กินอาหารที่บริสุทธิ์ ถูกต้อง สมควรแก่การกินโดยความเป็นธาตุตามธรรมชาติ และ... กินเท่าที่จำเป็นจะกิน เหมือนน้ำมันหยอดเพลารถหรือการกินเนื้อบุตรของตนเองที่ตายลง เมือ่หลงทางกลางทะเลทราย เพื่อประทังชีวิตให้รอดได้เท่านั้น


๖. พระพุทธองค์ตรัสว่า... "แต่ก่อนก็ดี บัดนี้ก็ดี เราบัญญัติเรื่องความทุกข์ กับความดับไม่เหลือแห่งทุกข์เท่านั้น" ดังนั้น พวกเราอย่าต้องเสียเวลาในการศึกษา การถาม การเถียงกันด้วยเรื่องอื่นที่มิใช่สองเรื่องนี้กันอีกเลย


๗. สิ่งที่ต้องรู้จักเป็นพิเศษ คือ "สาม ก." และ "สาม ส.""สาม ก." คือ กิน...กาม...เกียรติ ... ย่อมกัดเอาผู้เข้าไปเก่ยวข้องอย่างโง่เชลาแล้วก่อให้เกิดกิเลสจำกัดโทษของสาม ก. แล้วมีสาม ส. คือ สะอาด...สว่าง...สงบ


ที่มา : หนังสือธรรมโอวาท พระธรรมคติของหลวงพ่อพุทธทาสภิกขุ

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

_♠_หลักธรรมนำสุข : หลักที่ไม่ควรลืม_♠_

หลักธรรมนำสุข : หลักที่ไม่ควรลืม
โดย : พระธรรมปิฎก.

"...พระพุทธศาสนา สอนให้รู้จักความจริง ที่มีทุกข์อยู่ตามสภาวะ แต่แล้ว เมื่อปฏิบัติ ท่านให้ปฏิบัติด้วยความสุข นี่คือหลักการของพระพุทธศาสนาการปฏิบัติด้วยความสุขที่สำคัญ ก็คือ การที่เราทำให้กุศลธรรมเกิดมีขึ้นในใจตลอดเวลาถ้าใครทำให้กุศลธรรมเกิดขึ้นในใจได้เสมอ คนนั้นก็จะมีการปฏิบัติธรรมที่แท้จริง แล้วก็จะมีความสุขอยู่เรื่อยๆ อันนี้เป็นหลักสำคัญมาก
ถ้ามีการเกิดของกุศลธรรมอยู่เสมอตลอดเวลา ชีวิตของเราก็เจริญงอกงาม จิตใจก็เจริญงอก งาม คือมีความดีงามเพิ่มมากขึ้นๆ หลักการปฏิบัติธรรมที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้กุศล ธรรมนี้เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ต่อเนื่องกันไปแล้วอันนั้นก็จะกลายเป็นความเจริญงอกงามของจิตใจ ความเจริญงอกงามนี้แหละ ที่เราเรียกว่า ภาวนา ความมุ่งหมายของภาวนาก็คือ การทำให้ กุศลธรรมเกิดขึ้นในใจต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ แล้วกุศลธรรมก็จะเจริญเพิ่มพูนไป จนกระทั่งเต็ม บริบูรณ์..."


ที่มา : www.dhammathai.org